โดยปรกติผู้เขียนเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมที่ทำงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และ การแก้ปัญหา น้ำเสีย และ ระบบบำบัดน้ำเสีย เคยเห็นบ่อเลี้ยงกุ้งแถวๆ ภาคใต้มาหลายสิบปี ตั้งแต่มีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ก่อนที่จะมีการเลี้ยงกุ้งขาว แต่ไม่เคยได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาเรียนรู้รายละเอียด เพิ่งได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับบ่อเลี้ยงกุ้งอย่างจริงจังในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เองด้วยความบังเอิญ
การจัดการน้ำเสียในบ่อกุ้ง
โดยที่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเกษตรกรเลี้ยงกุ้งท่านหนึ่งโทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการจัดการน้ำเสียในบ่อกุ้งโดยได้เบอร์โทร.ของผู้เขียนมาจากเพจในเฟสบุ๊ค (ปรกติผู้เขียนเปิดเพจให้ความรู้ เรื่องน้ำเสีย และ การบำบัดน้ำเสีย ให้คนทั่วไปที่สนใจ ซึ่งมีเบอร์โทรศัพท์ของผู้เขียนอยู่ด้วย)
โดยแจ้งว่าเป็นคนรุ่นที่สองที่จะเลี้ยงกุ้งต่อจากคุณพ่อ ผู้เขียนจึงถือโอกาสขอแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการจัดการน้ำเสีย กับการขอโอกาสเข้าไปเรียนรู้กระบวนการจัดการในการเลี้ยงกุ้งตั้งแต่เริ่มต้นร่วมกับเขา ซึ่งบังเอิญเขากำลังจะเริ่มตั้งแต่การเตรียมบ่อใหม่ หลังจากประสบปัญหาจากการเลี้ยงในบ่อที่ผ่านมา และเขาเชื่อว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากการจัดการของเสียที่เกิดขึ้นในบ่อ
ที่สำคัญบ่อกุ้งของเกษตรกรดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ซึ่งผู้เขียนสามารถขับรถยนต์ไปไม่เกิน 1 ชั่วโมงผู้เขียนจึงได้มีโอกาสเรียนรู้ กระบวนการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรพื้นบ้าน ที่เลี้ยงกุ้งในบ่อดินแบบระบบปิด ไม่มีการระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ เนื่องจากบ่อกุ้งถูกล้อมรอบด้วยพื้นที่ การปลูกข้าว และพืชอื่นๆ ซึ่งผู้เขียนขอเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ และให้ความเห็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำและของเสียเท่านั้น
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
โดยเริ่มกันตั้งแต่การเตรียมบ่อ ซึ่งได้มีการใช้รถแบคโฮทำการขุดลอกเลนเก่าที่สะสมก้นบ่อออก รวมทั้งแต่งรูปคันบ่อเลี้ยงเดิม ซึ่งเป็นบ่อดินขนาดใหญ่หลายไร่ ให้มีรูปร่างที่ได้สัดส่วนและความลาดเอียงที่คิดว่าเหมาะสม ผู้เขียนได้แนะนำว่า ควรขุดบ่อหรือหลุมขนาดเล็กบริเวณตำแหน่งที่คาดว่าจะเป็นกลางบ่อ เพื่อใช้ในการรวบรวมของเสีย และเป็นจุดที่สามารถใช้ปั๊มดูดออกได้ง่าย ซึ่งเกษตรกรดังกล่าวก็ดำเนินการตาม เพราะเคยได้รับคำแนะนำจากเกษตรกรอื่นให้ทำ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการกับดิน ทั้งเรื่องการฆ่าเชื้อและกำจัดสัตว์พาหะนำโรคที่อยู่ในดิน ซึ่งขอไม่อธิบาย ณ ที่นี้
เมื่อสิ้นขั้นตอนการเตรียมบ่อ เกษตรกรก็สูบน้ำที่มีการพักเป็นเวลานานใส่บ่อตามปริมาตรที่คิดว่าเหมาะสม ซึ่งความสูงของน้ำที่สูบเข้าในบ่อก็อยู่ระหว่าง 1.0 -1.5 เมตร และเริ่มขั้นตอนของการ “ปรุงน้ำ” โดยมีการเติมสารปรุงแต่งลงในน้ำหลายต่อหลายตัว ทั้ง เกลือ และสารเคมีต่างๆ เพื่อปรับค่าจากน้ำสะอาดธรรมดาให้กลายเป็นน้ำที่มีความเค็ม มีค่าความเป็นกรด – ด่าง มีค่าความกระด้าง และแร่ธาตุต่างๆ ตามสูตรที่เกษตรกรได้รับคำแนะนำ
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากตัวแทนบริษัท ขายอาหาร ขายยา ขายสารเคมี หรือสูตรที่เกษตรกรเรียนรู้หรือกำหนดขึ้นเอง แต่สำหรับผู้เขียนเองเริ่มมองว่าน้ำในบ่อที่เดิมเป็นน้ำสะอาด ตอนนี้เริ่มกลายเป็นน้ำที่ถูกสารเคมีปนเปื้อนไปแล้ว (แต่ก็ยังไม่อยากเรียกว่าน้ำเสีย) แม้ว่าในขั้นตอนนี้จะมีการติดตั้งใบพัดตีน้ำที่ขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงหลายเครื่องเพื่อตีน้ำในบ่อ ทั้งเพื่อให้สารที่เติมลงไปเกิดการผสมเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งการให้ออกซิเจนในอากาศละลายลงในน้ำเพื่อเตรียมไว้สำหรับกุ้งที่จะปล่อยแล้ว
ก็ถึงขั้นตอนการปล่อยลูกกุ้งลงในบ่อเพื่อเลี้ยง (ผู้เขียนขอไปอย่างเร็ว) ตามจำนวนที่เกษตรกรเลือกตามประสบการณ์การเลี้ยงของตัวเอง รวมทั้งการแนะนำของผู้ขายลูกกุ้ง เมื่อกุ้งเริ่มโตเริ่มที่จะต้องการอาหารมากขึ้น เพราะอาหารธรรมชาติที่มีในบ่อหมดลง เกษตรกรก็จะเริ่มให้อาหารสำเร็จรูปสภาพเป็นเม็ด โดยการหว่านทั้ง ด้วยมือ หรือ ด้วยเครื่อง ให้มากเพียงพอต่อการใช้ในการเจริญเติบโตของกุ้ง ซึ่งเป็นสัตว์ที่เติบโตเร็ว จึงกินอาหารเก่ง มีการลอกคราบและขับถ่ายออกมาตลอดเวลา
ซึ่งเวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์ ผู้เขียนสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของน้ำในบ่อเลี้ยงได้อย่างชัดเจน ทั้ง ความขุ่น และ ความเขียว ที่เกิดจากสาหร่ายที่เติบโตจากสารอาหารที่ละลายในน้ำ ทั้งจาก อาหารเอง และ จากสิ่งที่กุ้งขับถ่ายออกมา รวมทั้งเมือกและไขมันที่ปกคลุมที่ผิวหน้าของน้ำ ยิ่งเวลาเลี้ยงที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งเห็นความสกปรกของน้ำชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งปริมาณเลนที่สะสมก้นบ่อมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ซึ่งด้วยประสบการณ์ของผู้เขียนเอง อยากจะเรียกบ่อนี้ว่า “บ่อน้ำเสีย” มากกว่าจะเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะสภาพของน้ำในบ่อเข้าองค์ประกอบของการเป็นบ่อน้ำเสียมากกว่า กล่าวคือ มีสารเคมีที่ใช้ในการปรับค่ากรด – ด่าง ความกระด้าง แร่ธาตุต่างๆ ที่เกินธรรมชาติปนเปื้อน มีสารอินทรีย์ปริมาณเข้มข้นปนเปื้อน มีการสะสมของเสียที่มีการบูดเน่า หรือถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ตลอดเวลา มีสาหร่ายสีเขียวเติบโตอย่างมาก (Algae Bloom) และมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบอย่างรุนแรงในแต่ละช่วงเวลา
ปัญหาและอุปสรรคในบ่อกุ้ง
กลับมาที่เกษตรกร ซึ่งเมื่อบ่อเลี้ยงมาถึงจุดๆ นี้ ผู้เขียนสังเกตเห็นสิ่งที่เกษตรกรเองมีวิธีการจัดการกับปัญหานี้ด้วยวิธีหลักๆ อยู่ 4 อย่าง กล่าวคือ
-การสูบเลนและของเสีย รวมทั้งน้ำเสียบางส่วนออกไปทิ้ง
-การเดินเครื่องใบพัดตีอากาศให้มากขึ้น เพื่อเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ
-การเติมน้ำใหม่ (ซึ่งต้องมีการใส่สารเคมีปรุงแต่งน้ำเพิ่ม)
-การเติมจุลินทรีย์ หรือสิ่งที่เรียกว่า อีเอ็ม และสารเคมีอื่นๆ เพื่อช่วยย่อยหรือตกตะกอนของเสียในบ่อ
เกษตรกรก็จะใช้วิธีการเหล่านี้เป็นเครื่องมือหลักในการแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการปิดบ่อเพื่อจับกุ้ง และเริ่มรอบของการเลี้ยงใหม่ ซึ่งบางรายก็โชคดีเลี้ยงได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการและขายได้ แต่บางรายโชคร้ายก็ต้องจำเป็นต้องปิดบ่อก่อนกำหนด เนื่องจากการไม่เติบโตของกุ้ง หรือโชคร้ายกุ้งในบ่อตายก่อนถึงขนาดอันควร
โดยที่เกษตรกรหลายคนไม่เข้าใจพื้นฐานหรือเข้าใจเพียงบางส่วนของวัตถุประสงค์ของการที่จะต้องทำสิ่งเหล่านั้นแต่ละอย่าง ซึ่งมีคำอธิบายในเชิงวิชาการของวิศวกรรมด้านน้ำเสียและบำบัดน้ำเสีย ซึ่งผู้เขียนจะใช้โอกาสนี้อธิบายประเด็นต่างๆ ในแง่มุมของน้ำเสียตามที่ผู้เขียนพอจะมีความรู้และประสบการณ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ในตอนต่อไป
จากข้อมูลทั้ง 4 แหล่งข่าว จะเห็นว่าถ้า เตรียมบ่อ / เตรียมน้ำ ให้สะอาดตลอดระยะเวลาการเลี้ยง โอกาสเป็นโรคขี้ขาวมีน้อย ดังนั้นการออกแบบบ้าน / จัดการบ้าน กุ้ง ให้น่าอยู่ กุ้งไม่เครียด กินเก่ง โตไว อัตราแลกเนื้อสูง การเลี้ยงกุ้งจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืน
นายณัฐธพัฒน์ สายวรรณ์ (ปาน) โทร.086-551-4987 วิศวกรด้านน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย บริษัท โอ เอ็ม ซี อาร์ จำกัด 34 ซอยลาดพร้าววังหิน 52 ถ.ลาดพร้าววังหิน แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230