ชมพู่ทับทิมจันทร์ นอกฤดู มาตรฐาน GAP เพิ่มรายได้ต่อเนื่อง
: ขอขอบคุณ นิตยสารเมืองไม้ผล สำหรับการแบ่งปันบทความเกษตรดี ๆ
เมื่อเทียบการทำสวนไม้ผลในอดีตกับปัจจุบันนี้จะเห็นว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ชาวสวนไม้ผลต้องเรียนรู้ทักษะและวิธีการผลิตไม้ผลให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพภายใต้สภาวะอากาศที่แปรปรวน
โดยเฉพาะการทำไม้ผลนอกฤดูนั้นยิ่งต้องใช้ฝีมือ ทักษะและความชำนาญอย่างยิ่งเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของ “ การทำเกษตรเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น ”
โดยเฉพาะการทำ “ สวนชมพู่ทับทิมจันทร์ หรือ ชมพู่แดง ”ในพื้นที่ภาคตะวันตกที่ “ จังหวัดราชบุรี ” ที่มีชื่อเสียงมาอย่างช้านานเหมาะสำหรับเป็นของดี ของฝากจากเมืองราชบุรีที่มากด้วยคุณค่าและมูลค่าที่มีอยู่ภายในตัวของชมพู่ทับทิมจันทร์
ส่งผลให้ นาย สมชาย เจริญสุข ปราชญ์เกษตรและเกษตรกรต้นแบบจังหวัดราชบุรี มุ่งมั่นสร้าง “ สวนชมพู่ทับทิมจันทร์ ” บนเนื้อที่ 15 ไร่ ขึ้นมาด้วยความรัก ความเอาใจใส่ หมั่นดูแลรักษา พัฒนาการจัดการให้มีประสิทธิภาพจนกระทั่งประสบความสำเร็จ
สามารถพัฒนาสวนชมพู่ทับทิมจันทร์ที่ได้มาตรฐานการส่งออก เป็นสวนต้นแบบ เป็นปราชญ์เกษตรคนดังของจังหวัดราชบุรีในเวลาต่อมา โดยมุ่งเน้นการทำ “ ผลผลิตชมพู่ทับทิมจันทร์นอกฤดู ” ที่ผลผลิตมีราคาสูงกว่าผลผลิตในฤดูกาลหลายเท่าตัว
สร้างรายได้ที่ดีให้กับคุณสมชายเรื่อยมาโดยมีสัดส่วนของต้นชมพู่อายุ 20 ปี จำนวน 200 ต้นที่ผ่านการทำสาวมาแล้วเพื่อการให้ผลผลิตที่ดี และอายุ 7 ปี จำนวน 350 ต้น รวมเป็นจำนวน 550 ต้น ซึ่งปกติชมพู่จะให้ผลผลิตได้เต็มเมื่อมีอายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไปโดยต้องตัดแต่งทรงพุ่มให้เป็นรูปทรงร่ม
คุณสมชาย เผยถึงเส้นทางก่อนหันมาทำสวน ชมพู่ทับทิมจันทร์ ว่าเดิมทีได้ยึดการทำ “ สวนมะนาว ” ที่มีการจัดการค่อนข้างมาก แต่ด้วยราคาผลผลิตค่อนข้างดีจึงยึดอาชีพการทำสวนมะนาวเรื่อยมา จนกระทั่งผลผลิตมะนาวเริ่มราคาตกต่ำ ทำให้รายได้แทบไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ราคาขายเกือบเท่ากับต้นทุน
และมีบางช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำจนถึงขั้นต้องชั่งมะนาวขายกันแบบเป็นกิโลเลยทีเดียว ทำให้คุณสมชายเริ่มมองหาพืชอื่นมาปลูกทดแทนมะนาว จนกระทั่งได้รู้จักกับ “ ชมพู่ทับทิมจันทร์ หรือ ชมพู่แดง ” ที่มีเกษตรกรภาคตะวันออกนำเข้าสายพันธุ์นี้มาจากประเทศอินโดนีเซียเพื่อนำมาปลูกในประเทศไทย
จึงเกิดความสนใจในสีสันและคุณภาพของผลผลิตที่ไม่ต้องห่อแถมยังราคาสูงมาก จึงตัดสินใจนำกิ่งพันธุ์มาปลูกแซมระหว่างต้นมะนาวบนเนื้อที่ 5 ไร่ในปีที่ 2 ของการนำชมพู่สายพันธุ์นี้เข้ามาในประเทศไทยก่อนจะตัดต้นมะนาวทิ้งและหันมาทำสวนชมพู่ในระบบร่องเดี่ยวจนเต็มพื้นที่ 15 ไร่ในเวลาต่อมา
เดิมทีการดูแลสวนชมพู่ในเบื้องต้นจะเน้นการดูแลต้นมะนาวไปพร้อมๆกับการดูแลต้นชมพู่ที่แซมต้นมะนาวด้วยระบบร่องเดี่ยวประมาณปี 2545 โดยไม่มีโรคและแมลงรบกวนเพราะเป็นพืชใหม่ของพื้นที่จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตของชมพู่แดงได้ขายในราคาต่ำสุดที่ 40-100 บาท / กก. ขึ้นอยู่กับคุณภาพผลผลิต
ข้อดีของชมพู่ทับทิมจันทร์
ซึ่ง “ ข้อดี ” ของชมพู่สายพันธุ์นี้ก็คือ ผลผลิตจะมีรูปทรงระฆัง เนื้อแน่น เนื้อหนา รสหวานปานกลาง เนื้อกรอบ สีสันสวยงาม ผลผลิตเก็บได้นาน เสียหายน้อยกว่าผลผลิตทั่วไป มีเส้นใยสูงซึ่งเหมาะกับคนรักสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งการปลูกชมพู่ที่จังหวัดราชบุรีในยุคนั้นยังเป็นพื้นที่ใหม่ในการ ปลูกชมพู่แดง
ทำให้การดูแลรักษาชมพู่ช่วงแรกๆค่อนข้างปลูกง่าย ดูแลรักษาง่าย โดยไม่ต้องห่อผลผลิต หลังจากนั้นก็มีเกษตรกรสนใจและหันมาปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์กันมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อต้นชมพู่ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ก็เริ่มเกิดปัญหาขึ้น เริ่มมีโรคและแมลงเกิดขึ้นในพื้นที่สวนชมพู่จึงต้องเรียนรู้การแก้ปัญหา
ต้องห่อผลผลิตแต่ก็ติดปัญหาเรื่องยอดเดินเมื่อห่อผลแล้ว ส่งผลให้คุณสมชายต้องเรียนรู้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้และต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปีถึงจะเข้าใจในเรื่องชมพู่ตลอดจนทุกปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งการตัดต้นมะนาวทิ้งไปให้เหลือเพียงต้นชมพู่เพียงย่างเดียว ในขณะที่ราคาผลผลิตชมพู่ทับทิมจันทร์นั้นยังมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เส้นทางสู่แชมป์
นั่นจึงเป็นที่มาของการเรียนรู้การผลิตชมพู่ทับทิมจันทร์อย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้นด้วยการนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการทำสวนชมพู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งเริ่มมีการประกวดชมพู่แดงขึ้นทำให้คุณสมชายจึงตัดสินใจส่งผลผลิตเข้าประกวดในปี 2547 ซึ่งไม่ติดรางวัลใดๆเลย
จึงเห็นว่าการประกวดผลผลิตเป็นสิ่งที่ท้าทายและพิสูจน์ความสามารถของเกษตรกร จึงได้เร่งพัฒนา สวนชมพู่อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการตัดแต่งกิ่ง การดูแลรักษา ต้นชมพู่ ให้สมบูรณ์ การให้น้ำ การควบคุมโรคและแมลง การตัดแต่งดอกและผล การห่อผลผลิต การให้ปุ๋ยบำรุงผลผลิตตลอดจนการดูแลรักษาผลผิตให้ได้ทั้งขนาดและคุณภาพ
ก่อนที่จะตัดสินใจนำผลผลิตส่งเข้าประกวดอีกครั้งในปีถัดมา (ปี 2548) จนกรทั่งผลผลิตของคุณสมชายได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2
“ มันคือรางวัลที่นำมาซึ่งความภูมิใจ นั่นคือรางวัลแห่งความตั้งใจ โดยที่เราไม่มีอะไรเลย บางคนแม้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะมันเป็นการประกวดระดับประเทศที่ ม.เกษตร และ ม.กำแพงแสน ที่ท้ายทายตัวเองและเรารู้ว่ามันเป็นรางวัลที่ไม่ได้มาง่ายๆเลย ”
คุณสมชายเผยถึงจุดเริ่มต้นของชื่อเสียงที่ได้ในเวลาต่อมาที่เริ่มมีคนรู้จักและมีโอกาสได้รู้จักกับคณาจารย์จากหลายพื้นที่ทำให้เกิดการสั่งสมประสบการจากบุคคลเหล่านี้เพื่อนำมาพัฒนาสวนชมพู่ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เป็นการพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง
นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาเดินทางมาศึกษาดูงาน มีเซลจากบริษัทปุ๋ยยาต่าง ๆ วิ่งเข้ามานำเสนอสินค้าที่แนะนำวิธีการใช้จนกระทั่งเข้าใจจนสามารถผลิตชมพู่คุณภาพได้ภายใต้การใช้ปุ๋ยยาได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธีและปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการลงพื้นที่ของนักวิชาการและ
ส่วนราชการที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรไปสู่มาตรฐานจนกระทั่งปฏิบัติในแต่ละขั้นตอนได้อย่างถูกต้องนำมาซึ่งผลิตที่ดีและได้มาตรฐาน GAP ทำให้ที่นี่กลายเป็น “ ห้องแลปในภาคปฏิบัติ ”ทั้งของเกษตรกร นักวิชาการและบุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่อง ชมพู่ทับทิมจันทร์
คุณสมชาย เผยถึงขั้นตอนการจัด การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ ให้ได้ผลผลิตที่ดีเพราะโดยธรรมชาติ ชมพู่ทับทิมจันทร์ จะเริ่มติดดอกในช่วงปลายฝนต้นหนาวและจะเริ่มให้ผลผลิตในฤดูกาลได้ในช่วงก่อนเข้าหน้าฝน คือ ช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน เรื่อยมา
ในขณะที่คุณสมชายจะมุ่งเน้นการทำผลผลิตนอกฤดูที่มีแรงจูงใจมาจากราคาผลผลิตที่มีราคาแพง แต่กระบวนการผลิตก็เป็นสิ่งที่ท้าทายชาวสวนไม่น้อยเลย แต่ด้วยประสบการณ์ทำให้คุณสมชายผลิตชมพู่นอกฤดูได้ด้วยการพยายามทำให้ชมพู่มีดอกในช่วงก่อนหน้าฝนให้ได้
การทำชมพู่นอกฤดู
เริ่มต้นจาก การใส่ปุ๋ยบำรุงทางดินทั้งอินทรีย์และเคมี ในช่วงเดือน มิถุนายน – กรกฎาคม หลังตัดแต่งกิ่งกระโดงออกให้โปร่งรำไรโดยไม่เปิดตาดอกเน้นให้ต้นเตี้ย ทรงพุ่มดีเพื่อเก็บเกี่ยวง่ายและประหยัดแรงงานโดยจะเน้นบำรุงทั้งทางใบและทางดินให้กิ่งที่มีอยู่สมบูรณ์มากที่สุดด้วย 18-10-60, 12-24-24 หรือ 8-24-24 หรือ 12-24-12
แสงส่องถึงบ้างเพื่อป้องกันโรคและแมลงได้ดี มีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หลังจากนั้นจะมีการเสริมธาตุอาหารให้บ้างตามสภาพของต้นชมพู่ด้วย 12-12-27 ควบคู่ไปกับการให้ปุ๋ยเกล็ดจำพวก “ สังกะสี ” เพื่อเพิ่มสีสันให้กับผลผลิต
จากนั้นต้นชมพู่จะเริ่มแตกใบอ่อน เป็นใบเพสลาดและใบแก่ที่สมบูรณ์ก่อนจะแทงช่อดอกหรือเมื่อมีฝนตกลงมาต้องฉีดพ่นสารเคมีป้องกันเชื้อราหรือราน้ำค้างเข้าทำลายใบและดอกในช่วง “ ดอกบัว ”
ที่สำคัญต้องใช้แรงงานเด็ดยอดเพื่อไม่ให้แย่งอาหารกับดอกชมพู่ จากนั้นจะพัฒนาเป็นช่วง “ เมล็ดสาคู ” เพียง 1 อาทิตย์จะพัฒนาเป็นช่วง “ ถั่วเขียว ” และเปลี่ยนเป็นช่วง “ ถั่วครุฑ ” และพัฒนาเป็นช่วงดอกผักบุ้งและดอกที่ออกมาในช่วงนี้และตามด้วยการใช้ยาป้องกันและกำจัดแมลงจำพวกเพลี้ยไปไรแดงเป็นหลักและแมลงวันทอง
เมื่อชมพู่ติดดอกได้ ก็จะเริ่มบานและเปลี่ยนเป็นผลเล็ก ซึ่งจะต้องเริ่มห่อผลชมพู่ โดยเลือกห่อผลในช่อที่มีลักษณะดีคือมี 2 – 4 ลูกแบบไขว้กัน ต้องห่อแบบไขว้ถุง ตัดแต่งช่อดอกบางส่วนทิ้งไป หลังจากห่อประมาณ 25 – 30 วัน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สวยที่สุดหลังจากห่อผลผลิตด้วยถุงพลาสติกมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร แล้วจะใส่ปุ๋ยทางดินบำรุงไปจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เมื่อผลผลิตเริ่มขึ้นเงาและผิวเลื่อม
“ เราต้องเลือกช่อดอกที่ห้อยหัวลงหรือแทงลงแบบช่อต่อช่อ ให้ห่างประมาณ 1 บรรทัดต่อการไว้ช่อ 1 ช่อ ทำให้ทั่วทั้งต้น ถ้าถี่ให้เด็ดออก ต้นหนึ่งจะไว้กี่ช่อก็ได้ เพื่อให้ชมพู่กระจายการเติบโตได้อย่างทั่วถึง มีช่องขยายลูก
ทำให้ชมพู่ 1 ต้นจะมีมากกว่า 20 ช่อๆละ 4 ผล หรือต้นใหญ่ให้ผลผลิตได้ 120 ช่อ/ต้น ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นชมพู่ อีกทั้งยังต้องมีการบริหารจัดการสวนให้ได้ตามมาตรฐาน GAP ในทุกขั้นตอน ”
หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บผลผลิตนอกฤดูด้วยแรงงานประจำประมาณ 7 คน/วัน หรือเก็บผลผลิตได้วันละ 100 กว่าต้น แบ่งผลผลิตออกเป็น 4 เกรดเริ่มตั้งแต่ไซซ์เล็กสุด A ที่มีราคาต่ำสุดที่ 60 บาท/กก.,AA รับซื้อในราคา 80 บาท/กก. ,AAA รับซื้อในราคา 100 บาท/กก หรือ 7 – 8 ผล/กก..,AAAA ที่มีขนาดใหญ่สุด ซึ่งเป็นผลผลิตส่วนใหญ่ที่ได้มากกว่า 70% รับซื้อในราคา 120 บาท/กก.(ขนาด 6 – 7 ผล / กก.)
ส่วนผลผลิตที่ตกเกรดหรือผิวแตกจะนำไปขายที่ตลาดในราคา 40-50 บาท/กก. โดยผลผลิตเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 50,000 กก.หรือ 30-50 ตันที่มีต้นทุนในส่วนของแรงงานที่ 60,000-70,000 บาท/ปี และยังไม่รวมค่าบริหารจัดการอนย่างอื่น
แต่ก็ถือว่าการทำสวนทับทิมจันทร์ยังมีรายได้ที่ดีเนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นผลิตเพื่อส่งออกโดยมีล้งประจำรับซื้อผลผลิตมาอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นหลัก ดังนั้นสวนชมพู่ทับทิมจันทร์แห่งนี้จึงกลายเป็นสวนต้นแบบและที่ได้ผลผลิตตามมาตรฐาน GAP ที่มีรสชาติเป็นเลิศและสีสันที่สวยงามป้อนตลาดคนรักสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของคุณสมชาย เจริญสุขที่มุ่งมั่นพัฒนาสวนและกระบวนการผลิตคุณภาพและเป็นไม้ผลที่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคทั่วไป
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
นายสมชาย เจริญสุข
ชมพู่ทับทิมจันทร์
การปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ ชมพู่แดง ชมพู่ทับทิมจันทร์ ชมพู่ทับทิมจันทร์ นอกฤดู วิธีปลูกชมพู่ มาตราฐาน GAP ขั้นตอนปลูกชมพู ชมพู่ทับทิมจันทร์