บุญโฮม ฟาร์ม ขอนแก่น ตะลุยธุรกิจโคเนื้อควบคู่ปลานิล

โฆษณา
AP Chemical Thailand

“ บุญโฮม ฟาร์ม ” ชื่อนี้เป็นที่รู้จักดีในวงการสัตว์น้ำมา 32 ปี เป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกปลา และเลี้ยงปลารายใหญ่ในอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น เพาะลูกปลาหลายประเภท ได้แก่ ปลานิล ปลานิลแปลงเพศ ปลาหมอ ปลากด เป็นต้น

1.คุณสุพงษ์ วรวงษ์
1.คุณสุพงษ์ วรวงษ์

การเพาะเลี้ยงปลานิล

แต่ด้วยภาวะราคาลูกปลาไม่แน่นอน ทำให้ คุณสุพงษ์ วรวงษ์ เจ้าของฟาร์ม หันมาเลี้ยงวัวเนื้อบราห์มันลูกผสม ช้เวลาขุน 4 เดือน จำหน่ายออก เพื่อรุกตลาดวัวขุนคุณภาพดีที่ตลาดล่างต้องการ อีกทั้งเลี้ยงปลานิลเนื้อส่งในตลาดควบคู่ เป็นการผลิตสินค้าหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด ประคองกิจการให้เดินหน้าต่อไป

คุณสุพงษ์เล่าว่า มีประสบการณ์การทำงานภาคเกษตรกรรมมานาน หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี รุ่น 48 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มต้นประกอบอาชีพเป็นอาจารย์พิเศษสอนในสถาบันการศึกษาเป็นงานแรก ต่อมาทำงานในตำแหน่งนักวิชาการสัตวบาล ผู้ช่วยนักวิจัยประมง นักวิชาการฟาร์ม มาตามลำดับ

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานด้านต่างๆ มาพอสมควรแล้ว คุณสุพงษ์ได้เกิดแนวคิดทำฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกปลาน้ำจืดเป็นของตัวเอง ซึ่งแรงจูงใจเกิดจากการสังเกตวิถีชีวิตคนในชุมชนอำเภอมัญจาคีรี และวิถีชาวอีสานชอบบริโภคปลาเป็นอาหารหลัก โดยอาศัยความถนัดและประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมา เริ่มต้นผลิตลูกปลานิลแปลงเพศ บนที่ดินมรดกจำนวน 10 ไร่

จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นรายแรกของภาคอีสานด้านการเพาะพันธุ์ลูกปลานิลแปลงเพศ เปิดฟาร์มเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรตำบลกุดเค้า และแหล่งศึกษาดูงานการผลิตปลานิลแปลงเพศแห่งแรกในภาคอีสาน และคุณสุพงษ์ยังเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องเทคนิคการเลี้ยงปลา การจัดการฟาร์ม การพัฒนาฟาร์มมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย ให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน กลุ่มเกษตรกร และ เกษตรกรผู้สนใจโดยทั่วไป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการต่อยอดธุรกิจ และขยายฐานลูกค้าเรื่อยมา

จนกระทั่งสะสมรายได้จากการจำหน่ายลูกปลา มาสร้างทรัพย์สินซื้อที่ดินเรื่อยมา ปัจจุบันมีที่ดินจำนวน 250 ไร่ ฟาร์มบุญโฮมได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ จากหน่วยงานต่างๆ มากมาย เช่น ใบรับรองการปฏิบัติทางประมงที่ดีสำหรับการผลิตสัตว์น้ำ (GAP) หนังสือการจำหน่ายลูกพันธุ์สัตว์น้ำ (FMD) และใบรับรองการผลิตสัตว์น้ำขั้นปลอดภัย  เป็นต้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.บ่อปลานิล
2.บ่อปลานิล

การบริหารจัดการบ่อปลานิล

ต่อมาในปี 2557 เลี้ยงปลาร่วมกับการเลี้ยงวัวเนื้อ พื้นที่บ่อปลา 250 ไร่ หรือ จำนวน 90 บ่อ นำนวัตกรรมน้ำเขียว (แพลงค์ตอน) มาใช้กับการเลี้ยงปลานิลเพื่อส่งตลาดผู้บริโภค โดยสร้างอาหารธรรมชาติ (น้ำเขียว) เพื่อสร้างอาหารธรรมชาติ ลดต้นทุนค่าอาหารให้กับปลา วิธีการจัดการบ่อขนาด 1 ไร่ ปล่อยปลา 3,500 ตัว ใช้ขี้วัวเป็นตัวสร้างน้ำเขียวใส่ลงในบ่อ 150 กก./ไร่/สัปดาห์ เติมน้ำทุก 15 วัน ครั้งละ 20 ซม. เพื่อปรับความสมดุลของน้ำ ระดับน้ำที่ไม่ลึกเกินไปจะทำให้แสงแดดสามารถส่องผ่านก้นบ่อได้ จะช่วยให้พืชน้ำเกิดการสังเคราะห์แสง เลี้ยงประมาณ 6-7 เดือน

ปลานิลในบ่อจะได้ขนาดประมาณ 3 ตัว/กก. ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงปลาต้นทุนต่ำ เหมาะสำหรับการทำเกษตรแบบพอเพียง ส่วนการเลี้ยงวัวเนื้อผสมนั้น เริ่มต้นจากวัวเนื้อสายพันธุ์บราห์มันลูกผสมจำนวน 70 ตัว ทำให้ไม่มีต้นทุนในการจัดการแปลงหญ้า ไม่สิ้นเปลืองค่าเครื่องตัดหญ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงในการตัดหญ้า

จากการเริ่มต้นทำกิจการฟาร์มตามกำลังทรัพย์และศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ ใช้แรงงานในท้องถิ่นเป็นหลัก ดำเนินชีวิตและประกอบกิจกรรมในฟาร์มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ศึกษาหาความรู้ และใช้ความรู้ เหตุผล ประกอบการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนตามความเหมาะสมกับอัตภาพและสภาพแวดล้อม ทำการผลิตหลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด ประยุกต์ใช้หลักการบริหารจัดการที่เกื้อกูลกันในการดำเนินกิจการ ทำให้คุณสุพงษ์ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรดีเด่น ปี 2557

3.การให้อาหารวัว
3.การให้อาหารวัว

การเลี้ยงวัวเนื้อ

ปัจจุบันบุญโฮมฟาร์มยังดำเนินการผลิตพันธุ์ลูกปลาอยู่ พร้อมกับเลี้ยงวัวเนื้อเพื่อส่งตลาดล่างเป็นหลัก เพราะมองว่าวัวเนื้อตลาดพรีเมี่ยมยังแคบอยู่ จึงมาทำวัวเนื้อตลาดล่างเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศก่อน “ผมมีแผนเอาลูกวัวตัวผู้มาขุนขาย หรือเอาลูกผสมมาขุนขาย

ปัจจุบันวัวเนื้อน้ำหนัก 450 ถึง 500 กิโลกรัม/ตัว มีความต้องการพอสมควร และตลาดในประเทศพอไปได้ ไม่ได้มีปัญหาเหมือนตลาดปลากับหมูที่ราคาแกว่งอยู่ตลอดเวลา วัวเนื้อราคาค่อนข้างนิ่ง 90-105 บาท/กก. ถ้าออกพรรษาราคาวัวเนื้อขยับขึ้นเป็นหลักร้อยกว่าบาท” คุณสุพงษ์กล่าว พร้อมกับอธิบายถึงการผลิตเนื้อวัวคุณภาพ

โดยเลือกใช้วัวเนื้อลูกผสมบราห์มัน น้ำหนักตอนเข้าขุน 300 กก./ตัว ออก 450 กก./ตัว คือ ใช้เวลาเลี้ยง 4 เดือน เพื่อเพิ่มน้ำหนัก 150 กก./ตัว โดยใช้สูตรอาหารข้นที่เลือกวัตถุดิบ อาทิ มันสำปะหลัง รำละเอียด กากปาล์ม กากถั่วเหลือง ข้าวโพด และ ปลายข้าว เป็นต้น นำวัตถุดิบมาผสมเพื่อให้ได้โปรตีน 14-16 % ในราคาต้นทุนไม่เกิน 10 บาท/กก. ถือว่ายังอยู่ได้ เลี้ยงแล้วมีกำไรเหลือ ส่วนอาหารหยาบจะใช้ฟางแห้ง 1 ก้อน/วัน สำหรับวัวเนื้อจำนวน 10 ตัว และปลูกหญ้าไว้คันบ่อปลา เพื่อให้วัวได้กินเป็นอาหาร และถ่ายมูลเป็นปุ๋ยให้กับหญ้า ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้มาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อีกทั้งอาชีพการเลี้ยงวัวเนื้อ คุณสุพงษ์เห็นด้วยกับโครงการประกันภัยโคเนื้อ เพื่อช่วยเกษตรกรของ ธกส. ลดความเสี่ยงจากการตายของโคเนื้อที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ค่าเบี้ยประกันภัย 400 บาท/ตัว วงเงินคุ้มครอง 30,000 บาท/ตัว ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือน เป็นโครงการที่ดีของกรมปศุสัตว์ ได้มีนโยบายในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะ เนื้อ และ ไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย และช่วยฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร

4.ลูกปลานิล
4.ลูกปลานิล

แนวโน้มในอนาคต

อนาคตอันใกล้ “บุญโฮมฟาร์ม” มีแผนว่าต้องการเลี้ยงวัวเนื้อเพิ่มขึ้น 100 ตัว/คอก หมุนเวียน เพื่อให้มีวัวออกสู่ตลาดทุกเดือน และวางแผนเลี้ยงปลานิลเพิ่มอีก 10 บ่อ เพื่อให้มีปลานิลออกสู่ตลาด 1 ตัน/เดือน แต่ยังขาดทุนหมุนเวียน เพื่อขยายและเดินหน้าต่ออีกจำนวนหนึ่ง

ท่านใดสนใจร่วมทุนสามารถติดต่อได้ที่ คุณสุพงษ์ วรวงษ์ ที่อยู่ บุญโฮมฟาร์ม 101 ม.12 ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น 40160 เบอร์ 089-944-6932

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 351