งานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งที่ 10
สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองโชว์ไฮไลท์ของงาน “วิทยากรอินเตอร์ เรื่องกุ้ง”
ในวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2567 จะมีการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ของวงการสัตว์น้ำที่เกษตรกรหลายท่านรอคอยนั่นคืองานงานสัมมนาเชิงวิชาการ ครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นโดย “สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด” โดยการจัดงานครั้งนี้ยังมุ่งเน้นเนื้อหาสัมมนาที่อัดแน่นด้วยเทคนิคการเลี้ยงกุ้งให้รอดและมีผลกำไรมากสุดโดยครั้งนี้จะพิเศษกว่าครั้งก่อนๆ ด้วยการเรียนเชิญวิทยากรต่างชาติที่คร่ำหวอดในวงการกุ้งของต่างประเทศมาเล่าถึงสถานการณ์กุ้งโลกรวมถึงเทคนิคการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลที่ดี
- รศ.ดร เหงียน ง็อคฟุค ภาควิชาโรคสัตว์น้ำ คณะประมงและป่าไม้ มหาวิทยาลัย เว้ จ.เถื่อเทียนเว้ เวียดนาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ เก่งกุลยุทธ์ในการป้องกันรับมือกับโรคสัตว์น้ำในฟาร์มเพาะเลี้ยงโดยเฉพาะ “ปลา” เน้นโปรไบโอติก และ สมุนไพร แม้แต่โรคตายด่วนในกุ้ง ก็ติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งภาคใต้และภาคกลางของเวียดนามเพื่อพัฒนาแนวทางการป้องกันและจัดการที่สามารถทำได้จริง
- คุณโคโค่ โคคาร์คิน โซตริสโน่ หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ชมรมผู้เลี้ยงสุลาเวสี อินโดนีเซีย หัวหน้าฝ่ายเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของสมาคมสมาพันธ์ประมงอินโดนีเซีย เลขาธิการสภาสมาคมกุ้ง อินโดนีเซีย นายกสมาคมศิษย์เก่า เอไอที อินโดนีเซีย และ ที่ปรึกษา บริษัท สตาร์ทอัพบานู และ จาลา ของบริษัท
Hatch Ireland เป็นผู้ที่มีทักษะรอบด้านหรือ กระบี่มือ 1 ของอินโดนีเซีย
- คุณบิงงัน หลู หรือ คุณแม็กซ์ ปริญญาโท ด้านโภชนะศาสตร์สัตว์น้ำ จากนอร์เวเจียนยูนิเวอร์ซิตี้ออฟไลฟ์ซายน์ ทำงานในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 8 ปี ให้คำปรึกษาด้านอาหารสัตว์ ให้บริษัท ต่างๆ แต่ละประเทศ ทำงานกับบริษัทนิวตริเอรา กรุ๊ป กว่า 8 ปี ในฐานะทีมบุกเบิกตลาดเอเชียตะวันออก
เฉียงใต้ เขามีความกระตือรือร้นในการแบ่งปันข้อมูลกับเพื่อนๆ ในอุตสาหกรรมทั้งในด้านเทคนิคการผลิต การออกแบบสูตรอาหาร การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศจีน
- คุณระวี คูมาร์ เยลลังกี กรรมการผู้จัดการของ Vaisakhi Bio-Marine Private Ltd. , Vaisakhi Bio-Resources Private Ltd. แฮชเชอรี่ระดับต้นๆของอินเดีย มีความเชี่ยวชาญด้านการเพาะลูกกุ้ง ประธานสมาคมผู้ประกอบการโรงเพาะฟักลูกกุ้ง ของอินเดีย และอดีตประธาน Society of Aquaculture Professionals (SAP) นอกจากนี้ยังเก่งด้านทิศทางตลาดกุ้งที่หาตัวจับยาก
วิทยากรทั้ง 4 ประเทศซึ่งมีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้องค์ความรู้เป็นภาษาอังกฤษและมีศัพท์เฉพาะมากมายแต่ทางสหกรณ์ได้เชิญ ดร.พุทธ ส่องแสงจินดา ที่ปรึกษากรมประมง ด้านการจัดการระบบการเลี้ยงกุ้งทะเล คุณนิรันดร์ วารินทร์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม บริษัท ฟิวเจอร์ฟิช จำกัด
คุณญาณิศา กล่อมสุวรรณ และ คุณเขมิกา กล่อมสุวรรณ แห่ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด กระบี่เคี่ยงเส็ง คุณลักขณา บุญส่งศรีกุล กองประมงต่างประเทศ กรมประมง และ คุณเศรษฐพงศ์ สมจิตต์ นักวิชาการอิสระ ร่วมถอดความเห็นเป็นภาษาไทย ผ่านหูฟังเพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนา เข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง
ชาวนากุ้ง รวมตัวในรูปแบบสหกรณ์
ช่วง 20 กว่าปีที่แล้ว กุ้งกุลาดำ เริ่มชะลอตัวก็มี กุ้งขาว แวนนาไม ค่อยๆ แทรกเข้ามา ชาวนากุ้ง หลายจังหวัดได้รวมตัวในรูปสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง ณ ลุ่มน้ำต่างๆของประเทศ เช่น สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำแม่กลองฯ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปราณบุรี-สามร้อยยอดฯ และ สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด เป็นต้น มีการรวมตัวกันเป็นชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งแห่งประเทศไทย จนคนในวงการวิพากย์วิจารณ์กันมากมาย เพราะสหกรณ์คือ หน่วยงานธุรกิจประมง สังกัด กรมส่งเสริมสหกรณ์ หลายสหกรณ์กู้เงินจาก ธกส. มาทำธุรกิจกุ้งซึ่งเป็นครั้งแรกในไทยที่สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อ
ท่ามกลางความท้าทายในเรื่องการผลิตและการตลาดกุ้งที่ถูก “ปัจจัยลบ”ต่างๆกดดันจนหลายสหกรณ์ต้องหยุดกิจการพร้อมๆกับสลายตัวของชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง ที่ยังคงไว้แต่ความทรงจำ ก็มีสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ที่ยืนท้าทายมรสุมต่างๆจนเอาตัวเองรอดเป็น “เสาหลัก” ของสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งหลายแห่งที่ประคองตัวทุกวันนี้
การเกิดขึ้น และ ดำรงอยู่ของสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทองในห้วง ทศวรรษเศษล้วนต้องการใช้ “ฝีมือ” การบริหารและการจัดการจนสมาชิกส่วนใหญ่อยู่รอด
จำนวนสมาชิกและธุรกิจของสหกรณ์
คุณสุระศักดิ์ คำเงิน ผู้จัดการเปิดเผยว่า วันนี้สหกรณ์มีทั้งสมาชิกสามัญ และ สมาชิกสมทบ 595 คน มีทุนเรือนหุ้น 976,680 บาท บริหารงานโดย คณะกรรมการดำเนินการ 9 ท่าน ประกอบด้วย
ประธาน 1 ท่าน รองประธาน 2 ท่าน และคณะกรรมการ 6 ท่าน รวมเป็น 9 ท่าน ตามข้อบังคับของสหกรณ์และ พรบ.สหกรณ์ 2542 ต้องจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายใน 150 วันหลังจากวันสิ้นปีบัญชีเพื่อรายงานให้ที่ประชุมทราบผลดำเนินงานและแผนการดำเนินงานในปีถัดไป
สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ประกอบธุรกิจ 3 อย่าง ได้แก่ ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย เช่น เวชภัณฑ์ และ อาหารเสริมในกุ้ง ธุรกิจรวบรวมผลผลิต และธุรกิจแปรรูปผลผลิตการเกษตร และผลิตสินค้า
“ตอนนี้สมาชิกที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์มีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ สมาชิกทั้งหมด 595 คน แต่ที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ประมาณ 230-260 คน” คุณสุระศักดิ์ ให้ความเห็นและเปิดเผยว่า สินค้าที่สหกรณ์จำหน่ายเน้นหนักในเรื่องเวชภัณฑ์และอาหารเสริม ส่วน อาหารกุ้ง สมาชิกแต่ละฟาร์มจัดซื้อหาใช้เอง
“เราได้เชิญเกษตรกรเจ้าของฟาร์มใหญ่เป็นสมาชิกสหกรณ์ซึ่งแต่ละฟาร์มต่างก็มีบริษัทอาหารที่ดูแลอยู่ทำให้เรามีคอนเนคชั่นภาพรวมของสหกรณ์ทำให้บริษัท อาหารค่อนข้างเยอะ”
สินค้าของสหกรณ์เองที่ตั้งใจผลิตเพื่อสมาชิกได้แก่ จุลินทรีย์ ที่ใช้ขณะเลี้ยงกุ้งเพื่อบำบัดของเสีย และ บำบัดน้ำโดยสหกรณ์สั่งซื้อหัวเชื้อจาก บริษัท อะโกร ไบโอเมท จำกัด มาผลิตตามสูตรโดยควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้จุลินทรีย์ตามสูตรใช้แล้วได้ผลชัดเจน ขณะนี้สมาชิกร่วม 200 รายใช้ประจำมาหลายปี
ยามใดที่ ราคากุ้ง ตกต่ำกระทบต่อ สมาชิก สหกรณ์จะรับซื้อกุ้งเพื่อให้สมาชิกอยู่รอดโดยมี ห้องเย็นเข้ามาเป็นคู่ค้ากับสหกรณ์โดยตรง
จึงเห็นได้ว่าธุรกิจของสหกรณ์ทั้ง 3 อย่าง ต้องตอบโจทย์ความอยู่รอดของสมาชิกโดยตรง สอดคล้องกับเป้าหมายของการตั้งสหกรณ์ ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคม
ประเมินผลแผนธุรกิจของสหกรณ์ปี 2566
“ในปี 66 บางธุรกิจต่ำกว่าแผน บางธุรกิจใกล้เคียงแผน แต่โดยรวมแล้วผลประกอบการและผลกำไรของสหกรณ์เป็นที่น่าพอใจ” คุณสุระศักดิ์ ให้ความเห็นเพราะกำไรสุทธิล้านกว่าบาทท่ามกลางวิกฤตกุ้ง ต่อเนื่อง 3 ปี
หากเจาะลึกเข้าไปในการเลี้ยงกุ้ง ของสมาชิกแต่ละรายพบว่าความสามารถเฉพาะตัวเพื่อเลี้ยงกุ้งให้รอดมีกำไรกลายเป็นเงื่อนไขหลัก ดังนั้น สหกรณ์จึงต้องจัดงานสัมมนาทางวิชาการตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา
ไม่ว่าการเตรียมบ่อ เตรียมน้ำ เตรียมลูกกุ้ง การใช้เทคโนโลยีระหว่างเลี้ยงเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ โดยต้นทุนสมดุลกับราคากุ้ง แต่ละห้วงเวลา โดยเฉพาะการจัดการ “ ของเสีย” ในฟาร์มซึ่ง คุณสุระศักดิ์ ให้ความเห็นว่า “ เรื่องการจัดการของเสียดีกว่าเมื่อก่อนครับ เพราะเขาได้ความรู้ได้เทคโนโลยีการจัดการในบ่อมากขึ้นและงานวิชาการเรามีทุกปีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งให้สมาชิกของเราจัดการของเสียในบ่อได้ดีขึ้น”
แม้แต่เรื่อง “พลังงาน” เพื่อการเลี้ยงกุ้ง สมาชิกหลายคน จะหาพลังงานทางเลือกมาแทนไฟฟ้าของหลวงและทดแทนน้ำมันในการปั่นเครื่องตีน้ำ คุณสุระศักดิ์ ให้ความเห็นว่า ระบบโซลาเซลล์ ยังไม่สามารถทดแทนไฟหลวงได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงที่แสงแดดไม่พอแม้หลายบริษัทได้ปรับระบบมอเตอร์เครื่องตีน้ำให้สัมพันธ์กับไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ก็ยังทดแทนไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การใช้พลังงานของหลวงก็ยังจำเป็น
ความสำเร็จของสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ถูกขยายบทบาทเข้าสู่งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สมาชิกได้ทำงานสาธารณะประโยชน์ด้วยการบริจาคเงินปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ วันประมงแห่งชาติและจัดกิจกรรมปลูกป่ายชายเลน ส่วนงานด้านสังคมได้สนับสนุนผลผลิตกุ้งในกิจกรรมของดีเมืองสุราษฎร์ฯ และกาชาดจังหวัดบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินมอบให้โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์เพื่อสร้างอาคารผู้ป่วย หลังใหม่ บริจาคคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนบ้านท่าเพชร
ผู้สนับสนุนการจัดงานสัมมนา
สำหรับการจัดงานทางวิชาการปีนี้ คุณสุระศักดิ์ หรือ “บอย” เปิดเผยว่าได้รับการสนับสนุนหลักจาก 10 บริษัท ได้แก่ 1 .บริษัท กรีน เซเว่น ซัพพลาย จำกัด 2.บริษัท โกรเบสท์ คอร์โพเรชั่น จำกัด 3.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ทีเอสเอ อินฟินิตี้ อะกริ จำกัด 5.บริษัท เอเชี่ยน ฟีด จำกัด 6.บริษัท โภคา ฟีด จำกัด 7. บริษัท ที อาร์ เอฟ ฟีดมิลล์ จำกัด 8. บริษัท กรุงไทย อาหารสัตว์ จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท คาร์กิลล์ สยาม จำกัด 10.บริษัท อินเทคค์ โกลบอล จำกัด และผู้สนับสนุนเสริมอีก 47 บริษัท งบประมาณทั้งหมดถูกนำไปใช้ในการจัดงาน 2 วัน โดย คณะกรรมการสหกรณ์ และ คณะกรรมการจัดงาน ได้วางแผนงานโดย วันแรกงานสัมมนาวิชาการเพาะเลี้ยงกุ้ง เนื้อหาลงลึกถึงการผลิตกุ้งโดยวิทยากรขั้นเทพจาก 4 ประเทศ โดยใช้ ฐานข้อมูล จาก เอกวาดอร์ มาวิเคราะห์ด้วยในภาคเช้าและบ่ายสัมมนาเอาเนื้อหาภาคเช้ามาสังเคราะห์โดยคณะนักวิชาการไทยเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ส่วนวันที่ 2 ช่วงเช้าวิทยากรต่างประเทศทั้ง 4 ท่านจะลงลึกเรื่องตลาดโลก ช่วงบ่ายคณะนักวิชาการไทยนำข้อมูลมาสังเคราะห์เพื่อสรุปทิศทางตลาดกุ้งโลก
จึงเห็นได้ว่าการสัมมนาทั้ง 2 วัน จะทำให้คนในวงการอุตสาหกรรมกุ้งได้ข้อมูลครบทั้งการผลิตและการตลาด
ต้องยอมรับว่าการจัดงานสัมมนาระดับอินเตอร์ครั้งนี้ต้องใช้ทุนพอสมควร ดังนั้นคณะกรรมการสหกรณ์ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดการ ที่มีเจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่ เข้ามาร่วมได้แก่ ศรีสุบรรณฟาร์มสำราญฟาร์ม จักรพรรดิฟาร์ม แฮปปี้ฟาร์ม เป็นต้น ฟาร์มเหล่านี้ก็เป็นสมาชิกสหกรณ์นี้อยู่แล้ว “ที่เราเชิญสมาชิกสหกรณ์ฟาร์มใหญ่ๆเข้ามาเป็นคณะทำงานนอกจากจะเชิญวิทยากรสำคัญๆ มาให้เราแล้วเขายังช่วยขอผู้สนับสนุนหรือผู้ค้าปัจจัยการผลิตทั้งหลายเพราะเรามีค่าใช้จ่ายเยอะ” คุณสุระศักดิ์ ให้ความเห็น
แม้จะเป็นงานอินเตอร์แต่ก่อนจัดงานก็ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคเพราะมีประสบการณ์จัดมา 9 ครั้งๆ ที่ 10 จึงอินเตอร์ได้
กิจกรรมด้านสันทนาการ
สำหรับงานด้านกิจกรรมกึ่งสันทนาการครั้งนี้มีกิจกรรมพิเศษ นั่นคือ จัดประกวด มิสไทยชริมพ์ 2024 หรือ นางงามกุ้ง เพื่อคัดสาวสวยและเก่งเพื่อทำหน้าที่ พรีเซ็นเตอร์ ให้สหกรณ์และผู้ค้าปัจจัยการผลิตโดยนางงามกุ้ง ต้องทำสัญญากับสหกรณ์ว่าต้องปฏิบัติภารกิจต่างๆเช่น ช่วยเหลือสังคม หรือการร่วมรณรงค์ ในการบริโภคกุ้ง เป็นต้น ส่วนกิจกรรม ประมูลอาหารกุ้ง และประมูลลูกกุ้ง ก็เหมือนทุกปีส่วนงานบันเทิง รื่นเริงด้วยวงดนตรีพลพล พั้นซ์ และ วงบอดี้สแลม
งานนี้ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานพิธี และกล่าวเปิดงาน
ความวิริยะอุตสาหะ ของสมาชิกผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ในการร่วมสร้างองค์กรจนขับเคลื่อนผลงานโดดเด่นทุกปี สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด ที่มี คุณเยาวรัตน์ จันทร์หุ่น เป็นประธานและมี คุณสุระศักดิ์ คำเงิน เป็นผู้จัดการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ของคนเลี้ยงกุ้งทะเลทั่วประเทศ
ติดต่อ เลขที่ 155/18 หมู่ 1 ต.กะแดะ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฏร์ธานี โทร.063-078-1555
ขอขอบคุณภาพจาก สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำท่าทอง จำกัด
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับ 419