ต้นทานตะวันอ่อน อาหารจิ้งหรีด ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงจิ้งหรีด
การทำอาชีพ โดยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้จัก ใช้ทรัพยากร อย่างรู้คุณค่า ทำของเสียให้เป็นศูนย์ เพิ่มมูลค่า ต่อยอดไม่รู้จบ ทำให้คนรวย มานักต่อนักแล้ว อย่างการเลี้ยงจิ้งหรีดก็เช่นกัน เป็นอาชีพธรรมดา ที่หลายๆคนมองข้าม แต่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นกอบเป็นกำ
คุณ ศุภพรชัย องอาจ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ทำงานด้านวิศวกรรมการผลิต มีความสนใจในการเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริม โดยเริ่มทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดในกล่องฟิวเจอร์บอร์ดเพื่อศึกษาพฤติกรรม เช่นการกินและการอยู่อาศัย แต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ในการเลี้ยงจึงหยุดไป
จนกระทั่งปี พ . ศ . 2 5 5 7 ได้พื้นที่ตั้งฟาร์ม ณ ปัจจุบัน จึงศึกษาการเพาะต้นอ่อนทานตะวัน เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มคนรักสุขภาพ จึงเริ่มเพาะต้นอ่อนทานตะวันขึ้นเพื่อจำหน่าย จากนั้นประมาณ 6 เดือนต่อมาต้นอ่อนทานตะวันเริ่มบูม เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมากและจำนวนคู่แข่งมีเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้มีการแข่งขันทางด้านราคาสูง ตนจึงลดปริมาณการผลิตลงหรือผลิตตามออเดอร์ลูกค้าและเริ่มเลี้ยงจิ้งหรีดควบคู่กันไป โดยตนให้พี่ชายและพี่สะใภ้ดูแล ส่วนตนจะช่วยดูแลในช่วงวันหยุด
“ วัตถุดิบที่ใช้ในการเพาะ ต้นอ่อนทานตะวัน ต้องมีการลงทุนอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นดินหรือเมล็ดทานตะวันก็ตาม จะใช้เพียงรอบเดียวเท่านั้นไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เมื่อมีการแข่งขันด้านราคาทำให้ราคาต้นอ่อนทานตะวันถูกลง ดังนั้นจึงคิดหาธุรกิจอื่นเสริมจึงกลับมาเลี้ยงจิ้งหรีดอีกรอบ เพราะเคยทดลองเลี้ยงมาก่อนพบว่าตลาดจิ้งหรีดยังสามารถดำเนินได้เรื่อยๆและลงทุนครั้งเดียวในการทำกล่องเลี้ยง ส่วนไข่จิ้งหรีดเมื่อซื้อเข้ามาก็สามารถขยายเพิ่มได้ และรังไข่ก็สามารถใช้ได้หลายรอบ ” คุณศุภพรชัย แสดงความคิดเห็น
ในกระบวนการผลิตต้นอ่อนทานตะวัน ก่อนจัดจำหน่ายให้ลูกค้าจะต้องมีการคัดแยกต้นที่ไม่สมบรูณ์ออก เช่นต้นสั้น ใบหด หรือไม่สวยก่อนแพ็คใส่ถุง “ สำหรับต้นอ่อนที่คัดออกยังคงมีสารอาหารอยู่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม ธาตุเหล็ก ไฟเบอร์ รวมถึง GABA ที่มีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆอีกมากมาย จึงคิดว่าเราควรใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงนำมาทดลองทำเป็น อาหารจิ้งหรีด เพราะนิสัยโดยธรรมชาติของจิ้งหรีดจะชอบกินพืชผักอยู่แล้ว จึงนำเอาต้นอ่อนทานตะวันให้จิ้งหรีดกินโดยสลับกับอาหารสำเร็จรูป” เป็นที่มาของ ฟาร์มจิ้งหรีด สวนต้นอ่อนทานตะวัน ปทุมธานี
การเริ่มต้นอาจมีปัญหาบ้างเมื่อจิ้งหรีดกินต้นอ่อนทานตะวันจนอิ่ม ทำให้จิ้งหรีดไม่กินอาหารอย่างอื่น ทำให้จิ้งหรีดได้รับโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้มีขนาดไม่เท่ากัน ทางฟาร์มจึงนำอาหารสำเร็จรูปและต้นอ่อนทานตะวันผสมกันในอัตราส่วน 1:1 เมื่อจิ้งหรีดกินต้นอ่อนทานตะวันก็จะได้รับสารอาหารไปพร้อมๆกันทั้งโปรตีนและสารอาหารที่มีในต้นอ่อนทานตะวัน และช่วยให้ระบบการย่อยมีประสิทธิภาพดี แล้วการดูดซึมสารอาหารก็จะดีไปด้วย
“ การนำต้นอ่อนทานตะวันมาเป็น อาหารจิ้งหรีด ประโยชน์ที่ได้รับคือของเสียในฟาร์มและต้นทุนการผลิตลดลง ซึ่งเดิมการเลี้ยงจิ้งหรีดจะให้อาหารสำเร็จรูป 1 – 2 กระสอบ /รุ่น เมื่อมีการนำต้นอ่อนทานตะวันมาใช้สามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ถึง 50 % ” คุณศุภพรชัยกล่าวเสริมถึงข้อดี
บ่อสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดทำด้วยแผ่นยิปซั่มตีโครงด้วยไม้ ขนาด 120×240 ซม.โดยศึกษารูปแบบจากอินเตอร์เน็ต สาเหตุที่ใช้แผ่นยิปซั่ม เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้ ลงทุนน้อย เนื่องจากพื้นที่ทำฟาร์มเป็นพื้นที่เช่าการทำบ่อซีเมนต์จึงไม่เหมาะสม ในแต่ละบ่อสามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ประมาณ 1 8 – 2 0 ก ก . / รอบ ตั้งเป้าหมายไว้ในแต่ละสัปดาห์จะต้องจับจิ้งหรีดจำนวน 4 บ่อ ตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง
เทคนิคในการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้กำไรคือต้องลดต้นทุนให้ได้“หากเราสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ผลกำไรก็จะกลับมาหาเรามาก แต่ถ้าต้นทุนการผลิตสูง ผลกำไรที่ได้รับก็จะน้อย ส่วนการป้องกันโรคก็สำคัญผู้เลี้ยงต้องรักษาความสะอาดและเก็บมูลจิ้งหรีดออกทุก 2 – 3 วัน ควรมีไม้วางรองระหว่างแผงไข่กับพื้นกล่องเพื่อให้เกิดช่องว่างประมาณ 5 – 6 ซม. ง่ายต่อการจัดการ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถเก็บมูลได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถลดปริมาณมูลลงได้ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคและแก๊สแอมโมเนีย ส่วนมูลที่เก็บได้จะนำไปใส่ต้นมะนาวที่ปลูกไว้เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ทุกอย่างสามารถเกื้อกูลกันได้”
เคล็ดลับการเลี้ยงจิ้งหรีดแบบง่ายๆที่คุณก็สามารถทำเองได้!!!
การเลี้ยงจิ้งหรีดในแต่ละวันทำได้ไม่ยุ่งยาก ในช่วง 1 สัปดาห์แรกจะให้อาหารสำเร็จรูปสลับกับหยวกกล้วย เนื่องจากหยวกกล้วยมีความฉ่ำน้ำสูงจิ้งหรีดตัวเล็กสามารถดูดกินน้ำได้หรืออาจใช้สเปย์ฉีดเป็นละอองเล็กๆ จากนั้นเมื่อจิ้งหรีดอายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์จะเริ่มให้กินต้นอ่อนทานตะวันคลุกเคล้ากับอาหารจนถึงจับ
สำหรับการให้น้ำเมื่อจิ้งหรีดอายุได้ 15 วันใช้แกลบผสมดินปลูกต้นไม้พรมน้ำใช้ชุ่ม เมื่อจิ้งหรีดอายุประมาณ 25วัน จะเปลี่ยนการให้น้ำโดยใช้หินรองก้นถาดแทนการใช้แกลบผสมดินปลูกต้นไม้ เนื่องจากจิ้งหรีดใกล้ถึงวัยเจริญพันธุ์หากให้น้ำแบบเดิมจิ้งหรีดอาจไปเข้าไปวางไข่ในแกลบที่มีความชื้นได้
“ การเลี้ยงจิ้งหรีดจะพบปัญหาน้อยมาก เนื่องจากศึกษาวิธีการเลี้ยงและการจัดการทางอินเตอร์เน็ตเป็นประจำ ส่วนที่คิดว่าเป็นปัญหามากที่สุด คือด้านการตลาด เราต้องสร้างกลยุทธ์และจุดเด่นของเราขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับฟาร์มอื่นได้ การรวมกลุ่มคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะสามารถต่อรองราคา อาหารจิ้งหรีด ได้ ”
ส่วนอีกหนึ่งปัญหาในการเลี้ยงจิ้งหรีด คือศัตรูของจิ้งหรีด เช่นจิ้งจก ตุ๊กแก มดและแมงมุม แก้ไขโดยใช้ตาข่ายสีฟ้า ( มุ้งเขียว ) คลุมปากกล่องไว้ ส่วนขากล่องจะใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบเพื่อป้องกันมด
ก่อนจับจิ้งหรีด 1 วัน จะล้างท้องจิ้งหรีดด้วยฟักทองหรือพืชผักชนิดอื่นๆก็ได้ตามสะดวก จากนั้นจะนำรังไข่ ถาดน้ำ และถาด อาหารจิ้งหรีด ออกครึ่งหนึ่งเพื่อง่ายต่อการจับ หลังจากจับจิ้งหรีดออกจะทำการเก็บมูล ทำความสะอาดบ่อและพักบ่อประมาณ 2 – 3 วัน เสร็จแล้วนำแผงไข่มาเรียงไว้ ส่วนการกกไข่จิ้งหรีดจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน โดยใช้กระสอบห่อขันไข่จิ้งหรีดแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งอุณหภูมิที่ได้ก็เหมาะสมกับการฟักตัวของจิ้งหรีด
“ การนำต้นอ่อนทานตะวันให้จิ้งหรีดกินนั้นนอกจากจะได้รับโปรตีนแล้วยังมีสารอาหารอื่นๆอีกหลายชนิดและที่สำคัญทางฟาร์มไม่จำเป็นต้องเสียต้นทุนเพิ่มในการซื้อผัก ผลไม้ต่างๆและทางฟาร์มสามารถใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกลายเป็นจุดขายของทางฟาร์ม” คุณศุภพรชัยกล่าวถึงจุดเด่น
แผนอนาคตภายในปีนี้จะขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าและการแปรรูปของทางฟาร์มเอง อาจเพิ่มเป็น 3 6 บ่อ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในแต่ละสัปดาห์ต้องจับ 8 0 – 1 0 0 ก ก . ปัจจุบันมีการเตรียมทำโครงการแล้ว และคิดว่าจะเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นหลัก ส่วนการเพาะต้นอ่อนทานตะวันเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากผู้บริโภคจิ้งหรีดมีการตอบรับมากกว่า
“ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเป็นหลักการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายบนความสุขกายและจิตใจ และยังทำให้เราสามารถใช้วัตถุดิบและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามต้องคำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตเป็นหลัก และหากคิดจะทำอาชีพอะไรก็ตามความซื่อสัตว์ต้องมาก่อน และควรรวมกลุ่มกันเพื่อสามารถต่อรอง ราคาอาหารจิ้งหรีด และราคาจำหน่ายได้ ” คุณศุภพรชัย ฝากแง่คิด
tags: อาหารจิ้งหรีด การเลี้ยงจิ้งหรีด วิธีเลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงจิ้งหรีด วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงจิ้งหรีดขาย อาหารจิ้งหรีด ต้นทานตะวันอ่อน การเลี้ยงจิ้งหรีด
[wpdevart_like_box profile_id=”1414452475453135″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]