เลี้ยง กุ้งขาว ปน ก้ามกราม เลี้ยงบาง ไม่หวั่นโรคขี้ขาว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ณ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เมืองหลวงกุ้งก้ามกราม มีเกษตรกรเลี้ยงกุ้งก้ามกรามผสมกับ กุ้งขาว เป็นจำนวนมาก ทั้งแบบเสรี เข้าเป็น สมาชิกชมรม และ สมาชิกสหกรณ์

แต่เนื่องจากปัญหาต่างๆ นาๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป กลไกการตลาดที่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ปัญหาราคาปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง ปัญหาราคากุ้งตกต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ฯลฯ จึงทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรหลายคนต้องหยุดเลี้ยงกุ้ง เพราะทนต่อการขาดทุนไม่ไหว

1.ดร.ภุชงค์ ศรีอ่วม เจ้าของ แสงแดดฟาร์ม
1.ดร.ภุชงค์ ศรีอ่วม เจ้าของ แสงแดดฟาร์ม

การบริหารจัดการบ่อกุ้ง

ด้วยเหตุนี้ ดร.ภุชงค์ ศรีอ่วม เกษตรกรแห่ง ต.โพหัก อ.บางแพ ซึ่งปกติมีอาชีพประจำ คือ วิศวกรความปลอดภัย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้หันมาเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกับกุ้งขาว แบบประหยัดต้นทุน พร้อมๆ กับอนุบาลลูกกุ้งไว้ใช้เอง และขายให้เกษตรกรที่สนใจโดยใช้ชื่อฟาร์มว่า “แสงแดดแฮทเชอรี่”

จุดเด่นของวิศวกรที่หันมาทำเกษตร คือ จะนำหลักวิชาการมาใช้ในการพัฒนาและวางแผนกระบวนการเลี้ยงกุ้ง เพื่อทำให้ผลประกอบการมีผลกำไรคุ้มค่ากับการลงทุนในระดับที่ยอมรับได้

ดร.ภุชงค์ เลี้ยงกุ้ง 9 บ่อๆ ละ 4 – 5 ไร่ ลึก 1.5 – 2 เมตร โดยก่อนเลี้ยงกุ้งจะทำการเตรียมบ่อด้วยการตากแดดให้ดินแห้ง จากนั้นก็นำรถแทรกเตอร์หรือรถไถลงบ่อดันดินที่พื้นบ่อ เพื่อกำจัดของเสียที่สะสมอยู่ตามพื้นดิน เช่น “ก๊าซไข่เน่า” จากนั้นก็หว่าน ปูนขาว ไร่ละ 10 กระสอบ (กระสอบละ 10 กก.) แต่ถ้าไม่สามารถทำการดันดินได้ จะหว่านปูนขาวไร่ละ 20 กระสอบ

ในอนาคตเพื่อจัดการบ่อเลี้ยงให้สะอาดตลอดครอปของการเลี้ยง ดร.ภุชงค์กล่าวว่า อาจต้องปู PE ในบ่อ หรืออาจต้องเลี้ยงบ่อลอย เพราะมันสะดวกในการจัดการของเสีย ทั้งขณะเลี้ยง และจับกุ้ง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในเรื่อง “น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้ง” ดร.ภุชงค์ ใช้น้ำจากคลองธรรมชาติ โดยสูบเข้ามาบำบัดในบ่อเลี้ยงขนาด 4 – 5 ไร่ ลึก 2 เมตร (เติมน้ำเกือบเต็มบ่อ) ทิ้งไว้ 5 วัน โดยในน้ำนั้นจะมีแพลงก์ตอนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิด “หนอนแดง” เป็นอาหารธรรมชาติชั้นเลิศให้ลูกกุ้งได้กิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้จำนวนหนึ่ง หลังจากเกิดหนอนแดงแล้วก็ทำการปล่อยลูกกุ้งลงเลี้ยง โดยจะหว่านแร่ธาตุรวมร่วมด้วยในวันปล่อยกุ้ง บ่อละ 1 กระสอบ จะช่วยให้กุ้งฟื้นตัวจากการเดินทาง และช่วยเพิ่มอัตราการรอดให้ลูกกุ้งด้วย

ลูกกุ้งก้ามกรามที่ถูกอนุบาลมา 70 วัน ขนาด 200 – 250 ตัว / กก. ปล่อยบ่อละ 3,000 – 5,000 ตัว / ไร่ และปล่อยลูกกุ้งขาว 2 หมื่น – 3 หมื่นตัว / ไร่ ถือว่าเลี้ยงแบบบางๆ เพราะเป็นบ่อดิน มีความยากในการจัดการบ่อเลี้ยง สำหรับลูกกุ้งก้ามกรามนั้น ดร.ภุชงค์ ใช้จากหลายแหล่ง ทั้งฟาร์มที่มีชื่อเสียง หรือ ฟาร์มต่างๆ ที่เชื่อถือได้ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลการเจริญเติบโต

2.โรงเรือนแบบปิด
2.โรงเรือนแบบปิด

เทคนิคการเพาะเลี้ยงกุ้ง

การปล่อยลูกกุ้งขาว ทางฟาร์มจะใช้ผ้าใบบลูชีทล้อมกั้นคอกในบ่อดิน (พื้นที่ประมาณ 100 – 200 ตารางเมตร) แล้วปล่อยให้กุ้งขาวอยู่ในนั้นประมาณ 5 – 7 วัน ในการเลี้ยงกุ้งบางชุด “ผมทดลองว่าแบบไหนจะดีกว่ากัน การกั้นคอกมีข้อดี คือ กุ้งขาวอยู่ในพื้นที่แคบๆ มันจะกินอาหารที่หว่านได้ดีขึ้น แต่ถ้าชุดไหนที่เราเห็นว่าอาหารธรรมชาติในบ่อดินมีเยอะ ก็ไม่ต้องกั้นคอก” ดร.ภุชงค์ ยืนยันถึงข้อดีของการกั้นคอก และเมื่อเห็นว่า 7 วัน กุ้งเริ่มโต แข็งแรง หาอาหารได้ ก็เอาผ้าใบบลูชีทที่กั้นคอกออก และพอครบ 15 – 20 วัน ก็เริ่มเช็คยอ

“เทคนิคการปล่อยกุ้งขาว ที่ผมใช้ คือ เอาน้ำไปลองกุ้งก่อนอย่างน้อย 1 วัน ว่ากุ้งอยู่ได้มั๊ย ถ้าอยู่ได้ก็ปล่อย ถ้ากุ้งตาย ก็ต้องหาสาเหตุว่าตายจากอะไร แล้วก็แก้ไขจึงค่อยปล่อย หลังจากปล่อยกุ้งลงบ่อไปแล้วก็ให้อาหารตามโปรแกรม โดยช่วงแรกๆ ผมจะยังไม่ได้ตีน้ำ” ดร.ภุชงค์ ให้ความเห็นถึง 15 วันแรก ของการปล่อยลูกกุ้ง

แต่เมื่อเลี้ยงไปได้เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน น้ำเริ่มเขียวข้น เพราะอาหาร และ ขี้กุ้ง ก่อให้เกิดของเสีย ถ้าอยู่ไกลบ่อพักน้ำก็ต้องบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ และใส่ “จุลินทรีย์ ปม.” ของกรมประมง แต่ถ้าบ่ออยู่ใกล้บ่อพักน้ำก็ต้องถ่ายน้ำ หรือ วนน้ำ ซึ่งการใส่จุลินทรีย์ ดร.ภุชงค์ กล่าวว่า “น้ำไม่ข้นมาก กุ้งไม่อ่อนแอ เคยลองเทียบระหว่างใช้ ไม่ใช้ บ่อไม่ใช้ดินเสียง่าย เวลาที่กุ้งอยู่ตามพื้น เหงือกจะดำ และจะตายง่าย”

สำหรับ “แร่ธาตุ” ดร.ภุชงค์ ให้ความเห็นว่า หลังจากเดือนครึ่งควรเริ่มใส่แร่ธาตุ เพราะกุ้งเริ่มโต ถ้าใส่ตอนกุ้งตัวใหญ่ ค่าของน้ำจะไม่ค่อยขึ้น เพราะกุ้งและจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำและดินจะดึงไปใช้หมด ซึ่งแร่ธาตุมีทั้ง  โซเดียมไบคาร์บอเนต แคลเซียม แมกนีเซียม และ โปแตสเซียม ใส่ในช่วงที่แร่ธาตุแต่ละตัวมีค่าต่ำ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ภุชงค์ ให้ความสำคัญ ต้องเช็คค่าน้ำด้วยตนเองอาทิตย์ละครั้ง เหตุที่ไม่ใช้แร่ธาตุรวม เพราะไม่รู้ว่ามีธาตุอะไรบ้างสัดส่วนเท่าไร ทำให้จัดการยาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในด้านอาหารกุ้ง ดร.ภุชงค์ เคยใช้หลายยี่ห้อที่มีขายตามท้องตลาด ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมการขาย และการบริการของร้านค้า เพราะคุณภาพของอาหารแต่ละยี่ห้อนั้นไม่ค่อยต่างกัน

คำถามยอดฮิต ก็คือ เจอโรคระบาดบ้างมั๊ย ทั้ง EMS หัวเหลือง ขี้ขาว ดร.ภุชงค์ ยืนยันว่า เจอ แก้ไม่หาย ถ้าเกิดขึ้นในช่วงที่ขนาดกุ้งพอจับขายได้ก็ต้องจับขาย แต่ถ้าเจอช่วงกุ้งเล็กก็ให้อาหารน้อยลง และไปเน้นกุ้งก้ามกรามแทน” เคยรักษา ทั้งใส่ยา ใส่ทุกอย่าง สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ และได้ผลไม่คุ้มค่ากับที่ลงทุน จึงปล่อยเอาเท่าที่เหลือ”

3.ลูกกุ้งคุณภาพ สายพันธุ์แม่นอก 100%
3.ลูกกุ้งคุณภาพ สายพันธุ์แม่นอก 100%

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย กุ้งขาว กุ้งก้ามกราม

ด้วยเหตุนี้ ดร.ภุชงค์ จึงเลี้ยงกุ้งแบบไม่หนาแน่น ป้องกันความเสี่ยง พออายุกุ้ง 2 เดือน ถึง 3 เดือน จึงทยอยจับกุ้งขาวก่อน 2 รอบ แล้วก็เหลือไว้จับทั้งหมดพร้อม กุ้งก้ามกราม กุ้งขาว รอบ 1ไซซ์ 80 – 100 ตัว / กก. และรอบ 3 ไซซ์ 30 – 35 ตัว / กก. ส่วนก้ามกรามคว่ำบ่อ ตัวผู้ได้ไซซ์ 10 – 12 ตัว / กก. ซึ่งเป็นไซซ์ที่ขายได้ราคา หรือเมื่อคิดกุ้งรวมทั้ง 2 ชนิด ผลผลิต 500 – 700 กก. / บ่อ ได้กำไรอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ส่วน FCR อยู่ที่ 1.3 – 1.5 แล้วแต่สภาพอากาศ ฤดูร้อนกับฤดูหนาวจะเลี้ยงยากกว่าฤดูฝน

จึงเห็นได้ว่า แสงแดดฟาร์ม เลี้ยงกุ้งไม่หนาแน่น ไม่หวั่นเรื่องคุณภาพน้ำ เลี้ยงกุ้งอยู่สบาย และกุ้ง 2 ชนิด ก็เกื้อกูลซึ่งกันและกันในระบบนิเวศ

4.โรงเรือนเดิมแบบเปิด ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้
4.โรงเรือนเดิมแบบเปิด ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้

สภาพพื้นที่เลี้ยงกุ้ง

ดร.ภุชงค์ 1 ในผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในดินแดนแห่งนี้ ร่วมกับญาติพี่น้อง รวมๆ แล้วหลายร้อยไร่ ทั้งๆ ที่ชาวกุ้งบางแพหลายคน มองว่าพื้นที่นี้เพาะลูกกุ้งไม่ได้ เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย แต่ ดร.ภุชงค์ มองว่าทำได้ ขึ้นกับการจัดการ และ สภาพน้ำ ซึ่งปรากฏว่า ทำสำเร็จ สามารถเพาะลูกกุ้งก้ามกรามพันธุ์มาโคร 1 และ กุ้งขาววานาไม สำเร็จ เป้าหมายเพื่อเลี้ยงเอง และขายให้ลูกค้า

ดร.ภุชงค์ จบปริญญาตรี โท เอก ด้านวิศวกรรมเคมี ปัจจุบันทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อถึงวันหยุดจะกลับมาอยู่ที่ฟาร์ม เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฟาร์มเพาะอนุบาลลูกกุ้ง และ ฟาร์มกุ้งเนื้อ ซึ่งการเลี้ยงกุ้งขาววานาไม ผู้เลี้ยงมักจะเจอโรค EMS และโรคขี้ขาว ดังนั้นจึงต้องหามาตรการป้องกัน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การผลิตลูกกุ้ง และเลี้ยงกุ้งเนื้อเอง ก่อให้เกิดองค์ความรู้ 2 ด้าน เลี้ยง “นอเพลียส” อย่างไร ให้ได้ลูกกุ้งคุณภาพ และเลี้ยงลูกกุ้งอย่างไรให้รอด ได้ไซซ์ที่ตลาดต้องการ มันเป็นงานท้าทายวิศวกรอย่างเขา อดีตเขาต้องซื้อลูกกุ้งจากแหล่งที่ขาดข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์รับรอง บอกว่าลูกกุ้งขาวแม่นอกก็ต้องเชื่อ เมื่อมีปัญหาก็หาสาเหตุไม่ได้ จึงตัดสินใจลงทุนผลิตลูกกุ้งเอง โดยซื้อนอเพลียสจากคนที่ไว้ใจได้

นอกจากนี้ ดร.ภุชงค์ สามารถตอบคำถามของลูกค้าที่ซื้อลูกกุ้งของตนไปเลี้ยงได้ชัดเจน มีเหตุ มีผล เชิงวิทยาศาสตร์ เพราะผลิตลูกกุ้งด้วยตนเอง ซึ่งลูกกุ้งขาวแวนาไมสั่งจากภาคใต้ และ ตะวันออก เพื่อเปรียบข้อมูลการเลี้ยง จากนั้นก็แจ้งให้ผู้ผลิตนอเพลียสทราบเช่นเดียวกัน ลูกค้าที่ใช้ลูกกุ้งของแสงแดดฟาร์มก็จะมีข้อมูลให้ปรับปรุงแก้ไข การใช้ข้อมูลสดๆ ที่เกิดขึ้นจริงมาใช้พัฒนา ทั้ง นอเพลียส และ ลูกกุ้ง คือ ภาคีธุรกิจที่ทำงานเป็นทีม ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน

“ผมใช้นอเพลียสจากแม่นอก และ แม่ไขว้ ผ่านเจ๊ราตรี ของสยามบ้าง ตอง 1 บ้าง เคยสั่งลูกกุ้งสิชล 1 ของ ผอ.เจี๊ยบ 2 ล้านตัว แต่ติดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ไม่มีเครื่องบินขนส่ง จึงต้องยกเลิกไปก่อน น่าเสียดายมาก” ดร.ภุชงค์ เปิดเผยถึงรูปแบบการใช้นอเพลียสจากหลายๆ แหล่ง

เมื่อถามถึง “ปัญหา” การผลิตลูกกุ้ง คำตอบ คือ ช่วงแรกใช้โรงเรือนเปิด เจอปัญหา ทั้ง ลม ฝน และ แดด ในที่สุดต้องปรับปรุงเป็นโรงเรือนปิด แม้จะต้องใช้เงินก้อนหนึ่งก็จำเป็น เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว

ภายในเนื้อที่ 1 ไร่ ถูกพัฒนาเป็นโรงเพาะฟัก 10 บ่อ และบ่อเก็บน้ำอีกหลายบ่อ โดยสูบน้ำจากลำคลองมาบำบัดให้สะอาด ด้วย คลอรีน และ จุลินทรีย์

การซื้อลูกกุ้งขาวมาอนุบาล เป็นงานฝีมือ โดยเฉพาะการจัดการเรื่อง น้ำ / อาหาร สำคัญมาก แต่เนื่องจาก ดร.ภุชงค์  ทำวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงคีโตเซอร์รอสด้วย จึงได้นำวิชาความรู้มาใช้อย่างได้ผล ส่วนอาร์ทีเมียใช้ของบริษัทที่นำเข้าจากจีน ผ่านตัวแทนในไทย นอกจากนี้ยังได้ใช้ อาหารผง โปรตีนสูง สำหรับลูกกุ้งโดยเฉพาะ ซึ่งจะเน้นเรื่องนี้มากๆ แม้จะต้องลงทุนสูงก็ยอม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ส่วนเรื่องน้ำทั้ง น้ำจืด และ น้ำเค็ม ต้องวางแผนการจัดการให้ดี เพื่อให้เพียงพอกับการใช้งาน เพราะทางฟาร์มจะขายกุ้งให้เกษตรกรในระยะ P12 – 18 ด้วยความเค็มไม่เกิน 3 ppt ด้วยกำลังการผลิต 4 – 6 ล้านตัว / เดือน ทั้งใช้เอง และขายให้ผู้สนใจ ณ วันนี้ยังเพียงพอ

5.เครื่องนับลูกกุ้ง
5.เครื่องนับลูกกุ้ง

ข้อดีของเครื่องนับลูกกุ้ง

เพื่อความเป็นธรรม ทั้ง แสงแดดฟาร์ม และ ลูกค้า จึงได้ลงทุนซื้อเครื่องนับลูกกุ้งของ บริษัท อัลจีบา จำกัด มาใช้ในฟาร์ม “ผมเอามาใช้แทนแรงงานคน และเรื่องความถูกต้องของจำนวนลูกกุ้งที่ส่งให้ลูกค้า ในอดีตผมซื้อลูกกุ้งมาเลี้ยง เวลานับไม่เคยครบ เมื่อมองเห็นปัญหาก็หาทางแก้ไข ซึ่งเครื่องนับลูกกุ้งตัวนี้ คือ ทางแก้สำหรับฟาร์มผม ลูกค้าจะได้ลูกกุ้งที่ครบถ้วน ผมก็ได้ประหยัดเวลาในการนับลูกกุ้ง ประหยัดแรงงานในการนับ ประหยัดต้นทุนในการจ้างแรงงาน

จะเห็นว่ามีแต่ข้อดี รวมถึงงานบริการหลังการขายของบริษัทผลิตเครื่อง ที่มีคุณกันย์ กังวานสายชล เป็นเจ้าของ เข้ามาดูแลด้วยตัวเอง ให้คำปรึกษา แก้ไข รวมถึงที่ฟาร์มผมผลิตลูกกุ้งขาว ก็ด้วยคำแนะนำของ ดร.กันย์ ถือว่า เขาดูแลเรามากกว่าคำว่าลูกค้าไปซะแล้ว” ดร.ภุชงค์ เปิดเผยถึงความจำเป็นในการใช้เครื่องนับลูกกุ้ง

สรุปได้ว่า แสงแดดฟาร์ม วันนี้ กลายเป็นฟาร์มอนุบาลลูกกุ้งขาว ที่มีมาตรฐาน GAP กับกรมประมง และลงทุนเลี้ยงกุ้งขาวปนก้ามกราม ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนา เพราะทุกอย่างลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งวิชาชีพวิศวกรรมได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างได้ผล วันนี้ ดร.ภุชงค์ กลายมาเป็นเกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งเต็มรูปแบบ ท้าทายคนในวงการ ที่หลายคนถอดใจในเรื่องการเลี้ยงกุ้ง

สนใจสั่งซื้อลูกกุ้งขาว แม่นอก SIS และ แม่ไขว้ ราคามิตรภาพ ติดต่อ แสงแดดฟาร์ม โทร.089-152-2626 ภุชงค์ ศรีอ่วม, 087-917-6934 กรภพ ศรีอ่วม 18/6 หมู่ 3 ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี 70160

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 384