ฝายยาง STR คุณภาพอินเตอร์ บริษัท แสงไทยผลิตยาง จำกัด
เพราะความที่เมืองไทยเป็น “เมืองยาง” แต่ชาวสวนส่วนใหญ่ยังยากจน เพราะสาเหตุหลากหลายประการ
แม้รัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ กยท. จะช่วยอย่างไร ก็ยังยากที่จะยกระดับ “ชาวสวน” ขึ้นสู่ผู้มีรายได้สูง
การผลิตฝายยาง
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนหลายบริษัทพยายามที่จะเข้าไปสนับสนุนด้วยกลไกธุรกิจ แต่ทำได้ในระดับจุลภาคเท่านั้น เช่น บริษัท แสงไทยผลิตยาง จำกัด ที่มี คุณบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง เป็นกรรมการผู้จัดการ ได้นำยางจากภาคใต้เพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต “ฝายยาง” หรือ “เขื่อนยาง” ในระบบชลประทานของประเทศ
เพราะฝายยางมีลักษณะอ่อนตัว สามารถเก็บกักน้ำได้ทุกระดับความสูง ทำให้น้ำไหลคล่อง ในฤดูน้ำหลาก น้ำในลำน้ำสูงขึ้น ฝายยางยุบตัวลงแบนราบกับฐานคอนกรีต น้ำไหลผ่านตัวฝายไม่ได้ เป็นการขจัดการกีดขวางทางเดินของน้ำ และป้องกันน้ำท่วมตลิ่ง ตะกอนทรายที่สะสมอยู่หน้าฝายจะถูกกระแสน้ำพัดพาข้ามตัวฝายไปได้ ทำให้ลำน้ำไม่ตื้นขืน การก่อสร้างก็ง่าย ลงทุนน้อย ประหยัดวัสดุก่อสร้าง ควบคุมการใช้สะดวก และทนทานต่อแผ่นดินไหว
คุณสมบัติโดดเด่นของ ฝายยาง
ดังนั้นฝายยางจึงถูกประยุกต์ใช้งานอย่างเหมาะสมในด้านต่างๆ เช่น กักเก็บน้ำไว้อุปโภค บริโภค และการเพาะปลูก ควบคุมระดับน้ำของเขื่อนตามความต้องการ ควบคุมอัตราการไหลของน้ำ กั้นน้ำเค็ม หรือน้ำกัดกร่อนไปทำลายพื้นที่เกษตร ควบคุมการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นฝายผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ควบคุมการปล่อยน้ำเสียในเขตอุตสาหกรรม เพิ่มความสูงของสันฝายคอนกรีตเดิม แทนฝายน้ำล้น แทนประตูระบายน้ำ และเป็นฝายกันคลื่นกระแทก เป็นต้น
มีคุณสมบัติโดดเด่นกว่าฝายชนิดอื่น เช่น อัตราการไหลของน้ำผ่านสันฝายสูงกว่า เพราะเมื่อฝายยางถูกสูบด้วยน้ำให้สูงตามกำหนดน้ำที่สูงกว่าสันฝาย สามารถไหลข้ามสันฝายได้เต็มความยาวของตัวฝาย และหากปล่อยให้ฝายยางยุบตัวจนเต็มที่ ฝายยางก็จะแบนราบกับท้องน้ำเหมือนไม่มีฝายมากั้น ทำให้น้ำไหลผ่านได้เต็มที่
ฝายยางสามารถควบคุมระดับน้ำได้ดี มีอุปกรณ์อัตโนมัติควบคุมได้ตามวัตถุประสงค์ กำหนดระดับสูงสุด/ต่ำสุดของระดับน้ำที่ต้องการควบคุมได้ ป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี เพราะยางมีคุณสมบัติที่น้ำซึมผ่านได้ยาก ฝายยางมีความอ่อนตัวสูง สามารถดูดกลืนพลังงานที่เกิดขึ้นจากคลื่นกระแทกกับตัวฝายได้อย่างดี และทนต่อการกัดกร่อนของสารเคมีที่ปนมากับน้ำ และการติดตั้งก็รวดเร็วกว่าฝายอย่างอื่น
องค์ประกอบของฝายยาง
แต่กว่าจะได้ผลงานระดับนี้ต้องผ่านอุปสรรคต่างๆ มากมาย
เริ่มตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ คุณเกรียง อู่อุดมยิ่ง ซึ่งทำโรงงานผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ
จนกระทั่ง คุณดำรง ลัทธพิพัฒน์ รมต.วิทยาศาสตร์ฯ เห็นข้อดีจากเขื่อนยางในญี่ปุ่น จึงได้นำเรื่องมาเล่าในสโมสรโรตารีปทุมวัน ซึ่งคุณเกรียงเป็นสมาชิกเกิดความสนใจ ไปดูงานเขื่อนยางในญี่ปุ่น จึงเห็นตรงกันว่าประเทศไทยอุดมไปด้วยยางพารา น่าจะทำเขื่อนยาง
ในที่สุดคุณดำรงก็ให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ออกทุน 8 ล้านบาท ให้ตั้งโรงงานทำวิจัย ร่วมกับ บริษัท แสงไทยผลิตยาง จำกัด ที่มีคุณเกรียงเป็นเจ้าของ ซึ่งได้ลงทุน 30 กว่าล้านบาท เมื่อปี 2532 แม้คุณดำรงได้เสียชีวิต แต่ คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน ได้อนุญาตให้ทำวิจัยต่อไป จนกระทั่งสำเร็จ
กิจการผลิตฝายยางมาถึงรุ่นที่ 2 คุณบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง กรรมการผู้จัดการ ได้พัฒนาต่อยอดหลายด้านด้วยกัน
งานฝายยางที่อดีตอยู่ในสำนักงานพลังงานแห่งชาติ ก็ถูกย้ายสังกัดมาอยู่ กรมชลประทาน ในปัจจุบัน
เมื่อถามถึง “ความยาก” ในการพัฒนาฝายยางให้ได้คุณภาพมาตรฐานสากล คุณบุญหาญเปิดเผยว่า มีองค์ประกอบหลัก 2 อย่าง ได้แก่ การออกแบบการผลิต และการติดตั้งในไซต์งาน ซึ่งจะต้องสัมพันธ์กัน จะผิดพลาดไม่ได้เป็นอันขาด
การออกแบบฝายยางว่าจะต้องหนาและสูงขนาดไหน การออกแบบวัสดุเสริมแรงที่อยู่ข้างในจะต้องแข็งแรงขนาดไหน จึงจะรับแรงดันน้ำได้ ต้องมีวิศวกรชำนาญการมาช่วยสอน
นอกจากนี้จะต้องมี “เครื่องผลิต” หลายขนาด เช่น ฝายยางยาว 30 เมตร 50 เมตร 100 เมตร สูง 3 เมตร 4 เมตร หรือ 5 เมตร จะต้องผลิตให้ได้ทุกขนาด
สุดท้ายฝายยางที่ผลิตแล้วจะถูกติดตั้งหน้างานจริง ติดตั้งอย่างไรให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง รวดเร็ว ไม่ผิดพลาด และแข่งกับเวลาได้ โดยเฉพาะถ้าน้ำมาจะทำงานไม่ได้
เป็นงานวิจัยที่ทำจากของจริง ซึ่งต้องใช้ฝีมือล้วนๆ
การตั้งโรงงานผลิตฝายยาง
บริษัท แสงไทยผลิตยาง จำกัด ถนัดในการใช้เครื่องจักร เพื่อผลิตชิ้นส่วนยางชิ้นเล็กๆ แต่เมื่อได้รับเกียรติและทุนวิจัยจากรัฐเพื่อผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ ก็ต้องพยายามทำให้สำเร็จ
แม้จะต้องจ้างวิศวกรต่างชาติมาสร้างก็ต้องยอม ยุคนั้นจีนกับญี่ปุ่นเท่านั้นที่สร้างเครื่องจักรได้
ทางบริษัทตัดสินใจจ้างวิศวกรจีนมาสร้างเครื่องจักรที่โรงงาน ใช้เวลา 2 ปีกว่า ทดสอบหลายครั้งจนสำเร็จ
คุณเกรียง อู่อุดมยิ่ง ได้ความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างมาก ด้วยวัยเพียง 40 ปี เท่านั้น
“ด้วยความที่บริษัททำงานด้านอุตสาหกรรมยางมาก่อน ยางปูพื้น แผ่นยาง ม้วนยาง แผ่นยางปะเก็น ท่อยาง ผลิตเอง ผสมยางเอง อัดยางเอง พอเป็นฝายยางก็ทำเหมือนกัน แต่เป็นชิ้นงานที่ใหญ่ขึ้น มีเรื่องการออกแบบเข้ามา มีเรื่องการติดตั้ง กิจการก็โตมาเรื่อย” คุณบุญหาญให้ความเห็น
ถามว่า ถ้าฝายยางใหญ่มากจะทำอย่างไร ทางบริษัทต้องทำเป็น 2 ตอน แยกจากกัน ตรงกลางเป็นแท่งคอนกรีต เอายางรุ่นที่ 1 ไปติดต่อด้วยยางรุ่นที่ 2 ทำให้การขนส่งง่ายขึ้น
เวลานี้บริษัทผลิตฝายยางใหญ่สุด สูง 4.5 เมตร ยาว 85 เมตร ตัวสูงที่สุดอยู่พิจิตร และตัวยาวที่สุดอยู่จันทบุรี
จุดเด่นของฝายยาง
องค์ประกอบงานฝายยาง STR ได้แก่
–ตัวถุงฝายยาง ทำหน้าที่ “พองตัว” เพื่อเก็บกักน้ำ และ “ยุบตัว” เพื่อปล่อยน้ำให้ไหลผ่านข้ามตัวฝาย เพราะมียางธรรมชาติผสมไม่น้อยกว่า 50% ของน้ำหนัก จึงแข็งแรง รับแรงดันน้ำหน้าฝายได้ดี ทนทานต่อดินฟ้าอากาศ ทนกรด-ด่างของน้ำได้ดี และถูกออกแบบให้มีค่านิรภัยสูงกว่าการทำงานปกติถึง 8 เท่า
–แผ่นรองพื้น ใช้วางบนฐานคอนกรีต ทำหน้าที่กันน้ำมิให้ซึมผ่านเข้า-ออกตัวฝายยาง
–อุปกรณ์ยึดตัวฝายยาง ประกอบด้วยตัวสมอยึด ที่ถูกฝังไว้ในคอนกรีต และแผ่นเหล็ก ปะกับบน-ล่าง ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้ใช้วัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนของน้ำ
–อุปกรณ์ควบคุมการสูบน้ำ ทำหน้าที่สูบน้ำเข้า-ออก ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ ท่อส่งน้ำ และอุปกรณ์ระบบควบคุมการสูบน้ำเข้า-ออก ตัวถูกฝายยาง
วันนี้บริษัทได้พัฒนาอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เทอะทะ มาเป็น “ไมโครคอมพิวเตอร์” เพื่อให้เกิดการกระชับ และแม่นยำ มากขึ้น
แม้แต่ “สารเคมี” ไม่ว่าจะเป็นสารตัวเร่งปฏิกิริยา สารกันเสื่อม หรือสารเสริมแรงที่เป็นสีดำ เป็นต้น ซึ่งต้องนำเข้าจากจีน และยุโรป ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ทำให้ยางแข็งแรง ก็ต้องศึกษาอัพเดทข้อมูลตลอด
หรือวัสดุเสริมแรง เช่น “ผ้าใบ” จากต่างประเทศ มีความพิเศษมากขึ้น มีหลายชนิด จะต่างกันที่ “ความหนา” หากนำมาใช้ผิดจะเกิดความเสียหายได้
ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ยาง
เนื่องจาก บริษัท แสงไทยผลิตยาง จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ยาง จึงต้องมีบุคลากรสำคัญ เช่น วิศวกรยานยนต์/วิศวกรโยธา วิศวกรโรงงาน และวิศวกรเคมี และต้องให้ทุนทำงานวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา เช่น ม.เทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น เพื่อนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อลดระยะเวลาให้สั้นลง
ในงานเกษตรและปศุสัตว์ บริษัทก็มีแผนจะผลิตสินค้าจากยางพาราบางตัวเข้าไปในวงการ เพราะวันนี้การเลี้ยงสัตว์ต้องให้ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานสากล
ยางพารา…จึงเป็นวัตถุดิบธรรมชาติ ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมหลายแขนง
โดยเฉพาะ “ฝายยาง STR” กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีบทบาทด้านจัดการน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับการนำน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูง/ประหยัดสุด ซึ่ง บริษัท แสงไทยผลิตยาง จำกัด โดดเด่นระดับแถวหน้าของเมืองไทย
สนใจรายละเอียดติดต่อ โทร.02-384-1693-5, 02-394-1205-6, 02-394-1821-2, อีเมล์ [email protected], www.saengthairubber.com
คุณบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง
บทบาทหน้าที่ในส่วนงานอื่นๆ
-กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงไทยผลิตยาง จำกัด
-รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
-เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง
-ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารงานวิจัย การยางแห่งประเทศไทย
-กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเจ้าของโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวิชาการรายสาขา คณะที่ 29 ยางและผลิตภัณฑ์ยาง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม