ปลูกมะลิ รายได้ดี เก็บขายได้ตลอดปี
การปลูกมะลิ ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถปลูกได้ทุกแห่งไม่จำกัดขนาดพื้นที่และทำเล เหตุนี้จึงมีผู้ ปลูกมะลิ แบบมือสมัครเล่นจำนวนมาก ซึ่ง การปลูกมะลิ เป็นอาชีพนั้นมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งเป็นตัวกำหนดราคาคือ ดอกมะลิ จะต้องมีความสดและสมบูรณ์ นอกจากนี้ แรงงานเก็บก็เป็นค่าต้นทุนหลัก ควรคิดคำนวนค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ สอบถามกับผู้ที่เคยทำอยู่แล้ว หรือค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติม ให้มั่นใจก่อนลงทุน
อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญคือ การขนส่ง
พื้นที่ ปลูกมะลิ ที่สำคัญจึงมักอยู่ใกล้เมืองหลวง มีตลาดรองรับมาก การขนส่งไม่ไกลเพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องความเสียหาย ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้องและเหมาะสมรวมถึงการปฏิบัติดูแลเอาใจใส่แปลงปลูกพืชอย่างสม่ำเสมอของเกษตรกร มีการบริหารจัดการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้ได้ผลผลิตสูง และผลตอบแทนคุ้มค่า
สำหรับ คุณมนตรี ผู้ผลิตดอกมะลิที่จังหวัดสมุทรสาคร ป้อนตลาดปากคลองตลาดที่กรุงเทพฯ ช่ำชองทำมานานกว่า 26 ปี ลงทุนเพียงครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานอย่างน้อย 10 ปี และสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งเขายังปลูกกล้วยไม้ควบคู่กับมะลิอีกด้วย ปัจจุบันมีเนื้อที่สวนมะลิ 10 ไร่ และสวนกล้วยไม้ 7 ไร่
มนตรีเล่าถึงจุดเริ่มต้นการปลูกมะลิ ว่า ความจริงเขามีอาชีพเป็นชาวสวนกล้วยไม้ แต่ด้วยมีพื้นที่ไม่มากพอจะยึดเป็นอาชีพได้ เพราะการลงทุนสวนกล้วยไม้ ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะคืนทุน และช่วงนี้ราคากล้วยไม้ตัดดอกถูกมาก ถ้าลงทุนเพิ่ม จะไปไม่รอด
“เพราะมีราคากล้วยไม้ตัดดอกถูกมาก แทบไม่พอค่าแรงคนงาน แต่ก็ยังดี เราทำไม้ไม่เยอะ ทำให้การจัดการดูแลง่ายกว่าสวนขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานมาก และกลายเป็นว่าสวนเล็กได้เงินมากกว่าสวนใหญ่ๆ ในช่วงเวลาแบบนี้”
เขาจึงคิดอยากลงทุนปลูกอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ใช้เงินทุนไม่มากนัก ลงทุนครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นานหลายปีและตลอดทั้งปี จนพบเข้ากับมะลิ เมื่อเห็นว่ามีรายได้ดีจริง เขาจึงมองว่าเส้นทางอาชีพนี้น่าจะถูกโฉลกกับเขา
“ส่วนสวนมะลิทำแล้วสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องลงทุนมาก เมื่อเก็บดอกไปขายก็นำเงินมาทำทุนต่อหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ” มนตรีเล่าถึงสาเหตุที่ทำมะลิควบคู่กับกล้วยไม้
มะลิ มีลักษณะต้นเป็นไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้รอเลื้อย มีทั้งชนิดใบเดี่ยวและใบรวม การจัดเรียงตัวของใบมีทั้งแบบใบอยู่ตรงข้ามกัน ใบแบบสลับกัน ดอกมีสีขาว กลีบดอกมีทั้งชั้นเดียวและหลายชั้น เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อ ดอกจะออกจากยอดหรือข้างกิ่ง โดยปกติดอกจะเริ่มบานในเวลาบ่าย และร่วงในวันรุ่งขึ้น มะลิจะให้ดอกมากในฤดูร้อนและฤดูฝน ผลผลิตจะลดต่ำลงในฤดูหนาว
มะลิมีหลากหลายพันธุ์ พันธุที่สวนปลูกเรียกว่า พันธุ์เพชรบุรี เพราะมาจากจังหวัดเพชรบุรี
“เมื่อก่อนรุ่นแรกๆ พันธุ์มะลิจะมีไม่เยอะ เพราะว่าการขายสมัยนั้นยังไม่ทันสมัยอย่างปัจจุบันนี้ จะขายได้เฉพาะตอนกลางวัน และถ้าขายเหลือก็ต้องทิ้งของวันนั้นๆ เลย
“ปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นมาก สามารถเก็บรักษาดอกมะลิได้ด้วยวิธีแช่น้ำแข็ง แต่ไม่สามารถแช่ในห้องเย็นหรือตู้เย็นได้ เพราะเย็นเกิน เมื่อนำออกมาแล้วดอกหายเย็น ดอกจะดำช้ำเสียเร็ว” มนตรีพูดถึงเทคโนโลยีการผลิตมะลิในปัจจุบัน
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ที่นิยมมากที่สุด คือ การปักชำ เป็นวิธีการที่ทำง่าย สะดวก และรวดเร็ว
มีขั้นตอนคือ เตรียมวัสดุเพาะชำ โดยใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ บรรจุในถุงเพาะหรือตะกร้า แล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นเตรียมกิ่งพันธุ์ กิ่งที่ใช้จะเป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดให้มีความยาวประมาณ 1 คืบมือ หรือมีข้ออย่างน้อย 2 ข้อ
ปลิดใบส่วนล่างออกให้เหลือใบคู่บนสุด 1 คู่ ตัดใบออกให้เหลือเพียงครึ่งใบเพื่อลดการคายน้ำ นำกิ่งมะลิที่เตรียมไว้ปักชำลงในถุงเพาะหรือตะกร้า จากนั้นรดน้ำและสารกันเชื้อรา รักษาความชื้นให้เหมาะสม จนแข็งแรงสามารถนำไป ปลูกมะลิ ได้
“เมื่อต้นออกราก คนขายจะถอนขึ้นมามัดเป็นตุ้มๆ ไว้รอขาย ต้นละ 1 บาท ตอนนี้ราคาน่าจะขึ้นเป็น 2 บาทกว่า แต่ถ้าเพาะชำเป็นถุง ราคาจะแพงขึ้นอีก
“ ปลูกมะลิ ส่วนใหญ่อัตราการตายน้อยมาก ถ้าต้นจะตายส่วนใหญ่จะเกิดที่ต้นอายุ 1 ปี สาเหตุเกิดจากเชื้อราในดิน มีตายไปเยอะเหมือนกัน” มนตรีพูดถึงสาเหตุการตายของต้นกล้าส่วนใหญ่
การปลูกมะลิ
มะลิจะเติบโตได้ดีเมื่อได้รับแสงแดดเต็มที่ ดินมีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์ ที่สำคัญแปลงปลูกต้องมีการระบายน้ำดี
ถ้าเป็นสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง อย่างภาคกลาง ควรยกร่องขุดคันดินแปลงปลูกให้สูง กว้างประมาณ 1 เมตร หรือร่องหนึ่งปลูกได้ 3 แถว ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และความชอบของผู้ ปลูกมะลิ เลี้ยงด้วย เช่น บางคนต้องการให้ต้นสูงหรือทรงพุ่มเตี้ย มักจะ ปลูกมะลิ เว้นระยะห่างระหว่างต้นไม่มาก เพื่อบังคับให้ต้นสูง
“ถ้าเป็นพื้นที่ภาคกลางต้องเตรียมแปลง ปลูกมะลิโดยยกร่อง เพราะสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว หากไม่ยกร่องอาจเกิดน้ำขัง รากจะเน่าเสียหาย และเพื่อสูบน้ำเข้าสวนในช่วงฤดูแล้งด้วย” มนตรีให้เหตุผลการยกร่องแปลง ปลูกมะลิ
การดูแลรักษา
การให้น้ำ
สวนแห่งนี้จะจะรดน้ำ 3-4 วัน/ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน
การให้ปุ๋ย
จะใส่ก่อนตัดแต่งประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่อตัดแต่งแล้วต้นจะได้มีธาตุอาหารในการเจริญเติบโต และให้นับวันหลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรกมา 25 วัน เพื่อใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เป็นช่วงที่ต้นมีดอกพอดี เมื่อต้นกินปุ๋ยจะทำให้ดอกกรอบ ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ส่วนรุ่นต่อไปจะมีดอกเร็วขึ้นเพราะมีปุ๋ยอยู่
“มะลิจะใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ต่างๆ ไม่ได้เลย เนื่องจากจะทำให้เกิดเชื้อราในดิน
“ตอนแรกๆ เราไม่รู้ นำมูลนกกระทาไปใส่ ผ่านไปไม่กี่เดือน ต้นตาย เพราะดินเป็นเชื้อรา
“ถ้าเป็นน้ำหมักก็พอจะได้ แต่คือมะลิทำเป็นรุ่นๆ รุ่นหนึ่งไม่กี่เดือน เราจะมัวไปใช้ปุ๋ยชีวภาพอยู่ไม่ได้ มันช้า กว่ามันจะไปปรับสภาพดิน จึงใช้แต่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใส่ไป 2-3 วัน ดอกก็งาม” ลุงมนตรีเล่าจากประสบการณ์ตรง
การตัดแต่ง
ควรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งและตายออก จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคและแมลงลดน้อยลง มะลิมีอายุยืนยาวขึ้น ให้ดอกมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้มีความสะดวกในการเก็บเกี่ยว
ใน 1 ปีสวนจะตัดแต่ง 2 ครั้ง เพื่อให้ต้นโปร่งโล่ง ง่ายต่อการดูแลรักษา อีกทั้งยังสามารถบังคับให้ออกดอกได้ตามต้องการ ว่าจะให้ออกดอกเป็นรุ่นๆ สามารถนับได้
ลุงมนตรีบอกว่าในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะใช้เวลาประมาณ 27 วัน ถึงเก็บเกี่ยวได้ แต่ถ้าตัดแต่งช่วงฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนตุลาคม ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีกลางวันสั้น
ถ้าฤดูหนาวแล้วตัดแต่งในเดือนธันวาคม จะใช้เวลานานขึ้นเป็นเดือนครึ่ง ยิ่งหนาวอากาศเย็นมาก ยิ่งใช้เวลานาน เช่น ต้องการให้ออกดอกช่วงฤดูหนาว ลุงเคยตัดแต่งต้องใช้เวลา 45 วันถึงเก็บผลผลิตได้ ถือว่าคุ้มค่า เพราะเป็นช่วง ปลูกมะลิ ราคาดี
การตัดแต่งแปลงหนึ่งควรแบ่งเป็น 2 รุ่น ไม่เช่นนั้นจะเก็บผลผลิตไม่ทัน ดอกดกมาก
“ช่วงนี้ถือว่าไม่ดก ถ้าดอกดก มองไปจะเห็นดอกสีขาวเต็มต้นเลย”
การเด็ดยอด
ช่วยให้ต้นมีดอกมากขึ้น ดอกดก โดยเด็ดกิ่งที่ยืดยาวออก เพราะกิ่งนั้นจะไม่ให้ดอก หากรอให้ต้นแตกยอดเองจะใช้ระยะเวลานาน จึงช่วยเด็ดเพื่อให้ต้นแตกยอดใหม่และมีดอก
“จ้างคนเก็บมะลิ ไม่มีใครเด็ดให้เราหรอก นอกจากเราจะเด็ดเอง จะสังเกตว่าเราเก็บเองตรงไหน ตรงนั้นจะดอกดกกว่าที่อื่น และเราจะรู้ว่ากิ่งไหนสมควรจะเด็ด เพื่อให้แตกยอดอีก”
ศัตรูมะลิ
ที่สำคัญคือ หนอนเจาะดอก ลำตัวมีขนาดเล็ก สีเขียว ระบาดมากในฤดูฝน ทำให้ดอกเสียหายมาก โดยการเจาะกัดกินดอก ทำให้ดอกเป็นรูและผิดรูปร่าง เมื่อหนอนดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกจะทำให้กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วง หากป้องกันไม่ทันจะเกิดความเสียหายมาก สามารถสังเกตได้จากสีของดอก ดอกที่มีหนอนเจาะดอกอาศัยอยู่สีจะหมองๆ กว่าดอกปกติ
วิธีป้องกัน พ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เช่น อีมาเม็กติน (emamectin) เป็นต้น โดยสวนจะพ่นยาเฉพาะตอนเย็น ประมาณ 17:00 น. เป็นช่วงที่หนอนออกหากิน และอีกเหตุผลหนึ่งคือสารเคมีเหล่านี้จะถูกแดดไม่ได้ เพราะตัวยาจะเสื่อมสภาพเร็ว ประสิทธิภาพจะด้อยลง
“ช่วงนี้ไม่ได้ฉีดยาเลยนะ ธรรมชาติ คือ ประมาณปลายเดือนมีนาคม เราจะหยุดฉีดยา เพราะราคาจะเริ่มถูก ฉีดยาไม่ไหว ไม่คุ้ม จะหยุดพักแล้วรดน้ำอย่างเดียว ประมาณเดือนครึ่งหนอนที่เคยมีจะหายไป สาเหตุน่าจะเกิดจากอากาศร้อนมากหนอนเกิดไม่ได้ ตายหมด”
การเก็บเกี่ยว
ลุงมนตรีบอกว่า ปลูกมะลิ ต้องเก็บทุกวัน ถ้าไม่เก็บ ดอกจะบานช่วงบ่าย และเมื่อดอกบานแล้วจะทำให้ยากต่อการเก็บดอกตูมที่ต้องการ เนื่องจากดอกจะบดบังกัน อย่างน้อยหากเก็บไม่ทันจริงๆ ก็ควรเก็บให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
การเก็บเกี่ยว ดอกมะลิ ต้องเก็บขณะดอกตูม สีขาวนวล วิธีเก็บให้ใช้มือเด็ดตรงก้านดอกใต้กลีบเลี้ยง ควรเก็บดอกตอนเช้า
ราคาของ ดอกมะลิ จะขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในการซื้อขายจะเรียกกันว่า “ลิตร” ใน 1 ลิตรเท่ากับ 7 ขีด ลักษณะดอกแห้ง
“เนื่องจากหลังเก็บเกี่ยว ดอกมะลิ จากสวน จะลดอุณหภูมิด้วยการล้างน้ำเย็นก่อนจนดอกสดแข็ง บรรจุ ดอกมะลิ ใส่ถุงพลาสติก โดยไม่เอาน้ำแข็ง แล้วเทน้ำออกให้มากที่สุด เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพฯ น้ำจะไหลมารวมกันก้นถุง ผู้รับซื้อจะตัดก้นถุงออกเพื่อปล่อยน้ำทิ้งให้หมด แล้วเขาจึงจะชั่งน้ำหนักดอกมะลิให้เรา
“ฉะนั้นที่ร้านขายดอกมะลิจะแห้ง ขาย 6 ขีด ส่วนร้านเล็กๆ จะขาย 7 ขีด เพราะมีน้ำแข็งปนอยู่ด้วย ระยะหลังร้านอยู่ไม่ได้จึงต้องปรับให้เท่ากันหมดคือ 7 ขีด ทำให้ส่งผลกระทบมาถึงสวน”
ลุงมนตรีบอกว่า ตอนนี้ราคาดอกมะลิอยู่ที่ 100 กว่าบาท ดีหน่อยว่าช่วงนี้เราไม่ได้ฉีดยา จึงยังพออยู่ได้ เพราะถ้าหาก รวมค่ายาแล้วแทบจะไม่เหลืออะไรเลย
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
ในการขนส่ง ดอกมะลิ จะพบปัญหาดอกช้ำ ดอกเน่าเสียเมื่อถึงปลายทาง ดังนั้นการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวจนถึงบรรจุหีบห่อ เพื่อขนส่งให้ ดอกมะลิ ได้รับความเสียหายน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
วิธีการลดอุณหภูมิโดยใช้ความเย็นจากน้ำแข็งในกล่องโฟม สามารถช่วยรักษาความสดใหม่ของดอกมะลิและเกิดความเสียหายหรือบอบช้ำน้อยที่สุด โดยมีขั้นตอนดังนี้
หลังจากเก็บเกี่ยวดอกมะลิจากสวน จะต้องล้างดอกมะลิด้วยน้ำจากร่องสวนก่อนเพื่อกระตุ้นให้รู้ตัว หลังจากนั้นจึงนำลงในน้ำเย็น ซาวน้ำ 2-3 นาที จนเราสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ว่า ดอกสด แข็ง กรอบ แล้วนำดอกมะลิบรรจุในถุงพลาสติก โดยสวนจะใช้ถุงขนาดใหญ่ ถุงละ 20 กิโลกรัม และเนื่องจากสวนอยู่ห่างจากจุดรับซื้อไม่ไกลมาก ทางสวนจึงไม่จำเป็นต้องหล่อน้ำแข็งในการเดินทาง
แต่หากสวนอื่นที่มีระยะห่างจากกรุงเทพฯมาก อย่างเพชรบุรี เขาจะลดอุณหภูมิของดอกมะลิด้วยความเย็นจากน้ำแข็งในกล่องโฟม โดยใช้น้ำแข็งเกล็ดปูที่พื้นกล่อง นำดอกมะลิบรรจุในถุงพลาสติกวางลงในกล่อง ปูทับด้วยน้ำแข็งเกล็ดและนำส่งผู้ซื้อ
ปัญหา-อุปสรรค
ลุงมนตรีเล่าว่า ช่วง ดอกมะลิในประเทศมีราคาแพงมากๆ พ่อค้า-แม่ค้าจะนำเข้าจากอินโดนีเซีย กิโลกรัมละ 400-500 บาท ทำให้มากดราคา มะลิของบ้านเราไม่สามารถขยับขึ้นสูงได้ ถ้าขายแพงคนก็ไม่ซื้อ คนก็เลือกไปใช้ ดอกมะลิ อินโดฯ
ทั้งๆ ที่คุณภาพต่างกันมาก เนื่องจากมะลิอินโดฯ ดอกใหญ่อย่างเดียว แต่คุณภาพดอกจะนิ่มทั้งกลีบดอก และก้านดอก ผมเคยถามผู้นำเข้าว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เขาบอกว่าที่อินโดฯนั้นทุรกันดารมาก และหลังเก็บ ดอกมะลิ จากสวนแล้วกว่าจะนำมาล้างน้ำเย็นใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ดอกก็นิ่มและเหี่ยวเฉาหมดแล้ว
“โดยธรรมชาติของ ดอกมะลิ เมื่อดอกนิ่มเหี่ยวไปแล้วถึงจะมาล้างน้ำอย่างไรดอกก็ไม่คืนตัวกลับ ยิ่งอากาศร้อนๆ ต้องไม่เกิน 1 ชม. ต้องรีบนำมาล้างน้ำก่อน แล้วใส่กล่องโฟมปูน้ำแข็งทับไว้” มนตรีกล่าว
ขอขอบคุณ
คุณมนตรี
ปลูกมะลิ
การปลูกมะลิ, การปลูกดอกมะลิ, ปลูกดอกมะลิ, วิธีปลูกดอกมะลิ, วิธีปลูกมะลิ, ปลูกอะไรได้เงินดี, ปลูกมะลิ, การปลูกมะลิ, การปลูกดอกมะลิ, ปลูกดอกมะลิ, วิธีปลูกดอกมะลิ, วิธีปลูกมะลิ, ปลูกอะไรได้เงินดี