การเลี้ยงปลาแบบ ผสมผสาน หัวใจหลัก คือ การได้รายได้จากการทำเกษตรที่หลากหลาย ระบบการผลิตสัตว์น้ำและสัตว์บกที่ผสมผสานกันนี้ เอื้อประโยชน์ให้กันเป็นอย่างดี นับเป็นระบบการผลิตทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงมากระบบหนึ่ง
สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ดไข่
โดยการเลี้ยงปลาแบบผสมผสานหากแยกตามที่ตั้งของโรงเรือนเลี้ยงสัตว์จะพบว่ามี 2 ลักษณะ คือ
-แบบสร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้เหนือบ่อเลี้ยงปลา เป็นแบบที่นิยมกันมากที่สุด เพราะสะดวก และสามารถระบายมูลสัตว์จากโรงเรือนลงสู่บ่อปลาโดยตรง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโรงเรือนบนบ่อปลาจะได้ประโยชน์จากบ่อปลาในการช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้ต่ำลง สัตว์จึงไม่เครียด ทำให้กินอาหารได้มากขึ้น โตเร็ว และต้านทานโรคได้ดี อีกทั้งยังดูแลรักษาความสะอาดได้ง่าย ประหยัดแรงงาน
ข้อเสีย คือ ต้นทุนค่าสร้างโรงเรือนสูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้ไม้ทำเสา และวัสดุปูพื้นเพิ่มขึ้น โรงเรือนลักษณะนี้เหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์เล็ก เช่น เป็ด หรือ ไก่ เท่านั้น
-แบบสร้างโรงเรือนแยกออกไปจากบ่อปลา โดยมีรางระบายมูลสัตว์จากโรงเลี้ยงมาสู่บ่อปลา แบบนี้จะพบมากในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ใหญ่ เช่น สุกร ที่สร้างโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อยู่ก่อนแล้ว จึงขยายเนื้อที่เลี้ยงปลาโดยการขุดบ่อในภายหลัง
การเลี้ยงเป็ดไข่
คุณชนะชัย ใจธรรม อยู่บ้านเลขที่ 460 หมู่ 1 ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้รับช่วงต่อจากพ่อเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เจ้าของ โชควิเชียรฟาร์ม เกษตรกรรุ่นที่สอง เล่าให้เราฟังว่า “หลังจากเรียนจบก็กลับมาสานต่อธุรกิจจากพ่อ เลี้ยงปลาเบญจพรรณ และ เลี้ยงเป็ดไข่ เลี้ยงแบบผสมผสานมาตั้งแต่ต้น มีเนื้อที่ทั้งหมด 300 ไร่ แบ่งเป็น บ่อเลี้ยงปลาเบญจพรรณ 8 บ่อใหญ่ และบ่อเลี้ยงกุ้งรวมสองชนิด 6 บ่อ รวมบ่อเลี้ยงทั้งหมดมี 14 บ่อ
โดยลักษณะของโรงเรือนเลี้ยงเป็ดไข่นั้นเป็นแบบสร้างไว้เหนือบ่อปลา มีทั้งหมด 4 เล้า เฉลี่ยเลี้ยงเล้าละ 6,000 ตัว โดยรวมแล้วประมาณ 25,000 ตัว ทางโชควิเชียรฟาร์มจะเน้นการเลี้ยงเป็ดไข่เป็นหลัก เนื้อที่ในการเลี้ยงเป็ดไข่นั้น สร้างเล้าเป็ดบนบ่อปลา 2 เล้า ในบ่อ 50 ไร่, 1 เล้า ในบ่อ 40 ไร่ และอีก 1 เล้า ในบ่อ 30 ไร่ เลี้ยงเป็ดไข่ด้วยอาหารเม็ดของ บริษัท อินเทคค์ ฟีด จำกัด
ในส่วนของสัตว์น้ำนั้น หากราคาตลาดของปลาไม่ค่อยดี ก็จะมีการสลับไปเลี้ยงกุ้งผสมสองชนิดแทน คือ กุ้งขาวแวนนาไม กับ กุ้งก้ามกราม แต่ด้วยทั้งโรคที่เข้ามารบกวน อุทกภัย และ พิษเศรษฐกิจ ราคาปัจจัยต่างๆ ทำให้ไม่มีกุ้งให้จับ และราคาของกุ้งไม่ค่อยดีนัก จึงสลับกลับมาเลี้ยงปลาเบญจพรรณกับเป็ดไข่แทนในปัจจุบัน”
การบริหารจัดการบ่อปลา
คุณชนะชัยเล่าอีกว่า “ในตอนที่เลี้ยงกุ้งสองชนิดนั้นเป็นการเลี้ยงแบบแบ่งจากบ่อปลามาเลี้ยงกุ้ง เป็นบ่อไม่ใหญ่มาก มีทั้งหมด 6 บ่อ เมื่อเจอตอนที่เป็นโรค EMS ก็รีบจับกุ้งขึ้นมาขายทันที หนักที่สุด คือ 300 ตัว/กิโลกรัม ก็จำเป็นต้องจับขึ้นมาขาย เพื่อให้ได้เงินต้นทุนคืนบ้าง ถ้าสถานการณ์ตลาดกุ้งดีขึ้นก็จะกลับไปเลี้ยงกุ้งทั้งสองชนิดอีก เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งแก่ฟาร์ม
ในตอนนี้ก็ยังมีการเลี้ยงกุ้งทั้งสองชนิดอยู่ แต่เพียงว่าไม่ใช่รายได้หลักของทางโชควิเชียรฟาร์ม เพราะสู้เรื่องราคาค่าอาหารกุ้งไม่ไหว โดยทางคุณชนะชัยเองก็มีวิธีการลดต้นทุนเรื่องของจุลินทรีย์ในการบำบัดน้ำ ด้วยการนำเปลือกไข่เป็ดมาทำเป็นจุลินทรีย์น้ำแดงใช้เอง
ในส่วนของการเลี้ยงปลาเบญจพรรณ ก็จะมีปลานิล, ไน, ตะเพียนขาว, ยี่สก, จีน ใช้ลูกพันธุ์ขนาดไซซ์นิ้ว ปล่อยลงบ่อทีเดียว แล้วเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ โดยซื้อขี้ไก่ที่เลี้ยงในระบบปิดมาใส่ในบ่อเลี้ยงปลา 3 เดือนครั้ง ครั้งละ 6-7 ตัน และด้านบนบ่อปลาก็เป็นเล้าเป็ดที่ใช้ไม้รวกเป็นพื้นรองของเล้า ทำให้พอเป็ดขี้ออกมาก็จะตกลงสู่บ่อปลาด้านล่างเป็นอาหารของปลาอีกทีหนึ่ง จึงทำให้ที่ฟาร์มไม่ใช้อาหารเม็ด หรือ อาหารเสริมใดๆ ในการเลี้ยงปลาเบญจพรรณ เลี้ยงแบบใช้ ขี้ไก่ ขี้เป็ด 100% เรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยงปลาที่ออแกนิคสุดๆ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลา
ส่วนน้ำที่ใช้ในระบบการเลี้ยงนั้นเป็นน้ำจากคลองที่อยู่ติดกับบ่อ เมื่อน้ำเริ่มลดก็จะสูบน้ำเข้ามาเติมทันที ใช้เวลาในการเลี้ยง 8-10 เดือน จึงจะเริ่มทำการจับขึ้นมาขาย โดยจะมีแพมาทอดแห และตีราคาที่หน้าบ่อ ซึ่งราคาขาย ณ ปัจจุบัน ปลานิล กับ ปลาตะเพียน อยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ส่วนปลาอื่นๆ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท เฉลี่ยแล้วประมาณที่ 15 บาท ด้วยราคาของปลาที่ถูกลงอย่าง เห็นได้ชัด ทำให้สภาพคล่องทางฟาร์มฝืดตัวลงอย่างชัดเจน”
ทั้งนี้คุณชนะชัยอยากจะฝากเสียงเล็กๆนี้ให้ทราบถึงปัญหาที่เกษตรกรได้รับ และอยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลในภาพรวมของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทั้งหมดว่า “อยากให้เขามาดูแลในเรื่องของ ราคาอาหารสัตว์ และ ราคาขายผลผลิต ที่ได้นั้น ตอนนี้เกษตรกรทุกภาคส่วนต่างก็ดิ้นรนกันเองเพื่อให้อยู่รอดได้ อีกทั้งต้องชำระหนี้ที่เกิดจากการประกอบอาชีพเกษตรกรอีก จึงอยากให้ภาครัฐมองเห็นถึงปัญหาตรงนี้ และเร่งแก้ไขดูแลต่อไป”
หากสนใจอยากศึกษาดูงาน หรือสนใจติดต่อ คุณชนะชัย ใจธรรม 401 ม.9 ต.บางตาเถร อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 72110 โทร.089-550-6464