3 เซียน “ปลาสลิด” บ้านแพ้ว ใช้อาหาร SPM 041G ต้นทุนต่ำ กำไรงาม ตอบโจทย์เกษตรกร

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ประเทศไทยมี ปลาเนื้อขาว หลายสายพันธุ์ เช่น ปลาสลิด เป็นต้น ซึ่งปลาเนื้อขาว คือ ปลาสุขภาพ ที่ผู้บริโภคยอมรับมากขึ้น

โดยเฉพาะ ปลาสลิด หรือ GOURAMI FISH ปลาน้ำจืดท้องถิ่นของไทย ที่ติดตลาดคนไทยมาตลอด มีการพัฒนาสายพันธุ์แบบชาวบ้านๆ เลี้ยงใน บ่อดิน เป็นหลัก ระยะหลังมีการทดลองเลี้ยงใน บ่อซีเมนต์ โดยใช้ อาหารเม็ด ปรากฏว่าได้ผลผลิตที่ดี สามารถควบคุม “ศัตรู” ปลาสลิดได้ดีกว่าเลี้ยงในบ่อดิน

นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับนี้ ได้นำเสนอ “บทบาท” ของผู้เลี้ยงปลาสลิดบ่อดิน เจาะไปที่ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากดินแดนแห่งนี้เลี้ยงกันหลายปี ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติร่วมกัน และเป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงกุ้งขาว และปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งใช้สารเคมีต่างๆ ในการกำจัดวัชพืช โรคพืช และศัตรูพืช พูดง่ายๆ ว่าแหล่งน้ำธรรมชาติปนเปื้อน แต่ถูกนำมาใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้ ซึ่งคนเลี้ยงปลาและกุ้งต้องมีฝีมือจริงๆ

1.คุณสุนทร สมบูรณ์ เจ้าของสมบูรณ์วังทองฟาร์ม
1.คุณสุนทร สมบูรณ์ เจ้าของสมบูรณ์วังทองฟาร์ม

สภาพพื้นที่เลี้ยงปลาสลิด

คุณสุนทร สมบูรณ์ เจ้าของสมบูรณ์วังทองฟาร์ม ใช้เนื้อที่ 15 ไร่ จากที่นามาเป็นฟาร์มปลายี่สก ปลานิล สุดท้ายเป็นปลาสลิด ซึ่งเป็นปลาที่ทนต่อสภาพแวดล้อม 10 ปี ในวงการ คุณสุนทรยอมรับว่าการเลี้ยงปลาสลิดต้องลองผิดลองถูกมาตลอด ต้องแก้ปัญหาทุกปี เริ่มตั้งแต่ ลูกพันธุ์ ช่วงแรกๆ ทดลองผลิตเอง ปล่อยเลี้ยง 3 แสนตัว ปรากฏว่าปีแรกๆ ล้มเหลว แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้วประสบความสำเร็จ อัตรารอด 80-90%

6 ปีเต็ม ที่ผิดพลาด แต่ไม่ท้อ หาสาเหตุ จนพบว่าเรื่องน้ำก็สำคัญ ต้องทำให้น้ำสะอาดตลอดการเลี้ยง โดยหว่าน จุลินทรีย์ และให้ ออกซิเจน โดยไม่ต้องตีน้ำ ดังนั้นการวัดค่าน้ำต้องเช็คตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้พนักงานขายอาหารปลา SPM คอยประสานงาน และให้ความสะดวก หากพบว่าน้ำในบ่อเริ่มเสียก็ปล่อยน้ำออก และนำน้ำใหม่เข้ามา พร้อมหว่านจุลินทรีย์บำบัดของเสีย “ลูกปลา 5 แสนตัว เลี้ยงได้เต็มพิกัด สมมติเราฟักเองก็นับจากวันที่ฟักชนปีพอดี ได้ปลา 400 หาบขึ้นไปแน่นอน” คุณสุนทร ยืนยัน

ได้ปลาไซส์ 5 ตัว/กก. 1 หาบ เท่ากับ 100 กก. 400 หาบ หรือ 40 ตัน ราคา กก.ละ 80-90 บาท ก็เห็น “กำไร” ชัดเจน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

2.คุณสุนทร02

ปัญหาและอุปสรรคในบ่อปลาสลิด

ถามว่าบ่อ 15 ไร่ ปล่อยลูกปลา 5 แสนตัว หนาแน่นมั๊ย คุณสุนทรยืนยันว่าไม่แน่นสำหรับตนเอง แต่ก็ต้องคอยดู หากปลาตายปรากฏให้เห็นต้องรีบจัดการทันที แสดงว่าน้ำเสีย มลพิษในบ่อมาก โดยเฉพาะเมื่อปลาได้ไซส์ 10 ตัว/กก. ต้องระวัง บางคนตายยกบ่อก็มี ในช่วงหน้าร้อน (มี.ค.-พ.ค.) ปลาไซส์ใหญ่ตายง่าย ต้องระวังเป็นพิเศษ

แต่ถ้าลมแรงๆ น้ำในบ่อกระเพื่อมเกิดออกซิเจน ย่อมเป็นคุณต่อปลาสลิด ตรงกันข้ามถ้าติดตั้งเครื่องให้ออกซิเจน เมื่อตีน้ำปลาจะมาเล่นน้ำ ไม่กินอาหาร โตช้า ดังนั้นคุณสุนทรไม่ติดตั้งเครื่องตีน้ำแต่อย่างใด เป็นการลดต้นทุนอีกทาง

“เราเลี้ยงกึ่งพัฒนา เพราะปลาสลิดไม่ชอบน้ำวนไปวนมาเยอะๆ มันชอบเก็บตัวเงียบๆ และมีออกซิเจนพอสมควรให้มันอยู่ได้ เราจึงไม่ใช้เครื่องตีน้ำ ใช้วิธีการวิดน้ำเข้า ปล่อยน้ำออก และอาศัยลมแรงๆ” คุณสุนทร ยืนยัน

3.คุณสุนทร03

การเพาะพันธุ์ปลาสลิด

การเลี้ยง “แม่พันธุ์” เพื่อผลิตลูกไว้เลี้ยงเอง เป็นการบริหารต้นทุนชนิดหนึ่ง คุณสุนทรเปิดเผยว่า “ทำลูกเองก็ดี ประหยัดต้นทุน เพาะเลี้ยงลูกเอง คัดแม่พันธุ์ดีๆ มันจะโตดีกว่าไปซื้อ ที่มีความเสี่ยง” แม่พันธุ์ที่คุณสุนทรต้องการไซส์ 4-5 ตัว/กก. มีไข่ขาวๆ ใหญ่ ไม่ออกลาย ลูกออกมาจะโตไว แต่การเลี้ยงแม่พันธุ์ต้องกักบริเวณ (กราดแม่) บางคนกักในอวน บางคนกักในกระชัง และบางคนกักในบ่อดิน ล้วนได้ผลทั้งหมด โดยให้อาหารไม่มาก เพื่อให้มันสร้างไข่

“การกักบริเวณ เวลาผลิตลูกมันจะออกมาเยอะกว่า สมมติกักในบ่อน้ำเก่าอย่างเดียว พอได้น้ำใหม่ ประมาณ 1 เดือน มันจะออกเต็มที่เลย พอฟักได้ 45-50 วัน ก็เอาแม่ออก แล้วเช็คลูกเป็นตัวๆ ลงปล่อย 40-50 วัน ก็ได้ไซส์ 1,000 ตัว/กก. บางคนชอบหลุด ตัวละ 700, 800 , 900 ให้มันโตขึ้นไปอีกแล้วค่อยเลี้ยง ก็แล้วแต่เทคนิคของใคร” คุณสุนทร ให้ความเห็น และยืนยันว่าขนาด 1,000 ตัว/กก. เป็นลูกปลากำลังดี

4.คุณสุนทร04

การบริหารจัดการบ่อปลาสลิด

การเตรียมบ่อเพื่อการเลี้ยงลูกปลาสลิดก็เป็นสิ่งจำเป็น เหมือนการสร้างบ้านให้น่าอยู่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

เรื่องแรกต้องทำ พื้นบ่อ ให้สะอาด พร้อมๆ เก็บปลาศัตรู หรือปลาเชลย เช่น ปลาช่อน และ ปลาหมอ ให้หมด “เก็บให้เรียบร้อย ให้สะอาด เอาน้ำดีใสสะอาดเข้า เรื่องหมักน้ำไว้ทีหลังก็ได้ ต้องมีพืชในบ่อ หญ้าทนน้ำ หรือผักบุ้ง แต่ต้องไม่แน่นเกินไป เพื่อให้ปลาเล็กอาศัยได้กินเหยื่อ” คุณสุนทร ให้แนะนำ

การปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยง ต้องให้ยาอักเสบผสมน้ำมันพืช คลุกกับอาหารให้กิน ป้องกันการตาย หรือการช้ำ เมื่อเอามาชั่งน้ำหนัก วัดอัตราการโต

เนื่องจากบ่อกว้างต้องทำ ล้อมอาหาร วางไว้เป็นจุดๆ ให้อาหารในล้อมทุกวันๆ ละเล็กละน้อย กะเวลาที่ลูกปลากินหมด ไม่ให้เหลือ เพราะอาหารคือต้นทุนหลัก การทำล้อมอาหารกระจายในบ่อ 50-60 ล้อม นอกจากฝึกปลาให้รู้จักกินแล้ว ยังเป็นการป้องกันมิให้อาหารกระจายเข้าข้างบ่อ เพราะแรงลมอีกด้วย “ทำแบบนี้ตลอด ทำแบบอาหารกักบริเวณ มันเคยก็เข้ามากิน เวลาที่เราขุนก็ต้องตรงเวลา ถ้าเลยเวลามันจะไม่ค่อยกิน ปลาสลิดเป็นแบบนี้” คุณสุนทร เปิดเผยถึงพฤติกรรมปลาสลิด

5.คุณสุนทร05

การให้อาหารปลาสลิด

การสุ่มตรวจสอบน้ำหนักและไซส์ปลาก็จำเป็น พอ 10 กว่าตัว/กก. ต้องเริ่มสุ่ม เพื่อดูว่า 1 เดือน ไซส์เพิ่มเท่าไหร่ ถ้าไซส์ไม่ขึ้นต้องแก้ไขในเรื่องน้ำและอาหาร เช่น น้ำไม่ดี หรืออาหารขาด หรือเกิน เมื่อปลาไซส์ใหญ่ขึ้น อีกประมาณ 2-3 ดือน จะจับ ต้องเร่งไซส์ด้วยอัดอาหาร จาก 2 มื้อ เป็น 3 มื้อ

เนื่องจาก อาหาร ปลาสลิดชนิดเม็ดลอยน้ำ มีหลายแบรนด์ ผลิตจากหลายบริษัท คุณสมบัติใกล้เคียงกัน คุณสุนทรใช้อาหาร SPM 041G ของ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด มีโปรตีน 32 เม็ดลอย ขนาดเม็ด 2.5 มิลลิเมตร มีกลิ่นหอม มันวาว เคลือบจุลินทรีย์ ใช้แล้วน้ำในบ่อไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญอาหารแลกเนื้อดี อาหารมี โปรตีน 32 เหมาะกับปลาสลิด “ต่ำกว่านี้ไม่ดี โปรตีนเท่านี้กำลังดีสำหรับผม สำหรับผู้เลี้ยงคนอื่นแล้วแต่เขา” คุณสุนทร ฟันธง

นอกจากนี้อาหารลอยน้ำมีข้อดีมากกว่าอาหารจม ซึ่งคุณสุนทรเคยใช้มาแล้ว อาหารจมมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น หากปลากินไม่หมด น้ำจะเน่าเสีย และเสียเงินโดยใช่เหตุ แต่อาหารลอยเช็คได้ตลอดว่ากินหมดหรือไม่ ง่ายต่อการจัดการ และอาหารชนิดเม็ดลอยของ SPM ต้นทุนประมาณ กก.ละ 50 กว่าบาท ถ้าราคาปลา 80-90 บาท ก็มีกำไรชัดเจน หากคุณภาพคงที่ ยืนยันว่าจะใช้ตลอดไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในสภาวะ โลกเดือด เช่นนี้ มีการเปลี่ยนสภาพอากาศรวดเร็ว กระทบต่อการดำรงชีวิตของปลาสลิด เรื่องนี้คุณสุนทรกล่าวว่า อาจเกิดการตาย หรือปลาไม่กินอาหาร ต้องดูสาเหตุ น้ำไม่ดี แอมโมเนียเยอะ ออกซิเจนไม่พอ หรือทุกอย่างพร้อมกัน แม้แต่ สีน้ำ ก็เป็นตัวชี้วัด สีน้ำต้องใส อย่าให้เข้มเกินไป อาหารต้องไม่เหลือในบ่อ เพราะจะทำให้สีน้ำเข้ม ยากต่อการเร่งไซส์ “ปลาสลิดไม่ใช่ปลาที่เลี้ยงง่าย และไม่ใช่ปลาที่เลี้ยงยาก ขอให้ศึกษาและปฏิบัติต่อการเลี้ยงให้ถ่องแท้ ทุกคนสามารถทำได้ ขอให้ใส่ใจ ส่วนตลาดไม่แคบ” คุณสุนทร ให้แง่คิด

คำว่าตลาดไม่แคบ หมายถึงเวลานี้ต่างประเทศรับซื้อถึงปากบ่อ พูดง่ายๆ ว่ามีตลาดต่างประเทศรองรับนั่นเอง ซึ่งเรื่องปลาสลิด คุณสุนทรพร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้สนใจ ไปเยี่ยมฟาร์มได้ที่ 124/1 หมู่ 1 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โทร.061-558-4291

6.คุณบุญยงค์ มั่นมาก
6.คุณบุญยงค์ มั่นมาก

เลี้ยง 7 ไร่ ได้ปลา 20 ตัน

มืออาชีพเลี้ยงปลาสลิด รายที่ 2 คุณบุญยงค์ มั่นมาก ลงทุนเลี้ยง 2 บ่อ ขนาด 7 ไร่เศษ ปล่อยลูกปลา 7 ไร่ จำนวน 2 แสนตัว ถือว่าเป็นการเลี้ยงแบบหนาแน่นมาก เผื่อปลาตายนั่นเอง รอด 1 แสน ก็พอใจแล้ว

คุณบุญยงค์ ยอมรับการเลี้ยงปลาสลิดต้องเจอสารพัดโรค เช่น ตาโปน เลือดออกทางเหงือก และ เกล็ดทอง เป็นต้น เป็นโรคเหล่านี้แล้วปลาตาย ไม่มียาป้องกันหรือรักษา โดยเฉพาะเมื่ออากาศร้อนมากๆ และฝนตกสลับกัน ปลาจะเป็นโรค หากบ่อข้างๆ เป็นโรคก็จะระบาดไปยังบ่อใกล้เคียง เนื่องจากใช้น้ำร่วมกัน

15 ปี ที่คุณบุญยงค์เลี้ยงปลาสลิด ก็เผชิญกับโรคต่างๆ มาตลอดทุกปี และรูปแบบการเลี้ยงก็ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด “ผมเลี้ยงแบบธรรมชาติ คือ ไม่ตีน้ำ เพราะเราปล่อยปลาไม่แน่นมาก คอยถ่ายน้ำ ถ้าถ่ายไม่ได้ก็สาดจุลินทรีย์ช่วย” คุณบุญยงค์ ยืนยันถึงรูปแบบการเลี้ยง 15 ปี

หน้าร้อนจัดๆ ต้องสังเกต หากเห็นขี้ปลาลอยอยู่ข้างบ่อตอนเย็น แสดงว่ามีของเสียในบ่อ ต้องรีบผสมจุลินทรีย์กับน้ำสะอาดหมักแล้วสาดในบ่อเพื่อย่อยของเสีย และก๊าซแอมโมเนีย เป็นต้น หรือถ้าตี 3 ตี 4 ปลาไม่ลอย แอบไปหลบ บ่งบอกถึงมลพิษในบ่อ ต้องรีบแก้ไข

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในเรื่องลูกพันธุ์ปลาสลิด คุณบุญยงค์เปิดเผยว่า ทั้งฟักเอง และซื้อจากที่อื่นบ้าง แล้วแต่จังหวะและโอกาส โดยเฉพาะถ้าแดดจัดๆ จะซื้อมากกว่า และจะปล่อยลูกปลาลงบ่อพร้อมกัน โดยต้องสร้าง “ล้อมอาหาร” เหมือนฟาร์มอื่น โดยให้อาหารทีละน้อย เพราะถ้าให้มาก ลูกปลากินมากๆ ตายได้ และเมื่อเลี้ยงไปแล้ว ปลาเริ่มหนาแน่น ต้องรีบจับ เพื่อจะดูว่ามีจำนวนปลาเท่าไหร่ ตัวที่ไซซ์ก็ขาย เหมือนการเลี้ยงกุ้ง ที่เรียกว่า พาเชียล นั่นเอง แน่นอนการจับปลาตัวที่ไซซ์อาจตายบ้างเป็นธรรมดา

เรื่อง ล้อมอาหาร บ่อ 7 ไร่ ใช้ 22 ล้อม ฝึกให้ปลากินอาหารในล้อมตั้งแต่เล็กๆ เพราะเมื่อจับปลาไซซ์ขายก่อน ปลาที่เหลือกินอาหารเม็ดเป็นแล้ว เพราะถูกฝึกให้กินในล้อม แม้ไม่มีหญ้าเป็นอาหารก็ไม่มีปัญหา

7.คุณบุญยงค์07

ข้อดีของอาหาร SPM 041G

แต่เรื่องอาหารเม็ด คุณบุญยงค์ใช้ อาหาร SPM 041G สู่ปีที่ 2 เนื่องจาก “ราคา” ถูกกว่าในหลายแบรนด์ และคุณภาพใกล้เคียงกัน “ถ้ากินตามไซซ์ ตอนไซซ์โตๆ อย่างน้อยเดือนละไซซ์ เข้า 7-8 ตัว ก็พอแล้ว แต่ราคาต่ำ ต้นทุนเราต่ำ ก็จะมีกำไร นี่คือข้อดีของ SPM” คุณบุญยงค์ ยอมรับในเรื่องราคาเป็นหลัก และเมื่อเข้า 4 เดือนสุดท้าย ต้องอัดอาหารให้เต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าปลากินอาหารดี ขี้ปลาจะลอยขึ้นมาให้เห็น และต้องรีบให้จุลินทรีย์ในบ่อเพื่อกำจัดของเสีย

“ที่เราเลือกใช้ SPM คือ มันช่วยลดต้นทุน อัตราการโตไซซ์เขยิบ ซึ่งเช็คเดือน/เดือนโอเคใช้ได้ ก็ใช้มาตลอด” คุณบุญยงค์ ยืนยันคุณภาพอาหารของ SPM นอกจากนี้ SPM มีพนักงานขายบุกตะลุยถึงบ่อ ติดต่อง่าย ต้องการอะไรโทรไปหาติดต่อเขาจะจัดหาทันที

อย่างไรก็ดีในสภาพอากาศแปรปรวนบ่อยๆ ย่อมกระทบต่อปลาในบ่อแน่นอน เรื่องนี้คุณบุญยงค์ไม่ประมาท เช่น เมื่อน้ำเริ่มเข้มข้นต้องใส่จุลินทรีย์อาทิตย์ละครั้ง หรือเมื่อเห็นปลาตายก็ต้องใส่ยาให้ตรงกับโรค

8.คุณบุญยงค์08

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายปลาสลิด

ในเรื่องตลาดปลาสลิด ตามข้อคิดเห็นของคุณบุญยงค์ฟันธงว่ายังไหว ราคาปลา 5 ตัว/กก. ณ ปากบ่อ 85-90 บาท ยังไหว ตอนนี้คุณบุญยงค์จับมือกับคนเลี้ยงปลา 8-9 ราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน บ่อยครั้งช่วยกันลงแขก เช่น การขนอาหาร หรือการจับปลา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สุดท้ายถามว่า ถ้าหน้าใหม่ลงทุนเลี้ยงปลาสลิด คุณบุญยงค์ยืนยันว่า ทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะเลี้ยงปลา 3 ปีแรก ไม่มีรายได้ มันเป็นปลาที่เลี้ยงยาก ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา เยี่ยมฟาร์มได้ที่ 178/1 ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โทร.090-253-4845

9.คุณปิยณัฐ อินจงกล
9.คุณปิยณัฐ อินจงกล

เลี้ยง 30 ไร่ รายได้กว่า 4 ล้านบาท

เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อมูลที่ลึกและหลากเรื่องปลาสลิด บ้านแพ้ว ณ ตำบลโรงเข้ จึงได้สัมภาษณ์ คุณปิยณัฐ อินจงกล เจ้าของบ่อ 30 ไร่ ใช้อาหารของ SPM จนพบข้อมูลที่มีสาระหลายอย่าง

การผลิตลูกปลาใช้ในฟาร์ม

คุณปิยณัฐ ได้คัดแม่ปลาที่มีไข่ครั้งแรก ตัวใหญ่สวย แต่ตัวผู้ก็ต้องใหญ่และสวยเช่นกัน จากนั้นก็ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงบ่อขนาด 1 ใน 4 ไร่ โดยไม่ให้ปลาอื่นๆ อยู่ในบ่อแม่พันธุ์ จำนวน 250 กก. เพื่อผลิตลูกปลาคุณภาพดีกว่าซื้อจากที่อื่น ซึ่งลูกปลาจะเลี้ยงในบ่อใหญ่ เนื่องจากแข็งแรง เพราะมาจากไข่ครั้งเดียวของแม่ปลา

การเตรียมบ่อก็สำคัญ

หลังจากจับปลาแล้วจะต้องเอาเลนขึ้นจากร่อง และทำพื้นบ่อให้เรียบ ต้องจับ ปลาช่อน และ ปลาหมอ ออกให้หมด เพราะมันเป็นศัตรูของปลาสลิด จากนั้นก็ตากบ่อให้แห้ง จนเกิดหญ้าในบ่อ หรืออาจต้องปลูกโดยการซื้อดอกหญ้ามาหว่านบางๆ หากหว่านหนามากๆ น้ำจะเป็นสีดำเพราะเน่านั่นเอง และถ้าขึ้นมากก็ต้องตัดซอย ประมาณเดือนครึ่งหญ้าก็โตพร้อมจะนำปลามาปล่อย อย่างไรก็ดีในช่วงที่ปลายังเล็กจะต้องดูแล เช่น ไล่นก นอกจากนี้ยังมีจิงโจ้น้ำที่คอยกินลูกปลา แม้มันจะกินน้อยกว่าปลาช่อนก็ต้องระวัง

10.คุณปิยณัฐ10

การบำรุงดูแลกุ้ง

อาหารจำเป็นมากๆ

ในช่วงที่ปลายังเล็ก แม้จะได้อาหารจากธรรมชาติในบ่อ แต่คุณปิยณัฐก็ต้องให้ไข่แดงของไก่ไข่ผสมกับน้ำมันพืช และยาถ่าย ให้กิน ช่วยให้กุ้งอยู่ เป็นสูตรที่ใช้กันมาตลด แต่จะต้องให้อาหารในล้อม ซึ่งมี 105 ล้อม เป็นอาหารเม็ดลอยน้ำของ SPM เพราะราคาไม่สูงเหมือนบางยี่ห้อ ประหยัดต้นทุนได้มาก และการบริการหลังการขายดีมาก โทรมาถามไถ่ตลอด

จุลินทรีย์กำจัดของเสียก็ต้องใช้

แม้ว่าการเลี้ยงปลาสลิดจะต้องสูบน้ำออก และวิดน้ำเข้าบ่อ เพื่อให้ปลาได้น้ำดี พร้อมกับการให้ออกซิเจน ก็จะต้องให้จุลินทรีย์ EM เพื่อกำจัดของเสียในบ่อเดือนละ 2 ครั้ง โดยสาดให้ทั่วบ่อ บางปีบ่อรอบๆ ตายยกบ่อ ยกเว้นบ่อคุณปิยณัฐ ซึ่งยังหาสาเหตุไม่ได้ ทั้งๆ ที่ใช้เวลาเลี้ยง 10 เดือน ได้ปลา 5 ตัว/กก. จำนวน 60 ตัน ถ้าราคาปากบ่อ กก.ละ 80 บาท รายได้ปีละ 4.8 ล้านบาท หักต้นทุนสูงสุด 60% จะเป็นกำไรเกือบ 2 ล้านบาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

11.คุณปิยณัฐ11

สรุปได้ว่า การเลี้ยงปลาสลิดกึ่งพัฒนาจาก 3 เซียนในวงการ โดยใช้อาหารเม็ดลอยน้ำ แบรนด์ SPM 041G ของ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ยังมีกำไรคุ้มค่าแก่การลงทุน แม้จะมีความท้าทายในเรื่องโรค แต่ถ้ามีประสบการณ์และใส่ใจดูแลอย่างดี โอกาสผิดพลาดมีน้อย ดังนั้นผู้บริหาร SPM จึงจับตลาดผู้เลี้ยงปลาสลิดด้วยคุณภาพของอาหาร ราคาที่เป็นธรรม พร้อมเข้มข้นด้วยบริการหลังการขาย จนเกิดแบรนด์โรยัลตี้ ที่บริษัทนำยอดขายวางแผนการผลิตได้ดี

ขอขอบคุณ คุณสุนทร สมบูรณ์, คุณบุญยงค์ มั่นมาก และ คุณปิยณัฐ อินจงกล ที่ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อคนในวงการ

ขอขอบคุณทีมงาน และ บริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด สำหรับข้อมูลผลิตภัณฑ์ และพาลงพื้นที่พบเกษตรกรในครั้งนี้

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 409