มะม่วง ถือเป็นพืชไม้ผลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีกชนิดหนึ่งที่มียอดการส่งออกที่สูงมากไปยังประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ หรือแม้แต่การบริโภคในประเทศเองก็ไม่น้อยเช่นกัน ทำให้เกษตรกรวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าเมื่อผลผลิตออกมาสู่ตลาดแล้วก็สามารถจำหน่ายได้ ยิ่งถ้าเกษตรกรคนใดมีมาตรฐานการผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพ มีการควบคุมสารเคมีที่ดี สามารถส่งไปยังตลาดต่างประเทศได้ ก็จะสามารถยกระดับของตัวเองและมะม่วงของประเทศไทยได้อีกขั้นหนึ่ง
คุณดำรงค์ชัย คุ้มสิริ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในระบบมาตรฐาน GAP ใน ต.คลองยาง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย มีประสบการณ์มากกว่า 12 ปี พื้นที่ปลูกทั้งหมด 6 ไร่ มีมะม่วงทั้งหมด 200 กว่าต้น หลากหลายสายพันธุ์ และพันธุ์ที่เป็นจุดเด่นที่สุด คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 ที่จำหน่ายมะม่วงตามกลไกของตลาด ที่จะมาเล่าถึงวิธีการปลูก ดูแลรักษา ตลอดจนวิธีการทำมะม่วงเข้าสู่ตลาด ห้างสรรพสินค้า ว่าทำกันอย่างไร เชิญติดตามกันในฉบับนี้ครับ
ความเป็นมาของมะม่วงสวนน้องนิ่ม
คุณดำรงค์ชัยพื้นเพเดิมเป็นคนใน จ.ปทุมธานี และได้ศึกษาจบจากวิทยาลัยเกษตรฉะเชิงเทรารุ่นแรก ในปี พ.ศ.2529 สาขาสัตวบาล และได้ประกอบอาชีพเป็นสัตวบาลกับบริษัทแห่งหนึ่ง ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี แต่รู้สึกงานที่ทำอยู่ไม่สามารถตอบโจทย์ของตัวเองได้ ประกอบมีที่ดิน 6 ไร่ ใน จ.สุโขทัย จึงได้หันมาทำเกษตรอย่างเต็มตัวนับตั้งแต่บัดนั้น
การเริ่มเข้ามาทำการเกษตรใหม่ๆ คุณดำรงค์ชัยกล่าวว่าต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี รายได้แต่ละปีก็ถือว่าน้อย ถ้าเจอปัญหาธรรมชาติ อย่างเช่น ฝนตกช่วงดอกมะม่วงบาน ผลผลิตก็เกิดเสียหายอีก กว่าจะสามารถทำให้ผลผลิตและการจัดการภายในสวนเข้าที่เข้าทางได้ เดิมพื้นที่ที่แบ่งมานั้นก็เป็นสวนมะม่วงอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นมะม่วงโบราณ โดยปลูกระยะห่างถึง 12×12 เมตร ผลผลิตก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
คุณดำรงค์ชัยจึงปลี่ยนมาปลูกมะม่วงแบบใช้ระบบคิด ประมาณปี พ.ศ.2548 ใช้ระยะห่าง 6×6 เมตร โดยจะปลูกแซมต้นมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ เหนียงนกกระทุง ฟ้าลั่น กิมหงษ์ เป็นต้น
การปลูกแซมเพื่อเพิ่มผลผลิต
ต้นมะม่วงที่นำมาปลูกแซม สวนน้องนิ่มใช้เมล็ดพันธุ์มะม่วงกะล่อนหรือมะม่วงแก้วเป็นต้นตอ เพราะมีความสามารถในการหากินที่เก่ง เหมาะแก่การเป็นต้นตอที่ดี แล้วจะนำยอดมะม่วงพันธุ์ดีมาเสียบแทน โดยจะต้องปลูกมะม่วงด้วยเมล็ดไปแล้ว 2-3 ปี ลำต้นจะอยู่ขนาดข้อมือ จึงสามารถนำยอดมาเสียบได้ หลังจากที่เสียบยอดไป 3 ปี พุ่มและต้นก็จะใหญ่ขึ้น และสามารถให้ผลผลิตได้เต็มที่ พันธุ์ส่วนใหญ่ คุณดำรงค์ชัยจะได้จากญาติๆ และเพื่อนๆ ที่มากที่สุด คือ พันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 จำนวน 100 กว่าต้น และพันธุ์กิมหงษ์ที่เพื่อนได้มาจากไต้หวัน มีลักษณะลูกที่ใหญ่ รสชาติมัน น้ำหนักเยอะ จึงนำมาเสียบยอดไว้ พอมองเห็นลู่ทางของตลาดที่สามารถไปได้ก็เริ่มจะขยายเข้าสวน
การทำมะม่วงนอกฤดูและในฤดู
การทำมะม่วงนอกฤดู เมื่อมะม่วงอายุครบ 5-6 ปี ขั้นตอนแรก คือ จะต้องตัดแต่งกิ่งมะม่วงออกอย่างน้อย 50% ของทรงพุ่ม และทำการใส่ปุ๋ย 25-7-7 ทางดิน โดยให้สังเกตทรงพุ่มว่าพุ่มใหญ่หรือเล็ก ถ้าพุ่มใหญ่ก็ใส่ประมาณ 1 กิโลกรัม ถ้าพุ่มเล็กก็จะต้องลดปริมาณการใส่ลงมาประมาณครึ่งกิโลกรัม เพื่อให้แตกใบ
เมื่อมะม่วงทำการแตกใบแล้ว เราจะต้องสังเกตุ อย่าให้ใบเสีย หรือมีแมลงรบกวน โดยจะทำการฉีดพ่นด้วยการป้องกันแมลงต่างๆ ที่เกษตรกรใช้กันทั่วไป ใบจะมีลักษณะสีแดง ที่จะเรียกว่า ใบเพสลาด มีลักษณะจากเขียวกลายเป็นแดง ก็ จะทำการราดสารที่โคนต้น
อย่างเช่น มะม่วงมีทรงพุ่มขนาด 1 เมตร ก็จะให้แพคโคบิวทราโซลประมาณ 10% หรือ 10 กรัม/1 ต้น เพื่อทำการราดสารได้ประมาณ 50 วัน ให้ทำการสังเกตว่าตาดอกจะพร้อม คือ มีลักษณะตุง หรืออีกวิธี คือ ให้ดึงใบมะม่วงออกมาขยำดูว่าแป้งในใบมีความขาวพอหรือไม่ ถ้าพอก็คือ ต้นมะม่วงจะสามารถออกดอกได้แล้ว
ก็จะทำการกระตุ้นด้วยการให้ไทโอยูเรีย หลังจากฉีดแล้ว 15 วัน จะมีช่อดอกออก ลักษณะจะคล้ายๆ เดือยไก่ เมื่อเกษตรกรเห็นก็จะต้องฉีดยาฆ่าแมลงและยาป้องกันเชื้อรา เนื่องจากช่วงดอกเป็นช่วงที่วิกฤตที่สุดของมะม่วง ถ้าดอก เสียหาย ผลผลิตก็จะไม่ได้ และดูแลจนกว่าผลมะม่วงมีขนาดเท่าผลมะนาว ก็จะฉีดป้องกันอีก 1 ครั้ง และก็จะหยุด เพราะต้องอยู่ในระบบของ GAP ไม่สามารถให้มีสารเคมีตกค้างได้ และจะต้องหยุดให้สารเคมีอย่างน้อย 45 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในการรับประทานว่าได้ของที่ดี ไม่มีสารเคมีตกค้าง
ส่วนในฤดูนี้มะม่วงจะออกเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะออกดอกในเดือนมกราคม และสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยไม่จำเป็นต้องราดสาร แต่จะต้องดูแลเหมือนมะม่วงนอกฤดู ปกติ คือ การฉีดยาป้องกันแมลง เชื้อรา ฯลฯ
สารที่ใช้ราด คือ สารแพคโคบิวทราโซล เป็นสารที่ใช้ในการยับยั้งการเจริญเติบโต เกษตรกรชาวสวนมะม่วงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อไปเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จะมีทั้ง 10% และ 15% หรือใช้ปริมาณ 10 กรัม หรือ 15 กรัม อย่าง 15% จะต้องใช้กับมะม่วงพันธุ์หนัก อย่างเช่น เขียวเสวย หรือลิ้นงูเห่า เพราะยับยั้งยาก แต่ถ้าเป็นน้ำดอกไม้สามารถใช้สาร 10% ก็ได้ เพราะเป็นพันธุ์ทวายที่สามารถออกผลผลิตได้ง่ายกว่ามะม่วงพันธุ์หนัก
ระบบน้ำภายในสวนที่ต้องสัมพันธ์กับการราดสาร
ระบบน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่จะต้องพึ่งธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ทั้งน้ำฝนและปริมาณน้ำใต้ดิน อย่างที่สวนจะตัดแต่งกิ่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะเข้าฤดูฝนพอดี ก็จะทำการราดสารในเดือนกรกฎาคมเพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน แต่การราดสารจะต้องราดหลังฝนตก 4-5 วัน เพราะถ้าราดในช่วงฝนตกใหม่ๆ น้ำในดินจะมีปริมาณที่มาก การดูดซึมสารจะไม่ดีเท่าที่ควร และสารจะตกค้างที่หน้าดิน
โรคและแมลงที่พบเจอ
เรื่องโรค ต้นมะม่วงจะไม่ประสบปัญหาเท่าไหร่ จะมีปัญหามากที่สุดอยู่ในช่วงดึงดอก คือ ปัญหาเรื่องฝนที่จะก่อให้เกิดโรคราดำ จึงจำเป็นต้องฉีดยาป้องกันเชื้อราไว้ก่อนเพื่อกันผลผลิตเสียหาย
ส่วนของแมลงจะมีเพลี้ยต่างๆ ที่หนักและวิกฤตที่สุด คือ เพลี้ยไฟที่อยู่ระยะดอกบาน ช่วงเปลี่ยนถ่ายอากาศปลายฤดูหนาวเข้าฤดูร้อน จึงจะต้องฉีดฆ่าด้วย อิมิดาคลอพริด ที่สามารถลดจำนวนเสียหายลง แต่ลูกก็จะมีลายบ้างประปราย
การห่อผลผลิต
คุณดำรงค์ชัยจะห่อมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ขนาดลูกประมาณ 3 นิ้ว หรือเล็กกว่าพอประมาณ ระยะเวลาการห่อจะไม่เกิน 50 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว เพราะถ้าเก็บเกี่ยวมะม่วงในระยะ 45 วัน ความสูงจะอยู่ที่ 80-85% รสชาติจะยังเปรี้ยว อยู่ แต่ทางสวนจะเก็บผลผลิตที่ห่อไว้ประมาณ 50-60 วัน เพราะจะมีรสชาติที่หวาน อร่อย ทำให้ลูกค้าต่างติดใจผลผลิตในสวนภายในเนื้อที่ทั้งหมด 6 ไร่ สามารถผลิตมะม่วงสู่ตลาดได้เฉลี่ย 7 ตัน ต่อปี แบ่งเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 ประมาณ 4 ตัน และพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวน 3 ตัน ทำให้สามารถสร้างรายได้ที่เป็นกำไรเกินครึ่งของการลงทุนไปทั้งหมด
การเข้าสู่ระบบ GAP
ที่สวนน้องนิ่มจะมีกรมวิชาการเกษตรเข้ามาติดต่อ และหากเกษตรกรที่ทำสวนมะม่วงที่สนใจสมัครทำระบบ GAP หรือจะสามารถติดต่อกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอทำเป็นระบบ GAP ก็ได้ โดยจะต้องผ่านการอบรม มีการวางผังสวน และมีการจัดการเพื่อให้ถูกสุขลักษณะ และจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจฟาร์มทุกๆ ปี จากกรมวิชาการเกษตร โดยใบอนุญาต GAP นี้สามารถอยู่ได้ 3 ปี และจะต้องมีการต่อสัญญาใหม่
สมัยก่อนจะมีปัญหาเรื่องการขายผลผลิตกับพ่อค้าคนกลาง เพราะมักจะโดนกดราคาอยู่บ่อยๆ จนวนได้เข้ามาสู่ในระบบ GAP เมื่อ 4 ปีที่แล้ว จึงได้ทำตลาดป้อนผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 เข้าสู่แม็คโคร แต่จะเอาครั้งละประมาณ 150 กิโลกรัม และในอนาคตจะส่งมะม่วงพันธุ์กิมหงษ์ด้วย ส่วนอีกที่จะจำหน่ายผลผลิตที่หน้าเกษตรอำเภอ เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เพราะทางเกษตรอำเภอจัดชมรมผลไม้และผักปลอดสารพิษ เพื่อให้ชาว อ.สวรรคโลก ได้บริโภคของที่มีคุณภาพ
อนาคตของกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ต.คลองยาง
ในขณะนี้ คุณดำรงค์ชัยได้รับเลือกเป็นประธาน กลุ่มชมรมมะม่วงพันธุ์ดีคลองยาง ซึ่งในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงกำลังก่อตั้งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และรวบรวมของสวนมะม่วงเพื่อผลักดันให้มะม่วงน้ำดอกไม้ของ ต.คลองยาง มีชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อยกระดับมะม่วงให้มีราคา ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา และนำไปส่งต่อยังตลาดต่างประเทศในอนาคต โดยภาครัฐ อย่าง ทางเกษตรอำเภอ เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และคุณดำรงค์ชัยกล่าวว่า “อยากให้มีการรวมกลุ่มกันแบบจริงๆ จังๆ สร้างชื่อเสียงให้กับมะม่วงคลองยาง ทั้งๆ ที่มะม่วงใน ต.คลองยาง มีอยู่หลาย 10 ปี ก็ยังไม่ได้ส่งออก แถมยังถูกกดราคาอีก จึงอยากให้ทางเกษตรช่วยเหลือในด้านการควบคุมราคาและส่งเสริมการส่งออกให้ถึงที่สุด”
การจะทำการเกษตรให้ได้ผลดี ขั้นตอนแรกจะต้องมีใจรัก ถ้าไม่มีใจรักก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ อย่างน้อยต้องเอาใจใส่ทุกวัน หรือถ้าจ้างคนอย่างเดียวก็ไม่ได้กำไร จึงต้องพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุด ก็จะประสบผลสำเร็จเอง และจะต้องศึกษา คิดค้น สังเกต และนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และสำคัญที่สุด คือ ประสบการณ์ ที่จะทำให้เราไปสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง
สวนมะม่วง, สวนมะม่วง GAP, สวนมะม่วง
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]