จินดารัตน์ฟาร์ม ผลิตแพะเกรดพ่อแม่พันธุ์ ขายลูกตัวละ 5 หมื่น-2 แสนบาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หนุ่มวิศวะผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยมีเริ่มต้นจากการเลี้ยงโคก่อน จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเลี้ยงแพะ “ จินดารัตน์ฟาร์ม ” ฟาร์มแพะขนาดใหญ่ จังหวัดสตูล บริหารจัดการโดย คุณวีระศักดิ์ ดุกสุขแก้ว หรือ “คุณเอ็ม”

1.คุณวีระศักดิ์ ดุกสุขแก้ว เจ้าของจินดารัตน์ฟาร์ม
1.คุณวีระศักดิ์ ดุกสุขแก้ว เจ้าของจินดารัตน์ฟาร์ม

การเลี้ยงแพะ

สำหรับฟาร์มแพะเริ่มทำมาได้ปีที่ 2 โดยคุณเอ็มได้ให้เหตุผลที่เลิกเลี้ยงโคแล้วหันมาเลี้ยงแพะว่า “การเลี้ยงวัวก็ดีครับ แต่แพะมันดีกว่า เพราะวัวเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงเยอะ พื้นที่สำหรับเลี้ยงวัว 1 ตัว ใช้เลี้ยงแพะได้ 10 ตัว และการจัดการวัวก็ยากกว่า เช่น เวลาวัวไม่สบาย ต้องมีซองบังคับในการจับฉีดยา คนๆ เดียวไม่สามารถทำได้ต้องใช้ 2 คนขึ้นไป และการขยายฝูงของแพะนั้นเร็วกว่าวัว 2-3 เท่า”

การให้ลูกของแพะ ในหนึ่งปีจะได้ 1.5 รอบ ถ้าฟาร์มมีแม่แพะ 10 ตัว ในปีนั้นจะได้ลูกแพะอย่างน้อย 15 ตัว ถ้าเป็นโคมีแม่โค 10ตัว ในระยะเวลา 1-2 ปี ถึงจะได้ลูกโค 10 ตัว ซึ่งใช้ระยะเวลามากกว่า และพื้นที่มากกว่าแพะ เมื่อเปรียบเทียบในจำนวนที่เท่ากัน

2.ลูกแพะแข็งแรง โตเร็ว
2.ลูกแพะแข็งแรง โตเร็ว

สายพันธุ์แพะ

ทางจินดารัตน์ฟาร์มเลี้ยงแพะเป็นเกรดพ่อแม่พันธุ์ทั้งหมด โดยลูกแพะที่ได้จากทางฟาร์มจะขายเป็นพ่อแม่พันธุ์ โดยแพะที่ฟาร์มนำเข้าจะเป็นพันธุ์บอร์จากประเทศแอฟริกาใต้ทั้งหมด ครั้งแรกนำเข้ามา 68 ตัว และได้ขายออกไป 40 ตัว ส่วนที่เหลือจะนำมาเลี้ยงที่ฟาร์ม แล้วก็มาขยายพันธุ์ที่ฟาร์ม

นอกจากแพะบอร์แล้ว ทางฟาร์มยังมีสายพันธุ์คาลาฮารีเรด และได้นำเข้าแกะสายพันธุ์ซัฟฟอล์ค ไวท์ดอร์เปอร์ แวนรอย และพันธุ์ล่าสุดที่กำลังนำเข้ามา มีทมาสเตอร์ ปัจจุบันทางฟาร์มมีแพะอยู่ประมาณ 300 ตัว ส่วนแกะมีประมาณ 50 ตัว

ส่วนลูกแพะที่ฟาร์มนั้นเมื่อคลอดออกมาก็จะมีคนมาจอง โดยราคาจะเริ่มที่ 50,000-200,000 บาท แล้วแต่คุณภาพและพันธุกรรม ถ้าตัวไหนมีลักษณะดี ทรงสวย ราคาจะสูง ส่วนแกะก็จะขายเป็นสายพันธุ์เช่นเดียวกับแพะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.คอกแพะ
3.คอกแพะ

การบริหารจัดการฟาร์มแพะ

ฟาร์มเลี้ยงแพะของจินดารัตน์นั้นจะมี 2 ฟาร์ม คือ ฟาร์มที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งปรับเปลี่ยนจากฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อมาเป็นฟาร์มเลี้ยงแพะ โดยมี 3-4 โรงเรือน ที่อยู่ติดๆ กัน รวมทั้งมีคอกเลี้ยงแกะนมอยู่ติดกันด้วย และอีกฟาร์มหนึ่งอยู่ในสวนปาล์ม เป็นฟาร์มที่ออกแบบคอกแพะขึ้นมาใหม่

คุณเอ็มจะแบ่งการดูแลจัดการฟาร์มเป็น การจัดการ 80% พันธุกรรม 10% และอาหาร 10% โดยให้เหตุผลว่า“สัตว์พวกนี้เราไปฝืนธรรมชาติ โดยการนำสัตว์จากสภาพแวดล้อมแอฟริกาใต้มาเลี้ยงที่ประเทศไทย ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่โน่นกับที่บ้านเรามันไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม หรือความชื้น ซึ่งความชื้นจะมีผลต่อสัตว์พวกนี้มาก ผมจึงบอกว่าแม้ว่าเราจะได้พันธุกรรมที่ดีมา หรืออาหารที่ดี แต่ถ้าการจัดการไม่ดีก็มีความเสี่ยงสูง”

การจัดการที่ดีคืออะไร การจัดการเริ่มตั้งแต่การจัดการคอก การวางแผนคอก เรื่องการถ่ายเทของลม เรื่องความเครียดของสัตว์ การจัดการเวลาเกิดโรค การวางแผนยังไงให้สัตว์ท้อง เมื่อท้องแล้วควรวางแผนยังไงต่อ เพื่อให้ลูกที่คลอดมาแข็งแรง ถ้าแม่แพะที่คลอดให้นมน้อยควรจัดการอย่างไรกับลูกที่คลอดออกมา

4.อาหารแพะ
4.อาหารแพะ

การให้อาหารแพะ

ส่วนอาหาร ทางฟาร์มจะแบ่งเป็นสองมื้อ เช้าและเย็น ส่วนตอนเที่ยงจะปล่อยให้แพะนอนเคี้ยวเอื้อง และปล่อยเดินเล่นเพื่อให้แพะได้ผ่อนคลาย ไม่ควรขังคอกตลอดเวลา เพราะแพะจะเป็นสัดพร้อมผสม เมื่อแพะรู้สึกสบายตัว ผ่อนคลาย ถ้าแพะถูกขังคอกตลอดเวลาจะเกิดความเครียด ความสมบูรณ์พันธุ์จะต่ำ ส่งผลต่อการเป็นสัดและการผสมติด

ทางฟาร์มเลือกใช้อาหารยี่ห้อ ORV  BOERGOAT  FEED มีส่วนผสมของ กากอาหารสัตว์ ถั่วอัลฟัลฟ่า ธัญพืชแปรรูป น้ำตาล โปรตีนพืช ไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีน (NPN) แร่ธาตุและวิตามิน มีคุณสมบัติ ประกอบด้วยแอมโมเนียมคลอไรด์สำหรับป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งปลอดภัยต่อสัตว์สี่กระเพาะ

“ทางด้านอาหารที่ใช้จะเป็นอาหารสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากประเทศแอฟริกาใต้ เป็นสูตรที่ทางฟาร์มที่โน่นใช้อยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วอาหารใช้ของภายในประเทศก็ได้ ที่สามารถหาได้ง่าย เพราะจริงๆ ควรให้ความสำคัญที่การจัดการมากกว่า ถ้าพูดถึงแพะๆ ต้องการอะไร กินอยู่ยังไง ชอบหรือไม่ชอบอะไร เวลาป่วยจะแสดงอาการอย่างไร ควรมียาอะไรประจำฟาร์ม ถ้าแพะมีอาการผิดปกติควรใช้ยาอะไรรักษา” คุณเอ็มเผยถึงความสำคัญที่สุดในการเลี้ยงแพะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.ปล่อยแพะเดินเล่นเพื่อได้ผ่อนคลาย
5.ปล่อยแพะเดินเล่นเพื่อได้ผ่อนคลาย

ปัญหาและอุปสรรคภายในฟาร์มแพะ

เมื่อถามถึงปัญหาที่เจอตอนนำเข้าแพะ คุณเอ็มได้เผยว่า สำหรับตัวที่ปรับตัวได้ก็จะโตได้ ส่วนบางตัวที่ปรับตัวไม่ได้แล้วตายก็มี พ่อแม่พันธุ์รุ่นแรกที่นำเข้ามามันก็เลี่ยงไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เราก็ต้องรอรุ่นถัดไปที่คลอดที่บ้านเรา ในสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ บ้านเรา ซึ่งรุ่นนี้จะสามารถปรับตัวกับสภาพภูมิประเทศบ้านเราได้แล้ว

เมื่อถามถึงอาชีพคนเลี้ยงแพะ คุณเอ็มได้ให้ความเห็นว่า“อาชีพการเลี้ยงแพะถ้าเราไม่มองว่ามันเป็นอาชีพหนึ่ง เราก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ คนส่วนใหญ่มองการเลี้ยงแพะเป็นแค่อาชีพเสริม พอมันเป็นอาชีพเสริมคนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญของความรู้และประสบการณ์ที่ต้องเรียน ผมอยากให้มองว่าอาชีพเลี้ยงแพะเป็นอาชีพๆ หนึ่ง เหมือนอย่าง หมอ วิศวะ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ ถ้าเราไม่เรียนรู้คิดว่ามันง่ายแล้วเลี้ยงตามคนอื่น มันไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน เราต้องมีการศึกษาเรียนรู้ วางแผน การหาตลาด ไม่ใช่อยู่ๆ อยากเลี้ยงแพะก็ซื้อแพะเข้ามาเลย”

6.แพะโครงสร้างใหญ่ แข็งแรง สมบูรณ์
6.แพะโครงสร้างใหญ่ แข็งแรง สมบูรณ์

ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงแพะ

และได้ฝากทิ้งท้ายถึงคนที่สนใจอยากหันมาเลี้ยงแพะว่า “การเลี้ยงแพะไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แท้ หรือพันธุ์ผสม ก็ควรศึกษาเรียนรู้ก่อน ไม่ว่าจะเลี้ยงปลา หมู หรือสัตว์อะไร ก็ควรศึกษาก่อน คุณอาจจะเห็นเขาเลี้ยงแล้วประสบความสำเร็จ เลยเลี้ยงตามมัน อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ คุณควรศึกษาก่อน หาความรู้ ดูว่ามันเหมาะกับเราไหม หรือลองไปศึกษาเรียนรู้ตามฟาร์มที่เขาเปิดให้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ หรือใครสนใจจริงๆ ลองมาฝึกงานที่ฟาร์มผมก็ได้”

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณวีระศักดิ์ ดุกสุขแก้ว หรือ “คุณเอ็ม” จินดารัตน์ฟาร์ม

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 337