เมื่อพูดถึง “ ยางพารา ” คนจะนึกถึง จ. ตรัง
เพราะเป็นที่ตั้งของ “ ยางพาราต้นแรก ” ของประเทศ ก่อนที่จะขยายพันธุ์ไปปลูกอยู่ทั่วทุกภูมิภาค กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศ
แต่ถ้าพูดว่าถึง “ ถนนยางพารา ” คนจะนึกถึงจังหวัดไหน…???
ตรัง น่าจะเป็นจังหวัดแรกๆ ที่คนนึกถึง
นั่นเป็นเพราะ อบจ.ตรัง คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกๆ ที่ริเริ่มโครงการถนนยางพาราขึ้นเมื่อต้นปี 2558 เพื่อเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาราคายาง
เมื่อตรัง เป็นแหล่งกำเนิดยางต้นแรกของประเทศ สร้างเม็ดเงินให้ประเทศปีละหลายแสนล้าน เมื่อราคายางมีปัญหา ต่อชาวสวนยาง จ.ตรังจึงน่าจะต้องมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนปัญหานี้
นี่คือแนวคิดของ นายกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง ผู้ริเริ่มถนนยางพาราในพื้นที่ และมีนโยบายอย่างต่อเนื่อง
ทันทีที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องทำนโยบายนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ในประเทศ หนึ่งในนั้นมี ถนนยางพารา อยู่ด้วย
ถนนยางพาราของ อบจ.ตรัง ที่ดำเนินการสร้างเมื่อปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างอีกครั้ง
นิตยสารยางเศรษฐกิจ สัมภาษณ์ นายกิจ หลีกภัย นายก อบจ.ตรัง อีกครั้ง ถึงนโยบายการสร้างถนนยางพารา ในปีที่ผ่านมา และในปีงบประมาณ 2559 นี้ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดสร้างมากที่สุดรวม 50 สายทาง หรือประมาณเกือบ 80% ของงบประมาณซ่อมบำรุงถนนทั้งปี
โครงถนนยางพารา อบจ.ตรัง เมื่อปี 2558 มีความคืบหน้าอย่างไร
หลังจาก อบจ.ตรัง สาธิตการทำถนนยางพาราในงานวันยางพารา จ.ตรัง เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2558 เราเชิญ อบจ.หลายจังหวัดภาคใต้มาศึกษาดูงาน โดยได้รับความร่วมมือจาก อ.ณพรัตน์ วิชิตชลชัย นักวิชาการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถนนยางพารา จากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร นำเครื่องผสมยางมะตอยกับยางพารามาช่วยให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งเป็นแบบอย่างให้หลาย อบจ.นำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตัวเอง
หลังจาก สมาพันธ์ อบจ. 14 จังหวัดภาคใต้มีมติสร้างถนนยางพารา อย่างน้อย จังหวัดละ 1 สายทาง เพื่อแก้ปัญหายางราคาตกต่ำ เนื่องจากภาคใต้มียางพาราทุกจังหวัด เรามีความเห็นตรงกันว่าต้องขับเคลื่อนถนนยางพาราทุกจังหวัด โดย อบจ.ตรัง นำร่องเป็นจังหวัดแรก แต่ด้วยงบประมาณต้องจัดสรรเพิ่มขึ้น บางจังหวัดมีความพร้อมน้อย ส่วนจังหวัดที่มีความพร้อมก็เริ่มดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาราคายาง จะทำได้มากน้อยอยู่ที่งบประมาณและความสามารถ
หลังจากนั้น อบจ.ตรัง ในฐานะ ผู้นำร่องเรื่องนี้ เราก็ดำเนินการก่อสร้างถนน ซ่อมบำรุง และปรับปรุงถนน โดยนำยางพาราเป็นส่วนผสม ตามที่เราจัดสรรงบประมาณ ปี 2558 รวม 27 สายทาง ขนาดพื้นผิวกว้าง 6 เมตร ระยะทางรวม 30,083 เมตร หรือ 30 กม. งบประมาณรวม 119,364,000 บาท ใช้ยางพารา (100%) 59,640 กก.
ปัจจุบันจัดสร้างไปแล้วหลายสายทาง โดยสายนำร่อง เป็นการปรับปรุงผิวจราจรแบบ พาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ถนนสาย บ้านหัวถนน-วัดโพธาราม อ.เมือง จ.ตรัง ระยะทาง 2,290 เมตร งบประมาณ 5,990,000 บาท ใช้ยางพารา 10,990 กก.
สายที่สองเป็นงานปรุบปรุงผิวจราจร พาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สาย เคี่ยมงาม-ไสเตย-บางสัก ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง ระยะทาง 945 เมตร งบประมาณ 3,400,000 บาท ใช้ยางพารา 4,535 กก.
ส่วนที่เหลือส่วนหนึ่งจัดสร้างเสร็จไปแล้ว และจะจัดสร้างในปีนี้
อบจ.ตรัง มีการจัดสรรงบประมาณถนนยางพาราอย่างไร ไม่ให้กระทบกับงบประมาณรวม
อบจ.เห็นว่ายางพาราราคาตกต่ำลงมาก อย่างน้อยที่สุดต้องมีการแก้ปัญหาโดยด่วน เพราะราคายางตกลงอย่างต่อเนื่อง อบจ.จะดูว่างบประมาณส่วนไหนพอจะช่วยเหลือเรื่องยางพาราได้บ้าง
เราก็มาดูว่างบประมาณแต่ละปีมีประมาณ 500 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 60% เป็นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน มีงานถนนมากที่สุด หรือประมาณ 300 ล้านเศษๆ เราก็วางนโยบายจะใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม ปี 2558 เราทำถนนยางพาราระยะทาง 30 กม. มีการจัดสรรให้ไปเกือบๆ 200 ล้าน จะเห็นว่า อบจ.ให้ความสำคัญกับถนนยางพารา ใครจะว่าอย่างไรไม่สน แต่เรามีความตั้งใจจะช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างแท้จริง
ยางต้นแรกอยู่ที่นี่ เราไม่ทำได้อย่างไร…???
ส่วนการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจาก อบจ.เรามีงบประมาณจำกัด เราจึงใช้วิธีจัดทำงบประมาณแบบหุ้นส่วนสบทบ กับ อบต. ในการสร้างถนน ถนนแต่ละสายทาง อบจ. จะจ่ายงบประมาณในการสร้าง 60% ส่วน อบต.จ่าย 40% จึงทำให้สามารถสร้างถนนยางพาราได้มากในปีที่แล้ว และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีถัดๆ ไป
ปี 2559 อบจ.ตรัง วางนโยบายถนนยางพาราไว้อย่างไร…???
มาปี 2559 สถานการณ์ราคายางยังตกต่ำต่อเนื่อง จากเมื่อก่อนพูดกันว่ายางราคา 3 โลร้อย แต่มันตกไปถึง 4 โลร้อย แย่กว่าเดิม เราจึงให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ เพราะยางพาราเป็นอาชีพหลักของคนตรัง ผมในฐานะ นายก อบจ. จึงวางนโยบายว่าปีงบประมาณ 2559 ต้องสร้างถนนยางพาราต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
ปีนี้เราวางโครงการไว้ 51 สายทาง ทั้งงานก่อสร้าง และซ่อมปรับปรุง รวม 41,860 เมตร หรือเกือบๆ 50 กม. ใช้งบประมาณสมบทรวม 148,385,000 บาท ใช้ยางพารารวม 88,936 กก. หลายสายทางดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เราทำถนนยางพาราอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ทำเพราะเป็นนโยบายรัฐ เราทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เราทำเพราะช่วยเหลือชาวสวนยาง ซึ่งกำลังประสบปัญหาราคายางอย่างหนัก พอเราทำชาวบ้านในพื้นที่ก็ดีใจที่น้ำยางที่มาจากพวกเข้าได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างถนน วิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะยางจะหายไปจากตลาด ราคาจะกลับเข้าสู่จุดที่พี่น้องชาวสวนยางอยู่ได้ เชื่อว่าหากมีการใช้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคายางค่อยๆ ขยับตัวสูงขึ้น แก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืนเกษตรกรเองก็มีความภาคภูมิใจด้วย
ถนน 1 กม. ช่วยระบายน้ำยางสดออกจากตลาด 4,800 กก.
การสร้างถนนผสมยางพารา มีข้อกำหนดให้ผสมยางพาราลงไป 5% ชาวบ้านก็สงสัยว่าทำไมมันน้อยจัง เพราะจากตัวเลขที่เราทำงบประมาณ ถนนแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ปูผิวการจราจรกว้าง 6 เมตร หนา 5 ซม.ใช้ยางพาราประมาณ 1,500 กก.เท่านั้น
แต่ความจริงก็คือ ยางที่ใช้ในการผสมกับยางมะตอย ไม่ได้นำน้ำยางสดจากที่เกษตรกรผลิตไปใช้ได้เลย ต้องผ่านกระบวนการผลิตเป็น “น้ำยางข้น” มีเนื้อยาง 60% จึงจะนำไปผสมยางมะตอยได้ แต่น้ำยางที่เกษตรกรทำมีเปอร์เซ็นต์แค่ 20% -30%
ดังนั้นเวลาทำถนนยางพารา ระยะทาง 1 กม.จะต้องใช้น้ำยางข้น 1,500 กก. เทียบแล้วเท่ากับน้ำยางสด 4,800 กก.
เมื่อลองคำนวณจากโครงการทำถนนของ อบจ.ตรัง ในปีงบประมาณ 2558 และ 2559 เราทำถนนรวมกันประมาณ 78กม. จะใช้น้ำยางพาราสด ปริมาณ 374,400 กก.
คิดดูว่าถ้ามีการสร้างถนนยางพาราทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือถนนทุกสายผสมยางพาราเข้าไป 5% จะช่วยให้เกิดการใช้ยางพารามากแค่ไหน จ.ตรัง เราจึงเริ่มต้นถนนยางพารา และทำอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และในปีต่อๆ ไป
อบจ.ตรัง ยังเป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างถนนลาดยางที่มีส่วนผสมยางพาราให้แก่องค์กรท้องถิ่นต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับ ผู้ใช้เส้นทางและประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งให้มีมาตรฐานเดียวกันเพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ โดยการเชิญผู้ผลิต น้ำยางข้น และผู้ผลิต ยางพาราผสมยางมะตอยรายใหม่ๆ มาให้ความรู้ หลังจากที่มีข่าวการทำถนนยางพารา ผู้ผลิตรายใหญ่ก็ขึ้นราคาทันที
เราก็พยายามบอกผู้ผลิตว่า โครงการสร้างถนนยางพาราของ อบจ.ตรัง ขอให้ซื้อยาง ใน จ.ตรัง ได้มั้ย เพราะเราอยากช่วยเหลือคนในพื้นที่ ซึ่งเขาก็รับปาก อีกทั้งยางในพื้นที่ภาคใต้ถือว่ามีคุณสมบัติดี มีความยืดหยุ่นสูง
คุณสมบัติของถนนยางพารา เป็นอย่างไร…???
อบจ.ตรัง จัดทำถนนยางพารา 2 ชนิด คือ 1. พาราเคพซีล (พาราสเลอรี ซีล) ถนนชนิดนี้จะใช้ยางพาราน้อย เพียงแค่ 300 กก./กม. ปูผิวจราจรหนาประมาณ 1 ซม. ใช้ฉาบผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตเดิมที่ผ่านการใช้งานนานจนเกิดการลื่นไถล หรือเกิดร่องล้อแตกเพียงเล็กน้อย แต่ชั้นผิวทางเดิมและโครงสร้างชั้นทางยังคงแข็งแรง
คุณลักษณะพิเศษของถนนชนิดนี้ สามารถปิดการจราจรได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง
นอกจากนั้นยังมีความทนทานใช้งานได้ยาวนาน เพิ่มความฝืดให้กับผิวทางเดิมที่ใช้งานมานานจนเกิดการลื่นไถล ให้การขับขี่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้ผิวทาง
2 พาราแอสฟัลต์คอนกรีต ใช้สำหรับก่อสร้างและปรับปรุงผิวทาง ใช้ปูถนนหนา 5 ซม. จึงใช้ปริมาณยางพาราค่อนข้างเยอะ หรือประมาณ 1,500 กก./กม คุณสมบัติของการสร้างถนนรูปแบบนี้คือ สามารถรับน้ำหนักจราจรได้สูง มีความต้านทานการเกิดร่องล้อดีกว่า มีความหยาบของผิวทาง (Texture Dept) มากกว่า และมีความต้านทานการแตกร้าวจากความล้า (Fatigue Crack) สูงกว่า โดยรวมจึงทำให้ผิวทางมีอายุการใช้งานยาวนานกว่ายางมะตอยอย่างเดียว
คุณสมบัติโดยรวมของถนนยางพารา คือ มีความคงทนยาวนานกว่าถนนยางมะตอย อย่างน้อย 2 เท่า และยังลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ค่อนข้างมาก แม้ถนนผสมยางพาราจะมีต้นทุนสูงกว่าถนนยางมะตอย 15-20% แต่เมื่อเปรียบเทียบด้านงานซ่อมบำรุง ความปลอดภัย และยังเป็นการช่วยเหลือชาวสวนยาง จึงได้มากกว่าคำว่าคุ้ม
โอกาสธุรกิจแปรรูปยาง จ.ตรัง สดใส เอกชนและเกษตรกรลงทุนผลิตถุงมือยาง และหมอนยางพารา
เมื่อประมาณ 117 ปีที่แล้ว ท่านพระยารัษฎานุประดิษฏ์ ได้นำยางพาราต้นแรกมาปลูกไว้ที่ จ.ตรัง จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้พี่น้องชาวตรังมีฐานะดีขึ้น เมื่อยางพาราตกต่ำ ชาวตรังเดือนร้อน อบจ.ตรัง ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องหาทางแก้ไขและบรรเทา ถนนยางพาราก็เป็นหนึ่งในนโยบาย
แต่ถือเป็นความโชคดีที่ จ.ตรัง กำลังจะมีโรงงานผลิตถุงมือยางขนาดใหญ่ ลงทุน 1,800 ล้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงาน และกำลังจะเปิดเร็วๆ นี้ กำลังการผลิต 4,000 ล้านชิ้น/ปี จะมีการใช้ยางพาราในพื้นที่ ประมาณ 30,000 ตัน/ปี มีการจ้างงานกว่า 1,000 คน เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำยางของชาวตรังสู่ผลิตภัณฑ์มากขึ้น ปริมาณยางในตลาดโลกจะลดลง
ส่วนผู้ประกอบการใน จ.ตรัง ที่สนใจจะศึกษาหรือลงทุนการแปรรูปยางพารา เราก็มี วิทยาลัยเทคนิคตรัง เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้เรื่องการแปรรูปยางครบวงจร โดยมีภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์มีเครื่องจักรกลสำหรับผลิตยางครบวงจร จัดซื้อมาตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เครื่องผลิตน้ำยาง เครื่องผสมยาง และเครื่องขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จากน้ำยาง และยางแห้ง มีการเรียนการสอนเรื่องการแปรรูปยางระดับ ปวช.และ ปวส. ผลิตนักศึกษาป้อนโรงงานยางแล้วหลายรุ่น
นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ และให้คำปรึกษาด้านการผลิตยางทุกประเภท เช่น หมอน ที่นอน ถุงมือยาง พื้นสนามกีฬา พื้นยางปูบ่อน้ำ และภาพพิมพ์นูนสูงจากยางพารา เป็นต้น
กลุ่มเกษตรกรหลายแห่งใน จ.ตรัง เข้ามาเรียนรู้และกำลังจะเปิดโรงงานหมอนยางพาราใน จ.ตรังเร็วๆ นี้ เช่น สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก เป็นต้น
นโยบายก่อสร้างถนนยางพาราที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ของ อบจ.ตรัง ทำให้เห็นภาพความตั้งใจในการมุ่งแก้ปัญหาราคายาง ดังประโยคที่ นายกิจ หลีกภัย บอกว่า “ยางต้นแรกอยู่ที่นี่ เราไม่ทำได้อย่างไร”
เมืองของต้นยางต้นแรก เป็นเหมือนพันธสัญญาทางใจให้ อบจ.ตรัง ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องยาง ซึ่งแม้การสร้างถนนยางพารา 78 กม. กับปริมาณยางพารา 148,576 กก. คงไม่มีผลมากพอที่จะทำให้ราคายางพุ่งกระฉูด
หากแต่ภาพสะท้อนที่เห็นก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในภาคใต้ เริ่มขับเคลื่อนนโยบายถนนยางพาราอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว อย่างเช่น อบจ.สงขลา และ อบจ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ เช่น อบจ.ร้อยเอ็ด อบจ.อุดรธานี อบจ.หนองคาย และ อบจ.เชียงราย เป็นต้น
เชื่อเหลือเกินว่า หากถนนทุกเส้นทุกสายของประเทศที่มีอยู่ 120,000 กม. มีส่วนผสมของยางพารา จะช่วยแก้ปัญหาราคายางปัจจุบันได้อย่างยั่งยืน
ขอขอบคุณ
นายกิจ หลีกภัย
องค์การบริหารส่วยจังหวัดตรัง
ถนนพัทลุง อ.เมือง จ.ตรัง 92000 โทรศัพท์ 0-7521-8262
เรื่อง : พิมพ์ใจ พิสุทธิ์จริยานันท์