ฉลวยฟาร์มจับมือสำรวยฟาร์ม รวยด้วย กุ้งก้ามเพศผู้ก้ามทอง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปกเว็ปฉลวยฟาร์ม จับมือสำรวยฟาร์ม

อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มีพื้นทั้งหมด 405,019 ตารางกิโลเมตร ประชากรมี 2564 ประมาณ 126,281 คน ความหนาแน่น 311.79 คน/ตารางกิโลเมตร คำขวัญของอำเภอ “เมืองเก่าโบราณสถานผลิตนักบินประเทศ แหล่งบัณฑิตการเกษตร เขตพื้นดินเนื้อดี อนุสาวรีย์อินทรศักดิ์ศจี ปฐมพีแห่งความร่มเย็น” เนื่องจากเป็นเมืองที่มีพื้นดินเนื้อดี ก่อให้เกิดอาชีพเกษตรกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะ “ที่ราบลุ่ม” กลายเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่าง “กุ้งก้ามกราม” หลายปี ประกอบกับเป็นเมืองที่อุดมไปด้วย “น้ำจืด” มีเส้นท่อของกรมชลประทานผ่านเข้าพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อดินดี น้ำอุดม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรหลายตำบล ประกอบกับอยู่ใกล้กรุงเทพ การคมนาคมสะดวก ผลผลิตการประมงและเกษตรสู่ “ตลาด” ได้ง่าย ใกล้แหล่งสถาบันการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสน มีสถานีวิจัยประมง แหล่งให้ความรู้ และเผยแพร่พันธุ์สัตว์น้ำ อย่างลูกปลานิล ลูกปลาหมอ ลูกปลาตะเพียน และลูกปลายี่สก เป็นต้น คู่ขนานไปกับภาคเอกชนผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพศผู้ และสัตว์น้ำต่างๆ อย่าง สำรวยฟาร์ม ที่มีฝีมือการเพาะลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้คัดพิเศษ เป็นฟาร์มมาตรฐานของกรมประมง มีใบอนุญาตส่งออกกุ้ง (สอ-3) คุณสำรวย บุญมี ผู้ทุ่มเทพัฒนาลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้ให้มีคุณภาพเลี้ยงแล้วกุ้งโตสม่ำเสมอ ไม่แคระแกรน มีคู่ค้าบ่อดินแบบถาวรอย่าง ฉลวยฟาร์ม เป็นต้น

คุณฉลวย ทองมอญ เปิดเผยเทคนิคการเลี้ยงกุ้งให้ได้กำไร

คุณฉลวย ทองมอญ และ คุณสำรวย บุญมี
คุณฉลวย ทองมอญ และ คุณสำรวย บุญมี

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 คุณฉลวย ทองมอญ  ได้เปิดใจกับ ทีมงานพลังเกษตร และ นิตยสารสัตว์น้ำ ว่าตนเลี้ยงกุ้งก้ามกรามปนกับกุ้งขาวแวนนาไม มากว่า 20 ปี  บนพื้นที่ร่วม 200 ไร่ แม้ต้อง เช่าไร่ละ 5,000 บาท /ปีก็คุ้ม เพราะการเลี้ยงกุ้งแบบกึ่งพัฒนาขนาดบ่อประมาณบ่อละ 10 ไร่ จำวน 78 บ่อ เป็นบ่อดินล้วน โดยใช้ลูกกุ้งก้ามกรามเพศผู้ และลูกกุ้งขาวแวนนาไม  20% ที่ต้องเลี้ยงปนกันเพื่อให้มันรบกวนกัน จนกุ้งก้ามกรามอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ต้องออกกำลังกาย แต่ด้วยความที่เลี้ยงกุ้งไม่หนาแน่น ปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามไร่ละ 4,500 ตัว และกุ้งขาวประมาณ 1,000 ตัว โดยปล่อยให้ห่างกันครึ่งเดือน เพื่อให้กุ้งขาวโตจนกินอาหารได้นอกจากนั้นการเลี้ยงในเขตกำแพงแสนมีโรคเยอะ เมื่อเลี้ยงบาง ๆ ปนกันจึงไม่กังวลเรื่องโรค ดังนั้น 20 กว่าปีไม่เจอโรค  ในเรื่องการเตรียมบ่อก็ไม่ยุ่งยาก ลง “ปูนขาว” เพื่อฆ่าเชื้อ ปล่อยน้ำเข้าบ่อลึกเมตรกว่า แล้วปล่อยลูกกุ้งโดยชำไว้ 2 เดือน จากนั้นก็เลี้ยงในบ่อ 3 เดือนครึ่ง รวม 5 เดือนครึ่ง ก็ขายได้ เพราะเมื่อย้ายบ่อกุ้งจะได้น้ำใหม่โตไว “ผมวางแผนไว้ว่าเมื่อเลี้ยงได้ 1 เดือนก็เอามาชำอีก 2 – 2.5 เดือน ก็ย้ายออกใส่จนเต็ม จะทำเป็นรอบ ๆ ต้องวางแผนให้ได้รอบเพราะค่าพันธุ์กุ้งรอบละเป็นล้านบาท” คุณฉลวยเปิดเผย ถึงการวางแผนการเลี้ยงให้สอดคล้องกับผู้ขายพันธุ์ลูกกุ้งนั่นเอง

กุ้งก้ามฯจากบ่อคุณสำรวย
กุ้งก้ามฯจากบ่อคุณสำรวย (เจ้าของพันธุ์ลูกกุ้งที่ฉลวยฟาร์มเลี้ยง)

เรื่องลูกกุ้งเป็นเรื่องใหญ่ คุณฉลวยสั่งลูกกุ้งจากฟาร์มดัง ๆ ระดับประเทศ เอ่ยชื่อร้องอ๋อ เพราะศรัทธาในแบรนด์ดังๆ ปรากฏว่าเลี้ยงไม่ถึง 3 เดือนตาย แต่วันนี้ร่วมกับ สำรวยฟาร์ม เพราะลูกกุ้งเลี้ยงแล้วโตทำแล้วกำไรมาตลอด มีเกษตรกรถามหาจนคุณสำรวย ต้องวางแผนการผลิตคอย่างรัดกุม โดยให้ลูกชายมาช่วย ลูกน้องทำไม่ทันกับความต้องการที่มากขึ้น ขณะที่คุณสำรวยก็เช่าที่ 50ไร่ เลี้ยงกุ้งเช่นกัน นอกจากจะพิสูจน์ลูกกุ้งและ อาหารกุ้ง แล้ว ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งโดยมีคุณฉลวยเป็นที่ปรึกษาพูดง่ายๆ ว่า เข้าขาทำธุรกิจกุ้งก้ามกรามนั่นเอง

บ่อกุ้ง ฉลวยฟาร์ม
บ่อกุ้ง ฉลวยฟาร์ม

การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม 200 กว่าไร่ ใช้คนดูแล และบริหารไม่เกิน 6 คน โดยให้อาหารด้วยการหว่าน  เช้า-เย็น ยกเว้นหน้าหนาวจะให้มื้อเดียว ซึ่งเป็นอาหารแบรนด์ เจ-วัน ยี่ห้อเดียวเท่านั้น เพราะมีโปรตีน 38% เป็นอาหารละลายช้า และคุณสำรวยก็ใช้ยี่ห้อ เจ-วัน บริษัทเดียวกัน เมื่อการเลี้ยงปลอดสาร คุณฉลวยก็ต้องใช้ จุลินทรีย์น้ำ สาดทั่วบ่อ โดยใส่ไร่ละ 1 แกลลอน ขนาด 20 ลิตร ในด้านผลผลิต จับปีละ 3 ครั้ง หรือทุก 4 เดือน จับกุ้งขาย  วันนี้พ่อค้าแย่งกันซื้อทำให้ ตลาด เป็นของเกษตรกร ยิ่งเป็นฟาร์ม GAP ของกรมประมง ความน่าเชื่อถือสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ว่าเป็นกุ้งปลอดสาร พ่อค้าเชื่อถือ ดังนั้น ขายกุ้งขาวแวนนาไมชดใช้ต้นทุนทั้งหมด ส่วนยอดขายกุ้งก้ามกรามถือว่าเป็นกำไรสุทธิ

นี่คือ “กำไร”  ที่เกิดจากการจับมือกันของ 2 ฟาร์ม ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยที่ทีมเวิร์ค ย่อมดีกว่าวันแมนโชว์

สนใจเรียนรู้เพิ่มเติม เรื่องการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน ติดต่อ คุณสำรวย บุญมี เบอร์  โทร. 081-857-8771

 

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับ 426/2568

 

ใบสมัครสมาชิก