เพราะพบเจอปัญหาความแห้งแล้งและพื้นที่รกร้าง เกษตรกรประสบปัญหากับความยากจน ทำให้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เล็งเห็นถึงปัญหาเข้าไปช่วยจับมือกับเกษตรกร ร่วมกันพัฒนาที่ดินที่รกร้าง พัฒนาคุณภาพชีวิต และ ส่งเสริมการ สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับเกษตรกร จนทำให้ชุนชนมีความเข้มแข็ง และหลุดพ้นความยากจน จนกลายเป็นชุมชนต้นแบบของการพัฒนา ภายใต้ชื่อ “โครงการ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ”
การจัดตั้งโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า
ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณมนตรี เป้งชัยโม หรือ คุณบาส ผู้จัดการ CPF ที่ดูแลในส่วนของ บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด ได้เล่าประวัติความเป็นมาให้นิตยสารสัตว์บกฟังว่า โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากส่วนราชการ อำเภอพนมสารคาม และสถาบันการเงิน
เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ให้มีโอกาสได้ประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก การดำเนินงานของโครงการจัดเป็นระบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เพื่อให้การพัฒนาอาชีพของเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
การส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่แบบปล่อยอิสระ หรือ Free Range ตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ แม่ไก่ไข่ 5,000 ตัว โดยทาง CPF ผลิตไก่สาวให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อ เกษตรกรนำไปเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ ในพื้นที่ตามสัดส่วนของไก่อยู่ที่ 4 ตารางเมตร/ตัว ทำให้แม่ไก่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ อยู่ในพื้นที่ที่มีแสงแดดและร่มเงาอย่างเหมาะสม ช่วยลดความเครียด และส่งเสริมให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง ทำให้ได้ไข่ไก่ที่สด สะอาด คุณภาพดี และ ปลอดภัย
อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่จะเป็น อาหารออแกนิค โดยกลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้าสั่งวัตถุดิบเข้ามาผสมเอง เนื่องจากแนวโน้มค่าอาหารที่ขยับขึ้น และส่วนผสมอาหารบางตัวไม่ออแกนิค โดยอาหารแม่ไก่ที่ให้มีส่วนผสม คือ
-ข้าวเปลือก ปลายข้าว ซึ่งได้จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทาง จังหวัดสุรินทร์ และ จังหวัดอำนาจเจริญ มีใบรับรองถูกต้อง
-กากถั่วเหลือง GMO นำเข้าจากประเทศอินเดีย
-อาหารสำเร็จรูปของ CP
เมื่ออาหารผสมแล้วจะมีปริมาณอยู่ที่ 20-25ตัน/เดือน ส่วนด้านอาหารเสริมจะมีการปลูก หญ้าหวาน เสริมให้ไม่เกิน 15% ของปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละมื้อ วิธีการให้ สับหญ้าหวานประมาณ 3 รอบ นำไปใส่รางอาหาร เสริมเป็นอาหารเคี้ยวเล่น ให้ในช่วงที่อาหารหลักหมดแล้ว หญ้าหวานมีประโยชน์ช่วยเรื่องการขับถ่าย และทำให้ทางเดินอาหารของไก่ดีขึ้น และมีจุลินทรีย์ โพรไบโอติก ที่ทางกลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้าทำขึ้นมาอยู่ในน้ำหมัก เข้าไปช่วยย่อยหญ้าหวานอีกด้วย ด้านวัคซีนทำครบเหมือนกับไก่ที่เลี้ยงในระบบ Evap แต่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ
ทางกลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้าได้มีการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ทำขึ้นเอง จากการหมักบอระเพ็ดและฟ้าทะลายโจร การให้จะมีทั้งแบบน้ำหมักและแบบสมุนไพรอัดเม็ดแคปซูล โดยแบบน้ำหมักจะผสมกับน้ำปกติใส่รางให้กินตลอด ส่วนแบบเม็ดแคปซูล หากไก่มีอาการป่วยจะจับแยกและใช้วิธีป้อนให้ไก่กิน ไก่ที่ป่วยจะรักษาตามอาการ แต่ส่วนใหญ่จะป่วยน้อย เพราะไก่ได้ออกกำลัง มีสุขภาพที่ดี และมีอารมณ์ดี
การเพาะเลี้ยงไก่ไข่
ปัจจุบันเกษตรกรในกลุ่มหนองหว้าที่เลี้ยงไก่มีอยู่ 10 ราย เป็นกิจกรรมในครัวเรือนที่ดูแลกันเอง เลี้ยงแม่ไก่สูงสุดอยู่ที่ 300-1,000 ตัว หลังจากเลี้ยงแล้วได้ไข่ไก่ ทางบริษัท CP จะเข้ามารับซื้อ โดยรับอยู่ 2 ขนาด ขนาดไข่เกรด A น้ำหนักที่ 55-65 กรัม และ ไข่เกรด B น้ำหนักที่ 45-55 กรัม ในการเลี้ยงแม่ไก่ 1,000 ตัว หักค่าใช้จ่ายแล้วกำไรจะอยู่ที่ 20-30 สตางค์/ฟอง หากเกษตรกรเลี้ยงไก่ได้ดี ไม่ป่วย ก็จะสามารถลดต้นทุน และทำให้เพิ่มผลผลิดได้ดีอีกด้วย ส่วนไก่ที่ปลดระวางแล้วจะให้ พ่อค้า แม่ค้า ละแวกใกล้เคียงมารับซื้อไปอีกที
ด้านสิ่งแวดล้อม มูลไก่ในฟาร์มของเกษตรกรไม่มีกลิ่น เนื่องจากเลี้ยงแบบออแกนิค และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้มูลไก่ที่ได้เป็นออแกนิค เกษตรกรแต่ละครัวเรือนจึงนำมูลไก่ไปใส่ในสวนยางพารากับสวนผักที่ปลูกไว้เอง ทำให้การกำจัดมูลไก่ไม่เป็นมลพิษ และส่งผลให้พืชเพิ่มผลผลิตได้ดี
การบริหารจัดการฟาร์มหมู
ทางกลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้ามีการเลี้ยงหมูที่ทันสมัยตามระบบ Evap ที่ได้มาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ และมีการพัฒนาระบบโรงเรือนที่ทันสมัยอยู่ตลอด เพื่อส่งเสริมให้ได้ลูกหมูออกมามีคุณภาพมากที่สุด
กลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้ามีสมาชิกเกษตรกรที่เลี้ยงหมูอยู่ทั้งหมด 22 ราย เป็นเจ้าของฟาร์ม 1 คน ต่อ 1 ฟาร์ม มีจำนวนแม่หมูทั้งหมด 3,000 ตัว ผลิตลูกสุกรได้ 70,000 ตัว/ปี รายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 350 บาท/ตัวลูกหมู หลังจากทางกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงลูกหมูได้ตามขนาดที่บริษัท CP กำหนด ทางบริษัทฯ ก็จะเข้ามารับซื้อลูกหมูไปดูแลต่อ
การวาง ระบบไบโอซิเคียวริตี้ หรือระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม ทางกลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้าได้วางระบบป้องกันตั้งแต่หน้าฟาร์ม โดยมีการตรวจเช็คการเข้าออกของเกษตรให้เข้าออกพื้นที่น้อยที่สุด และการบริโภคเนื้อสัตว์ในพื้นที่ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงพวกเนื้อสัตว์ที่เป็นพาหะ
ด้านของเสียในโรงเรือน เช่น มูลสุกร ใช้ ระบบบำบัดไบโอแก๊ส ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ระบบพัดลมจะเป็นระบบที่กรองกลิ่น ใช้เศษวัสดุกากมะพร้าว และปลูกต้นไม้ไว้ส่วนท้ายของพัดลมเพื่อลดกลิ่นที่เป็นมลพิษ และมีการใช้ระบบจุลินทรีย์น้ำหมัก ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้าทำขึ้นเองจาก น้ำหมักดอกกล้วย สมุนไพร ก๊าซไนโตรเจน และ บอระเพ็ด มาใช้ร่วมกันอีกด้วย
ทางบริษัท CP ได้ให้สัตวบาลและสัตวแพทย์ประจำหมู่บ้านฯ ให้คำแนะนำกับเกษตรกรในเรื่องของสัตว์พาหะ เช่น หนู จัดให้มีการวางยาเบื่อหนู และ กรงดักหนู ทุกสัปดาห์ แมลงวัน ให้ใช้มุ้งสีฟ้ากางเพื่อป้องกันแมลงวันเข้าสู่ฟาร์ม กางทั้งด้านหน้าและด้านหลังของโรงเรือน
เป้าหมายในอนาคต
เป้าหมายในปีนี้ ทางบริษัทได้วางแผนที่จะรับเกษตรกรเข้าโครงการเพิ่ม และเพิ่มจำนวนแม่หมูจากเดิมอยู่ที่ 3,000 ตัว เพิ่มเป็น 7,000 ตัว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรด้วย เพราะค่อนข้างใช้ต้นทุนสูง ซึ่งทางกลุ่มเกษตรกรรมหนองหว้าได้จัดทำ กองทุนหมู่บ้านหนองหว้า เพื่อแบ่งเบาภาระและช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง หรือเกษตรกรเองสามารถยื่นกู้กับทางสถาบันการเงินได้ เพราะเกษตรกรทำคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท CP ซึ่งเป็นหลักประกันที่แน่นอน
สนใจเยี่ยมชมหมู่บ้าน ดูงานการเลี้ยงไก่อินทรีย์เคจฟรี และ เลี้ยงแม่หมูในโรงเรือนอีแวป หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า ที่อยู่ 109 ม.3 ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120 โทร.038-557081