โครงการรับจ้างเลี้ยงสุกรมีมากมายหลายรูปแบบ สำหรับนิตยสารสัตว์บกฉบับนี้จะพามาพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ จังหวัดพัทลุง คุณอรุณรัตน์ ดำทอง หรือ พี่แอ๋ว จะมาแชร์ประสบการณ์การรับจ้างเลี้ยง สุกรแม่พันธุ์ และเผยสิ่งที่ควรวางแผนก่อนลงทุน เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายบานปลายจากการก่อสร้าง
ก่อนที่จะมารับจ้างเลี้ยงสุกร พี่แอ๋วได้ทำมาหลากหลายอาชีพ แต่ก็ติดปัญหาเรื่องของแรงงาน และเรื่องของพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด พี่แอ๋วจึงมองหาอาชีพที่มีความยั่งยืน ไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่และแรงงาน จึงได้เลือกเลี้ยง สุกรแม่พันธุ์ ในรูปแบบรับจ้างเลี้ยงกับ บริษัท เบทาโกร จำกัด ในรูปแบบโรงเรือนอีแวป
“ก่อนจะตัดสินใจเลี้ยงพี่ก็ได้ติดต่อสอบถามกับทางบริษัทว่ามีโครงการจ้างเลี้ยงหรือไม่ พอดีตอนนั้นทางบริษัทมีโครงการรับลูกเล้าในเขตพื้นที่พัทลุง และคุยเรื่องรายละเอียดผลตอบแทนต่างๆ ก่อนตัดสินใจเลี้ยง” พี่แอ๋วกล่าวเพิ่มเติม
จุดเริ่มต้นเลี้ยงหมู
พี่แอ๋วรับจ้างเลี้ยงกับทางเบทาโกรมาได้ 9 ปี โดยเริ่มเลี้ยงครั้งแรกประมาณ 220-250 ตัว จะมีสุกรสาวทดแทน และ สุกรแม่พันธุ์ เรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ในการเลี้ยง ทางบริษัทจะคอยแนะนำและให้ความรู้ นอกจากความรู้เรื่องการเลี้ยงแล้ว พี่แอ๋วได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบโรงเรือน และไปดูตัวอย่างฟาร์มอื่นๆ ประกอบด้วยเช่นกัน
และก่อนที่จะเริ่มเลี้ยงในฟาร์มของตน ทางบริษัทได้พาไปฝึกงานที่ฟาร์มของบริษัทก่อน ไปเรียนรู้วิธีการเช็คสัด วิธีการผสมเทียม การกรอเขี้ยวลูกสุกร การดูแลลูกสุกรหลังคลอด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลี้ยง
“พี่ก็ได้ดูรูปแบบโรงเรือนจากฟาร์มอื่นๆ การวางพัดลมในโรงเรือน การวางคูลลิ่งแพด ความยาวโรงเรือนเท่าไหร่ กว้างเท่าไหร่ ซองสำหรับแม่หมูอุ้มท้องควรมีขนาดเท่าไหร่ รางน้ำ รางอาหาร ควรวางอย่างไร โกดังอาหารควรวางอย่างไร เพื่อไม่ให้ขวางทางลม รายละเอียดเยอะมากที่ต้องศึกษา เพราะการเลี้ยงหมูเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา” พี่แอ๋วเผยถึงรายละเอียดเพิ่มเติมนอกจากวิธีการเลี้ยง
สภาพพื้นที่เลี้ยงหมู
โรงเรือนแรกที่ทำพี่แอ๋วได้เผยว่ามีการวางรูปแบบผิดตามจริง ควรวางตามแนวตะวันตก-ตะวันออก แต่ของทางฟาร์มวางตามแนวเหนือ-ใต้ จึงทำให้ต้องรับแสงแดดทั้งเช้าและบ่าย และไม่ได้รับลมธรรมชาติ ต้องอาศัยลมจากพัดลมในโรงเรือน แต่โชคดีที่รอบๆ ฟาร์มมีสวนยาง จึงไม่ได้รับแสงแดดเยอะจนเกินไป
สำหรับแผนการเลี้ยงนั้น ทางบริษัทได้วางแผนรูปแบบการเลี้ยงให้ฟาร์ม มีลูกสุกรหย่านมออกทุกเดือน มีรายได้ตลอดทั้งเดือน ในสุกรแม่พันธุ์จำนวน 230 ตัว ในแต่ละเดือนควรจัดชุดผสมเท่าไหร่ เผื่อสำหรับการกลับสัดเท่าไหร่ ให้มีสุกรเข้าคลอดประมาณ 85% โดยจะมีนักวิชาการของบริษัทมาวางแผนการเลี้ยงให้
เมื่อลูกสุกรคลอดออกมา ทางฟาร์มต้องดูแลจัดการถึงช่วงหย่านม จะมีอายุอยู่ประมาณ 18-25 วัน หลังจากนั้นทางบริษัทจะส่งคนมาชั่งน้ำหนัก และจัดการตามรูปแบบของบริษัท
สำหรับการคัดทิ้งแม่สุกรนั้นจะมีนักวิชาการมาช่วยพิจารณาว่าควรคัดทิ้งหรือ โดยดูจากคุณภาพของสุกร หากสุกรสาวมาครั้งแรกเมื่อเลี้ยงแล้วให้ลูกไม่ดกติดต่อกัน หรือเลี้ยงลูกไม่ดี ควรทำการคัดทิ้งหรือไม่โดยให้เจ้าของฟาร์มตัดสินใจร่วมกับนักวิชาการ เมื่อคัดทิ้งแล้วทางบริษัทจะนำสุกรสาวทดแทนตัวใหม่มาให้
“ทางฟาร์มจะมีนักวิชาการมาแนะนำตลอด บางทีนักวิชาการมาเยี่ยมฟาร์มเจอหมูตกค้างที่ควรคัดทิ้ง เขาก็จะแนะนำ มาช่วยเช็ค ช่วยดู เพราะบางทีเราก็ดูไม่ทัน และการทำงานกับบริษัทก็ดีตรงที่มันเป็นระบบ เช่น เราแจ้งหมูผสมเข้าไป เราก็มีข้อมูลหมูในระบบว่าผสมไปเท่าไหร่แล้ว ขาดเต้าเท่าไหร่ หย่านมมาแล้วกี่ตัว จะมีข้อมูลบอกหมด ทำให้ง่ายต่อการดูแล” พี่แอ๋วเผยถึงข้อดีของการทำฟาร์มในรูปแบบคอนแทรคกับบริษัท
การบริหารจัดการฟาร์มหมู
ส่วนการดูแลจัดการในแต่ละวันนั้น จะเริ่มให้อาหารตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง และทำความสะอาด จะเช็ดสัดและทำการผสมเทียมช่วง 7โมงเช้า หากช่วงนั้นมีลูกสุกรคลอดจะดูแลในส่วนของลูกสุกรก่อน และเมื่อผสมสุกรไปแล้วจะต้องทำการเช็คสัดหลังจากผสมไปแล้ว 21 วัน แต่โดยปกติทางฟาร์มจะทำการตรวจเป็นประจำทุกวัน โดยให้สุกรเพศผู้เดินเช็คสัด
สำหรับผลตอบแทนนั้นจะได้เป็นรอบ โดย 1 รอบ จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คือ สุกรจะคลอดลูกทุกๆ เดือน เป็นช่วงๆ จากวันที่ 27 ถึงวันที่ 27 ของเดือนถัดไป ทางฟาร์มจะรวบรวมลูกสุกรหย่านมจับส่งบริษัท หลังจากนั้นไม่เกิน 2 อาทิตย์ จะได้รับค่าจ้างเลี้ยง
“การรับจ้างเลี้ยงนั้นดีตรงที่ว่าเราไม่ต้องไปหาตลาด และไม่ต้องหาอาหาร วัคซีน หรือยารักษาเอง รวมทั้งหมูแม่พันธุ์ หมูสาวทดแทน หมูเพศผู้สำหรับเช็ดสัด น้ำเชื้อ หรืออุปกรณ์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว ผลตอบแทนที่ได้ก็ถือว่าดี มีรายได้สำหรับเลี้ยงครอบครัวได้” พี่แอ๋วกล่าวเพิ่มเติมถึงข้อดีของการรับจ้างเลี้ยง
ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงหมู
นอกจากเรื่องการเลี้ยงแล้ว พี่แอ๋วได้ฝากทิ้งท้ายถึงเรื่องที่ควรวางแผนก่อนลงทุน ว่าก่อนจะลงทุนทำอยากให้ศึกษาให้ดีๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการเลี้ยง แต่เป็นเรื่องของพื้นที่ตั้งฟาร์ม การวางแบบโรงเรือน การเลือกช่าง อย่างการเลือกพื้นที่ตั้งฟาร์มควรเลือกที่มีแหล่งน้ำ เจาะบาดาลแล้วมีน้ำ ถ้าจะทำฟาร์มควรหาแหล่งน้ำก่อนเพราะน้ำจำเป็นมาก และเรื่องของระบบไฟ
“ถ้าเราวางแผนให้ดีๆ ทีเดียวให้จบ เราก็จะไม่ต้องมาคอยแก้ปัญหาอยู่เรื่อยๆ ของพี่ไม่มีปัญหาเรื่องแม่พันธุ์ หรือด้านการเลี้ยง แต่เจอปัญหาเรื่องระบบไฟ เพราะวางแผนตอนแรกไม่ดีทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องระบบไฟในฟาร์มสูญเปล่าค่อนข้างสูง เลยอยากแนะนำให้คนที่กำลังจะลงทุนวางแผนให้ดีๆ เพราะเรื่องน้ำและระบบไฟสำหรับฟาร์มเป็นเรื่องสำคัญ ลองเปรียบเทียบ ข้อดี ข้อเสีย ของอุปกรณ์ ที่จะนำมาใช้ดีว่าแบบเหมาะสมและเหมาะกับการลงทุนในระยะยาว เผื่อการขยายฟาร์มในอนาคต
และอีกเรื่อง คือ การเลือกช่างในการทำโรงเรือน ควรเลือกช่างที่มีประสบการณ์เฉพาะทางที่เหมาะกับงาน อย่างของพี่เลือกผิดไม่ได้ใช้ช่างสำหรับงานด้านปศุสัตว์ ทำให้ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการแก้ไข พี่เลยอยากแนะนำให้เลือกช่างดีๆ ที่เขามีประสบการณ์” พี่แอ๋วกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องการวางแผน
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณอรุณรัตน์ ดำทอง หรือ พี่แอ๋ว