การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ 50 ไร่ มุ่งข้าวอินทรีย์เป็นหลัก โดย ครูสกล
พอเอ่ยนามคุณสกล ฤทธิญาติ หรือ “ ครูสกล ” ชาวบึงคอไห ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพราะรับราชการครูนานหลายปีพอเกษียณก็หันมา ทำนา จำนวน 50 โดยไม่เคยทำนามาก่อนจึงต้องศึกษาหาข้อมูลช่วงแรกอาจารย์สกลต้องออกจากบ้านในตอนเช้าไปที่ที่ชาวนาชุมนมกันเรื่อง
การทำนาอย่างไร วิธีการใส่ปุ๋ยใส่ยาอย่างไร
แล้วก็ทำตามที่ชาวบ้านแนะนำ เริ่มต้น การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ ด้วย การปลูกข้าว พันธุ์ กข. 47 จำนวนทั้งหมด 4 ไร่โดยใช้สารเคมีเหมือนชาวนาทั่วไปซึ่งใช้ต้นทุนสูง และเจอปัญหาเพลี้ยระบาดหนักจึงต้องใช้สารเคมีในปริมาณที่มากขึ้น และอาจารย์ยังได้ชื้อโรงสีข้าวเล็ก ๆ ไว้ใช้เองที่บ้านเพื่อไว้สีข้าวกินเอง
เมื่อใช้สารเคมีมากเกินไปอาจารย์จึงคิดและไม่กล้าที่จะกินข้าวตัวเอง และเริ่มศึกษาหาข้อมูลที่จะหันมาใช้เกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่
จากตอนแรกที่เจอปัญหาการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากและต้นทุนสูงจึงได้ศึกษาหาข้อมูลการปลูกข้าวแบบไร้สารเคมี เริ่มจากการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่จำนวน 5 ไร่ในพื้นที่ของตนเองก่อน โดยใช้สมุนไพรแทนสารเคมีและศึกษาวิธีการทำน้ำยาฆ่าแมลง ยาป้องกันเชื้อรา น้ำหมักจากผลไม้ต่างๆและการทำฮอร์โมน
วิธีการทำฮอร์โมนไข่ไก่
การทำฮอร์โมนโดยใช้ไข่ไก่ จำนวน 100 ฟองทั้งเปลือกมาขยำผสมกับยาคูลท์แล้วก็ข้าวหมก 1 ลูกแล้วก็กากน้ำตาล 2 กิโลกรัม หมักไว้ประมาณ 20 วัน จากนั้นก็นำมาผสมกับน้ำสะอาดโดยอัตราส่วน 300 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตรในการฉีดพ่นป้องกันและบำรุงต้นข้าว
ป้องกันเชื้อรา แมลง ด้วย ไตรโคเดอร์มา
ส่วนในเรื่องของการป้องกันเชื้อราและแมลงจะใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา โดยการนำข้าวหุงสุกผสมเชื้อไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์แล้วนำมาผสมกัน จากนั้นบ่มเชื้อทิ้งไว้ 4 – 5 วัน เมื่อได้เชื้อสดก็นำมาผสมกับน้ำสะอาด โดยหัวเชื้อ 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 3 ลิตร แล้วกรองใส่ขวดอัตราการใช้เชื้อ 100 ซีซีต่อน้ำ 2 ลิตร ก็สามารถฉีดพ่นได้เลย
ส่วนในเรื่องของยาฆ่าแมลง อาจารย์สกลก็ใช้สมุนไพรหมักจากพืชผักที่มีรสขม รสเผ็ด รสฝาด นำมาหมักรวมกัน เช่น สะเดา บอระเพ็ด ผสมกับกากน้ำตาลหมักจนได้ที่ก็จะได้ยาฆ่าแมลงที่ได้ผลดีและปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค
ประหยัดแรงงานฉีดพ่นยาด้วย ” โบลเวอร์ “
วิธีการฉีดยาฆ่าแมลงต้องใช้แรงงานคนต้นทุนค่อนข้างสูง 6,000 – 7,000 บาทต่อครั้ง เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์ต้องฉีดยาเป็นประจำจึงต้องใช้ต้นทุนที่สูง อาจารย์จึงคิดหาวิธีลดต้นทุนในการฉีดยา โดยใช้”โบลเวอร์”
ซึ่งได้พัฒนามาจากเครื่องแอร์เก่าของเครื่องแอร์ขนาดใหญ่ นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องพ่นยานำมาต่อปากให้มีความยาวขึ้นและติดแท่นหมุนเพื่อให้สามารถหมุนได้ในรอบทิศทางฉีดพ่นได้ไกลและใช้เครื่องพ่นยาในการดูดน้ำยาและปรับเป็นละอองฝอยโดยแอร์ก็จะปล่อยลมออกมาเป็นละอองฝอยคล้ายหมอก
ออกทางปากของโบลเวอร์ ที่ใช้แทรคเตอร์เป็นตัวจูงให้โบลเวอร์ลากลงไปทำงานในนาได้โดยคันนาของอาจารย์สกลจะทำถนนล้อมรอบทุ่งนา ที่รถสามารถวิ่งไปมาได้จึงสะดวกต่อการใช้วิธีนี้มากขึ้นประหยัดเวลาลดต้นทุนจากการฉีดพ่นสารอินทรีย์ประหยัดค่าใช้จ่าย 3,000 บาท / ต่อ 1 ครั้งให้เหลื่อเพียง 1,500 บาท / ต่อ 1 ครั้ง
ดังนั้นการใช้โบลเวอร์ทดแทนการฉีดพ่นสารเคมีจะช่วยลดต้นทุน ต้นทุนจะอยู่ ที่ 1,500 บาท ต่อ 1 ครั้ง / ต่อ 50 ไร่ โบลเวอร์อายุการใช้งานยาวนาน ฉีดพ่นได้อย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงทั้งแปลงนาและยังเหมาะกับอินทรีย์ที่ต้องฉีดพ่นยาเป็นประจำและอาจารย์สกลบอกว่าพวกจุลินทรีย์ชอบอากาศในตอนเย็นและตอนเช้ามืดชาวนาจึงสามารถฉีดพ่นในตอนเย็นหรือเช้ามืดได้โดยที่ไม่ต้องกลัวสัตว์มีพิษต่างๆเพราะเรายืนบนรถสัตว์พวกนี้จึงไม่สามารถทำร้ายเราได้
ความถี่ในการพ่นยา
ช่วงการดูแลข้าวเริ่มต้นหลังจากที่หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ 20 วัน ก็จะทำการพ่น ไตรโคเดอร์มา ยาฆ่าแมลง จากสมุนไพร ที่เราหมักเอง ที่จะฉีดยาสมุนไพรฆ่าแมลงจะฉีดทุก ๆ สัปดาห์ จากนั้น 40 – 50 วัน ก็จะฉีดฮอร์โมนบำรุงต้นข้าว และรวงข้าวประมาณ 120 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ที่สำคัญตอนแช่เมล็ดพันธุ์ข้าวก่อนหว่านอาจารย์สกลผสมบอระเพ็ดที่มีรสขมลงไปด้วย เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ไปหว่านในนาข้าวจึงเสียหายน้อยเพราะศัตรูทำลายได้น้อยมากและประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้ดี
การตลาด
เมื่อถามถึงผลผลิต ที่ส่วนหนึ่งจะขายเป็นข้าวเปลือกให้กับพ่อค้า ที่มีการติดต่อไว้เรียบร้อยอีกส่วนหนึ่งจะนำมาสีและแพ็คใส่ถุงสูญญากาศถุงละ 1 กิโลกรัม เพื่อจำหน่ายเป็นข้าวสุขภาพแก่บุคคลทั่วไป
นอกจากนี้อาจารย์สกลยังได้เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองโดยจะคัดเมล็ดพันธุ์ ที่สมบูรณ์และเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ปนออกไปจนกระทั่งได้พันธุ์ข้าว ที่มีคุณภาพเหมาะแก่การทำเมล็ดพันธุ์ในฤดูต่อไป
อีกทั้งอาจารย์สกลจะไม่เผาตอซังฟางข้าว โดยจะไถกลบแล้วปล่อยน้ำเข้านาแล้วสารย่อยสลายตอซังฟางข้าว แล้วหมักไว้ 2 สัปดาห์ ให้ฟางข้าวย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยแล้วไถกลบอีกรอบแล้วหมักไว้อีก 2 สัปดาห์ จากนั้นก็เตรียมเทือกแล้วเตรียมทำนารอบต่อไปได้เนื่องจากพื้นนาข้าวของอาจารย์สกลอยู่ในเขตชลประทานจึงสามารถทำนาได้ตลอดทั้งปี
แนวทางการทำนาเพื่อให้ประสบผลสำเร็จของอาจารย์สกล ชาวนาต้องหันมาพึ่งตนเองให้มากที่สุด ในสภาวะที่ต้นทุนสูง อย่าพึงคนอื่น ปรับตัวศึกษาหาวิธีการลดต้นทุน งดการใช้เคมี หันมาทำนาแบบอินทรีย์
ทำยาฆ่าแมลงจากสมุนไพร ที่มีในท้องถิ่นใช้เอง ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก อีกทั้งยังปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำฮอร์โมนจากผัก ผลไม้ ไว้ใช้เอง เป็นการลดต้นทุน และเราจะได้ข้าวที่มีคุณภาพ ปลอดภัย
อีกทั้งอยากให้ชาวนารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะหาแลกเปลี่ยนความรู้และศึกษาหาข้อมูลร่วมกันในการทำเกษตรอินทรีย์
สอบถามเพิ่มเติม
อาจารย์สกล ฤทธิญาติ
25 หมู่ 7 ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา
จังหวัดปทุมธานี 12150 โทร 081-123-0086