จากเกษตรกรคนเลี้ยงโคนมสู่เซียน ปลาทับทิม เมืองกาญจน์ นิตยสารสัตว์น้ำฉบับนี้จะพาไปรู้จักกับ กำนันเทียมศักดิ์ สง่ากชกร เจ้าของที.พี.ฟาร์ม ที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำแม่กลองทำการเลี้ยงปลากระชัง สู่ฟาร์มมาตรฐาน ส่งออกตลาดโมเดิร์นเทรด อย่าง เทสโก้ โลตัส
การเพาะเลี้ยงปลาทับทิม
“ก่อนหน้านั้นทำการเกษตรด้านปศุสัตว์มาก่อน ทั้งหมู ทั้งโคนม พอลูกชายเรียนจบก็เลยยกฟาร์มโคนมให้ จากนั้นประมาณปี 2540 มีความสนใจที่อยากจะเลี้ยงปลา จึงได้ตัดสินใจมาเลี้ยงปลาในกระชัง” กำนันเทียมศักดิ์ให้ความเห็นถึงที่มาของการทำฟาร์ม
และกำนันยังให้เหตุผลเพิ่มของการหันมาเลี้ยงปลาว่า“จากที่เคยเลี้ยงสัตว์มาเกือบทุกชนิด พบว่าการเลี้ยงปลาลงทุนน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่นๆ และเป็นการลงทุนที่ถาวร ยกตัวอย่าง การเลี้ยงโคนม จะต้องทำโรงเรือนซึ่งใช้งบลงทุนหลายแสน แล้วกว่าแม่โคจะให้น้ำนมได้ต้องใช้ต้นทุนและระยะเวลา ต่างจากปลาลงทุนเพียงหลักหมื่น ในระยะเวลาไม่นานก็สามารถทำกำไรได้แล้ว”
โดยเริ่มทำการทดลองเลี้ยงในครั้งแรกประมาณ 40 กระชัง เมื่อประสบความสำเร็จจึงขยายการเลี้ยงออกไปเรื่อยๆ มีการพบปะกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังมากขึ้น ทำให้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งกำนันได้ฟื้นความจำในอดีต
“สมัยนั้น ปี 40 ยังไม่มีคนรู้จัก ปลาทับทิม หรือ ปลานิล ในกระชัง ผมก็ไปศึกษากับเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่แล้วในพื้นที่อื่นๆ เพื่อมาทดลองเลี้ยงดู ตอนนั้นก็ต้องหาตลาดเอง เราต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก เรียกได้ว่าบทเรียนราคาแพงกว่าจะประสบผลสำเร็จ ผมคิดว่าถ้าเราจะทำเป็นอาชีพอะไร ก็ต้องทำให้ได้ หาประสบการณ์ด้วยตัวเราเอง”
การอนุบาลลูกปลาในบ่อดิน
ปัจจุบันที.พี.ฟาร์มมีกระชังกว่า 400 กระชัง ในรอบการเลี้ยงจะเริ่มจากการลงลูกปลาไซซ์ใบมะขาม ก่อนจะปล่อยลูกปลาลงกระชัง จะต้องนำมาอนุบาลในบ่อดินก่อน โดยปล่อยลูกปลาประมาณ 6 หมื่น-1 แสนตัว ลงในบ่อดินขนาดครึ่งไร่ อาหารที่ให้ช่วงนั้นมีโปรตีนประมาณ 40% ให้ 4 เวลา เช้า สาย บ่าย และเย็น เน้นใช้ลูกพันธุ์จากฟาร์มที่น่าเชื่อถือ เพราะจะเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรง โตเร็ว อัตรารอดสูง และ ปลาปลอดโรค
เมื่อเข้า 85-90 วัน ลูกปลาจะมีขนาดประมาณ 50 กรัม ก็จะนำมาปล่อยเลี้ยงในกระชังต่อ เนื่องจากลูกปลาอยู่บ่อดินจึงสามารถควบคุมดูแลได้ หากมีปัญหาเรื่องปรสิตก็จัดการด้วยการให้ยา ทำให้ลูกปลามีสุขภาพแข็งแรง ส่งผลดีต่อการเลี้ยงในกระชังต่อไป
ต่อมานำลูกปลาปล่อยลงเลี้ยงในกระชังขนาด 3×6 เมตร ปล่อยปลาประมาณ 1,600 ตัว ต่อกระชัง อาหารให้ 3 เวลา คือ เช้า กลางวัน และเย็น อาหารในระยะนี้มีโปรตีน 32% เมื่อลูกปลามีขนาดประมาณ 100 กรัม ขึ้นไป จะเปลี่ยนสูตรอาหารที่มีโปรตีน 30% ให้แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าปลานิลและทับทิมจะได้ขนาดที่จำหน่ายได้ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลาทับทิม
ก่อนจับปลาทางฟาร์มจะงดอาหาร 2 วัน ส่วนการคัดปลาส่งให้ทางเทสโก้ โลตัส จะอยู่ที่ไซซ์ M หรือน้ำหนัก 400-600 กรัม จะจับและคัดมือทุกตัว โดยก่อนจับจะใช้น้ำมันกานพลูผสมน้ำ ทำให้ปลาสงบ ป้องกันปลาดิ้นแล้วช้ำ ก่อนที่จะน็อกปลาให้สดใหม่ โดยอุณหภูมิของน้ำจะต้องไม่เกิน 2 องศาฯ ส่วนอุณหภูมิที่ตัวปลาโดยวัดจากเหงือกต้องไม่เกิน 4 องศาฯ ก่อนแพ็คลงกล่องๆ ละ 15 ตัว พร้อมกับอัดน้ำแข็งแล้วขึ้นรถห้องเย็นไปส่งยังจุดกระจายสินค้า
“ก่อนที่ทางฟาร์มจะมาร่วมกับทางโลตัส มีการพูดคุยกันมานานถึง 4 ปี กว่าที่จะได้ตัดสินใจร่วมงานกัน เพราะฟังจากคนอื่นๆ มา ไม่อยากทำ เพราะกลัวมีปัญหาทีหลัง แต่เมื่อได้พูดคุยกันจริงๆ ยื่นข้อเสนอที่ต่างฝ่ายรับได้ จึงได้เข้าร่วมกับทางโลตัส และได้พัฒนามาตรฐานไปตามแบบของโลตัส ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก และยังทำให้ฟาร์มเรามีมาตรฐานอีกด้วย” กำนันเทียมศักดิ์เผยถึงที่มาของการเข้าร่วมกับโลตัสทำธุรกิจ
การบริหารจัดการบ่อปลาทับทิม
ส่วนการดูแลรักษาโรค กำนันเทียมศักดิ์ได้เผยว่าในปัจจุบันนี้เมื่อเทียบกับสมัยก่อนมีโรคเยอะกว่ามาก เวลาเลี้ยงจึงต้องปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น โดยทางฟาร์มจะติดเครื่องตีน้ำเข้ามาช่วย และมีการทำโปรแกรมการให้วิตามินอยู่เสมอ เพื่อให้ปลามีความแข็งแรง ซึ่งการระบาดของโรคมีตลอดทั้งปี จึงจำเป็นต้องป้องกันตลอดเวลา
เมื่อถามเทคนิคการให้อาหาร กำนันได้เผยว่า “ที่ฟาร์มจะใช้ระบบออโต้ฟีด คือ ให้อาหารแบบอัตโนมัติ เติมอาหารให้วันละ 1 ครั้ง ผมได้คิดค้นถังอาหารปลาขึ้นมา เพื่อที่เวลาปลากินอาหารจะทำให้มีขนาดที่เท่ากัน ไม่แตกไซซ์มากเกินไป สำหรับถังใส่อาหารปลา ผมจะทำไว้ 2 แบบ คือ แบบให้ปลาเอาหัวชนเพื่อให้อาหารร่วงลงน้ำ กับแบบดูด เพราะออกแบบตามพฤติกรรมของปลาที่มีนิสัยชอบดูด และต้องมีบันทึกการให้อาหารอยู่ก่อน ว่าปลาไซซ์ขนาดนี้ควรจะกินอาหารกี่กิโลกรัม เราจะได้รู้เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว”
ปัญหาและอุปสรรคในบ่อปลาทับทิม
เมื่อพูดถึงความยากของการเลี้ยงในกระชัง คือ แหล่งน้ำที่ใช้เป็นแหล่งน้ำจากธรรมชาติ เป็นระบบเปิด การควบคุมดูแลจัดการยาก ต้องมีการสังเกตอยู่ตลอด หากน้ำนิ่งก็ต้องอาศัยเครื่องตีน้ำให้มีการไหลเวียน ถ่ายเท ไม่งั้นน้ำจะบูด ทำให้ปลาไม่แข็งแรง แต่การเลี้ยงแบบธรรมชาติจะดีกว่าบ่อดินตรงปลาไม่มีกลิ่น
“ตอนนี้การเลี้ยงปลาทับทิมที่แม่น้ำเริ่มเลี้ยงยากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเราไม่สามารถควบคุมคุณภาพน้ำได้ ช่วงน้ำดี ปลาก็โตดี แต่ช่วงน้ำหลากมีปัญหาการเลี้ยงมากขึ้น อีกส่วน คือ ความสะอาดของน้ำเริ่มน้อยลง โรคต่างๆ มากับน้ำที่เลี้ยงมากขึ้น ผมเลยมองว่าหากเราสามารถหันไปเลี้ยงปลาทับทิมใน “ระบบปิดบ่อลอย” ได้ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีให้กับเกษตรกรไม่น้อย” กำนันเทียมศักดิ์กล่าว
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก กำนันเทียมศักดิ์ สง่ากชกร ที.พี.ฟาร์ม โทร.081-944-3454