ประวิทย์เจริญฟาร์ม รุ่งเพราะเลี้ยง แพะ นม นำเข้าจากเมืองนอก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แพะ สัตว์เศรษฐกิจที่มีการเลี้ยงมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันมีการนำเข้าแพะนอกเข้ามา เพื่อพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงในภูมิประเทศไทย เพื่อให้ผลตอบแทนที่เร็วขึ้น ในการพัฒนาที่ดีขึ้นก็ต้องมีการดูแลจัดการที่ดีควบคู่เช่นกัน

1.แพะ

การเลี้ยงแพะ

วันนี้สัตว์บกพามารู้จักกับ คุณประวิทย์ เจริญเตีย หรือ ประวิทย์เจริญฟาร์ม กับประสบการณ์การเลี้ยงแพะเพื่อจำหน่ายพันธุ์มากว่า 17 ปี  โดยมีการปรับปรุงและพัฒนาสายพันธุ์ให้ตอบโจทย์ตลาดมากที่สุด คุณประวิทย์ได้เผยถึงที่มาของฟาร์มว่า“ตั้งใจเลี้ยงเพราะใจรัก และเป็นคนชอบสัตว์สวยงาม จึงเลือกที่จะเลี้ยงแพะที่มีสายพันธุ์ดี และเราเป็นคนชอบเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์อยู่แล้ว เลยตั้งใจที่จะเลี้ยงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ แล้วส่งต่อพันธุกรรมที่ดีให้เกษตรกรคนเลี้ยงแพะ และตอนนั้นไม่คิดว่าแพะจะราคาดีขนาดนี้”

แพะชุดแรกของฟาร์มนำเข้าพ่อแม่พันธุ์จาก แอฟริกา ออสเตรเลีย และ อเมริกา แล้วนำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งคุณประวิทย์ได้เผยว่า พยายามคัดเลือกสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ และสามารถดำรงชีวิตได้ในสภาพภูมิอากาศประเทศไทย แน่นอนว่าการนำเข้าแพะจากต่างประเทศต้องเจอปัญหาตามมาอยู่แล้ว ด้วยสภาพอากาศที่ต่างกัน แหล่งอาหารที่ต่างกัน และด้วยนิสัยของแพะที่ไม่ชอบภูมิอากาศแบบร้อนชื้น หากแพะปรับตัวไม่ได้ย่อมเกิดการสูญเสีย แต่การจะลดอัตราการสูญเสียก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของฟาร์มด้วย

“การสูญเสียที่เกิดในแพะนำเข้าส่วนใหญ่ คือ เรื่องความชื้นบ้านเรา แพะเคยอยู่อากาศแห้งๆ ไม่มีแมลง พอต้องมาอยู่อากาศร้อนชื้น แพะก็จะรู้สึกไม่สบายตัว และต่างประเทศจะเลี้ยงแบบปล่อยทุ่งตลอด แต่บ้านเราไม่ได้ เพราะมีปัญหาเรื่อง แมลง พยาธิ จึงต้องเลี้ยงขังคอก และปล่อยทุ่งบ้างบางเวลา เพื่อลดความเครียด” คุณประวิทย์ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงปัญหาที่ต้องเจอ

2.แพะโครงสร้างใหญ่ โตเร็ว
2.แพะโครงสร้างใหญ่ โตเร็ว

การพัฒนาสายพันธุ์แพะ

การที่แพะจะปรับตัวได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การจัดการของฟาร์ม เริ่มตั้งแต่ตัวโรงเรือนต้องอากาศถ่ายเท พื้นที่กว้าง เลี้ยงแบบไม่หนาแน่นเกินไป ทำอย่างไรก็ได้ให้แพะรู้สึกอิสระ เพราะแพะชอบความอิสระ ไม่เลี้ยงขังคอกตลอดเวลา ปล่อยให้แพะได้วิ่งเล่นบ้าง ให้อาหารที่เหมาะสม และสมดุลกับพันธุกรรม อาจจะมีการสูญเสียไปบ้างเพราะแพะเป็นสิ่งมีชีวิต บางตัวปรับตัวไม่ได้ แต่ถ้ามีการจัดการที่ดีและเหมาะก็จะช่วยลดการสูญเสียได้ระดับหนึ่ง

สำหรับสายพันธุ์ที่ทางฟาร์มเลี้ยงในปัจจุบันจะมี แพะพันธุ์นูเบียน (Nubian) จากอเมริกา จะเป็นแพะสายให้นม แพะพันธุ์บอร์ จากอเมริกา และอีกสายพันธุ์ คือ แพะพันธุ์ปิ๊กมี่ สำหรับสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยเลี้ยงมา พอเริ่มไม่ได้ราคาจึงเลิกเลี้ยงไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“พอเราเลี้ยงมาถึงจุดหนึ่ง เราก็จะเหลือแค่สายพันธุ์ที่สามารถตอบโจทย์เราได้ ตอนแรกๆ แพะที่ฟาร์มจะมีทั้งนำเข้าจาก ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกา แต่ปัจจุบันจะเหลือแค่ที่นำเข้าจากอเมริกา เพราะรู้สึกว่าจากประเทศอื่นไม่ตอบโจทย์เรา” คุณประวิทย์ให้ความเห็นเพิ่มเติมของการนำเข้าแพะ

การนำเข้าของแพะนมสายพันธุ์นูเบียน จุดประสงค์เพื่อนำมาเป็นตัวชี้นำทางในการพัฒนาสายพันธุ์ในฟาร์มต่อไป สำหรับสายพันธุ์นูเบียนตอนนี้อยู่ในช่วงการขยายฝูง ลูกตัวผู้หากมีคนสนใจก็จำหน่ายออก ส่วนตัวเมียเก็บไว้พัฒนาสายพันธุ์ต่อไป

“และด้วยความที่แพะนูเบียนเป็นแพะนม จึงจะได้น้ำนมในปริมาณที่เยอะกว่าแพะบอร์ เราก็จะเก็บนมไว้เลี้ยงลูกที่เกิดจากแพะบอร์ด้วย เป็นการลดต้นทุนไม่ต้องไปซื้อนมจากข้างนอก” คุณประวิทย์กล่าวเพิ่มเติม

3.ปล่อยแพะลงแปลงหญ้า
3.ปล่อยแพะลงแปลงหญ้า

การบริหารจัดการฟาร์มแพะ

นอกจากแพะสายพันธุ์ดี พันธุกรรมดีแล้ว การจัดการ และ อาหาร ต้องดีตามไปด้วย สิ่งที่สำคัญในการทำปศุสัตว์มี 3 สิ่ง คือ

-พันธุกรรมดี หากมีพันธุกรรมที่ดีก็จะช่วยลดระยะเวลาการเลี้ยง มีอัตราการแลกเนื้อที่ดี

-การดูแลจัดการที่ดี

โฆษณา
AP Chemical Thailand

-อาหารที่ดี มีสารอาหารตามโภชนะที่เหมาะสม

 “เกษตรบางคนอาจจะคิดว่าเอาพ่อพันธุ์ดีไปทับแม่แพะที่ฟาร์ม แล้วดูแลจัดการเหมือนเดิม อาจจะไม่ตอบโจทย์ตามพันธุกรรม และอาจทำให้เกิดการสูญเสียได้ เพราะพันธุกรรมที่ดีก็ต้องมีการดูแลจัดการที่ดีตามมา ถึงจะได้ผลตอบแทนที่ดีตามมา” คุณประวิทย์เผยถึงความสำคัญของการดูแลจัดการ

จุดประสงค์ของการพัฒนาสายพันธุ์ คือ ให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้เลี้ยง และเป็นที่ต้องการของตลาด คือ มีอัตราการแลกเนื้อที่ดีขึ้น โตไว ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงน้อยลง ทนโรค  และถ่ายถอดพันธุกรรมที่ดีสู่ลูก ส่วนพันธุกรรมที่ดีก็สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาต่อไปได้

ซึ่งแพะพื้นเมืองเมื่อก่อนค่อนข้างจะทนโรค การสูญเสียต่ำ เพราะเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่การเจริญเติบโตจะช้า แต่แพะที่พัฒนาในสมัยนี้ที่มีการพัฒนาขึ้นมาจะมีโครงสร้างใหญ่ โตเร็ว ก็ต้องมีการดูแลที่ดีขึ้น ถ้าเลี้ยงแบบธรรมชาติเหมือนเดิมอาจเกิดการสูญเสียได้

คุณประวิทย์จึงได้พัฒนาปรับปรุงให้ลูกหลานของแพะสายพันธุ์นอกสามารถเติบโตได้ดี เลี้ยงง่ายขึ้น ทนโรค ทนอากาศร้อนชื้นของบ้านเราได้ แต่ก็ต้องมีการดูแลจัดการที่ดีควบคู่กันไปด้วย

“ในการพัฒนาสายพันธุ์ที่ฟาร์มนั้น เราจะคัดเลือกสายพันธุ์ตัวที่แข็งแรง ไม่ค่อยป่วย กินอาหารได้ดี จะคัดเลือกเพื่อนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป เพื่อให้พันธุกรรมที่ดีของสายพันธุ์แพะที่เรานำเข้ามายืนหยัดอยู่ได้ และพัฒนาเพื่อให้ได้ลูกหลานที่ดีขึ้น” คุณประวิทย์เผยถึงจุดประสงค์การพัฒนาสายพันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.การให้อาหารและน้ำ
4.การให้อาหารและน้ำ

การให้อาหารแพะ

สำหรับอาหารทางฟาร์มจะให้หญ้าแห้งแพงโกล่าเป็นหลัก และเสริมด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูป เพื่อให้แพะได้รับสารอาหารครบถ้วน และการให้กินหญ้าแห้งเพื่อให้แพะใช้หญ้าในกระบวนการเคี้ยวเอื้อง และลดการเกิดพยาธิที่มักพบในหญ้าสด

การที่ให้แพะกินหญ้าสด แพะจะได้รับพลังงานและสารอาหารน้อยกว่าหญ้าแห้ง เพราะในหญ้าสดจะมีน้ำประกอบอยู่เกือบ 70%  จะทำให้แพะอิ่มไวขึ้น แต่อาจจะยังได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เราจึงเลือกให้หญ้าแห้งและเสริมด้วยอาหารเม็ด

และปล่อยลงแปลง การปล่อยลงแปลงจุดประสงค์ให้แพะได้วิ่งเล่นผ่อนคลาย จะกินหญ้าหรือไม่กินก็แล้วแต่ เพราะแพะจริงๆ แล้วเป็นสัตว์กินใบไม้ ไม่ใช่สัตว์กินหญ้า ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าแพะชอบปีนกินใบไม้ ส่วนแกะจะก้มกินหญ้า

การที่เราให้แพะกินหญ้า จริงๆ แล้วเป็นการฝืนธรรมชาติแพะ เพราะใบไม้จะมีสารอาหารที่มากกว่าหญ้า สารอาหารที่ได้จากหญ้าจะเป็นพลังงาน การกินเข้าไป คือ การสะสมไขมัน จึงไม่ตอบโจทย์ในการเลี้ยงแพะ และในใบไม้จะมีสารอาหารมากกว่าหญ้า

สายพันธุ์ที่ดี การดูแลจัดการดี และได้รับโภชนะทางอาหารครบถ้วย ทั้ง 3ปัจจัย ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเลี้ยงดูแพะ หากผู้เลี้ยงมีครบ 3สิ่งนี้ แน่นอนว่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับมาแน่นอน

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณประวิทย์ เจริญเตีย ประวิทย์เจริญฟาร์ม โทร.086-332-2541

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 342