ส.ป.ก. ผนึกกรมการแพทย์แผนไทยฯ นำร่อง 10 จังหวัด เป็นเมือง สมุนไพร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

วิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกนั้น ส่งผลให้ รัฐบาลไทย ต้องแสวงหา “โอกาส” แห่งความอยู่รอดของคนไทย ทั้งในเชิงอาชีพ และสุขภาพ นั่นคือ นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยมีส่วนราชการที่นำนโยบายไปขับเคลื่อน อย่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( ส.ป.ก. ) ที่มี นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เป็นเลขาธิการ ที่จับมือกับ กรมการแพทย์แผนไทยฯ ที่มี แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ เป็นอธิบดี สนองนโยบายรัฐบาล ด้วยการจัดหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 10 จังหวัด ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก สมุนไพร หลักๆ 15 ชนิด ได้แก่ มะขามป้อม ขมิ้นชัน ตะไคร้ ฟ้าทะลายโจร ข่า และบอระเพ็ด เป็นต้น

1.ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เป็นเลขาธิการ ส.ป.ก.
1.ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เป็นเลขาธิการ ส.ป.ก.

การจัดทำโครงการปลูกสมุนไพรหลากหลายชนิด

โครงการนี้ กรมการแพทย์ฯ ประสานกับ ส.ป.ก. ร่วมกันทำโครงการกำหนดแนวทางเป้าหมายเพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรให้ปลูกสมุนไพรในเขตปฏิรูปที่ดิน เรื่องนี้เราเห็นความสำคัญ “เราอยากให้สมุนไพรเป็นสินค้าที่มีการขยายพื้นที่ปลูก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมากขึ้น สร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ตรงกับความต้องการของตลาด

ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะมาเป็นพี่เลี้ยง เพราะความใกล้ชิดและมีความเชี่ยวชาญกับการทำตลาดสมุไพร ประโยชน์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่มั่นคง ให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.” นายวิณะโรจน์ฯ ให้ความเห็นถึงผลที่ได้จากการทำงานร่วมกัน 2 หน่วยงาน

2.วางแผนจัดการพื้นที่ แบ่งแปลง
2.วางแผนจัดการพื้นที่ แบ่งแปลง

การส่งเสริมเกษตรกรปลูกสมุนไพร

เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกสมุนไพรใน 32 จังหวัด อยู่แล้ว เมื่อมาทำความร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ  ส.ป.ก. ก็จะมีบทบาทเชิงพื้นที่ เป็นผู้จัดการพื้นที่ เป็น Area Manager และเป็นคนอำนวยความสะดวก เป็นผู้ประสานงาน พัฒนาการมีส่วนร่วม สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ในด้านการผลิตสมุนไพรให้ตรงกับความต้องการของตลาด หรือส่งเสริมการรวมกลุ่มปลูกสมุนไพรให้ได้มาตรฐานราชการ เป็นต้น ซึ่ง 32 จังหวัด ที่ปลูกสมุนไพร หลายกลุ่มมีผลงานเชิงประจักษ์อยู่แล้ว เมื่อกรมการแพทย์แผนไทยฯ นำงบ 8.32 ล้านบาท ทำโครงการร่วมใน 10 จังหวัด เป้าหมาย ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาแบบต่อยอดมากขึ้น

ในพื้นที่จัดสรร 36.9 ล้านไร่ เลขาธิการ ส.ป.ก. ยืนยันว่า มีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ไม่น้อย หรือแม้แต่พืชสมุนไพรตัวอื่นๆ อย่าง กัญชง / กัญชา ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคต

แม้แต่การปลูกให้ได้คุณภาพ มีมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ส.ป.ก. ก็มีความพร้อมในการส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาไปสู่มาตรฐาน และคุณภาพ ที่ตลาดต้องการ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

10 จังหวัด นำร่อง ได้แก่ เชียงราย อุทัยธานี อุตรดิตถ์ นครราชสีมา นครพนม ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชุมพร และ พัทลุง คุณวิณะโรจน์ยอมรับว่า มี กลุ่มผู้นำ เกษตรกร มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนพื้นที่นำร่องให้โครงการสำเร็จ ยกระดับเป็น เมืองสมุนไพร ในอนาคต

3.ร่วมแรงร่วมใจมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อเกษตรกร
3.ร่วมแรงร่วมใจมุ่งมั่นทำหน้าที่เพื่อเกษตรกร

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย สมุนไพร

โครงการนี้จะเข้ามาช่วยผลักดันการปลูกสมุนไพรในพื้นที่ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น มีตลาดกว้างมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ จะช่วยพัฒนายกระดับด้านผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ การแปรรูปที่ถูกต้อง การรับรองมาตรฐานสินค้า เพื่อให้มีความพร้อมในการส่งออก

ในส่วนของพืชสมุนไพร 15 ชนิด เลขาฯ ส.ป.ก. เชื่อมั่นในคุณค่าเชิงอาหารและยา ไม่ว่าจะเป็นขมิ้นชัน ซึ่งปลูกกันมากในภาคใต้ โดยเฉพาะสมุนไพรต่างๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น และถ้าได้ องค์ความรู้ ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ มาช่วยขับเคลื่อน จะทำให้เกิดมุมมองและช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังทำหน้าที่ส่งเสริมด้านการตลาดที่รับซื้อสมุนไพรของโครงการไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเชื่อมโยงตลาดต่างๆ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานรัฐทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรคุณภาพ โดย ส.ป.ก. ผลิต แล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพขั้นต้น เข้าสู่ตลาด อาหาร ยา และเวชสำอาง ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ส่งเสริม เป็นต้น โดยกรมการแพทย์แผนไทยฯ เมื่อสำเร็จก็สามารถขยายจาก 10 จังหวัด เป็นหลายๆ จังหวัด ที่ ส.ป.ก.ดูแลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

4.ลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่เป้าหมาย
4.ลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่เป้าหมาย

ปัญหาและอุปสรรคการระบาดโควิด-19

“วันนี้สิ่งที่เร่งด่วน คือ ทำอย่างไรจะสร้างรายได้และอาชีพให้เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพราะการระบาดโควิด 19 ส.ป.ก. และกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้คุยกันตลอดในเรื่องการขับเคลื่อน ตอนนี้เราได้เตรียมความพร้อมรายละเอียดในเชิงพื้นที่รูปแบบต่างๆ ถึง 80% แล้ว คาดว่าอย่างเร็วที่สุดประมาณเดือน พ.ค.-มิ.ย. การขับเคลื่อนก็จะเป็นรูปธรรม” นายวิณะโรจน์ฯ ยืนยันถึงความคืบหน้าของโครงการ และได้กล่าวขอบคุณกรมการแพทย์แผนไทยฯ ที่เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม สนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร กำกับดูแล ส.ป.ก. โดยตรง

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 18