“ตาลโตนด” เป็นไม้ยืนต้นอยู่ในวงศ์ ปาล์ม และ มะพร้าว อายุยืนถึง 100 ปี เมื่อสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับตาลโตนด มีสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกา ต่อมาได้มีการกระจายพันธุ์มาทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย และแพร่มาสู่แถบประเทศเอเชียอาคเนย์ มีข้อความเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพุธกาล ส่วนประวัติในประเทศไทยพบในสมัยทราวดี นำต้นตาลมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในตราประทับ และพบในศิลาจาลึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงพบว่ามีการปลูกต้นตาลกลางเมืองสุโขทัย
“ต้นตาล” ถือเป็นไม้อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน สันนิษฐานว่ามีการปลูกตาลครั้งแรกแถบจังหวัด ภาคใต้ และ ภาคกลาง จนถึงปัจจุบันต้นตาลเริ่มน้อยลง จึงมีการอนุรักษ์ต้นตาลโตนดในชุมชน เพื่อสืบทอดอาชีพสู่ลูกหลานมากขึ้น เมื่อต้นตาลเก่าแก่เริ่มทยอยตายไป จึงมีการปลูกตาลใหม่เพื่อทดแทน กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนนั้นๆ หรือแม้กระทั่งปลูกตาลโตนดเชิงธุรกิจมากขึ้น จากปลูกไว้หัวไร่ปลายนา หรือริมคันบ่อเลี้ยงปลา และปลูกเต็มพื้นที่ เปลี่ยนจากนาข้าวเป็นนาตาลโตนดก็มี เป็นการลงทุนระยะยาวแต่ยั่งยืน
สายพันธุ์ตาลโตนด
อ.เชาว์วัช หนูทอง นักพัฒนาตาลโตนด และศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี ได้เล็งเห็นความสำคัญของต้นตาลโตนด มีคุณประโยชน์ตั้งแต่รากถึงยอด ครบทุกมิติ และสังเกตุเห็นว่าในพื้นที่ตำบลท่าวุ้ง มีต้นตาลโตนดอายุ 80-100 ปี มากที่สุดในจังหวัด จึงต้องการสืบสานและอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และเกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก ต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
อ.เชาว์วัช เล่าว่า ตาลโตนดมี 2 พันธุ์ ที่นิยมปลูก คือ โตนดหม้อ ลำต้นตรงใหญ่ แข็งแรง ผลใหญ่ สีค่อนข้างดำ เปลือกหนา ใน 1 ผล มี 2-4 เมล็ด ให้ผลประมาณ 10-20 ผลต่อทะลาย โตนดไข่ ลำต้นตรงใหญ่ แข็งแรง ผลเล็กเหลือง เปลือกบาง ใน 1 ผล มี 2-4 เมล็ด ให้ผลประมาณ 15-30 ผลต่อทะลาย การทำเฟอร์นิเจอร์จากต้น ใบ ก้าน เป็นอาหารคาวหวานหลายชนิด ลอนตาล อ่อน แก่ น้ำตาลสด น้ำตาลโตนด น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก จาวตาล หัวตาล ผลสุกนำไปทำขนม ฯลฯ
จุดเริ่มต้นการปลูกต้นตาล
จุดเริ่มต้นปลูกต้นตาลเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.2564 ซึ่งมีพื้นที่ว่างเปล่าจำนวน 12 ไร่ ไม่ได้ทำอะไร เนื่องจากขุดหน้าดินไปถมเพื่อสร้างโรงงานปุ๋ยอินทรีย์เมื่อหลายปีก่อน คิดว่าต้องการนำพื้นที่มาพัฒนา จึงตัดสินใจปลูกต้นตาล ซึ่งเป็นพืชที่หลายคนอาจมองว่าบ้า เพราะกว่าจะให้ผลผลิตใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 9-10 ปี แต่เพราะชอบในเสน่ห์ของต้นตาล จึงเสาะหาแหล่งเพาะต้นพันธุ์ตาลโตนดเพื่อนำมาปลูก
จนพบว่า อาจารย์สุชิน ทองคำ ได้เพาะต้นตาลบอนไซในกระถางอายุ 5 ปี อยู่จำนวนมาก จึงติดต่อขอซื้อมาเกือบ 1,000 ต้น ในราคา 300 กว่าบาท/ต้น แล้วนำมาปลูกรอบคันบ่อเก็บน้ำ และทางเข้าออกทั้งสองฝั่งเพื่อให้เป็นอุโมงค์ต้นตาล ไว้เป็นสถานที่ชมวิว โดยคิดว่าถ้าจะปลูกต้นตาลโตนดเป็นไม้เศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตได้ดี เหมือนกับไม้เศรษฐกิจตัวอื่นๆ สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับการจัดการและดูแล
สภาพพื้นที่ปลูกต้นตาล
โดยปลูกต้นตาลในระยะห่าง 6 เมตร รองก้นหลุมปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์ผง และติดระบบน้ำหยด กำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ผง 5-10 กก./ต้น/เดือน พร้อมกับตัดแต่งทางใบออกสม่ำเสมอ พบว่าการปลูกตาลแบบพัฒนา กับการปลูกตาลแบบธรรมชาติ การเจริญเติบโตแตกต่างกัน ซึ่งต้นตาลที่นำออกจากกระถางมาปลูกลงในดิน พบว่า 6 เดือนแรก การเจริญเติบโตช้าเพราะรากเดินเต็มที่ หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว การเจริญเติบโตเร็วกว่าปลูกแบบธรรมชาติ
โดยเฉพาะการปลูกต้นตาลในที่แจ้ง ไม่มีร่มเงาของต้นไม้อื่น และการปลูกต้นตาลไม่กระทบกับการปลูกข้าว เพราะต้นตาลเจริญเติบโตสูงชะลูดถึง 20 เมตร จึงไม่กระทบกับการปลูกข้าว เมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่น เมื่อปลูกหรือเกิดเองตามหัวไร่ปลายนา หรือบนคันนา ทำให้เป็นที่อาศัยของนก หนู แมลง กระทบกับพื้นที่ปลูกข้าว ฉะนั้นต้นตาลจึงเหมาะที่จะปลูกไว้บนคันนาได้
การเพาะกล้าและอนุบาลตาลโตนด
ด้วยเหตุนี้อาจาย์เชาว์วัชจึงขยับมาทำแปลงเพาะอนุบาลต้นตาลอายุตั้งแต่ 1-5 ปี จำหน่าย เพื่อลดระยะเวลาในการปลูกให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้น การเพาะเมล็ดตาลสามารถนำไปเป็นอาหาร ที่เรียกว่า “จาวตาล” ได้ หรือเพาะเพื่อผลิตต้นพันธุ์ได้ สำหรับเคล็ดลับในการเพาะตาลให้งอกทุกเมล็ด คือ เก็บลูกตาลสุกที่ผ่านการยีเนื้อออกแล้ว มาแช่น้ำไว้ในบ่อซีเมนต์ประมาณ 20 วัน จากนั้นนำมาบ่มในบ่อซีเมนต์ต่ออีกประมาณ 1-3 เดือน คลุมด้วยฟาง ด้านบนรดน้ำ
จากนั้นเมล็ดตาลจะแตกรากออกมา 1-2 ราก แล้วนำมาลงปลูกในถุงเพาะ รองก้นถุงด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันรากทะลุ หรือนำเมล็ดตาลที่ผ่านการแช่น้ำแล้วมาเรียงบนแปลงดินที่อยู่ในร่ม และใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุม รดน้ำให้ทั่ว กระทั่งครบ 30-60 วัน เมล็ดตาลจะค่อยๆ แตกรากออกมาพร้อมนำไปผ่าเป็นจาวตาลจำหน่าย หรือนำเมล็ดตาลที่งอกแล้วไปปลูกลงในถุงเพาะโดยวางรากลงด้านล่าง
ส่วนการสังเกตว่าเป็นตาลตัวผู้หรือตัวเมียนั้น ให้สังเกตที่อกของเมล็ดตาล ถ้ามีติ่งแหลมจะเป็นตัวผู้ และถ้าเมล็ดตาลเรียบๆไม่มีติ่งแหลมโผล่ออกมาเป็นตัวเมีย ซึ่งเป็นคำโบราณได้กล่าวไว้ แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจน ฉะนั้นจึงเน้นการเพาะตาลให้ได้ต้นก่อน ส่วนจะเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ก็ได้ประโยชน์ทั้งคู่
“ตาลโตนดปลูกใหม่ใช้เวลา 7-8 ปี ให้ผลผลิต โดยธรรมชาติของต้นตาล ช่วงอายุ 1-3 ปี จะเจริญเติบโตช้า แต่พอเรามาเพาะและอนุบาลต้นกล้าให้ได้อายุ 3-5 ปี เมื่อนำไปปลูกแล้ว จะโตเร็วและให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น” อาจารย์เชาว์วัช กล่าว
การบำรุงดูแลต้นตาล
หลังจากนำเมล็ดที่งอกลงถุงแล้ว นำมาจัดเรียงที่แปลงอนุบาล รดน้ำผ่านระบบสายน้ำหยด ทุกวัน และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ทุกๆ 15-20 วัน เพื่อบำรุงดินในถุงเพาะทำให้เจริญเติบโตได้ดี จนกว่าอายุ ได้ 1-5 ปี ถึงจะออกจำหน่าย ในราคาตามอายุของต้นกล้า เช่น ตาลอายุ 1 ปี ราคา 100 บาท อายุ 2 ปี ราคา 200 บาท อายุ 3 ปี ราคา 300 บาท อายุ 4 ปี ราคา 400 บาท และอายุ 5 ปี ราคา 500 บาท ซึ่งมีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ส่วนการปลูกตาลก็ไม่ยุ่งยาก นำต้นพันธุ์ไปปลูกเหมือนกับต้นไม้ชนิดอื่นๆ โดยรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ผง ปริมาณ 1-2 กก./หลุม แล้วปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ถ้าต้องการให้ต้นตาลเจริญเติบโตดีให้ใส่ปุ๋ยทุกเดือน วางระบบน้ำ กำจัดวัชพืช และตัดแต่งทางใบ เมื่อผ่านระยะอายุ 3 ปี ขึ้นไปต้นตาลจะเจริญเติบโตเร็วมาก ถือว่า ตาลโตนดเป็นที่ให้ประโยชน์และควรค่าแก่การอนุรักษ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อ.เชาว์วัช หนูทอง 134 ศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไร้สารพิษละโว้ธานี ต.ท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี 15000 โทร.089-5445455