ปลาพลวง (ภาพที่ 1) ปลาเวียน ปลาจาด ปลาม่อม ปลามอญ ปลาขิ่ง เป็นปลาต้นน้ำที่ชอบอยู่ในบริเวณน้ำไหล มีพื้นท้องน้ำเป็นหินใหญ่ หรือก้อนหิน ปลาพลวงจะมีชื่อเรียกกันไปตามท้องถิ่น เช่นปลาพวง ปลาน้ำตก ปลาเทพเจ้า ปลาปุง และหยะปลา
ปลาพลวง มีการแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า ถึงเอเชียใต้ ได้แก่บังคลาเทศ อินเดีย ภูฏาน รวมถึงยูนนานในประเทศจีน (ภาพที่ 2) ปลาพลวง เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ พบมีขนาดประมาณ 1 เมตร มีจำนวนชนิดถึง 29 ชนิด ที่พบในโลกนี้ (Fishbase, 2019)
ลักษณะทั่วไปของปลาพลวง
ปลาพลวง เป็นปลาที่จัดอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีเกล็ดที่มีขอบเรียบ มีก้างในเนื้อเยอะ ครีบหูอยู่ในระดับต่ำ มีครีบหลังตอนเดียว ไม่มีฟันที่ขากรรไกร แต่มีฟันในหลอดคอที่พบในประเทศไทยพบทั้งหมด 6 ชนิดด้วยกัน คือ ปลาพลวงหิน Neolissochilusstracheyi เป็นชนิดที่พบมีการแพร่กระจายทั่วประเทศ, ปลาพลวงถ้ำ N. subterraneousพบเฉพาะในถ้ำที่จังหวัดเพชรบูรณ์, ปลาพลวงใต้ N. paucisquamatus พบทางภาคใต้, ปลาพลวงสุมาตรา N. sumatranus พบทางภาคใต้และทางภาคตะวันออก, ปลาพลวงแถบดำ N. vittatus พบเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่พบในปริมาณที่น้อย และปลาพลวงตะวันตก N. soroides พบจากภาคใต้ขึ้นมาจนถึงลุ่มน้ำแม่กลอง (ภาพที่ 3)
ความแตกต่างของปลาพลวง
ความแตกต่างของ ปลาพลวง แต่ละชนิดมีดังนี้ เป็นปลาที่มีความใกล้เคียงกันมาก คือ มีจำนวนก้านครีบหลังที่แตกปลายจำนวน 8-9½ ก้าน และมักจะแปรปรวนในช่วงนี้ ดังนั้นการใช้จำนวนก้านครีบหลังแยกไม่ได้ผล จึงต้องใช้ลักษณะอย่างอื่น ขนาดของตาที่มีขนาดเล็กกว่า 2.4 เท่าของความยาวหัว จัดเป็นกลุ่มที่มีตาขนาดเล็ก ได้แก่ ปลาพลวงถ้ำ ปลาพลวงใต้ เป็นต้น ส่วนปลาที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตามากกว่า 2.5 เท่าของความยาวหัว จัดเป็นกลุ่มของปลาพลวงกลุ่มที่มีขนาดตาใหญ่ เช่น ปลาพลวงหิน ปลาพลวงตะวันตก ปลาพลวงแถบดำ เป็นต้น (ภาพที่ 4)
ชีววิทยาของปลาพลวง
ปลาพลวง เป็นปลาต้นน้ำชอบกินพืชเป็นอาหารหลัก แต่ก็มีความแตกต่างกันในช่วงชีวิตของปลา เช่น ปลาในวัยอ่อนจะกินแมลงน้ำ โตขึ้นมาก็กินพืชมากขึ้น หรือบางครั้งก็พบว่าปลาพลวงก็กินกบเขียด หรือกุ้ง ปูขนาดเล็กเป็นอาหารด้วยเช่นกัน (ภาพที่ 5)
ปลาพลวงจะมีการเจริญพันธุ์มากกว่า 1 ครั้งในรอบปี ซึ่งจะแตกต่างกับปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่ส่วนใหญ่จะมีการผสมพันธุ์วางไข่เพียงครั้งเดียวในรอบปี จากข้อมูลที่ศึกษาจะพบว่า ปลาพลวง มีช่วงที่พร้อมในการเจริญพันธุ์ถึง 2 ช่วง คือ ในช่วงฤดูหนาว ประมาณธันวาคม-กุมภาพันธ์ และช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
และจากการที่ตรวจสอบดูการพัฒนาการของรังไข่ก็เป็นอย่างที่ตั้งข้อสังเกตุไว้ อาจเนื่องมาจากเป็นปลาที่อาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำ มีการวางไข่ในช่วงที่มีอาหารเหมาะสมกับตัวอ่อนที่กำลังออกมา และอาจมีจำนวนผู้ล่าน้อยในช่วงนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าในรังไข่ของปลาพลวงนั้นมีไข่อยู่หลายขนาดด้วยกัน นั่นหมายความว่าไข่ที่สุกไม่พร้อมกันนั้น ปลาจะไม่วางไข่ออกมาทั้งหมดในคราวเดียวกัน (ภาพที่ 6)
ความสำคัญของปลาพลวง
ปลาพลวงเป็นปลาต้นน้ำ การดูแลแหล่งน้ำจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากเมื่อไหร่มีการตัดไม้ทำลายป่าที่เป็นต้นน้ำลำธาร เราก็จะไม่มีปลาพลวงอาศัยอยู่ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกลยุทธในการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จมากๆ เช่น การบอกว่าปลาพลวงเป็นปลาที่กินแล้วเมา การที่บอกว่าปลาพลวงเป็นปลาของเทวดา เป็นปลาของเจ้าที่ เป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ ใครกินเข้าไปจะมีอันเป็นไป และปลาพลวงก็ฉลาดพอที่ไม่ยอมออกจากพื้นที่อนุรักษ์ มีการประกาศเขตพื้นที่การอนุรักษ์อย่างจริงจัง (ภาพที่ 7)
ปลาพลวงต้องอาศัยอยู่ในวังน้ำลึก รวมกันอยู่จำนวนมาก ตัวใหญ่จะอยู่น้ำลึกหน่อยหนึ่ง ตัวกลางอยู่ผิวน้ำแต่จากแนวกลางของฝูงออกไป เป็นที่น่าสังเกตุว่าวังน้ำมักจะมีด้านบนมีต้นไม้ใหญ่ที่มีผลหล่นลงไปในลำน้ำ เช่น ต้นมะเดื่อ ปลาจะแย่งกันเข้ามากินกัน และจะมีการอพยพขึ้นไปวางไข่ในพื้นที่ต้นน้ำ ตัวอ่อนของปลาจะอาศัยอยู่ในลำธารขนาดเล็ก เลี้ยงตัวเองในบริเวณที่มีอาหารธรรมชาติมาก เช่น ตัวอ่อนแมลงน้ำ และมีแหล่งหลบภัย ใต้ซอกหิน รากไม้ เป็นพื้นที่เหมาะสมกับการเลี้ยงตัวเอง
และเมื่อมีขนาดใหญ่มากขึ้น ปลาก็จะอพยพลงมาในลำน้ำที่มีขนาดใหญ่ และเลี้ยงตัวอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ รวมตัวกัน ดังนั้นในบริเวณวังปลาจะมีปลาหลายขนาด หลายรุ่น อยู่ด้วยกัน มีการแบ่งปันกัน เอื้ออาทรกัน อย่างลงตัว นอกจากนี้ก็จะอยู่รวมกันกับปลาอื่นอย่างสงบ ยกเว้นอาจมีกลุ่มของปลาคังที่เป็นปลากินเนื้อขนาดใหญ่บ้างในส่วนลึกของวังปลา
การอนุรักษ์ปลาพลวง
สภาพป่าที่ถูกทำลายไปจนไม่มีต้นไม้ กลายเป็นภูเขาหัวโล้นกันอีกมาก เมื่อฝนตกชะล้างหน้าดินลงมาทับถมในลำธาร ไม่มีร่มเงา ก้อนหินที่เป็นที่อยู่ของแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของตัวอ่อนแมลงน้ำ ไม่มีต้นไม้ที่เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงก่อนลงมาไข่ในแหล่งน้ำ หรือบางตัวหลงรอดลงมาวางไข่ในน้ำ แต่เมื่อไม่มีแหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย ไม่มีแหล่งที่อยู่อาศัย ลูกปลาก็ไม่มี เมื่อไม่มีลูกปลาก็ไม่มีปลาใหญ่ในอนาคต
วงจรนี้หากพื้นที่ไหนมีปลาพลวงอยู่นั้นหมายถึงยังมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ดีอยู่ (ภาพที่ 8) การดูแลปลาพลวงไม่จำเป็นต้องปล่อยปลาลงไปในแหล่งน้ำ ไม่จำเป็นต้องให้อาหาร แต่บางแห่งมีการให้อาหารปลาที่เป็นปลาธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดมาก ปลาที่มีศักยภาพในการหากินด้วยตัวเองก็จะไม่ออกไปหากิน รอจนตัวอ้วน “เสียปลา” กันไปก็เยอะ
โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นการทำลายสภาพธรรมชาติของปลา หรือบางครั้งที่มาของพืชอาหาร เช่น ถั่ว หรืออื่นๆ จะมีสารเคมีทางการเกษตรติดมาด้วย ทำให้ปลาตายได้ง่าย หรือมีจำนวนปลามากจนเกินไป ดังนั้นอย่าไปอนุรักษ์ด้วยการให้อาหารปลาในธรรมชาติ
ดังนั้นการอนุรักษ์ปลาพลวง หรือปลาชนิดอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน คือ อย่าปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น การปล่อยลูกปลาขนาดเล็กแทบทั้งหมด ลูกปลาจะตายก่อนโต หรือถูกปลากินเนื้อกินหมดภายในวันเดียว หรือทันทีที่ลงสู่แหล่งน้ำ และส่วนใหญ่แล้วปลาที่นำมาปล่อยจะเป็นปลาต่างถิ่นที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย แล้วนำมาปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สามารถเอาออกมาได้จากธรรมชาติ เป็นการทำลายธรรมชาติโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน
หรือบางคนชอบปล่อยปลากินเนื้อ เช่น ปลาดุกลูกผสม หรือปลาดุกรัสเซีย ที่เราหาได้ง่าย และราคาถูก เมื่อปล่อยลงไปในน้ำแล้ว ปลาดุกก็คือเครื่องจักรสังหารที่ท่านส่งลงไปกินปลาและสัตว์น้ำจำนวนมหาศาลในแหล่งน้ำ เพียงแค่ท่านปลูกต้นไม้ก็คือการปล่อยปลาที่ดีที่สุด เพราะต้นไม้ให้ออกซิเจน ป้องกันการชะล้างหน้าดิน คายน้ำ ให้ร่มเงา เป็นที่อยู่ของแมลงที่เป็นพ่อแม่ของแมลงน้ำ และยังเป็นการปล่อยนกด้วยซ้ำ ใครที่อยากทำบุญที่ดีที่สุด คือ “ปลูกต้นไม้เท่ากับปล่อยนกและปล่อยปลา”
เครดิต
รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้