ปัจจุบันในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ให้ความสำคัญกับมาตรฐานของสินค้าการเกษตร เพื่อคุณภาพและความปลอดภัยในการบริโภคของผลผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่ดูเพียงแค่ตัวผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ แต่จะตรวจสอบย้อนกลับไปถึงต้นน้ำ คือ ฟาร์มที่ผลิต หรือ แหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ อย่างเช่น ” สำรวยฟาร์ม “
โดยเฉพาะสินค้าเกษตร หากฟาร์มใดได้รับการการันตี หรือได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นอกจากผู้บริโภคแล้ว เกษตรกรบ่อกุ้งเองก็ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สายพันธุ์ รวมถึงปัจจัยการผลิตในการเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาด
การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของไทย ย่อมคุ้นชินกับคำว่า “มาตรฐาน GAP” ซึ่ง GAP (จีเอพี) มาจากคำว่า Good Aquaculture Practice คือ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์และอนุบาลกุ้งทะเล ของกรมประมงไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมาตรฐาน GAP เป็นตัวการันตีให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้มั่นใจ และเลือกใช้ลูกกุ้งของฟาร์มที่ได้รับ GAP เพื่อให้ได้กุ้งที่แข็งแรง ไม่เป็นโรค มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย ไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ประเมินมาตรฐานฟาร์ม GAP มีดังนี้
-การเลือกสถานที่ที่เหมาะสม
-การจัดการเลี้ยงทั่วไปตามมาตรฐาน
-อาหารที่ใช้ รวมไปถึงปัจจัยการผลิต ไม่มีสารที่เป็นอันตราย
-การจัดการสุขภาพ และการแก้ปัญหาในกุ้งที่ดี
-สุขอนามัยฟาร์ม
-การจับขาย และ การขนส่ง
-การจดบันทึกเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงหลังจับขาย และต้องเก็บรักษาข้อมูลอย่างน้อย 3 ปี
ทาง ทีมงานสัตว์น้ำ มีโอกาสลงพื้นที่พูดคุยกับฟาร์มเพาะเลี้ยงพันธุ์ลูกกุ้งก้ามกราม เพื่อสำรวจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับฟาร์มลูกกุ้งที่ได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมประมง คือ สำรวยฟาร์ม ตั้งอยู่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม บริหารงานโดย คุณสำรวย บุญมี
สำรวยฟาร์มก่อตั้งมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2544 เริ่มแรกคุณสำรวยทำอาชีพให้เช่ารถสิบล้อขนส่ง วิ่งรถทั่วประเทศไทย แต่ธุรกิจรถสิบล้อเป็นธุรกิจที่ต้นทุนสูงมาก เมื่อเทียบกับกำไรที่ได้รับ จึงตัดใจขายขาดทุนรถสิบล้อแค่ 1 ล้านบาท ประกอบกับที่มีความรู้เรื่องการเลี้ยงกุ้งติดตัวมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่เลี้ยง จึงผันตัวมาทำฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้งที่กำแพงแสน ในช่วงแรกเพาะพันธุ์ทั้ง ลูกกุ้งก้ามกราม และ ลูกกุ้งขาว แต่ปัจจุบันเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามเพียงอย่างเดียว แม้สำรวยฟาร์มจะผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 20 ปี แต่ฟาร์มก็ยังคงรักษามาตรฐานและคุณภาพได้เป็นอย่างดี
การบริหารจัดการบ่อกุ้ง
สำรวยฟาร์มให้ความสำคัญกับการคัดเลือกแม่พันธุ์กุ้งทุกตัว คุณสำรวยพูดถึงเทคนิคการเลือกแม่พันธุ์กุ้งว่า “แม่พันธุ์ต้องห้ามเกิน 30 ตัวกิโล เพราะถ้าเราเลือกแม่กุ้งเล็ก ยังไงลูกที่ได้ต้องเล็กด้วย และแม่กุ้งที่เลือกต้องดูให้ละเอียดว่าสมบูรณ์หรือไม่ ต้องไม่มีเมือก หนวดกับขาต้องดี สีตัวสะอาด จึงจะถือว่าผ่าน”
สำหรับนอเพลียสทางสำรวยฟาร์มมีบ่อเลี้ยงเป็นของตัวเอง เพื่อจะได้ควบคุมคุณภาพได้ แต่หากมีลูกค้าสั่งลูกกุ้งจำนวนมาก แล้วแม่พันธุ์ของฟาร์มไม่เพียงพอ จะไปคัดแม่พันธุ์กุ้งจากแหล่งอื่น และนำมาฟักไข่ที่ฟาร์มเอง ทางฟาร์มจะไม่ซื้อนอเพลียสมาจากที่อื่นเด็ดขาด เนื่องจากไม่มั่นใจในแม่พันธุ์ว่าได้คุณภาพจริงหรือไม่
พ่อพันธุ์กุ้งที่ทางสำรวยฟาร์มเลือกจะคัดจากกุ้งที่มีก้ามสีทอง ห้ามเป็นกุ้งกรามโก๋ มีกล้ามไม่เยอะ ลำตัวต้องสะอาด ไม่มีเมือก สำหรับเกษตรกรที่นำลูกกุ้งของสำรวยฟาร์มไปเลี้ยง การันตีผลผลิตว่ากุ้งก้ามกรามที่ได้จะตัวใหญ่ไม่เกิน 10 ตัวต่อกิโลกรัม ขายได้ราคาดี
อีกหนึ่งเทคนิคที่ต้องใส่ใจ คือ เรื่องของการเตรียมน้ำ ก่อนลงแม่พันธุ์กุ้ง ต้องมีการเตรียมน้ำอย่างน้อย 5 วัน เพื่อให้ได้ค่า pH ที่เหมาะสมที่สุด เริ่มจากการนำน้ำเค็มซึ่งทางฟาร์มซื้อมาจากแหล่งอื่น มาผสมกับน้ำจืดที่ซื้อมาจากกรมชลประทาน โดยปกติฟาร์มจะเลี้ยงอยู่ที่ 15 แต้ม ขั้นต่อมาต้องตีคลอรีนเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อในบ่อเพาะ และวัดค่า pH ให้ได้ค่าตามสูตรของฟาร์ม หลังจากได้น้ำที่ใสสะอาด จะต้องนำน้ำมากรองอีก 1 รอบ ก่อนลงบ่อ
เมื่อย้ายแม่พันธุ์มาในบ่อ แม่พันธุ์จะวางไข่เป็นเวลาติดต่อกัน 5 คืน แม่กุ้งคืนที่ 5 ไข่จะหมดท้อง จึงจับแม่กุ้งกลับไปเลี้ยงบ่อเดิม สำหรับบ่อเพาะเลี้ยงของสำรวยฟาร์มมีอยู่ 40 บ่อ ขนาดบ่อละ 2.50 เมตร ใน 1 บ่อเลี้ยง ลงลูกกุ้งไม่เกิน 500,000 ตัว สำรวยฟาร์มมีการลงลูกกุ้งแบบลง 10 บ่อ หยุด 10 วัน และค่อยลงต่ออีก 10 บ่อ เพื่อไม่ให้ปริมาณลูกกุ้งล้นตลาด และง่ายกับการควบคุมคุณภาพลูกกุ้งแต่ละรอบ
การให้อาหารลูกกุ้ง
หลังจากแม่กุ้งคืนที่ 5 ไข่หมดท้องแล้ว นำลูกกุ้งมาลงบ่อ และต้องเริ่มขุนอาหาร ให้ทั้ง อาร์ทีเมีย และ วิตามินรวม สำหรับกุ้ง ในช่วงเวลาวันแรกถึงวันที่ 12 ต้องหมั่นคอยเช็คลูกกุ้ง ห้ามปล่อยให้ลูกกุ้งหิว เพราะถ้าลูกกุ้งหิว ลูกกุ้งจะเกิดความเครียด และจะกินกันเองในที่สุด อีกเรื่องที่ต้องระวัง คือ การให้ออกซิเจนสำหรับลูกกุ้ง ในช่วงแรกระวังการให้ออกซิเจนห้ามเปิดแรง เพราะทำให้ลูกกุ้งหงายท้อง ดังนั้นจึงค่อยๆ ปรับเพิ่มการให้ออกซิเจนไปตามการเจริญเติบโตของลูกกุ้งในแต่ละวัน
ตั้งแต่วันที่ 12 จะให้อาหารตามสูตรเดิม คือ อาร์ทีเมีย และ วิตามินรวม สำหรับกุ้ง แต่เพิ่มอาหารเสริมอีก 1 อย่าง นั่นคือ เต้าหู้ไข่ ซึ่งเป็นเต้าหู้ไข่ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป นำมาบดละเอียดแล้วให้ลูกกุ้งกิน ตั้งแต่วันที่ 12-20 จนถึงวันที่กุ้งเริ่มคว่ำ ในทุกๆ วันต้องคอยสังเกตสีน้ำว่ามีน้ำเสียหรือไม่ การเปลี่ยนถ่ายน้ำบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายทุกวัน เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุน อาจเปลี่ยนน้ำวันเว้นวัน หรือ 2 วันครั้ง ก็ได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของลูกกุ้ง อย่างเช่น บ่อเพาะที่ลงกุ้งบางๆ จะเปลี่ยนน้ำทุก 2 วัน ปกติในบ่อจะใช้น้ำที่ 60 เซนติเมตร จะถ่ายน้ำที่ 20 เซนติเมตร แต่ถ้าน้ำมีความเข้มข้นสูง จะถ่ายน้ำที่ 30 เซนติเมตร และทางสำรวยฟาร์มจะไม่มีการนำน้ำเก่ามาวนใช้ใหม่ เนื่องจากเสี่ยงทำให้เกิดโรคในกุ้ง ซึ่งทางฟาร์มมีการตรวจโรคลูกกุ้ง โดยกรมประมงเข้ามาสุ่มตรวจทุกวันที่ 20 ของลูกกุ้ง เป็นช่วงที่ลูกกุ้งคว่ำแล้ว และเตรียมพร้อมให้เกษตรกรลงบ่อดินได้ อัตราการรอดของลูกกุ้งสำรวยฟาร์มมีถึง 90 %
การได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP
ในปี 2564 นี้ คุณสำรวย บุญมี ได้รับ รางวัลชนะเลิศเกษตรกรต้นแบบด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามระดับจังหวัด และรางวัลชมเชย ระดับประเทศ จากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้ง 2 รางวัล ที่ได้รับนี้ เป็นอีกหนึ่งเสียงในการการันตีคุณภาพของผลผลิตจากสำรวยฟาร์มได้เป็นอย่างดี ว่าฟาร์มได้รับการตรวจสอบจาก กรมประมงเป็นประจำ และได้รับความเชื่อมั่นจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในไทย
และนอกจากรางวัลเกษตรกรต้นแบบแล้ว สำรวยฟาร์มก็ได้ ใบรับรองมาตรฐาน GAP ออกใบรับรองครั้งแรก เมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม 2558 และมีการต่อใบรับรองกับทางกรมประมง อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อีกหนึ่งมาตรฐานที่สำรวยฟาร์มได้รับ คือ หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก ที่ได้รับการรับรองครั้งแรกตั้งแต่ปี 2556
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายลูกกุ้งก้ามกราม
สำรวยฟาร์มมีฐานลูกค้าหลักๆ อยู่จังหวัด นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี และ กาฬสินธุ์ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีจัดจำหน่ายลูกกุ้งก้ามกรามส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งประเทศ เวียดนาม พม่า กัมพูชา และล่าสุดทางสำรวยฟาร์มได้รับความไว้วางใจในคุณภาพของลูกกุ้งก้ามกราม และได้ส่งออกทั้ง ลูกกุ้ง และ กุ้งเนื้อ ไปถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขั้นตอนการส่งออกกุ้งไปประเทศญี่ปุ่นนั้น ต้องมีการยื่นหนังสือขอส่งออกกุ้งกับทางกรมประมง จากนั้นกรมจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามตรวจสอบ ตั้งแต่เริ่มเพาะเลี้ยงจนถึงวันที่จับขาย แล้วทางกรมประมงจะมีการออกใบรับรองให้ และยังมีการตรวจสอบจากฟาร์มที่เป็นผู้ซื้อจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ดังนั้นสำรวยฟาร์มจึงถือว่าเป็นฟาร์มที่ผลิตลูกกุ้งก้ามกรามที่มีคุณภาพ การันตีด้วยมาตรฐานและรางวัล รวมถึงจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอีกด้วย
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงกุ้ง
คุณสำรวยกล่าวว่า “สำหรับเกษตรที่สนใจแต่ยังลังเล ไม่เป็นไร ผมทำให้เห็นเลย ใครว่ากุ้งไทยไปญี่ปุ่นไม่ได้ ผมทำให้เห็นแล้ว กุ้งที่จะส่งออกได้ต้องมีมาตรฐาน และเรามีใบรับรอง ถ้าของเราไม่ดีจริง ญี่ปุ่นไม่มีทางซื้อแน่นอน อย่างที่รู้คนญี่ปุ่นเป็นคนละเอียด และให้ความสำคัญทุกขั้นตอน ดังนั้นคุณภาพ และ ความใส่ใจ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับสำรวยฟาร์ม ”
เกษตรกรที่สนใจลูกกุ้งก้ามกรามคุณภาพ หรือต้องการคำแนะนำ ติดต่อ คุณสำรวย บุญมี “สำรวยฟาร์ม” 80 หมู่ 3 ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โทร.081-857-8771, เพจ Facebook : สำรวยฟาร์มกุ้ง