“ขอต้อนรับสู่ อุตรดิตถ์ ดินแดนแห่งความฝัน” ป้ายบอกทางก่อนเข้าเมืองที่เขียนบอกแบบนั้น ซึ่งก็ดูไม่แปลกหรือแตกต่างไปจากที่เขียน เพราะเส้นทางที่มุ่งหน้ามายังอุตรดิตถ์แห่งนี้เป็นถนนทางหลวงอย่างดีแต่แวดล้อมรอบข้างด้วยขุนเขาและต้นไม้ คล้ายกับว่าเป็นเส้นทางที่จะเดินทางจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งที่วิเศษกว่า และอย่าได้แปลกใจว่าทำไมใครต่อใครถึงได้ขนานนามว่าที่นี่คือ “เมืองลับแล”
อุตรดิตถ์มีประวัติศาสตร์ของการเป็นเมืองที่ยาวนานว่ากันว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสนแล้วถ่ายทอดการปกครองเปลี่ยนแปลงกันเรื่อยมาจนถึงพ.ศ.2444สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาให้ “ลับแล” เป็นอำเภอหนึ่งของอุตรดิตถ์นับตั้งแต่บัดนั้น
การปกครองในยุคแรกที่ลับแลเปลี่ยนแปลงมาเป็นอำเภอของอุตรดิตถ์ มีนายอำเภอคนสำคัญคือ “พระศรีพนมมาศ (ทองอิน แซ่ตัน)” ที่เป็นผู้ปฏิรูปก่อร่างสร้างเมือง “ลับแล” ให้เป็นอำเภอที่เข้มแข็งมั่นคงโดยมุ่งเน้นจัดสรรที่ดินซึ่งส่วนมากเป็นที่ราบสูงและภูเขาให้ชาวบ้านได้เข้าไปแผ้วถางเพื่อทำเกษตรกรรม จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใจที่ทุกวันนี้หากใครไปเมืองลับแลแล้วเลยประตูเมืองเข้าไปสักหน่อยจะเห็นรูปปั้น “พระศรีพนมมาศ” โดดเด่นเป็นสง่าให้ทุกคนกราบไหว้และรำลึกถึงผลงานที่ท่านได้สร้างไว้ในอดีต
โดยภาพรวมของอุตรดิตถ์ จะมีพื้นที่ประมาณ 423 ตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่ราบเพียงแค่ 117 ตารางกิโลเมตรส่วนมากก็จะเป็นแนวตอนใต้ของจังหวัด แต่ส่วนตอนกลางและตอนเหนือจะเป็นที่ราบสูงและภูเขามีเนื้อที่มากถึง 306 ตารางกิโลเมตร ดังนั้นการทำเกษตรที่อุตรดิตถ์นี้จึงหลีกไม่พ้น “พื้นที่ภูเขา” เป็นส่วนมาก
จุดประสงค์ของเมืองไม้ผลที่มา “เมืองลับแล”ครั้งนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับทุเรียนพันธุ์หลง และหลิน ทั้งในแง่การปลูก การตลาด และคาดการณ์ในอนาคต โดยเราได้เกษตรกรหัวก้าวหน้า คุณกำพล คำมงคลหรือพี่เรียม มาเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆให้เราฟังในครั้งนี้ครับ
เอกลักษณ์ของ “ หลงลับแล ” และ “หลินลับแล”
ทุเรียนทั้งพันธุ์ “ หลงลับแล ” และ “ หลินลับแล ” ถือเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของอุตรดิตถ์ ต้นกำเนิดของทั้งสองพันธุ์คือมาจาก “ทุเรียนป่า” ที่ชาวบ้านเอามาทำการเพาะปลูกแล้วพัฒนาสายพันธุ์กันมาหลายปีจนมีเอกลักษณ์ของตัวเองกลายเป็นสายพันธุ์เฉพาะไปโดยปริยาย
โดยพันธุ์ หลงลับแล นั้นต้นเดิมอยู่ที่ม่อนน้ำจำ หมู่ 7 บ้านผามูบ ต.แม่พูล เจ้าของเดิมคือ นายลม-นางหลง อุประ ที่นำทุเรียนป่าไม่ทราบพันธุ์มาปลูกจนต้นโตติดผลดกเต็มต้น เนื้อสุกเต็มพู เมล็ดลีบ เนื้อสีเข้มไม่เละแต่เหนียว รสหวานหอมมันอร่อยมาก กลายเป็นทุเรียนที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดของกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี พ.ศ.2520 และได้รับรองพันธุ์ในวันที่20 กันยายน 2521 ต่อมาปีพ.ศ. 2528 สำนักงานเกษตรอำเภอลับแล โดย นายเกรียงไกร คะนองเดชาชาติ เกษตรอำเภอลับแล ได้สนับสนุนให้เกษตรกรในตำบลแม่พูลได้แก่ นายเมือง แสนศรี นายสมบุญ เกิดทุ่งยั้ง และ
นายแสง ม่านแก้ว นำยอด ทุเรียน หลงลับแล จากต้นเดิมมาขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอดจนได้รับความสำเร็จก่อนที่ต้นเดิมจะตายเพราะอายุมาก(อายุประมาณ 60 ปี)
หลงลับแล เป็นทุเรียนพื้นบ้านชนิดเดียวในประเทศไทยที่มีการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ด้วยตัวของมันเอง มีคุณสมบัติเด่นคือ กลิ่นไม่แรง เปลือกบาง เนื้อทุเรียนละเอียดนุ่มหอมมัน ไม่หวานเกินไป เป็นทุเรียนรสชาติดีที่หารับประทานยาก ปลูกได้ผลผลิตดีคุณภาพดีแค่ในเขตตำบลแม่พูล เท่านั้น
ส่วนพันธุ์ “หลินลับแล” ต้นเดิมปลูกโดยนายหลิน ปันดาล เป็นคนบ้านผามูบ ต.แม่พูล เช่นกัน โดยเอาเมล็ดทุเรียนป่ามาปลูกตั้งแต่ปี 2493 แล้วเกิดการกลายพันธุ์จากเดิมทำให้รสชาติดีขึ้นมาก จนส่งเข้าประกวดในปี พ.ศ.2520 เป็นปีเดียวกับที่ ทุเรียนของ “นายหลง” ได้รับรางวัล แต่สายพันธุ์ของ “นายหลิน” ก็ได้รับความนิยมที่ไม่แพ้กัน และเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายหลิน ปันลาด ผู้ปลูกทุเรียนต้นเดิมจึงตั้งชื่อทุเรียนพันธุ์นี้ว่า “หลินลับแล”ประกอบกับต้นเดิมขึ้นอยู่ที่บ้านผามูบจึงมีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า”ผามูบ1”หลังจาก นายหลิน ปันดาลถึงแก่กรรม “หลิน” ต้นแรกจึง อยู่ในความดูแลและขยายพันธุ์โดยนายสว่าง ปันดาล (บุตรชาย)ตั้งแต่นั้นมา
ลักษณะเด่นของ “หลินลับแล” คือผลเล็ก น้ำหนัก 1.1-1.8 กก. ผลทรงกระบอก ฐานผลเว้าลึก ปลายผลตัด ก้านผลมีขนาดเล็ก หนามผลโค้งแหลมคม เปลือกผลเขียวอมเหลือง เนื้อละเอียดมาก มี 5พู ชัดเจนคล้ายกีบมะเฟือง สีเหลืองอ่อน รสชาติหวานมันกลิ่นอ่อน จะออกผลถ้าตามธรรมชาติคือเมษายน-สิงหาคมของทุกปี
นอกจาก 2 สายพันธุ์คือ “ หลงลับแล ” และ “ หลินลับแล ” ที่ขึ้นชื่อลือชาในอุตรดิตถ์ก็ยังมีสายพันธุ์พื้นเมืองอีกมากมายแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก เช่น พันธุ์จะเข้ (ลูกยาว เนื้อแห้ง มีเม็ดโตบ้างเล็กบ้าง เม็ดใหญ่กว่า หลงลับแล ) พันธุ์ของลุงเสมือน แก้วสอน (เนื้อแห้ง สีเข้ม กินหวานมัน เม็ดลีบคล้ายหลิน) เป็นต้น
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้หรือต้องมีในการปลูกทุเรียนของ “ชาวลับแล” ก็คือ
จากข้อมูลเบื้องต้นของคุณกำพลบอกว่าคนอุตรดิตถ์ปลูกทุเรียนกันแทบทุกบ้านแม้ว่าลองกองอุตรดิตถ์จะดังมาก่อนแต่ที่พูดถึงทุกวันนี้ก็มี “ทุเรียน” มาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งพื้นที่ในการปลูกก็เป็น บนภูเขาแทบทั้งนั้นอย่างสวนของคุณกำพลเองสวนทุเรียนกว่า 40 ไร่ มีทุเรียนทั้งหมดกว่า 1,000 ต้นก็ตั้งอยู่บนยอดเขาห้วยเรือ ที่อยู่สูงกว่าระดับพื้นราบไม่ต่ำกว่า 1,000 เมตร ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ก็คือ
1.ยานพาหนะสำคัญที่ต้องใช้สำหรับเกษตรกรที่นี่คือรถจักรยานยนต์ที่ดัดแปลงใส่ตะแกรงเหล็กมีลักษณะเป็นกรวยใหญ่ๆ ห้อยท้ายทั้ง 2 ข้าง เพื่อใช้ขนพันธุ์กล้าขึ้นไปบนภูเขา แล้วยังเป็นพาหนะลำเลียงผลผลิตลงมาจากภูเขาอีกด้วย
2.กล้าพันธุ์ของทุเรียนมีทั้งที่ชำในถุงพลาสติกและชำในปี๊บ ชาวสวนที่นี่จะใช้ดินร่วนผสมดินลูกรังที่มีส่วนผสมของดินเหนียวสำหรับเพาะกล้าประโยชน์ของดินที่ผสมอย่างนี้ก็เพื่อเวลาขนส่งใส่รถขึ้นไปบนเขาดินจะได้ไม่แตกรากก็จะไม่กระทบกระเทือน (ดีกว่ากล้าที่ใส่ขี้เลื่อยหรือแกลบที่มีโอกาสดินแตกมากกว่าโอกาสต้นตายก็จะสูง)
3.ในการปลูกบนพื้นที่ภูเขาไม่ต้องขุดหลุมกว้างนัก (แต่ถ้าปลูกตามพื้นราบก็ตามตำราได้เลย) ที่ลับแลนี้จะขุดแค่ลึกพอท่วมถุงให้ดินปากถุงต่ำกว่าปากหลุมเล็กน้อย มีข้อดีคือเวลาให้น้ำฤดูแล้วน้ำจะไม่ไหลไปไกลต้น การวางกล้าต้องระวังอย่าให้ดินหุ้มรากแตก กลบดินแน่นพอประมาณ ปักไม้กันลมโยกแล้วรออีกประมาณ 2-3 ปี ถึงจะเริ่มวิธีการ “เสียบยอด” ได้ครับ
เทคนิค “การเสียบยอด” ต่อยอดสายพันธุ์ดีกับทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง
ในที่นี้คุณกำพลบอกว่าจะใช้ “ต้นตอพื้นเมือง” เป็นหลักเพราะทนทานต่อสภาพพื้นที่ได้ดี ส่วนกิ่งพันธุ์ก็แล้วแต่ว่าจะต้องการอะไร จะเป็น “ หลินลับแล ” หรือ “ หลงลับแล ” หรือ “หมอนทอง” ก็ได้ หรือบางทีอย่างที่คุณกำพลทำอยู่เพื่อเป็นกรณีศึกษาใน 1 ต้นอาจมีหลายสายพันธุ์ผสมกันอยู่ก็ทำได้เช่นกัน ในการเลือกกิ่งใดๆมาเสียบยอดก็ควรเลือกเอากิ่งที่ เจริญเติบโตดี สมบูรณ์แข็งแรง จะเลือกตัดกิ่งยอดของกิ่งที่ตากำลังจะผลิ มีตาประมาณ 4-5 ตามีขนาดไล่เลี่ยกัน ขลิบใบทุกใบให้เหลือครึ่งหนึ่งของความยาวของใบเพื่อลดการคายน้ำ เมื่อตัดกิ่งพันธุ์ดีได้มากพอกับความต้องการแล้ว ให้จุ่มลงในน้ำสะอาดให้ชุ่มแล้วเก็บไว้ในถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น เพื่อเป็นการช่วยล้างความสกปรกของกิ่งออกและให้ความชื้นในถุงพลาสติกมีสูง กิ่งพันธุ์ดีที่ตัดมานั้นต้องรีบนำไปใช้เสียบยอดให้เร็วที่สุด แต่ในกรณีที่ต้องการนำกิ่งพันธุ์ดีไปยังแหล่งไกลๆ จะต้องมีการควบคุมความชื้นภายในถุงพลาสติกให้สูงอยู่เสมอ มิฉะนั้นแล้วกิ่งพันธุ์ดีอาจเหี่ยวเฉาเสื่อมคุณภาพได้ วิธีการเสียบยอด ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดคือ ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง การเฉือนต้นตอเพื่อเสียบยอดก็จะเฉือนเป็นรูปลิ่ม หลังจากนั้นจึงผ่าตรงกึ่งกลางของต้นตอตามความยาวลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร นำกิ่งพันธุ์ที่เลือกมาเสียบลงไปในรอยแผลของต้นตอ ให้เนื้อเยื่อเจริญข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างตรงกัน แล้วใช้เทปมัดให้แน่น คลุมด้วยพลาสติก อีกครั้งมัดให้แน่นทิ้งไว้ประมาณ 20 วัน ก็จะเริ่มติดกับต้น ในช่วงที่เสียบ 20 วันแรกไม่ต้องรดน้ำเลย หากยอดพันธุ์ยังไม่เหี่ยวแสดงว่าการเสียบยอดได้ผล ปล่อยโตอีกประมาณ 3-4 ปีก็เริ่มมีลูก การดูแลช่วงนี้ก็ไม่ต้องใช้ยาอะไร อย่าให้หญ้าคลุมอย่างเดียวเท่านั้น
ฮอร์โมนที่ใช้ก็แค่ “สาหร่ายนาโนโซตัส” หรือ “สาหร่ายมรกต”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุเรียนลับแลได้ผลผลิตดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเป็นสำคัญ ด้วยความเป็นพื้นที่สูงการขนส่งน้ำขึ้นไปเป็นเรื่องยากที่รออย่างเดียวคือ “น้ำฝน” ที่ตกลงมาถ้าฤดูไหนฝนมาเร็วไม่แล้ง ทุเรียนลับแลก็ผลผลิตดีออกเร็วได้คุณภาพแต่ถ้าอากาศแปรเปลี่ยนก็มีผลต่อการติดลูก เช่น
1.“ร้อน” แล้วเจอ “หนาว” หนาวมาเจอฝน ทำให้ทุเรียนโป่งยอดก่อนที่จะออกดอก
2.หนาวมาสลัดใบก็จะไปเลี้ยงใบเลยไม่ออกดอก
3.ปัญหาทุเรียนโป่งยอดก่อนก็เลยไปเลี้ยงต้นก่อนไม่เลี้ยงลูกเลยสลัดลูกทิ้ง ผลผลิตก็ไม่ได้
การแก้ปัญหาในส่วนนี้ก็มีเจ้าหน้าที่สภาเกษตรมาให้คำแนะนำด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ของ “โซตัส” ชื่อว่าสาหร่ายนาโนโซตัสตัวนี้เอามาพ่นใบพ่นลูก ผสมน้ำตาล ช่วงที่โป่งยอดออกก็ถือว่าช่วยได้เยอะ ปริมาณการใช้ก็ประมาณ 7-10 วันพ่น 1 ครั้ง พ่นต่อเนื่องไปจนกว่าลูกจะขึ้นพู ก็ประมาณ 4-5 ครั้ง ระยะเวลาก็เดือนกว่าๆ จนออกลูกอ่อน โดยภาพรวมเกษตรกรก็บอกว่าดูดีกว่าไม่ทำอะไรแม้ว่า ฮอร์โมนตัวนี้จะมีราคาสูงถึง ขวดละ 450 บาท แต่ก็คุ้มค่าที่จะลงทุน มีฮอร์โมนอีกตัวคือ “สาหร่ายมรกต” ตัวนี้ก็สามารถใช้ทดแทนของโซตัสได้ (ในกรณีที่หาซื้อของโซตัสไม่ได้) ก็ได้ผลใกล้เคียงกัน
เกษตรแบบก้าวหน้า..แบ่งพื้นที่เพื่อการศึกษาสายพันธุ์ด้วย
ในสวนทุเรียนบนยอดเขา “ห้วยเรือ” ของคุณกำพลที่มีทุเรียนกว่า 1,000 ต้น แบ่งเป็น “หมอนทอง” ประมาณ 300 ต้น เป็น “ หลงลับแล ” และ “ หลินลับแล ” อีกประมาณ 200 ต้น ที่เหลืออีกกว่า 500 ต้น นั้นคือพันธุ์พื้นเมืองที่ยังไม่ได้เสียบยอดว่าจะให้กลายเป็นพันธุ์อะไร ทั้งนี้ในส่วนที่เรียกว่า “การพัฒนา” ตามแนวคิดที่ได้จากคุณมนัส ศรีฉ่ำ(นักวิชาการการส่งเสริมศูนย์วัตถุเคมี) ผู้ที่มาจุดประกายความคิดให้พี่กำพลลองพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนที่แปลกๆขึ้นมาเพื่อเป็นกรณีศึกษาทุกวันนี้นอกจากทุเรียนตามมาตรฐานที่ขายในตลาดแล้วยังมีการผสมเกสรใหม่ทำให้บางต้นออกลูกทุเรียนมีน้ำหนักมากถึง 4 กิโลกรัม (จากมาตรฐานแค่ 1-2กิโลกรัม) และยังมี “ทุเรียน” ไร้กลิ่น ที่จะให้รสชาติเป็น หลงลับแล เนื้อเป็นหมอนทอง ซึ่งกำลังพยายามทำให้ได้รุ่นแรกออกมาก่อน นอกจากนั้นก็ยังผสมผสานให้บางต้นสามารถออกลูกได้ทั้ง “ หลงลับแล ” “ หลินลับแล ” “หมอนทอง” ในต้นเดียวกัน
คุณกำพลบอกว่า “การทำอย่างนี้ มีข้อดีคือได้ทดลอง ที่ทำแบบธุรกิจก็มีอยู่แล้ว แต่ที่เป็นต้นโชว์ก็มีประมาณ 10-20 ต้น แต่เกษตรกรส่วนมากที่เขาไม่ทำกันเพราะทุเรียนต้นหนึ่งทำเงินได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บ้าน เอามาทำแบบนี้ก็เสียประโยชน์ในมุมมองคนที่ไม่ได้ทำแต่ที่เราทำก็อาจจะไม่ได้ผลผลิตอะไรมากแต่เราคิดว่าในอนาคตมันจะสามารถพัฒนาต่อไปให้ดีกว่านี้ได้”
สถานการณ์เรื่องผลผลิตและราคาทุเรียนในปัจจุบัน
ทุเรียนแต่ละต้นถ้าได้คุณภาพและมาตรฐานจริงๆ แต่ละต้นสามารถทำเงินได้มากถึง 2,000 -3,000 บาทในแต่ละรอบการผลิตของเกษตรกรที่ลับแลนี้ในผลผลิตขั้นมาตรฐานก็อยู่ระหว่าง 10-20 ตัน/ปี(มีทั้งหมอนทอง หลง และ หลิน) ราคาของทุเรียนก็แปรผันไปตามกลไกตลาดถ้าเป็นช่วงที่ทุเรียนออกมาไม่ชนกันกับภาคอื่นราคาก็จะสูง ในรอบปีนี้
ราคาของทุเรียนลับแลส่วนของ “หลงลับแล” ขายที่กิโลกรัมละ 250 บาท ส่วน “หลิน” ปีนี้ผลผลิตไม่ค่อยดีมีลูกน้อยแต่จากสถิติเมื่อปีก่อนหน้านี้สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 800-1,000 บาท ทั้งสองพันธุ์นี้ถือเป็นทุเรียนของฝากที่เกษตรกรสามารถปลูกแล้วได้ผลดีเฉพาะในเขตอุตรดิตถ์เท่านั้นหากเอาไปปลูกที่อื่นส่วนมากจะมีแต่ต้นแต่ไม่มีผลผลิตออกมา
สำหรับสถานการณ์ราคาทุเรียนในปีนี้ทุเรียนภาคกลางออกมาก่อนประกอบกับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนทำให้ทุเรียนลับแลออกช้าไปกว่า 1 เดือนแต่ก็ทำให้ราคาค่อนข้างดีตามที่กล่าวแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจากช่วงที่ผ่านมาได้ทราบว่ามีทุเรียน “หลงทรัพย์ไพวัลย์” ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองของอุตรดิตถ์แต่เอาไปปลูกที่พิษณุโลก ผลผลิตของ “หลงทรัพย์ไพวัลย์” เข้ามาตีราคา “หลงลับแล” จนราคาขายต้องปรับลงมาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภค คุณกำพลบอกว่าจากขายกิโลกรัมละ 250 บาท หลงทรัพย์ไพวัลย์ เข้ามาราคาก็เหลือแค่ประมาณ 200 บาท ซึ่งถือว่าถูกเกินกว่าความเป็นจริงพอสมควร
อันที่จริงทุเรียน “ลับแล” มีช่วงที่หยุดชะงักไปครั้งหนึ่งเมื่อประมาณปี 2549 ที่เกิดฝนตกหนักและมีดินโคลนถล่มในพื้นที่ของอำเภอลับแล ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 87 คนและสูญหายอีกกว่า 29 คน นอกจากนี้ก็ยังทำให้การเกษตรมีปัญหาเพราะพื้นที่ส่วนมากของคนลับแลคืออยู่บนภูเขาเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เลยทำให้ทุเรียนในช่วง2-3ปีหลังเงียบหายไป คุณกำพลบอกว่า “กว่าจะฟื้นตัวกลับมาก็ใช้เวลาอยู่หลายปี มาถึงปีนี้ที่ผลผลิตเริ่มออกมาได้มากแต่ถ้าเทียบกับปีก่อนก็ยังถือว่าน้อยกว่าอาจจะเพราะสภาพอากาศปีนี้ไม่ค่อยดีก็ได้”
“ทุเรียนลับแล” ส่งขายต่างประเทศได้ด้วย
ฤดูกาลของทุเรียนเมืองลับแลเกษตรกรที่ลับแลบอกว่าทั้ง “หลง” และ “หลิน” จะเยอะที่สุดก็อีก 2 เดือนข้างหน้าคือ กรกฏาคม-สิงหาคม แล้วจะมีไปเรื่อยๆ แต่ปริมาณน้อยลงจนถึงเดือนพฤศจิกายน ก็จะเข้าสู่ช่วงพักต้นเพื่อไปออกรอบใหม่ในอีก 4-5 เดือนข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันนอกจากขายในประเทศก็ยังมีพ่อค้ามารับซื้อเพื่อไปส่งตลาดต่างประเทศโดยราคาที่มารับซื้อจะแพงกว่าที่ซื้อขายในประเทศ 5-10 บาท (ตามมาตรฐานของทุเรียน) โดยเกณฑ์ที่คัดคือ เอา “พู” และ “น้ำหนัก” ที่สำคัญคือ “ต้องแก่” ถ้าเป็นการส่งเข้าจีนจะต้องคัดน้ำหนักให้ได้ 3-4 กิโลกรัม/ลูก “ความแก่” ของทุเรียนประมาณ 70-80 % แต่ถ้าเป็นการส่ง “กัมพูชา” ทุเรียนต้องมี 4-5 พูเต็ม น้ำหนัก 4-5 กิโลกรัม/ลูก “ความแก่” ประมาณ 90% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุเรียนส่งออกจากลับแลจะเป็น “หมอนทอง” ทั้งหมด ส่วนสายพันธุ์พื้นเมืองอย่าง “หลง” และ “หลิน” นั้น คุณกำพลบอกว่า “แค่ขายในประเทศก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคด้วยซ้ำไป”
ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือการ “เอาทุเรียนอ่อน” มาขาย
เรื่องนี้เป็นปัญหาในภาพรวมของวงการทุเรียนไทยที่บางสวนบางรายบางพื้นที่คำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตัว ตัดเอาทุเรียนที่ยังไม่ถึงเวลามาจำหน่ายทำให้ “เกษตรกรที่ทำดี” พลอยเสียหายไปกับการกระทำที่เห็นแก่ตัวนี้ด้วย หรือบางครั้งเลวร้ายยิ่งกว่าด้วยการหลอกผู้บริโภคว่าเป็นทุเรียนลับแล (ทั้ง หลงลับแลและหลินลับแล) แต่กลับเป็นทุเรียนในภาคอื่นเอามาปลอมขายยิ่งถ้าเป็นทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่ทำให้คนซื้อเขาใจผิดเป็นปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรก็กลุ้มใจกันไม่ใช่น้อยด้วยเหตุนี้เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้นประธานเครือข่ายเกษตรกรทางเลือกเมืองน่าอยู่ จ.อุตรดิตถ์จึงได้แนะนำการดูและเลือกซื้อ หลงลับแล-หลินลับแล มี 5 วิธีคือ
1.ต้องมีสติ๊กเกอร์ที่มีติดขั้วของผลทุเรียนของ จ.อุตรดิตถ์ จะต้องมีตราสัญญาลักษณ์ประจำ จ.อุตรดิตถ์ พร้อมโลโก้ทางเหนือเมืองน่าอยู่
2.ทุเรียนที่แก่จัดข้อต่อขั้วต้องอวบอ้วนลอยต่อขั้วที่เด่นชัด และที่ขั้วเมื่อสัมผัสจะรู้สึกสากก้านต้องแข็งระยะที่ผ่ารับประทานได้ สังเกตจะมีรอยร้าวที่ขั้วให้ใช้มือผลักขั้วจะหลุดออกจากกันจึงผ่ารับประทานได้จะมีรสชาติอร่อยมาก
3.ทุเรียนจะต้องมีชื่อเจ้าของสวน ผู้ผลิต รหัสรับรอง และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
4.ทุเรียนเกรดเอต้องมี 4 พลูขึ้นไปเมล็ดในผลเล็กหนามต้องสั้นและห่าง
5.บริเวณตรงปลายผลจะมีจุดที่เรียกว่า สะดือให้ใช้ปลายมีดกดลงตรงจุดสะดือแล้วงัดออกเปลือกจะแยกตามรอย แนะนำให้รับประทานในระยะห่ามจะได้รสชาติของทุเรียน หวาน มัน ที่ไม่มีทุเรียนพันธุ์ไหนเทียบเท่าได้
ด้วยมาตรการเหล่านี้ก็พอบรรเทาปัญหาในเบื้องต้นแต่ในระยะยาวก็ต้องหามาตรการที่ดีกว่านี้มาคอยควบคุมผลผลิตในตลาดไม่ให้ด้อยคุณภาพซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเอามาพิจารณากันต่อไปอีกที
tags: หลงลับแล หลินลับแล ทุเรียน อุตรดิตถ์ บนยอดเขา ห้วยเรือ กิโลกรัมละ 250-800 บาท เทคนิคการปลูกหลงลับแล หลินลับแล พร้อมวิเคราห์ตลาดในและนอกประเทศหลงลับแล
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]