ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ราชาข้าวกล้องเพื่อสุขภาพ
- แปลงนาข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี
- กระบวนการผลิตข้าวฮางหอมทอง
- กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวหอมทองบ้านจำปา
- ขั้นตอนการ ทำข้าวฮางหอมทอง
- ประโยชน์ของข้าวฮางหอมทอง
- ขั้นคอนการปลูกข้าวฮางหอมทอง
- ข้อดีของข้าวฮางหอมทอง
- เครื่องยิงสีเมล็ดข้าวฮางหอมทอง
- การใช้เตาสำหรับนึ่งข้าวฮางหอมทอง
- เจ้าหน้าที่เน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเป็นหลัก
- เครื่องบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ
- การแปรรูปเป็นข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี
แปลงนา ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี
“ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ” เป็นข้าวกล้องชนิดหนึ่ง ที่ผลิตมาจากข้าวหอมทองมะลิ 105 ที่ปลูกแบบปลอดจากสารพิษ โดยประยุกต์กรรมวิธีการผลิต “ข้าวฮาง” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยชาวภูไทอำเภอวาริชภูมิ จ.สกลนคร
ที่ผ่านกรรมวิธีการนึ่งก่อนนำไปสีเป็นข้าวสาร ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปีโดยยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางโภชนาการและคุณภาพของข้าวไว้ได้อย่างครบถ้วนได้มากกว่าขั้นตอนการสีข้าวแบบทั่วๆไป
กระบวนการผลิตข้าวฮางหอมทอง
นอกจานี้ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสกลนครหรือผลิตภัณฑ์สุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย “ระดับห้าดาว” ภายใต้กระบวน การผลิต ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ที่ถูกสุขอนามัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐานในทุกขั้นตอน ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ยังมีรำข้าวและเส้นใยอาหารอยู่ในเมล็ดข้าวอย่างครบถ้วนด้วย เนื่องจากผ่านการนึ่งสุกมาแล้ว ไม่มีเมล็ดแตกร้าว มีสีเหลืองธรรมชาติสวยงาม
ในปัจจุบันกระบวน การผลิตข้าวหอมทองสกลทวาปี มีการผสมผสานทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อผลิตสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ภายใต้การรักษามาตรฐานและการเก็บรักษาไว้ได้นานขึ้นโดยการบรรจุในถุงพลาสติกในระบบสุญญากาศและบรรจุขวดพลาสติก ที่สำคัญเป็นภูมิปัญญาของชาวภูไท จังหวัดสกลนคร
นับเป็นข้าวสุขภาพที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น “ GABA ” ที่สูงกว่าข้าวกล้องธรรมดากว่า 15 เท่า ช่วยลดความเครียด อีกทั้งช่วยให้สมองผ่อนคลาย ป้องกันความจำเสื่อม มีสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามิน B1 B2 B3 B6 และ E ที่สูงกว่าข้าวธรรมดามาก ซึ่งถือเป็นอาหารทางเลือกของ “คนรักสุขภาพ” ที่พร้อมส่งต่อสุขภาพดี เพื่อคนที่คุณรัก
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวหอมทองบ้านจำปา
ทีมงานพลังเกษตร จะนำพาทุกท่านไปพบกับ คุณ มะลิวัลย์ สารพัฒน์ หรือ พี่มะลิวัลย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตข้าวหอมทองบ้านจำปา ซึ่งได้เดินทางไปศึกษาดูงานกับกลุ่มแม่ที่บ้านนาบ่อในพื้นที่เดียวกันเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทอผ้าได้มีอาชีพเสริม จึงมีการผลิต “ข้าวฮาง” ขึ้นมาที่หมู่บ้านจำปา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่เกิดขึ้นในชุมชนมาอย่างช้านาน
โดยมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้ถ่ายทอดวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมให้ในทุกขั้นตอนไปพร้อมๆกับการประยุกต์ใช้วิธีการผลิตข้าวฮางจากบ้านนาบ่อซึ่งต้นแบบด้านแนวคิดเข้ามาผสมผสานได้อย่างลงตัว โดยมีขั้นตอนตั้งแต่การคัดเมล็ดพันธ์ทุกเมล็ดด้วยสมาชิกทางกลุ่มเอง ซึ่งสายพันธุ์ข้าวที่นำมาผลิตส่วนใหญ่คือ “ ข้าวหอมมะลิ 105 ” และ “ ข้าวเหนียว กข.6 ” เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดสกลนครจะปลูกข้าว 2 พันธุ์นี้ค่อนข้างมาก จัดหาวัตถุดิบเข้าสู่การผลิตได้ง่ายและเพียงพอต่อกำลังการผลิตที่มีอยู่ จึงทำให้ข้าวที่ได้มีกลิ่นหอม เหนียวนุ่ม น่ารับประทาน ที่สำคัญกระบวนการเพาะงอกจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับคุณค่าสารอาหารและได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น
ขั้นตอนการทำ ข้าวฮางหอมทอง
จุดเด่นของข้าวฮางสกลทวาปี คือ เมล็ดข้าวไม่แตกหัก จมูกข้าวไม่หลุด มีรำข้าวและมีเส้นใยอาหารอยู่ในเมล็ดข้าวอย่างครบถ้วน เมื่อกะเทาะเปลือกออกแล้วคุณค่าทางอาหารจึงไม่สูญเสียไปกับเปลือกข้าว
และจากคำบอกเล่าของปู่ย่าตายายทำให้ทราบว่า ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ประยุกต์มาจากภูมิปัญญาการผลิต “ข้าวฮาง” ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของคนในพื้นที่ ซึ่งการผลิตข้าวฮางงอก สามารถผลิตได้ทุกสายพันธุ์ แต่ชาวอีสานจะนิยมนำข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียว กข. 6 มาผลิตเป็นข้าวฮางงอกมากกว่าโดยมีขั้นตอน ดังนี้
- นำเมล็ดข้าวที่คัดจากแหล่งปลูกคุณภาพมาล้างทำความสะอาด คัดเลือกเมล็ดข้าวที่ลีบออกไป ให้เหลือแต่เมล็ดข้าวที่เต็มเมล็ดและสมบูรณ์ที่สุดเข้สู่กระบวนการผลิต
- นำเมล็ดข้าวเปลือกที่ได้ไปทำความสะอาดในน้ำสะอาดอีกครั้งแล้วแช่ทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง หรือประมาณ 2 วัน ก่อนนำข้าวที่ได้มาบ่มในกระสอบเพื่อให้ความร้อนที่เมล็ดโดยต้องบ่มทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการงอกของข้าวฮางและเพิ่มสารกาบา (GABA) ในเมล็ดข้าว
- นำข้าวที่ได้จากการบ่มจนเป็นเมล็ดงอกมาล้างทำความสะอาดอีกครั้ง แล้วนำไปนึ่งนานประมาณ 40 นาที
- จากนั้นนำเมล็ดข้าวที่นึ่งจนได้ที่ไปผึ่งเพื่อไล่ความชื้นในเมล็ดข้าวในโรงเรือนที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ความชื้นที่เหมาะสม โดยทางกลุ่มจะไม่ตากเมล็ดข้าวไว้กลางแสงแดดจัดจ้า เพราะจะทำให้คุณค่าและสารอาหารลดลงไป ทางกลุ่มจึงเน้นการตากเมล็ดข้างงอกไว้ใต้หลังคาที่มุงด้วยตาข่ายหนาที่พรางแสงแดดได้ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะทำการกลับกองเมล็ดข้างงอกบ่อย ๆ เพื่อให้ข้าวแห้งเสมอกันทั้งหมด
- เมื่อตากข้าวแห้งจนได้ที่แล้วก็จะนำข้าวไปสีกะเทาะเปลือก แล้วคัดเลือกเมล็ดข้าวงอกที่เสียหายและไม่สมบูรณ์ออกไป ก่อนจะนำไปตากอีกหนึ่งแดด เพื่อลดความชื้นโดยให้เหลือค่าความชื้นประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์ก็จะได้ข้าวฮางงอกที่น่ารับประทานพร้อมเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นสินค้าโอทอปที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์ครบถ้วน
- การแปรรูปเน้นการกะเทาะเปลือกให้ได้ข้าวฮางที่ดี ก่อนจะทำการคัดแยกเมล็ดที่เสียหายออกไป มีการแยกเมล็ดสีของข้าวด้วยเครื่องยิงสีและต้องทำความสะอาดอีกครั้งโดยการนำเข้าเครื่องเป่าฝุ่น ก่อนจะนำข้าวมาบรรจุด้วยเครื่องสุญญากาศ เพื่อผลิตข้าวปลอดภัย ข้าวเพื่อสุขภาพ ที่สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น
ประโยชน์ของข้าวฮางหอมทอง
นอกจาก ข้าวฮางงอก จะมีกาบา (GABA-Gamma aminobutyric acid) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการเพาะงอกที่มีปริมาณมากกว่าข้าวที่ไม่ผ่านการเพาะงอกมากถึง 15 เท่า ช่วยรักษาสมดุลในสมอง ลดความวิตกกังวล หลับสบาย ป้องกันอัลไซเมอร์หรือโรคความจำเสื่อม คลายกล้ามเนื้อ ชะลอความชรา ลดความดันเลือด กระตุ้นการขับถ่าย และป้องกันมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี
มีโปรตีนที่ช่วยย่อยให้เป็นสารเปปไทด์และมีกรดอะมิโนมากกว่า 22 ชนิด ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย มีไฟเบอร์สูงกว่าข้าวขาว 15 – 20 เท่า ช่วยให้อิ่มท้องได้นานขึ้น ไม่หิวง่าย ลดความอ้วน ป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน ขับถ่ายสะดวก และดูดซับสารพิษออกจากร่างกาย มีไขมันชนิดดีหลายชนิด ช่วยป้องกันโรคหัวใจ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ดีกว่าวิตามินอีถึง 6 เท่า
และยับยั้งป้องกันการเกิดฝ้าบนใบหน้าและปัญหาวัยทอง มีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยต้านทานป้องกันมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ดี และโรคเกาต์ โรคไขข้ออักเสบ มีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญอยู่ครบทุกตัว ทั้งวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินอี กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ฯลฯ
ขั้นตอนการปลูกข้าวฮางหอมทอง
ด้านวัตถุดิบหรือข้าวอินทรีย์ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของข้าวฮางงอกบ้านจำปานั้นพี่มะลิวัลย์จะมุ่งเน้นการปลูกข้าวเองเป็นหลักร่วมกับพี่สาวบนพื้นที่กว่า 20 ไร่ เพื่อควบคุมการผลิตและการจัดการให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
โดยจะแบ่งเป็นการปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 10 ไร่และ ข้าว กข.6 จำนวน ประมาณ 10 ไร่ ไปพร้อมๆกับการส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพทั้งสองสายพันธุ์นี้เป็นหลัก ทำให้ทางกลุ่มมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 250 ไร่
โดยทางกลุ่มจะมีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวตลอดเพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพซึ่งทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์จากกรมการข้าว โดยทางกลุ่มนิยมทำนาหว่านที่มีขั้นตอนการปลูกข้าวตั้งแต่ต้นไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนี้
“ การเตรียมดิน ” พี่มะลิวัลย์จะจ้างรถไถกลบตอซังประมาณ 2 รอบ อัตราค่าไถประมาณ 250 บาทต่อไร่ แล้วปั่นตีดินให้ร่วนซุยอีก 1 รอบ รวมอัตราค่าใช้จ่ายในกระบวนการเตรียมดินเฉลี่ยตกอยู่ที่ 800 บาทต่อไร่
“ การหว่านเมล็ดพันธุ์ ” จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในการหว่านนาน้ำตมในอัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสาเหตุที่กลุ่มเลือกทำนาหว่านก็เพื่อต้องการลดปัญหาด้านแรงงาน เนื่องจากแรงงานในพื้นที่หายาก โดยเฉพาะการทำนาดำนั้นเริ่มหาแรงงานยากขึ้นทุกวัน
“ การบำรุงดูแลรักษา ” ปัจจัยหลักในการบำรุงดูแลรักษาข้าวให้เจริญเติบโตได้ดีนั้นก็คือ “น้ำ” หลังจากหว่านข้าวได้ประมาณ 1 เดือนจะเป็นช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอ โดยพี่มะลิวัลย์จะสังเกตว่า หากในนาข้าวมีวัชพืชขึ้นก็จะทำการถอนทิ้งด้วยแรงงานโดยไม่มีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในนาข้าว ก่อนจะบำรุงต้นข้าวด้วยการให้ปุ๋ยอินทรีย์ทั้งแบบหว่านและการฉีดพ่นฮอร์โมนบำรุงทางใบประมาณ 2 รอบโดยช่วงแรกคือช่วงที่ข้าวเริ่มแตกกอและช่วงที่ 2 คือช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์
“ ปัญหาของโรค ศัตรู วัชพืชและการดูแลรักษา ” ส่วนใหญ่ในพืชที่ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร โชคดีที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคจะมีแค่เพียงเพลี้ยไฟและโรคใบด่างลงเพียงนิดหน่อยเท่านั้นหรือจะมีโรคระบาดค่อนข้างเยอะบ้างในบางปีเท่านั้น ส่วนวิธีการดูแลรักษาหากเป็นโรคระบาดเพียงเล็กน้อยก็แทบไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะโรคต่าง ๆ เหล่านั้นจะหายไปเองได้ ส่วนในปีไหนที่เป็นโรคมากก็จะขอรับการสนับสนุนสารชีวภัณฑ์เพื่อใช้ในการกำจัดโรคและแมลงจากทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทันที
“การเก็บเกี่ยว” เมื่อต้นข้าวมีอายุได้ประมาณ 90-120 วัน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทางพี่มะลิวัลย์จะใช้รถเกี่ยวนวดข้าวเก็บเกี่ยวผลผลิตในแปลงทั้งหมดหรือให้ผลผลิตได้ประมาณ 350-380 กิโลกรัมต่อไร่ โดยทางกลุ่มจะรับซื้อข้าวเปลือกส่วนหนึ่งจากสมาชิกเพื่อกักเก็บไว้เพื่อการแปรรูป โดยจะรับซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดประมาณ 1-2 บาทต่อกิโลกรัม
ข้อดีของข้าวฮางหอมทอง
โดยข้าวฮางที่ทางกลุ่มได้ผลิตขึ้นนี้ผ่านการผลิตและแปรรูปที่ได้มาตรฐาน มีการรับรองผ่าน GAP. GI. และ อย. เป็นข้าวคุณภาพ เพื่อสุขภาพที่ดี
ดังนั้นข้าวฮางงอกจึงเปรียบได้กับการรับประทานยา วิตามิน หรือ สมุนไพรเข้าไปพร้อมกัน นอกจากอิ่มท้องแล้วยังทำให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรค และเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยหรือผู้ที่รักสุขภาพอย่างแท้จริง ข้าวฮางงอกจึงได้รับยกย่องให้เป็นข้าวมหัศจรรย์ อาหารต้านโรคอย่างแท้จริง
จุดเด่นที่สำคัญคือ ข้าวฮางเป็นข้าวที่มีความหอมเพราะข้าวยังมีน้ำนมอยู่ ถ้าข้าวแก่จัดจะไม่หอม จาก “ข้าวฮาง” จึงกลายเป็น “ข้าวทองคำ” เนื่องจากเมื่อปี 2540 นายอำเภอได้มาเห็นชาวบ้านนาบ่อ ผลิตข้าวฮางที่มีสีสันสวยงาม มีสีเหลืองอร่ามเหมือนทองคำ จึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น “ข้าวทองคำ”
เมื่อปี 2542 โดยคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านมีความเห็นพร้อมกันว่าให้เปลี่ยนชื่อจาก “ข้าวทองคำ” เป็น “ข้าวหอมทอง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เนื่องจาก “ข้าวทองคำ” นั้นก็คือการนำข้าวมะลิมาผลิตจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ข้าวหอมทอง” และตัดคำว่า “คำ” ออก จึงเปลี่ยนจากข้าวหอมมะลิมาเป็น “ข้าวหอมทอง”
เครื่องยิงสีเมล็ดข้าวฮางหอมทอง
จากการบอกเล่าของปู่ย่าตายาย “ ข้าวหอมทอง ” ประยุกต์มาจากการผลิต “ ข้าวฮาง ” ของชาวบ้านซึ่งเป็นชาวภูไทกระป๋อง (กระป๋อง หมายถึง สมอง/ปัญญา) วิถีชีวิตความเป็นอยู่นั้นจะสร้างบ้านเรือนอยู่ใกล้แหล่งทำกินติดกับแหล่งน้ำ ยึดอาชีพการทำนาเป็นหลัก ชาวภูไทยเป็นคนช่างสังเกต เรียนรู้ ดัดแปลง คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ
มีภูมิประเทศอยู่ในที่ราบลุ่ม ลำห้วยปลาหาง เหมาะแก่การทำนา การทำข้าวฮางได้สะท้อนภูมิปัญญาด้านการดำรงชีพและการถนอมอาหารไว้เป็นอย่างดี เพราะข้าวหอมทองจะมีรำข้าวและเส้นใยอาหารอยู่ในเมล็ดข้าวด้วยทำให้เมื่อกะเทาะเปลือกออกมาแล้วก็ยังคงคุณค่าทางอาหารไว้โดยไม่สูญเสียไปเปลือกข้าว
เนื่องจากผ่านการนึ่งสุกแล้วข้าวหอมทองจะไม่มีเมล็ดที่แตกร้าวเลยซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีโดยเฉพาะภูมิปัญญาของชาวภูไทที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
ส่งผลให้ข้าวฮางเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “ ข้าวฮางงอกสกลทวาปี ” เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวหอมทองบ้านจำปา ที่ทางกลุ่มได้มุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องที่คงไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐาน จาก “ ข้าวฮาง ” มาเป็น “ ข้าวหอมทอง ” และปัจจุบันเรียกชื่อว่า “ ข้าวหอมทองสกลทวาปี ” มีความหมายและความเป็นมา
การใช้เตาสำหรับนึ่งข้าวฮางหอมทอง
“ ข้าวฮาง ” สมัยก่อนบางครอบครัวมีลูกมากและยากจน บางปีมีข้าวในยุ้งฉางที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนให้ครบถึงสิ้นปีได้ ซึ่งภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ ข้าวบ่ฮอดถึงปี ” ประมาณปลายเดือนตุลาคมข้าวก็หมดแล้ว ถ้าจะรอให้ถึงหน้าเก็บเกี่ยวข้าวฤดูกาลใหม่ก็จะไม่มีข้าวให้ลูก ๆ กินหรือคนในครอบครัวกิน ชาวบ้านจึงไปเก็บเอารวงข้าวในนาที่กำลังเป็นน้ำนมแก่จัด ๆ
(เริ่มจะออกเหลืองอ่อน ๆ) นำมานวดหรือขูดเอาเมล็ดออกจากรวงข้าวแล้วห่อบ่มไว้ประมาณ 2 คืน ก่อนนำมานึ่ง ซึ่งเตาที่ใช้นึ่งจะขุดดินทำเป็นร่องหรือราง (ฮาง) เพื่อเป็นที่ใส่ฟืน แล้วทำเป็นปากปล่องสำหรับให้เปลวไฟลอยขึ้นมาแล้วตั้งหม้อนึ่ง ภาษาอีสานเรียกว่า “ เตาฮาง ”
เมื่อนึ่งข้าวสุกแล้ว ก็จะนำไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำไปกะเทาะเปลือกออก (มีทั้งตำด้วยมือและตำด้วยครกไม้กระเดื่อง) เสร็จแล้ว ก็จะฝัดข้าวด้วยกระด้งเพื่อเอาแกลบออก ให้เหลือแต่ข้าวสารก่อนนำไปนึ่งกินได้ ดังนั้น ชื่อที่เรียกว่า “ ข้าวฮาง ” จึงเรียกตามลักษณะนามของเตาฮางที่ใช้นึ่ง “ ข้าวหอมทอง ”
ดังนั้น “ ข้าวฮาง ” ก่อนจะนำไปตำหรือปัจจุบันได้นำมาสีนั้นจะผ่านขบวนการนึ่งให้สุกก่อน วิตามินหรือสารอาหารในเมล็ดข้าวจะเคลือบติดเมล็ดข้าวดี เมื่อนำไปสีจะไม่มีการขัดสี ทำให้เมล็ดข้าวสารที่ได้มีสีเหลืองเข้มเหมือนกับสีของทองคำ
ต่อมาจึงเรียกว่า “ ข้าวหอมทองสกลทวาปี ” เป็นชื่อเดิมของจังหวัดสกลนคร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร นายปานชัย บวรรัตนปราณ ในขณะนั้น ต้องการให้ “ ข้าวหอมทอง ” เป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งขบวนการผลิต แหล่งผลิต และคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ จึงเห็นชอบให้ใช้ชื่อ “ สกลทวาปี ” ต่อท้ายอีก จึงเป็นชื่อและที่มาของคำว่า “ ข้าวหอมทองสกลทวาปี ” ปัจจุบันได้ จดอนุสิทธิบัตรเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว
โดย “ ข้าวหอมทอง ” เป็น “ ข้าวกล้อง ” ชนิดหนึ่งที่ผลิตมาจากข้าวหอมทองมะลิ 105 เป็นข้าวนึ่งก่อนที่จะนำไปสีโดยประยุกต์มาจากการผลิต “ ข้าวฮาง ” ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ผลิตข้าวหอมทองจนลือชื่อที่มีคุณภาพ กระทั่งติดอันดับสินค้า “โอทอป” ของจังหวัดสกลนคร
เจ้าหน้าที่เน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวเป็นหลัก
การผลิต ข้าวฮาง หรือ ข้าวหอมทองสกลทวาปี นั้นพี่มะลิวัลย์ ยังได้เปิดเผยอีกว่าในช่วงที่ผ่านมากลุ่มมีปัญหาในการดำเนินธุรกิจอยู่บ้างในบางช่วง โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่สภาพ ดิน ฟ้า อากาศ ส่งผลกระทบต่อการผลิตในเรื่องของความชื่น
แม้จะมีโรงอบที่ใช้อบไล่ความชื้นแต่กลุ่มฯ ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ยังไม่มีความพร้อมด้วยปัจจัยทางธรรมชาติที่ไม่อำนวย ทำให้มีกำลังการผลิตที่น้อยลง ไม่พอกับความต้องการของตลาดหรือผลิตได้ไม่ครบตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการในแต่ละครั้ง แต่ละปี ต่อมาทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านจำปา ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ที่เน้นการส่งเสริมเกษตรกรเป็นหลัก ที่เข้ามาดูแลเรื่องโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผ่านการยื่นเสนอโครงการเข้าไปเพื่อของบประมาณจากทางหน่วยงานภาครัฐทางโดยทางคณะอาจารย์ได้แวะเวียนเข้ามาติดตามงานพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำกลุ่มอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขได้ตรงจุด
เครื่องบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ
โดยมี อาจารย์วีระยุทธ สีหานู หรือ อาจารย์แจ็ค อาจารย์สาขาพืชศาสตร์ เป็นผู้ดูแลโครงการจากภารกิจ 4 ด้าน ทั้งงานสอน งานวิจัย งานบริการวิชาการและงานทำนุบำรุงศาสนา รวมทั้งเป็นผู้ดูแลเรื่องสายพันธุ์ข้าว การปลูกข้าว การดูแลรักษาข้าวด้วย
“เพื่อให้เกษตรกรผลิตยังไงให้ได้ผลผลิตเยอะ ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด ปีนี้จะนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองมาให้พี่ ป้า น้า อา บ้านเราปลูก” จากการวิจัยสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองกว่า 100 สายพันธุ์ที่จะทำการคัดให้เหลือเพียง 50 สายพันธุ์ เพื่อดูศักยภาพของสายพันธุ์ข้าวว่าเหมาะกับสภาพภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ของพื้นที่หรือไม่
ก่อนจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เนื่องจากในพื้นที่ส่วนใหญ่จะอาศัยน้ำฝนในการทำนาเป็นหลักจึงต้องคัดเลือกสายพันธุ์ให้ดี เพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อนำมาแปรรูป สร้างเป็นแบรนด์ใหม่ขึ้นมาให้เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มต่อไป
โดยอาจารย์แจ็คได้กล่าวทิ้งท้ายว่า“สำหรับเกษตรกรที่แปรรูปทำข้าวฮางเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่ละพื้นที่มีศักยภาพของข้าวที่แตกต่างกัน การปลูกข้าวแบบเดียวกัน แต่มีความหอม ความอร่อยต่างกัน เราจึงมีจุดเด่นในพื้นที่เรื่องนี้ และอย่าลืมว่าจุดเด่นของเราสามารถนำมาพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง โดยที่เราไม่ต้องไปเลียนแบบใครๆ แต่มุ่งเน้นนำสิ่งที่ตนเองมีมาต่อยอดและพัฒนาให้ดีก็พอแล้ว”
การแปรรูปเป็น ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี
ด้านการพัฒนาในส่วนของบรรจุภัณฑ์และสถานที่ รวมทั้งอาคารพัฒนาการผลิตข้าวหอมทองนั้นได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เข้ามาช่วย เช่น เตานึ่ง เครื่องสี เครื่องบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
ที่ทำให้มีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะตลาดคนรักสุขภาพ โดยใช้เม็ดเงินในการลงทุนเพื่อสร้างโรงสีไปมากกว่า 500,000 บาท เครื่องคัดแยกเมล็ดพันธุ์มูลค่า 60,000 บาท เครื่องยิงสีราคา 1,000,000 บาท อาคารบรรจุภัณฑ์ เตาเศรษฐกิจ และเครื่องบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ ได้จากเงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาต่อยอดการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่สามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มได้มากถึง 5 – 6 หมื่นบาทต่อเดือนหรือบางเดือนมีรายได้มากถึงหลักแสน บาทเลยทีเดียว โดยทางกลุ่มจะมุ่งเน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ที่สนใจและบริษัทต่าง ๆ ตามออเดอร์ที่ทางลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาเป็นหลัก
ผ่านทางระบบโซเชียลทั้ง เฟสบุ๊ค ไลน์ และทางไปรษณีย์ โดยจะจำหน่ายในราคาส่งที่ 60 บาท / กิโลกรัม หรือมีราคาขายปลีก 70 บาทต่อกิโลกรัม
โดยพี่มะลิวัลย์ได้ยืนยันว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เช่น แป้งข้าวฮางงอก ข้าวบดพร้อมชงดื่ม เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดอยากให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันและอยากจะเพิ่มสมาชิกในกลุ่มขึ้นมาอีกเพื่อให้เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งและสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่
ขอบคุณการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกร และข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร
ผศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร,อาจารย์นิสาชล,อาจารย์สัญทะยา,อาจารย์วีระยุทธ
และอาจารย์จากทางมหาลัยราชมงคลฯ ทุกท่าน
สามารถติดต่อสอบถามผลิตภัณฑ์ทางกลุ่มได้ที่
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวหอมทองบ้านจำปา
เลขที่ 41 หมู่ที่ 5 ต.หนองลาด อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร 47150
คุณมะลิวัลย์ สารพัฒน์ โทร/ID Line. 085-760-1517 Facebook : ข้าวฮางงอกสกลทวาปี