ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ สิ่งที่พึงปฏิบัติ และสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ปีก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ฟาร์มทั้งจากภายในและภายนอก และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการผลิตสัตว์ปีก ความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นกระบวนการที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคในประชากรสัตว์ ความเสี่ยงที่สุดเกิดจากการคิดว่าไม่มีความเสี่ยง แต่เช่นเดียวกับที่เราทราบกันมา เกือบทุกกิจกรรมที่มีการปฏิบัติในฟาร์มสัตว์ปีกก่อให้เกิดความเสี่ยงเสมอ ดังนั้น เป้าหมายคือ การควบคุมความเสี่ยงอย่างชาญฉลาดให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้ สิ่งนี้จำเป็นต้องทบทวนการจัดการของเราว่าดีพอแล้วหรือยังที่จะเป็นปราการที่แข็งแกร่งระหว่างสัตว์ปีกในโรงเรือน และแหล่งของเชื้อโรคระบาด ในการประชุมวิชาการสัตวแพทย์ด้านสัตว์ปีกโลกครั้งล่าสุด Vaillancort (2023) ได้นำเสนอหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ ประกอบด้วยหลักการที่เป็นสามเสาหลักค้ำจุนฟาร์มให้ปลอดโรคด้วยวิธีการ ลด ห่าง และฟัง ดังแสดงในภาพที่ ๑​  ได้แก่

1.สามเสาหลักค้ำจุนฟาร์มสัตว์ปีกให้ปลอดโรค (ดัดแปลงจาก Vaillancor, 2023)
1.สามเสาหลักค้ำจุนฟาร์มสัตว์ปีกให้ปลอดโรค (ดัดแปลงจาก Vaillancor, 2023)

๑.​การลดแหล่งที่มาของโรคติดเชื้อ ด้วยการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ ลดการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ผลการวิจัยในญี่ปุ่น พบว่า การใช้อุปกรณ์ร่วมกันเป็นสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสก่อโรคไข้หวัดนก

๒.​การห่างอยู่ให้ไกลจากแหล่งต้นตอโรคติดเชื้อ ผลการวิจัยในแคนาดา พบว่า หากฟาร์มตั้งอยู่ห่างจากกองมูลสัตว์น้อยกว่า ๒๐๐​ เมตร ก็จะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ แคมไพโลแบคเตอร์ เข้าสู่ฝูงสัตว์ได้

๓.​ การรับฟังข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวสารจากเตือนภัยด้านสุขภาพสัตว์จากหน่วยงานราชการ และชุมชนฟาร์มใกล้เคียง การแบ่งปันประสบการณ์ที่เรียนรู้ร่วมกัน ยังช่วยป้องกันมิให้เกิดความบกพร่องด้านความปลอดภัยทางชีวภาพจนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคระบาดซ้ำ

การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ มักเกิดประเด็นปัญหาเรื่องระยะเวลาสัมผัสกับน้ำยาล้างทำความสะอาดและยาฆ่าเชื้อ การใช้สบู่และน้ำยาล้างทำความสะอาดล้มเหลว ก่อนการฆ่าเชื้อไม่ปล่อยให้พื้นสัมผัสแห้ง ไม่มีการตรวจติดตามภายหลังการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ ยิ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรก็ส่งผลให้การจัดการไม่เหมือนเดิม บางครั้งการจัดหาอุปกรณ์และสารเคมีสำหรับการปฏิบัติงานไม่ได้จัดเตรียมไว้อย่างเพียงพอ และผู้บริหารฟาร์มไม่ได้คอยตรวจสอบกระบวนการต่างๆ อย่างรอบคอบ สิ่งที่มักละเลยกันบ่อย คือ เศษวัสดุอินทรีย์ เช่น เศษดิน หรือขี้ไก่ ไม่สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อได้เลย ฟาร์มบางแห่งพ่นยาฆ่าเชื้อบนพื้นหญ้า ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำจัดเชื้อโรค บางแห่งบ่อจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อสกปรกมาก

2.ปัจจุบันมีผู้บริการออกแบบ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับการจัดการด้านสุขอนามัย
2.ปัจจุบันมีผู้บริการออกแบบ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับการจัดการด้านสุขอนามัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยอาหารตั้งแต่ฟาร์มไปจนถึงส้อมผู้บริโภค การวางแผนหลักปฏิบัติที่ดีช่วยลดต้นตอของโรคติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพจริง (แหล่งภาพ Reza Hygiene)

ประสิทธิผลของบ่อจุ่มล้อ

บ่อจุ่มล้อเป็นวิธีการหนึ่งในการลดแหล่งที่มาของโรคติดเชื้อ ผู้ผลิตสัตว์ปีกส่วนใหญ่ไม่เคยทวนสอบประสิทธิภาพเลย บางรายปล่อยให้น้ำสกปรกไปด้วยโคลนจากล้อรถ ถ้าเป็นแบบนี้ บ่อจุ่มล้อก็ไม่สามารถทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อรถให้เชื้อโรคลดลงได้เลย และยังทำให้สกปรกมากขึ้นไปอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บางประเทศก็กำหนดให้มีกฎระเบียบบังคับให้ติดตั้งระบบการฆ่าเชื้อถาวรแบบอัตโนมัติ การให้ยานพาหนะขับผ่านบ่อจุ่มล้อ เกิดคำถามถึงผลการวิจัยสนับสนุนว่ามีผลดีจริงๆหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของผู้ผลิตสัตว์ปีก ตั้งแต่การออกแบบบ่อจุ่มล้อให้เหมาะสม การจัดการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอโดยใช้อัตราส่วนที่ถูกต้อง และฆ่าเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง ถึงกระนั้นก็ควรมีการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการบ้างว่า วิธีที่ปฏิบัติกันเป็นกิจวัตรนั้นสามารถฆ่าเชื้อได้จริงหรือไม่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ่างน้ำยาฆ่าเชื้อจุ่มเท้าก่อนเข้าโรงเรือนก็เป็นสิ่งที่ควรทบทวน ผู้ผลิตสัตว์ปีกทั่วโลกให้ความสำคัญกับการใช้อ่างจุ่มเท้า แต่ความเอาใจใส่แตกต่างกันไป การทดสอบประสิทธิภาพของการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่น่าสนใจอย่างมาก พบว่า การใช้คลอรีนผง มีประสิทธิภาพสูงในการลดเชื้อลงได้มากที่สุดร้อยละ ๙๘.๐๖ เปรียบเทียบกับการใช้น้ำยาทำความสะอาดร่วมกับคลอรีนผงร้อยละ ๙๒.๖ หรือควอเตอร์นารี แอมโมเนียม คอมปาวด์ ร้อยละ ๒๓.๖ หรือฟีนอล ร้อยละ ๑๐.๘ ตามลำดับ ที่สำคัญยังมีฤทธิ์คงค้างอยู่ได้นานมากกว่า ๑๔ วันอีกด้วย ขณะที่ ควอเตอร์นารี แอมโมเนียม คอมปาวด์ และฟีนอล มีฤทธิ์อยู่ได้ไม่ถึง ๒ ชั่วโมงเท่านั้น

ผลการวิจัยที่น่าสนใจที่ Vaillancort (2023) ได้นำเสนอเป็นการประเมินประสิทธิภาพการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรถขนส่ง ที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อไวรัสก่อโรคพีอาร์อาร์เอสในฟาร์มสุกร พบว่า การใช้น้ำทำความสะอาดอย่างเดียว และฟอร์มาลิน ยังพบเชื้อได้เหมือนเดิมร้อยละ ๑๐๐ แต่การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มกลูตารัลดีไฮด์ผสมกับควอเตอร์นารี แอมโมเนียม คอมปาวด์ หรือการปล่อยให้แห้ง สามารถกำจัดเชื้อได้ทั้งหมด จำนวนลูกสุกรแรกเกิดที่ติดเชื้อ การใช้น้ำทำความสะอาดอย่างเดียว และฟอร์มาลิน พบลูกสุกรติดเชื้อ ๒ ใน ๔ หรือร้อยละ ๕๐  แต่การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มกลูตารัลดีไฮด์ผสมควอเตอร์นารี แอมโมเนียม คอมปาวด์ หรือการปล่อยให้แห้ง ไม่พบการติดเชื้อเลย

จำนวนลูกสุกรที่ติดเชื้อไวรัสก่อโรคพีอาร์อาร์

2/4 (50%) 2/4 (50%) 0/4 (0%) 0/4 (0%)

หมายเหตุ +Forma หมายถึง ล้างทำความสะอาดร่วมกับการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อฟอร์มัลดีไฮด์ หรือฟอร์มาลิน + Glu & Forma หมายถึง  ล้างทำความสะอาดร่วมกับการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อกลูตารัลดีไฮด์ และฟอร์มัลดีไฮด์

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในยุโรป

ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฝรั่งเศสภายใต้โครงการรณรงค์ที่ชื่อว่า “เน็ตโพลเซฟ” ดำเนินการโดยเครือข่ายผู้เลี้ยงสัตว์ในยุโรป เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนให้ฟาร์มปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ผลการวิจัยด้วยวิธีการสัมภาษณ์ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเนื้อ จำนวน ๑๙๒ ฟาร์ม จากประเทศในยุโรปทั้งหมด ๗ ประเทศด้วยกัน ได้แก่ เบลเยียม ฝรั่งเศส ฮังการี อิตาลี โปแลนด์ สเปน และ เนเธอร์แลนด์ สาเหตุที่ผู้เลี้ยงสัตว์ในยุโรปยังไม่ปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ได้แก่ ไม่มีเวลา เพิ่มต้นทุน ไม่ทราบประโยชน์ความปลอดภัยทางชีวภาพ และไม่มีใครให้การฝึกอบรมและให้คำแนะนำ

เมื่อทราบสาเหตุในมุมมองของผู้เลี้ยงสัตว์ปีกดังกล่าวแล้ว ผู้วิจัยคาดว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นตัวตั้งในการรณรงค์ให้มีการปฏิบัติตามต่อไปได้ อย่างน้อยก็จะช่วยให้ทราบว่า การรณรงค์ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคอะไรบ้างจากผู้เลี้ยงสัตว์ โดยต้องพยายามปรับไปตามสถานการณ์ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ผลิตสัตว์ปีกปฏิบัติตาม สิ่งที่น่าสนใจจากผลการวิจัยครั้งนี้ คือ ในยุโรปยังมีฟาร์มที่ไม่สามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือนระหว่างรุ่นสูงถึงร้อยละ ๗๒ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูง เชื่อว่าเป็นผลมาจากทั้งข้อจำกัดด้านแรงงาน ค่าสารเคมี และการใช้น้ำปริมาณมาก แต่ก็จะเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และการควบคุมเชื้อ ซัลโมเนลลา ระหว่างรุ่นการเลี้ยง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ตารางที่ ๑ ผลการสัมภาษณ์ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเนื้อ ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในยุโรป

มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ ปฏิบัติเสมอ สาเหตุที่ไม่ปฏิบัติ
การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือนระหว่างรุ่น ร้อยละ ๒๘ – ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

– ปฏิบัติต่อเมื่อพบปัญหาด้านสุขอนามัยแล้ว

การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไซโลอาหารสัตว์ในฟาร์มระหว่างรุ่น ร้อยละ ๔๓ – ไม่ทราบว่าต้องทำ

– ปฏิบัติได้ยากลำบาก

ไม่มีสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เช่น สุนัข หรือแมว ร้อยละ ๖๓ – ไม่ทราบว่าต้องทำ

– พฤติกรรม และเชื่อว่าความเสี่ยงต่ำ

การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อถังทิ้งไก่ตาย ร้อยละ ๖๘ – ไม่ทราบว่าต้องทำ

– เชื่อว่าความเสี่ยงต่ำ

การล้างมือก่อนเข้าโรงเรือน ร้อยละ ๗๐ – เสียเวลา

– ขี้ลืม และพฤติกรรม

บทเรียนความผิดพลาดของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

ทุกคนทราบดีว่า นกน้ำป่าสามารถเป็นพาหะของโรคไข้หวัดนก ดังนั้นต้องแยกโรคนี้ออกจากฟาร์มสัตว์ปีก โดยป้องกันมิให้มีการสัมผัสกับนกน้ำป่า และมูลสัตว์ ดังนั้นเราควรห้ามมิให้บุคลากรในฟาร์มล่าสัตว์ และไปยุ่งกับนกน้ำป่า เราสามารถช่วยป้องกันนกป่าได้โดยการจัดการสิ่งที่สามารถเป็นอาหารนกที่อยู่รายรอบโรงเรือน ตัดหญ้าให้สั้นเสมอ และป้องกันไม่ให้มีน้ำใกล้กับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีก การฆ่าเชื้อเน้นบริเวณใต้พื้นรองเท้าก่อนเข้าสู่โรงเรือน รวมถึงอุปกรณ์ใดๆ ที่จะนำเข้าสู่โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ปีกก็ต้องผ่านการฆ่าเชื้อเป็นอย่างดี บทเรียน ๓ ข้อที่น่าสนใจจากประสบการณ์การควบคุมโรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ หรือไอแอลที ที่เป็นปัญหาซ้ำซากในบริษัทฟาร์มแซนเดอร์สันในสหรัฐฯ​ ดังนี้

3.ระบบความปลอดภัย03

บทเรียนที่ ๑ หัวเข่าแพร่โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ

บทเรียนการระบาดโรคไอแอลที  ในฟาร์มแซนเดอร์สันสร้างความเสียหายจนทำให้ต้องตัดสินใจทำลายไก่มากกว่าเจ็ดแสนตัวทีเดียว ดังที่เราทราบกันดีว่าโรคไอแอลทีเป็นโรคที่สร้างความเสียหายอย่างมาก เริ่มต้นด้วยการทำลายทางเดินหายใจส่วนต้น และมักนำไปสู่การตายของไก่ที่ติดเชื้อ ตามปรกติ การเกิดโรคจะต้องรายงานไปยังภาครัฐ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญกับโรคนี้มากกว่าโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ภายหลังการเกิดโรคไอแอลทีแต่ละราย สัตวแพทย์ของบริษัทจะเข้าสอบสวนเพื่อสืบค้นแหล่งต้นตอของเชื้อไวรัส และปรับกระบวนการความปลอดภัยทางชีวภาพ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา เมื่อเกิดโรคแต่ละครั้ง บุคคลากรในฟาร์มไก่เนื้อของบริษัทก็แค่สวมถุงพลาสติกครอบรองเท้าบู๊ท โดยไม่คิดปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพอื่นใดๆ ในทางตรงกันข้าม ความปลอดภัยทางชีวภาพจำเป็นต้องมีความเข้มงวดสำหรับการทำงานของบุคลากรในฟาร์มเลี้ยงไก่พันธุ์ ทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงที่สุด นักวิชาการด้านสัตว์ปีกพันธุ์จำเป็นต้องสวมชุดคลุมตลอดตัว ตลอดตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงนิ้วเท้า เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นผู้นำโรคเข้าฟาร์ม

ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ.๒๕๕๒ โรคไอแอลที การระบาดในฟาร์มไก่เนื้อส่วนใหญ่ทางตะวันตกของรัฐเท็กซัส ระหว่างการสอบสวนโรคก็พบว่าการนำโรคครั้งนี้มาจากความบกพร่องอย่างรุนแรงของพื้นฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ฟาร์มไก่ป่วยรายสำคัญเกิดจากฟาร์มเลี้ยงไก่ประกันที่มีการแปรรูปสัตว์ปีกที่ไม่ใช่ของบริษัทที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ของตัวเอง โรคไอแอลทีถูกสอบย้อนกลับไปยังเมืองแคนตัน รัฐเท็กซัส ในงานตลาดค้าสัตว์ปีก ในงานมีไก่เนื้อที่ให้วัคซีนป้องกันโรคไอแอลทีจากรัฐอาร์คันซอจำหน่ายด้วย ตามเส้นทางของฝูงไก่หลังบ้านที่ติดเชื้อไวรัสก่อโรคไอแอลทีตามทางหลวงสายหลัง ฝูงสุดท้ายที่ทราบว่าเกิดการติดเชื้ออยู่ทางตอนเหนือของวาโค เป็นที่ชัดเจนว่า หนึ่งในฝูงไก่หลังบ้านที่ติดเชื้อเลี้ยงโดยฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเอง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อที่เกิดโรคไอแอลทีมักเดินทางกลับบ้านอยู่กับครอบครัว และเพื่อนฝูง ดังนั้นจึงเป็นการแพร่กระจายโรคไอแอลทีไปยังฟาร์มไก่เนื้อข้างเคียง หลังจากเกิดโรคในฟาร์มดังกล่าวแล้ว กลุ่มฟาร์มใกล้เคียงกันในรัศมี ๑.๕ ไมล์ก็เกิดโรคตามในที่สุด สิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่การเกิดโรคสองแห่ง คือ นักวิชาการของบริษัทแซนเดอร์สันนั่นเอง หลังจากสอบถามนักวิชาการ และสอบสวนฟาร์มที่เกิดโรคก็ทำให้ทราบได้ว่าบุคลากรเหล่านี้เป็นผู้นำเชื้อไวรัสจากฟาร์มหนึ่งไปยังอีกฟาร์มหนึ่งจากบริเวณที่ไม่มีการป้องกันบริเวณเข่า ฟาร์มที่เกิดโรค และโรงเรือนทั้งหมด ในกลุ่มฟาร์มที่เกิดโรคกลุ่มที่สองมีเครื่องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนในระดับหัวของไก่ นักวิชาการของบริษัทแซนเดอร์สันเข้าตรวจเยี่ยม และก้มลงคุกเข่าเพื่อตรวจสอบ และย้อนดูข้อมูลย้อนหลังจากเครื่องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน ความเสียหายจากโรคไอแอลที สอนให้เราทราบว่าบุคลากรผู้ให้บริการด้านการเลี้ยงไก่เนื้อจำเป็นต้องสวมชุดป้องกันที่สะอาดที่ปกคลุมทั้งตัว รวมทั้งสวมหมวกตาข่ายด้วย เช่นเดียวกับบุคลากรที่เลี้ยงไก่พันธุ์เช่นกัน

บทเรียนที่ ๒ การเคลื่อนย้ายวัสดุรองพื้นเก่าจะนำโรค

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ สองปีต่อมา มีการระบาดของโรคไอแอลที ในฟาร์มทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐมิสซิสซิปปี รายงานสัตว์ป่วยเกิดขึ้นในฟาร์มเก่าแก่ที่มีเจ้าของรายใหม่ เจ้าของรายก่อนเป็นผู้ให้บริการขนส่งวัสดุรองพื้นจากฟาร์มไปใช้เป็นปุ๋ยให้พืชไร่ แม้ว่าเจ้าของรายเก่าจะขายฟาร์มแล้ว แต่ก็ยังเป็นเจ้าของวัสดุรองพื้นชุดเก่าอยู่ จึงจัดการเก็บวัสดุรองพื้นเก่า แล้วขับผ่านโรงเรือนที่ ๓ และ ๔ เจ้าของรายเก่าเริ่มขนย้ายวัสดุรองพื้นเก่าในเวลาเดียวกับที่เจ้าของรายใหม่กำลังต่อสู้กับปัญหาโรคผิวหนังอักเสบแบบแกรงกรีน หรือจีดี ในโรงเรือนที่ ๓ และต้องคอยเก็บไก่ตายบ่อยๆ สิบวันหลังจากการระบาดของโรคจีดี ไก่ในโรงเรือนก็เกิดโรคไอแอลที รายงานสัตว์ป่วยรายนี้ ผู้เลี้ยงใหม่น่าจะได้รับเชื้อไวรัสจากเส้นทางการเคลื่อนย้ายวัสดุรองพื้นเก่านั่นเอง แล้วนำไปติดในโรงเรือนที่ฝูงสัตว์กำลังอ่อนแอจากโรคจีดี ต้นฤดูหนาวนั่นเอง โรคไอแอลทีได้แพร่ไปในทางตอนเหนือของรัฐอัลบามา เจ้าของฟาร์มรายก่อนปฏิเสธที่จะเคลื่อนย้ายวัสดุรองพื้นจากรัฐอัลมาบาไปยังรัฐมิสซิสซิปปี แต่ก็พบเชื้อไวรัสโรคไอแอลทีจากรัฐมิสซิสซิปปีที่มีลักษณะทางพันธุกรรมตรงกับรัฐอัลบามา นับตั้งแต่นั้นมาบริษัทแซนเดอร์สันก็ห้ามการจัดการวัสดุรองพื้นใดๆ ในฟาร์มที่มีการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม

บทเรียนที่ ๓ เราไม่สามารถจัดการเพื่อนบ้านได้

ในช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ.๒๕๕๗ ยังเกิดการระบาดของโรคไอแอลทีในทางตอนเหนือของรัฐแคโรลินา ทางตะวันออกของพื้นที่ที่มักเกิดการระบาดของโรค ฟาร์มไก่เนื้อ ๓ แห่งเกิดโรค รายแรกเกิดจากความบกพร่องของระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามเส้นทางจากบ้านไปทำงาน พนักงานตรวจสอบอุปกรณ์หยุดที่โรงเรือนที่ ๒ ของฟาร์มแรกที่เกิดโรคเพื่อตรวจสอบรายงานความผิดปรกติของประตูม้วน แต่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันโรคติดมาในด้วย และเจ้าของฟาร์มก็ไม่มีอะไหล่เตรียมไว้ให้ หลังจากนั้นเพียง ๑๐ วัน ภายหลังจากการเข้าฟาร์มของพนักงานคนนั้น ไก่ที่เลี้ยงอยู่บริเวณใกล้เคียงกับประตูในโรงเรือนที่ ๒ ก็เริ่มแสดงอาการป่วยด้วยโรคไอแอลที ส่วนอีกสองฟาร์มที่เกิดโรคไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจน ทั้งสองฟาร์มมีที่ตั้งห่างกันออกไป และไกลจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกอื่นๆ ความเชื่อมโยงกับฟาร์มไก่ป่วยรายแรก คือ พนักงานตรวจสอบอุปกรณ์ แต่เส้นทางการเดินทางของเขาก็ไม่มีความสัมพันธ์กับฟาร์มอื่นๆ นอกเหนือจากสองฟาร์มดังกล่าว การสอบสวนต่อไปเปิดเผยแหล่งที่มาของโรคมาจากล้อของรถนั่นเอง ฟาร์มของบริษัทเพื่อนบ้านในพื้นที่เดียวกันมีการระบาดของโรคไอแอลที และรถจากฟาร์มไก่ประกันใช้เส้นทางการขนส่งเดียวกันกับบริษัทเพื่อนบ้านใช้ขนส่งไก่ตาย ทำให้ตระหนักได้ว่า “เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเพื่อนบ้านได้ เราต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพของตัวเอง” จึงกำหนดให้ล้อและช่วงล่างของรถต้องถูกฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม และพนักงานสนับสนุนต้องฆ่าเชื้อที่รองเท้าก่อนขึ้นรถ โดยเฉพาะฟาร์มที่เกิดโรคต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ

บทสรุป

ความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นสิ่งสำคัญใกล้ตัว บางครั้งปฏิบัติกันอย่างเคยชิน จนลืมไปว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติ และสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติ หรือเข้าใจไปเองว่า พึงปฏิบัติ โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าที่ปฏิบัติกันนั้นเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์จริงหรือไม่ การจัดการในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจไม่ได้ดีอย่างที่เคยคาดคิดไว้ แต่ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ก็ได้กลายเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ผลิตสัตว์ปีกในประเทศเหล่านี้พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น และเป็นบทเรียนให้เราได้ศึกษาเพื่อพัฒนาการผลิตของเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

Souillard R, Allain V, Dufay-Lefort AC, Rousset N, Amalraj A, Spaans A, Zbikowsi A, Tilli G,

Piccirillo A, Devesa A, Sevilla-Navarro S, Kovacs L and Le Bouquin S. 2023. NETPOULSAFE-Application of biosecurity in poultry farms: focus on the meat poultry productions [Poster presentation]. Congress of the XXII World Veterinary Poultry Association. September, 4th-8th 2023.

โฆษณา
AP Chemical Thailand

Stayer PA. 2018. Breaches in biosecurity: Sanderson Farms vet shares three valuable lessons. Poultry

Health Today. [Internet]. [Cited 2018 May 16]. Available from: https://poultryhealthtoday.com/breaches-in-biosecurity-lessons-learned/

Vaillancort JP. 2023. Biosecurity: what works, what does not, what has been ignored and how to address it. Congress of the XXII World Veterinary Poultry Association. September, 4th-8th 2023.

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 3705