มะคาเดเมีย และกาแฟ ดอยช้าง ต้นแบบเกษตรยั่งยืน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเขียวทั้งปี โตได้ดีบนที่สูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล เช่น ที่ “ดอยช้าง”เป็นต้น ปรากฏว่าวันนี้ทั้งดอย 10,000 ไร่ กลายเป็น “ดอยมะคาเดเมีย” เขียวขจีทั้งปี จากที่อดีตเป็นแหล่งปลูกฝิ่นอันดับต้นๆ ของประเทศ

มะคาเดเมีย เป็นไม้สุขภาพ เพราะเม็ดเนื้อในสีขาวครีม ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดอัตราการเป็นโรคหัวใจ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วยน้ำมันไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิก กรดปาล์มมิโตเลอิก กรดปาล์มมิติก กรดสเตียริก กรดไมริสติก กรดโดโคเฮกซะอีโนอิก กรดไลโนเลอิก เป็นต้น สร้างอาชีพแก่ชุมชน

1.คุณสุพจน์ วินิจวงษ์พนา ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ
1.คุณสุพจน์ วินิจวงษ์พนา ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ

การปลูกมะคาเดเมีย

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะคาเดเมียดอยช้าง ( Leesoaw Macadamia ) ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โดยมี คุณสุพจน์ วินิจวงษ์พนา เป็นประธานฯ ได้ให้ข้อมูลว่า ในอดีตดอยช้างเคยเป็นแหล่งปลูกฝิ่นใหญ่ที่สุดในประเทศ จนกระทั่ง ร.9 ได้ทรงนำมะคาเดเมียมาเป็นพืชพัฒนาเศรษฐกิจในโครงการพระราชดำริ เป็นพืชสร้างอาชีพให้กับชาวเขา

จนกระทั่งปัจจุบันชาวเขาบนดอยช้างกว่า 600 ครอบครัว ได้เปลี่ยนมาปลูกมะคาเดเมีย เป็นไม้ร่มเงาให้กับพืชหลัก อย่าง กาแฟ อาราบิก้า คาติมอร์  ซึ่งมีจุดเด่น คือ ต้านทานต่อโรคราสนิมได้ดี ลักษณะต้นและพุ่มทรงเตี้ย ให้ผลผลิตสูง เมื่ออายุได้ 3 ปี จะเริ่มให้ผลผลิตและปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของต้นกาแฟ เฉลี่ย 3,000-5,000 กก.ไร่/ปี โดยใช้แรงงานในพื้นที่เก็บผลผลิตเป็นหลัก ราคารับซื้อกาแฟผลสดอยู่ที่ 38-60 บาท/กก.

2.ต้นมะคาเดเมีย
2.ต้นมะคาเดเมีย

สภาพพื้นที่ปลูกมะคาเดเมีย

ส่วนมะคาเดเมียที่ตั้งใจปลูกไว้เพื่อร่มเงาให้กับต้นกาแฟ จำนวน 20 ต้น/ไร่ หรือ กว่า 200,000 ต้นนั้น ถือเป็นผลพลอยได้ที่คุ้มค่า และกลายมาเป็นรายได้หลักคู่กับกาแฟกว่า 10,000 ไร่  สามารถมีรายได้จากการขายมะคาเดเมียและกาแฟเป็นกอบเป็นกำ และยังได้มอบผืนป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ความได้เปรียบด้านสภาพพื้นที่และภูมิอากาศเหมาะสมกับการปลูกมะคาเดเมีย ทำให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีชาวเขาดอยช้าง และดอยอื่นๆ หันมาปลูกมะคาเดเมียสร้างรายได้มากขึ้น ส่วนคุณสุพจน์เองก็ปลูกมะคาเดเมียจำนวน 20 ไร่ แบ่งเป็นปลูกใหม่ 10 ไร่ และให้ผลผลิตแล้ว 10 ไร่ ส่วนสมาชิกบางรายนอกจากปลูกมะคาเดเมียเองแล้ว ยังทำแปลงเพาะขยายต้นพันธุ์มะคาเดเมียเพื่อการจำหน่ายแก่ลูกค้าที่สนใจ

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.ต้นพันธุ์มะคาเดเมีย
3.ต้นพันธุ์มะคาเดเมีย

สายพันธุ์มะคาเดเมีย

สายพันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ 246, พันธุ์เชียงใหม่ 400 (HAES 660) เหมาะสมสำหรับพื้นที่ปลูกเหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตรขึ้นไป ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) 11-17 กก. พันธุ์เชียงใหม่ 700 (HAES 741)ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) ประมาณ 13-21 กก.พันธุ์เชียงใหม่ 1000 (HAES 508) ผลผลิตต่อต้น (อายุ 11 ปี) ประมาณ 21-33 กก. เป็นพันธุ์ทนแล้งได้ดี แต่ไม่ทนร้อน หลังปลูก 4-5 ปี ต้นมะคาเดเมียจะเริ่มให้ผลผลิต ในปีแรกจะให้ผลผลิตน้อยเพียง 1-3 กิโลกรัม/ต้น และเพิ่มขึ้นทุกปี ต้นที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตที่ 20-30 กิโลกรัม/ต้น อายุ 20 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิตที่ 40-60 กิโลกรัม/ต้น

การปลูกจะใช้กิ่งพันธุ์เสียบยอด โดยเพาะเมล็ดเพื่อใช้เป็นต้นตอ และนำกิ่งที่มีคุณภาพจากต้นแม่มาเสียบยอด เพื่อให้ได้มะคาเดเมียคุณภาพตรงตามต้นฉบับสายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ทั้ง 4-5 สายพันธุ์ที่กล่าวมา เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง และเปลือกกะลาบาง เนื้อในคุณภาพดี

“ทุกวันนี้ดอยช้างเต็มไปด้วยต้นมะคาเดเมีย เขียวขจีตลอดทั้งปี เพราะมะคาเดเมียไม่ผลัดใบ” คุณสุพจน์กล่าว

4.การเก็บผลมะคาเดเมีย
4.การเก็บผลมะคาเดเมีย
การกะเทาะเปลือกกะลา
การกะเทาะเปลือกกะลา

การกะเทาะเปลือกกะลามะคาเดเมีย

ปัจจุบันต้นมะคาเดเมียที่ปลูกมีตั้งแต่ปลูกใหม่ไปจนถึงต้นอายุ 30 ปี ซึ่งให้ผลผลิต (สด) 30-100 กก./ต้น เมื่อนำมากะเทาะเปลือกเขียวและเปลือกกะลาออกแล้ว จะได้เนื้อเฉลี่ย 30 กก./ต้น ด้วยการปลูกมะคาเดเมียกว่า 10,000 ไร่ จึงมีปริมาณผลผลิตจำนวนมาก ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ จึงเปิดลานรับซื้อเพื่อรวบรวมผลมะคาเดเมียจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ แล้วนำผลมะคาเดเมียมากะเทาะเปลือกเขียวออก จะได้มะคาเดเมียเปลือกกะลาแล้วนำไปผ่านเครื่องแยกขนาด

โดยกลุ่มวิสาหกิจฯได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยวิศวกรรมเชียงใหม่ มอบเครื่องคัดแยกเมล็ด 3 ขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ กำลังการผลิตอยู่ที่ 2,000 กก./ชั่วโมง เมื่อคัดแยกขนาดเรียบร้อยแล้ว นำมะคาเดเมียเปลือกกะลาไปตากในที่ร่ม 1 สัปดาห์ เพื่อลดความชื้น แล้วนำไปอบแห้งไล่ความชื้นอีกครั้ง หลังจากอบแห้งเรียบร้อยแล้ว จะนำมะคาเดเมียมากะเทาะเปลือกกะลาออกอีกครั้ง

“กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และข้างเคียงกว่า 500-600 ครอบครัว นำผลมะคาเดเมียมาขายผลสดให้เรา จึงต้องจ้างแรงงานในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 20-30 คน/วัน เพื่อมารับเหมากะเทาะเปลือกกะลา ราคา 30 บาท/กก. มีรายได้เลี้ยงครอบครัว การกะเทาะเปลือกกะลาต้องกะเทาะทีละเมล็ดเพื่อไม่ให้เนื้อในแตก เป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือ”  คุณสุพจน์กล่าว

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.ผลมะคาเดเมีย
5.ผลมะคาเดเมีย
ผลิตภัณฑ์แปรรูป
ผลิตภัณฑ์แปรรูป

การแปรรูปมะคาเดเมีย

การกะเทาะเปลือกกะลาต้องใช้ฝีมือและความปราณีต เพื่อไม่ให้เนื้อแตก แล้วนำเนื้อในไปอบอีก 48 ชั่วโมง แล้วนำมาแพ็คสุญญากาศ หรือ บรรจุในกระป๋องเพื่อความสวยงาม เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น มะคาเดเมียอบแห้ง รสธรรมชาติและอบเกลือ และสกัดน้ำมันมะคาเดเมีย เพื่อใช้สำหรับผิวพรรณ จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน

ส่วนเปลือกเขียวของมะคาเดเมีย ทางกลุ่มฯ จะนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก และนำกลับไปใส่ในสวนมะคาเดเมียอีกครั้ง สำหรับเปลือกกะลาจะนำไปเผาด้วยความร้อนสูง แล้วนำมาผลิตถ่านอัดแท่งจำหน่าย สร้างรายได้อีกทาง

คุณสุพจน์ยอมรับว่า เครื่องอบใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมกับแก๊สแอลพีจี ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง อีกทั้งข้อจำกัดด้านเงินหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิต ทำให้รับซื้อมะคาเดเมียได้จำกัด จึงมีลานรับซื้ออิสระเข้ามาเปิดรับซื้อผลผลิตมะคาเดเมียในพื้นที่มากขึ้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะคาเดเมียดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย  จ.เชียงราย โทร.084-739-2418

อ้างอิง : นิตยสารพลังเกษตร ฉบับที่ 33