ข้าวสาลี โปรตีนพลังงาน ส่วนผสมอาหารสัตว์ปีกและสัตว์บก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ข้าวสาลี โปรตีนพลังงาน ส่วนผสมอาหารสัตว์ปีกและสัตว์บก

ป็นธัญพืชชนิดหนึ่งที่มีการปลูกกันมากในประเทศที่มีอากาศหนาว ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในโซนค่อนข้างไปทางขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เช่น ประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล ออสเตรเลีย รัสเซีย และประเทศจีน เป็นต้น ประเทศยิ่งมีอากาศหนาวเย็นมากเท่าใด ก็ยิ่งสามารถปลูก ข้าวสาลี ที่มีคุณภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น

โดยปกติข้าวสาลีส่วนใหญ่จะถูกใช้ประโยชน์โดยการแปรสภาพแป้งข้าวสาลี ( wheat flour ) เพื่อใช้ในการบริโภคของมนุษย์ เช่น การทำเป็นขนมปัง พาสต้า ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรส่วนใหญ่บนโลกนี้ ข้าวสาลีจึงถือว่าเป็นธัญพืชที่มีความสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตข้าวสาลีของโลกย่อมมีความผันแปรตามปัจจัยต่าง ๆ

ข้าวสาลี-wheat-Triticum-aestivum
ข้าวสาลี-wheat-Triticum-aestivum

โดยเฉพาะสภาพอากาศ ของประเทศนั้น ๆ ในแต่ละปีด้วย หากปีใดที่สภาพอากาศเหมาะสมกับ การปลูกข้าวสาลี จะทำให้ปีนั้นมีปริมาณการผลิตข้าวสาลี มาก และ ทำให้ราคาข้าวสาลี ในตลาดโลกลดลง นอกจากนี้ปริมาณการผลิตเมล็ดธัญพืชพืชอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งกับข้าวสาลี เช่น ข้าว ข้าวโพด ที่มีปริมาณมากในตลาดโลก

ก็มีผลต่อราคาซื้อขายข้าวสาลี ในตลาดโลกเช่นเดียวกัน ดังนั้นในระยะหลังจะพบว่า เมล็ดข้าวสาลีในตลาดโลก มีราคาถูกลง โดยเฉพาะเมล็ดข้าวสาลีที่มีคุณภาพต่ำ ที่ไม่เหมาะสมกับการแปรรูปเป็นอาหารมนุษย์ แต่ถ้ามีความเหมาะสมในการใช้เป็นอาหารสัตว์ อีกทั้งยังมีการนำเข้าเมล็ดข้าวสาลีดังกล่าวเพื่อการใช้เป็นอาหารสัตว์ในประเทศไทยด้วย

ข้าวสาลี-wheat-Triticum-aestivum-เ1
ข้าวสาลี-wheat-Triticum-aestivum-เ1

เมล็ดข้าวสาลีที่กะเทาะเอาเปลือกออกแล้ว และพร้อมบดใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยทั่วไปจะมีโปตีนสูงกว่าข้าวและข้าวโพด โดยมีระดับโปรตีนเฉลี่ยประมาณ 11 % ไขมัน 1.7 % และเยื่อใย 2.26 % มีค่าพชด. สุกร และพชด.สัตว์ปีก 3,223 และ 2,870 กค./กก.ตามลำดับ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โปรตีนในข้าวสาลีมีลักษณะ ดังเช่น โปรตีนในเมล็ดธัญพืชทั่วไป คือ มีความสมดุลของกรดอะมิโนจำเป็นในอาหารต่ำ จึงไม่สามารถใช้ข้าวสาลีแต่เพียงอย่างเดียวเลี้ยงสัตว์ได้ การใช้ข้าวสาลีเป็นอาหารสัตว์จึงต้องมีการผสมรวมกับวัตถุดิบอาหารโปรตีนสูง

เช่น กากถั่วเหลือง เพื่อทำให้อาหารผสมมีความสมดุลของกรดอะมิโนจำเป็นในอาหารตามความต้องการของสัตว์ก่อน ดังเช่น วัตถุดิบอาหารจากธัญพืชอื่น ๆ ทั่วไป ข้าวสาลีโดยรวมถือว่าเป็นวัตถุดิบอาหารที่มีความเหมาะสมในการใช้เป็นอาหารสัตว์ทุกชนิดอย่างหนึ่ง

ข้าวสาลี

อย่างไรก็ตามข้าวสาลีจะมีลักษณะพิเศษ คือ โปรตีนในข้าวสาลีเป็นประเภทกลูเตน ( gluten ) ประกอบด้วยโปรตีนไกลอะติน ( gliadins ) และโปรตีนกลูเตนิน ( gluterins ) ซึ่งเมื่อมีการรวมตัวกับน้ำ และเมื่อเกิดการเสียสภาพธรรมชาติ เช่น การได้รับความร้อน หรือการสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหาร

จะทำให้โปรตีนดังกล่าวมีลักษณะเหนียว หนืด ซึ่งเป็นลักษณะดี ที่ทำให้ขนมปังมีลักษณะเหนียวและนุ่ม แต่การใช้ข้าวสาลีในอาหารสัตว์ เมื่อสัตว์กินอาหารแล้วโปรตีนกลูเตนในอาหารรวมตัวกับน้ำในทางเดินอาหาร ทำให้สิ่งย่อยในทางเดินอาหารของสัตว์มีลักษณะเหนียวและหนืด และมีผลทำให้ประสิทธิภาพการย่อยอาหารของสัตว์ลดลง การใช้ประโยชน์ได้ของโภชนะต่าง ๆ ในอาหารลดลง

มูลสัตว์จะมีลักษณะเหนียว หนืด มาก มูลสัตว์ติดที่ก้นตัวสัตว์ตลอดเวลา ทำให้มีความยากในการจัดการเลี้ยงดูสัตว์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ข้าวสาลียังมีสารต้านโภชนะประเภทสารโพลีแซคคาไรด์ที่ไม่ใช่แป้ง ( NSPs ) ได้แก่ สารเพนโตซาน ( pentosans )

ซึ่งมีผลทำให้สิ่งย่อยในทางเดินอาหารของสัตว์มีลักษณะหนืด เหนียว และประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ได้ของอาหารด้อยลงเช่นเดียวกัน การใช้ข้าวสาลีเป็นอาหารสัตว์จึงมีข้อด้อยและข้อควรระวังมากกว่าการใช้ปลายข้าว ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง มาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

หากต้องการใช้ข้าวสาลีในสูตรอาหารสัตว์ ควรใช้ข้าวสาลีในระดับต่ำเพียง 10 – 15 % ในสูตรอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความหนืด เหนียว ของสิ่งย่อยในระบบทางเดินอาหาร และปัญหามูลเหนียว แต่หากต้องการใช้ในระดับสูงมากขึ้นเพื่อทดแทนข้าวโพดหรือปลายข้าวทั้งหมด

สูตรอาหารนั้นมีความจำเป็นต้องมีการเสริมน้ำย่อยสังเคราะห์ประเภทน้ำย่อยโพลีแซคคาไรด์ที่ไม่ใช่แป้ง ( NSPase ) เพื่อทำการย่อยสารเพนโตซานให้หมดไป และทำให้สิ่งย่อยในทางเดินอาหารมีความหนืดน้อยลง น้ำย่อยในทางเดินอาหารของสัตว์ทำงานได้ดีขึ้น และสามารถย่อยอาหารได้หมดจดมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลดีทำให้สัตว์มีสมรรถภาพการผลิต และการให้ผลผลิตดีขึ้น รวมทั้งมูลสัตว์จะมีความหนืดลดลง จนมีสภาพเป็นปกติด้วย

รำสาลี.
รำสาลี.

รำข้าวสาลี (wheat bran) เป็นผลิตผลพลอยได้จากการสีเมล็ดข้าวสาลีเพื่อใช้ในการทำแป้งข้าวสาลี รำข้าวสาลีมีโปรตีนโดยเฉลี่ย 15.7% ไขมัน 4% เยื่อใย 11% และ มีคุณสมบัติระบายท้องได้ดีเช่นเดียวกับรำละเอียด แต่รำข้าวสาลีมีปริมาณไขมันต่ำกว่ารำละเอียดมาก จึงไม่สามารถใช้ทดแทนรำละเอียด ในแง่การเป็นแหล่งไขมัน หรือแหล่งกรดลิโนเลอิคในอาหารสัตว์ได้

อย่างไรก็ตามรำข้าวสาลีจะมีอายุการเก็บนานกว่ารำละเอียด เนื่องจากมีระดับไขมันต่ำกว่าและเกิดการหืน ( rancidity ) น้อยกว่านั่นเอง เนื่องจากรำข้าวสาลีมีระดับเยื่อใยสูง จึงเป็นวัตถุดิบอาหารที่ความฟ่ามสูงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้รำข้าวสาลียังมีสารเพนโตซานจากเมล็ดข้าวสาลีติดมาด้วย และปัจจัยทำให้เป็นขีดจำกัดในการใช้รำข้าวสาลีเป็นอาหารสัตว์อย่างหนึ่ง

รำข้าวสาลีสามารถใช้เป็นวัตถุดิบอาหารที่ใช้เลี้ยงสุกรและสัตว์ปีกได้ทุกระยะ โดยทั่วไปแนะนำให้ใช้ในระดับ 10 – 15 % ในสูตรอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากหากใช้ในระดับสูงกว่านี้จะมีผลทำให้ระดับเยื่อใยในอาหารสูงมากขึ้น จนทำให้สมรรถภาพการผลิตของสัตว์ด้อยลง

นอกจากนี้อาหารจะมีความฟ่ามมาก จนทำให้สัตว์กินอาหารได้น้อยลงด้วย การใช้รำข้าวสาลีทดแทนรำละเอียดในอาหารสัตว์ปีก ต้องให้ความระมัดระวังระดับไขมันและกรดลิโนเลอิคในอาหารให้มาก เพราะรำข้าวสาลีมีระดับไขมันและกรดลิโนเลอิคต่ำกว่ารำละเอียดมาก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การทดแทนรำละเอียดด้วยรำข้าวสาลีในปริมาณเท่ากัน จะทำให้ระดับไขมันและกรดลิโนเลอิคในอาหารลดลงเป็นอย่างมาก จนอาจไม่เพียงพอแก่ความต้องการของสัตว์ปีก และทำให้สัตว์ปีกนั้นมีสมรรถภาพการผลิต และการให้ผลผลิตลดลง ดังนั้นจึงอาจต้องมีการเสริมไขมัน เช่น น้ำมันรำ น้ำมันถั่วเหลือง ฯลฯ ในสูตรอาหาร จนมีระดับไขมันและกรดลิโนเลอิคเพียงพอแก่ความต้องการของสัตว์