กำนันตุ้ม สร้างศูนย์เรียนรู้ เกษตรผสมผสาน เผยเทคนิคเลี้ยงสัตว์แบบให้ไร้กลิ่น
เกษตรผสมผสาน คือ ระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์ มีสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยสามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การทำเกษตรผสมผสานยังช่วยลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของรายได้ เนื่องจากมีความหลากหลายในกิจกรรมการผลิต ทั้งปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ทำให้รายได้มาจากหลายกิจกรรม และสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ
จุดเริ่มต้นการทำเกษตรผสมผสาน
สำหรับศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานที่ทางนิตยสารสัตว์บกจะพาทุกท่านไปรู้จัก คือ ศูนย์เรียนรู้ของ กำนันตุ้ม หรือ คุณสมปอง รัศมิทัต นอกจากการทำเกษตรผสมผสานที่หลากหลายแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนขยะในฟาร์มให้เป็นศูนย์ ซึ่งของเสียทั้งหมดสามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ได้ใหม่
“การที่ผมมาทำเกษตร เพราะแต่เดิมผมเป็นคนชอบทำสวน แต่การทำธุรกิจกับการทำเกษตรมันต่างกัน เราก็ต้องเริ่มจากการทำธุรกิจเพื่อครอบครัวก่อน เมื่อธุรกิจตรงนี้อยู่ตัว เราก็มามองหาอะไรทำเพื่อผ่อนคลาย ประจวบกับตอนนั้นมีเกษตรอำเภอมาแนะนำให้ปลูกผัก เลี้ยงไส้เดือน เพาะเห็ด จึงกลายเป็นที่มาของการทำเกษตรผสมสาน” กำนันตุ้มเผยถึงที่มาของการทำเกษตรผสมผสาน
จุดเริ่มต้นศูนย์เรียนรู้ของกำนันตุ้มเริ่มจากการทำเห็ดปลอดขยะ โดยนำเห็ดที่หมดสภาพนำมาตีใส่มูลโคแล้วนำไปหมักเป็นปุ๋ย เพื่อนำมาเลี้ยงไส้เดือน แล้วนำมูลไส้เดือนที่ได้ไปใส่เครื่องร่อนเพื่อนำมาทำน้ำหมัก
นอกจากนี้ยังมีการปลูกผักบนกระเบื้อง โดยเลี้ยงไส้เดือนในดินที่ใช้ปลูกผักบนกระเบื้อง ที่ไม่มีที่ไหนทำมาก่อน ซึ่งตอนเลี้ยงผักบนกระเบื้องนั้น กำนันมีแนวคิดที่จะใช้เพียงมูลโค แต่ภายหลังต้องการมูลเป็ด มูลไก่ เข้ามาเสริม จึงกลายเป็นที่มาของการเลี้ยงเป็ดและไก่
ประโยชน์ของน้ำหมัก
แม้ว่าจะมีการเลี้ยงสัตว์ที่หลายหลาย ไม่ว่าจะเป็น เป็ดปากน้ำ ไก่ดำภูพาน ไก่ไข่เบทาโกร ไก่ตะเภาทอง และแพะ แม้จะเลี้ยงในเขตชุมชนต้องยอมรับว่าที่ฟาร์มของกำนันไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นมารบกวนเลย เพราะมีการจัดการที่ดี และเทคนิคที่กำนันเผย คือ “น้ำหมัก” นั่นเอง
“พอดีผมมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มของพี่ดอกรัก เขาเลี้ยงเป็ด 4,000 ตัว แต่ที่ฟาร์มเขาไม่มีกลิ่นเหม็นเลย เพราะเขาใช้น้ำหมักฉีดพ่นพื้นคอกเพื่อดับกลิ่น ผมก็ได้มานำปรับใช้ที่ฟาร์ม ที่ฟาร์มมีเปิดเป็นร้านอาหารด้วย ก่อนหน้านั้น คือ มีปัญหาเรื่องกลิ่น จนมีปัญหาแมลงวันเข้าไปในร้าน จนได้นำน้ำหมักมาปรับใช้ก็ไม่มีปัญหาอีกเลย” กำนันตุ้มกล่าวเพิ่มเติม
น้ำหมักที่ใช้นั้นกำนันจะผสมเอง นอกจากฉีดพ่นพื้นคอกได้แล้ว ยังสามารถผสมในน้ำและอาหารให้สัตว์กินได้อีกด้วย โดยมีส่วนผสมของจุลินทรีย์สำหรับสัตว์ หัวเชื้อจุลินทรีย์ กากน้ำตาล น้ำมะพร้าว
โดยอัตราส่วนที่ใช้จะมีจุลินทรีย์เกี่ยวกับด้านปศุสัตว์และประมง 1 ลิตร หัวเชื้อจุลินทรีย์ครึ่งลิตร กากน้ำตาล 5ลิตร และน้ำมะพร้าว 4 ลูก นำมาผสมให้เข้ากัน หมักเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงนำมาผสมอาหาร น้ำ และฉีดพ่นพื้นคอก จะฉีดทุกๆ 3วัน แล้วใช้ให้หมดภายใน 15 วัน
“จุดเด่นของที่นี่ คือ การใช้น้ำหมัก เพราะหลังจากใช้แล้ว คอกเป็ด คอกไก่ คือ ไม่มีกลิ่น และไม่มีแมลงวันเลย ผมตั้งใจจะเป็นต้นแบบของคนในเกาะนี้ ว่าเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ แล้วไม่มีกลิ่น และสามารถนำของเสียที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์” กำนันตุ้มยืนยันถึงประโยชน์ของน้ำหมัก
การส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดปากน้ำ
สำหรับเป็ดปากน้ำที่กำนันเลี้ยงนั้น ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากทางกรมปศุสัตว์สมุทรปราการ ในโครงการส่งเสริม และอนุรักษ์สายพันธุ์เป็ดปากน้ำ ซึ่งลักษณะประจำพันธุ์ของเป็ดปากน้ำนั้น เพศผู้หัวและคอมีสีเขียวแก่ชัดเจน และสีนี้จะค่อยๆ จางลงจนเป็นสีน้ำเงินปนดำ เมื่ออายุมากขึ้นขนหาง 2-3 เส้น จะงอโค้งขึ้นด้านบน ส่วนเพศเมียจะมีขนเป็นสีกากีตลอดลำตัว ขา และแข้ง สีส้ม ปากสีน้ำเงิน
ส่วนอาหารที่ให้เป็ดกินนั้นทางกำนันก็ผสมเอง โดยเลือกใช้กากถั่วที่เหลือจากโรงงานน้ำมันพืชกุ๊กนำมาสับให้ละเอียด และผสมกับกากถั่วเหลืองที่ได้จากร้านน้ำเต้าหู้ในชุมชน ซึ่งการผสมอาหารเองสามารถลดรายจ่ายได้
โดยกำนันจะเลี้ยงเป็นเป็ดพ่อแม่พันธุ์เพื่อแจกจ่ายลูกเป็ดแก่เกษตรกรในพื้นที่ และส่งเสริมการเลี้ยงโดยใช้น้ำหมักเพื่อลดปัญหาการเกิดกลิ่นเหม็นรบกวน สำหรับการเลี้ยงในพื้นที่ชุมชน และแนะนำเทคนิคการผสมอาหารใช้เองเพื่อลดต้นทุนอีกด้วย
สายพันธุ์ไก่
นอกจากการเลี้ยงเป็ดปากน้ำแล้ว ทางกำนันยังมีการเลี้ยงไก่เสริมด้วย มีทั้งไก่ดำภูพาน ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่เบทาโกร และไก่ตะเภาทอง ซึ่งเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์ สำหรับไก่ดำภูพานนั้นจะมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ได้แก่
- ไก่ดำภูพาน 1 จะมีลักษณะขนสีดำ เนื้อดำ กระดูกดำ
- ไก่ดำภูพาน 2 จะมีลักษณะขนสีขาว เนื้อดำ กระดูกดำ
- ไก่ดำภูพาน 3 จะมีลักษณะขนสีน้ำตาล เนื้อดำ กระดูกดำ
ส่วนไก่พื้นเมืองนั้นจะเป็นไก่สายพันธุ์เหลืองหางขาวที่ได้จากทางกรมปศุสัตว์ นอกจากนี้กำนันยังเผยเทคนิคที่ช่วยให้ไก่พ่อแม่พันธุ์โตไว คือ ให้กินหัวอาหารในช่วง 4 เดือนแรก อาจจะต้องทำใจเรื่องค่าอาหาร แต่ไก่ที่ได้จะมีลักษณะของพ่อแม่พันธุ์ที่ดี แข็งแรง
แนวโน้มในอนาคต
นอกจากนี้ที่ศูนย์เรียนรู้ยังได้รับใบอนุญาตในการปลูกกัญชา ซึ่งกำนันได้เตรียมโรงเรือนสำหรับปลูกเรียบร้อย มีการเตรียมดินสำหรับปลูกกัญชา โดยได้ทดลองปลูกกัญชงก่อนเพื่อดูว่าดินที่เตรียมเหมาะสำหรับการปลูกกัญชาหรือไม่
“เราเป็นหนึ่งเดียวที่สามารถเปิดครัวที่มีผลิตภัณฑ์โดยมีส่วนผสมของกัญชาภายใน 6 เดือนข้างหน้า หลังจากที่ได้เมล็ดแล้วต้องนำส่งกรมการแพทย์เพื่อสกัดดูว่าไม่มีสารตกค้าง แล้วส่งให้ อย.เพื่อผลิตน้ำมันกัญชา ส่วนที่เป็นลำต้น ใบ ราก สามารถนำมาแปรรูปได้ เช่น น้ำชาจากใบกัญชา คุ๊กกี้กัญชา” กำนันตุ้มกล่าวเพิ่มเติม
และในอนาคตอีก 5 เดือน กำนันได้มีการวางแผนจะเปิดศูนย์เรียนรู้เพิ่มอีก 1 แห่ง ที่รามคำแหง 68 จะนำสวนเกษตรและฟาร์มปศุสัตว์ไปเปิดที่กลางเมือง เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้ดูการทำฟาร์มอย่างไรให้ไม่มีกลิ่น นอกจากเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ครบวงจรแล้ว ยังมีคาเฟ่สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ และเมนูอาหารสุดพิเศษที่มีส่วนผสมของกัญชา
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณสมปอง รัศมิทัต (กำนันตุ้ม) โทร.081-441-3028 ที่อยู่ 89/13 หมู่ 9 ต.บางยอ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 10130