ส่งเสริมลูกบ่อ นวัตกรรมเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนวานาไม ได้ผลดี โดย เอก อร แพกุ้ง
ในยุคโควิด 19 ที่กำลังระบาด ส่งผลกระทบต่อหลากหลายอาชีพเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งในวงการเลี้ยงกุ้งเองก็ไม่แพ้กัน เพราะเดิมทีอาชีพเลี้ยงกุ้งต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เชื้อโรคที่มากับดิน น้ำ อากาศ ฯลฯ
การเลี้ยงกุ้งต้องปรับตัวและ ส่งเสริมลูกบ่อ เลี้ยงกุ้งอย่างไรให้กุ้งแข็งแรง และขายกุ้งมีกำไร จะน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละบุคคล
การเลี้ยงกุ้งขาว กุ้งก้ามกราม
คุณเอกสิทธิ์ (คุณเอก) ตันตะราวงศา เจ้าของ แพเอกอรแปดริ้ว ปรับระบบการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบเศรษฐกิจพอเพียง สร้างอาหารธรรมชาติในบ่อกุ้ง เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง
เดิมทีคุณเอกเป็นอีกหนึ่งผู้เลี้ยงกุ้งที่เลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่น ลงทุนเยอะมาก่อน ก่อนจะพบว่าการเลี้ยงวิธีเดิมทำให้เขาต้องเครียด และบางครั้งต้องเป็นหนี้ เพราะจับกุ้งแล้วไม่มีกำไร และหันมาปรับระบบการเลี้ยงกุ้งแบบผสมผสาน กุ้งขาวปนกุ้งก้ามกราม เน้นความพอเพียง จนพบว่าการเลี้ยงกุ้งแบบ Symbiosis ภายใต้ระบบ Pond dynamic เป็นวิธีที่ทำให้เขาได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ “ปิดประตูขาดทุนไปได้เลย”
คุณเอกเล่าว่า การเลี้ยงกุ้งในแบบของเขาจะต้องมีเป้าหมายที่ต้องการเลี้ยงกุ้งมาก่อน ที่สำคัญต้องมีพื้นที่เลี้ยง จากนั้นปรับความคิดว่าต้องการเลี้ยงแล้วมีกำไรเท่าไหร่ ในปริมาณที่เป็นไปได้ ไม่เน้นการเลี้ยงแบบหนาแน่น หรือเลี้ยงแบบเชิงเดี่ยว เพราะมีต้นทุนและความเสี่ยงสูง
การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกุ้งขาว ในแบบฉบับของคุณเอก
การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกุ้งขาวในแบบฉบับของคุณเอก คือ เริ่มจากการเตรียมบ่อเลี้ยง ตากบ่อ และใช้ปูนขาวปรับพื้นบ่อ การเตรียมดินพื้นบ่อ โดยการตากบ่อ ใส่จุลินทรีย์ หมักดิน/ระเบิดเลน และปลูกสาหร่ายเพิ่มอาหารธรรมชาติให้กับลูกกุ้งในบ่อ และช่วยลดปริมาณสารอินทรีย์
การเตรียมบ่อที่ดี ทำให้เกษตรกรไม่ต้องให้อาหารกุ้งในระยะแรก ปล่อยน้ำเข้าบ่อ และเข้าสู่กระบวนการสร้างอาหารธรรมชาติก่อนปล่อยกุ้ง คือ การทำ “น้ำเขียว” การทำน้ำเขียวที่เป็นแหล่งอาหารธรรมชาตินี้ต่างเป็นที่รู้จักกันดีในวงการเลี้ยงกุ้ง แต่สำหรับมือใหม่จะทราบได้อย่างไรว่าปริมาณอาหารธรรมชาติในบ่อเพียงพอต่อลูกกุ้งที่ปล่อยหรือไม่
คุณเอกได้ให้ข้อมูลว่า ใส่ปลาป่น จำนวน 1 กก./ไร่ และรำละเอียด ในปริมาณ 3 กก./ไร่ ตรวจวัดค่า pH น้ำให้เหมาะสม อยู่ที่ 7.5-8.5 อัลคาไลน์ อย่างน้อยต้อง 70-80 พีพีเอ็ม และที่สำคัญ คือ วัดความทึบแสงในบ่อ ให้แน่ใจว่าในน้ำมีอาหารเพียงพอกับลูกกุ้ง ปล่อยกุ้งขาวไซซ์ กุ้ง P12 หรือ P15 ปล่อยลงในบ่อ จำนวน 8,000-10,000 ตัว/ไร่
“ช่วง 7 วันแรก ให้ลูกกุ้งกินอาหารธรรมชาติในบ่อ” เมื่อครบ 1 สัปดาห์ จะเริ่มให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเล็กน้อย เมื่อกุ้งกินอาหารในบ่อ จะตรวจเช็คและคอยสังเกตสีน้ำในบ่อเลี้ยงอยู่เรื่อยๆ วัดค่าความทึบหรือโปร่งแสง ด้วยแผ่นวัดค่าทึบแสง หากวัดแล้วเห็นแผ่นขาวชัด นั่นคือ อาหารเริ่มมีน้อยแล้ว ต้องเติมรำละเอียดและปลาป่นเพิ่มเรื่อยๆ จนกว่าลูกกุ้งจะอายุครบ 30 วัน ค่อยปล่อยกุ้งก้ามกรามรวมตัวผู้และตัวเมีย ไซซ์ 200 ตัว/กก. จำนวน 2,500 ตัว/ไร่ หรือกุ้งก้ามกรามตัวผู้ล้วน ปล่อย 1,000 ตัว/ไร่ ร่วมกับการใส่อาหารเม็ดสำเร็จรูป ในยอ 1-2 ยอ/บ่อ
การให้ออกซิเจน คุณเอกบอกว่า “วันแรกจะตีน้ำให้ออกซิเจน 12 ชม. วันที่ 2 ตีน้ำช่วงเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า ประมาณ 6 ชม. เพราะในบ่อมีโรงงานสร้างออกซิเจนอยู่แล้ว ได้จากแพลงก์ตอนพืชสังเคราะห์แสงดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์แล้วคายออกซิเจนออกมา ช่วงเวลา 18.00 น. -1 ทุ่ม มีออกซิเจนเหลือเฟือ ทีสำคัญถ้าบ่อที่แสงแดดส่องลงไปได้ลึก จะทำให้แพลงก์ตอนพืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้น้ำขาดออกซิเจน และพืชน้ำเหล่านี้จะตายไปสะสมอยู่ก้นบ่อกลายเป็นขี้แดด ที่สำคัญต้องคอยสังเกตดูสีน้ำในบ่อเลี้ยงเรื่อยๆ”
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
จัดการพื้นบ่อก่อนการเลี้ยง เพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ตั้งต้นในบ่อ ใช้จุลินทรีย์+ให้ออกซิเจน ในการย่อยสลายสารอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง กุ้งเริ่มกินอาหารเม็ดมากขึ้น ขี้กุ้งถูกขับออกมาทุกวัน ดินพื้นบ่อแบคทีเรียมีบทบาทในการหมุนเวียนคาร์บอนในดินมีค่าสูงเป็น 2-4 เท่าของในหน้าดิน พื้นบ่อเป็นแหล่งสะสมสารอินทรีย์คาร์บอน คิดเป็น 20-40% ของปริมาณคาร์บอนอินทรีย์ที่ตกตะกอนลงสู่พื้นบ่อ จึงต้องใส่จุลินทรีย์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้มีการย่อยสลายเกิดขึ้นในบริเวณพื้นบ่อ
โดยการใส่จุลินทรีย์ที่ได้จากการหมักเอง หน่อกล้วย+กากน้ำตาล เพื่อย่อยสลายขี้กุ้งที่ก้นบ่อ เปลี่ยนขี้กุ้งและของเสียให้เป็นไนเตรท และให้แพลงก์ตอนกลับไปสังเคราะห์แสงใหม่ แพลงก์ตอนพืชจึงมีบทบาทสำคัญต่อการหมุนเวียนคาร์บอนน้ำ ซึ่งต้องควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนในบ่อเลี้ยงกุ้ง โดยการหมุนเวียนน้ำ หรือใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ ควบคุมแพลงก์ตอนและเชื้อโรค ในระหว่างการลี้ยง วิธีนี้จะทำให้กุ้งมีอาหารกินตลอดระยะการเลี้ยง
การให้อาหารกุ้ง
ในส่วนของการให้อาหารเม็ดนั้น คุณเอกจะเน้นให้อาหารสูตรกุ้งก้ามกราม ที่สั่งโรงงานผลิตในสูตรของตนเอง ที่คิดค้นร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด โดย คุณบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่ผลิตอาหารกุ้งก้ามกราม เน้นโปรตีนที่ได้จากปลาป่นล้วน 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผสมถั่วเหลือง และเติมกรดอะมิโนและวิตามินอื่นที่จำเป็น เพื่อให้กุ้งก้ามกรามลอกคราบได้เร็ว สีสันและคุณภาพเนื้อกุ้งดีเยี่ยม
คุณเอกสั่งผลิตอยู่ 2 เบอร์ คือ อาหารกุ้งก้ามกราม เบอร์ 4 และ เบอร์ 5 โดยอัตราแลกเนื้อของกุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงไป 100 วัน อยู่ที่ 1.1-1.3 ในการเลี้ยงกุ้งแบบนี้ เมื่อเลี้ยงครบ 100 วัน กุ้งก้ามกรามตัวผู้จะได้ขนาด 8-10 ตัว/กิโลกรัม
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุ้งก้ามกราม
ด้วยบทบาทที่เป็นแพรับซื้อกุ้ง ทำให้คุณเอกทราบตลาดกุ้งก้ามกรามไซซ์ใหญ่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก และมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ และเห็นว่ามีการนำเข้ากุ้งก้ามกรามจากประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ฯลฯ มูลค่าหลายล้านบาท/ปี
ทำให้คุณเอกรวมกลุ่มสมาชิกเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งจำนวน 100 คน ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดปราจีนบุรี จำนวนพื้นที่เลี้ยงไม่ต่ำกว่า 1,500 ไร่ เพื่อผลิตกุ้งก้ามกรามไซซ์ใหญ่ 3-8 ตัว/กก. คุณภาพ GAP รองรับตลาดในประเทศ และต่างประเทศ และผลผลิตกุ้งก้ามกรามที่คุณเอกรับซื้อจะนำมาขายราคาต่ำกว่ากุ้งนำเข้า เช่น
-กุ้งก้ามกราม ไซซ์ 4 ตัว/กก. ราคาขาย 800 บาท
-กุ้งก้ามกราม ไซซ์ 5 ตัว/กก. ราคาขาย 700 บาท
-กุ้งก้ามกราม ไซซ์ 6 ตัว/กก. ราคาขาย 600 บาท
-กุ้งก้ามกราม ไซซ์ 7 ตัว/กก. ราคาขาย 500 บาท
-กุ้งก้ามกราม ไซซ์ 8 ตัว/กก. ราคาขาย 400 บาท
ปริมาณกุ้งก้ามกรามที่ออกจากหน้าบ่อแต่ละฤดูกาลจะมีปริมาณไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เช่น ฤดูฝน กุ้งจะเยอะมาก แต่ปริมาณกุ้งก้ามกรามพรีเมี่ยมจะส่งอยู่ที่ 20,000-30,000 กก./เดือน ส่วนกุ้งก้ามกราม ไซซ์ 3-5 ตัว/กก. จะมีปริมาณ 3,000 กก./เดือน และคาดว่าในอนาคตจะผลิตกุ้งก้ามกรามไซซ์ใหญ่ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เอก อร แพกุ้ง โทร.086-4018884