การผลิตลำไยส่งออก ทั้งในรูปแบบผลสดและอบแห้ง
“ลำไย” คือไม้ผลเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของไทยที่มีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีน เพราะคนจีนมีความเชื่อกันว่า ลำไย คือ ผลไม้มงคล อีกทั้งยังมีรสชาติถูกอกถูกใจคนจีนเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยมีอัตราการส่งออกลำไยมากถึง 50 % ของผลผลิตในประเทศ สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้ปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งผลผลิตของไทยสามารถส่งออกได้ ทั้งในรูปแบบผลสด และอบแห้ง ที่ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย และการเก็บรักษาผลผลิตได้เป็นอย่างดี แต่กว่าจะได้มาซึ่งผลผลิตที่ดี มีคุณภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเกษตรกรต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในการดูแลรักษา และการบริหารจัดการสวนลำไยให้มีประสิทธิภาพ ในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่ต้นไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต การเก็บรักษา และการเพิ่มมูลค่า ด้วยการแปรรูปอย่างเป็นระบบ
สวนส้มที่ปลูกอยู่ในสวนลำไยบนเนื้อที่เกือบ 400 ไร่
เช่นเดียวกับ “คุณบุญส่ง แซ่คู” วิศวกรรุ่นใหญ่คนดังของประเทศ ที่รักและชื่นชอบการทำเกษตรโดยเฉพาะ “ไม้ผล” เป็นชีวิตจิตใจ เป็นความสุขทางใจที่ได้รับจากธรรมชาติ และมีความสุขทุกครั้งที่ไม้ผลที่ปลูกเอาไว้นั้นให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความรักและการดูแลเอาใจใส่ในทุกขั้นตอนอย่างทุ่มเทตลอดทั้งปี นั่นจึงเป็นที่มาในการริเริ่ม “ทำสวนส้ม” บนพื้นที่เกือบ 400 ไร่ ที่ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยสภาพพื้นที่และสภาพอากาศที่เหมาะสมทำให้ส้มละหานทรายเริ่มเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากขึ้นในเวลาต่อมา ด้วยรสชาติของผลผลิตที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และไม่เป็นสองรองใคร แต่แล้วการทำสวนส้มของคุณบุญส่งต้องยุติลงด้วยวิกฤติในสวนส้ม อย่าง “โรคกรีนนิ่ง” ที่สร้างความเสียหายให้กับชาวสวนส้มเป็นอย่างมาก และต้องประสบภาวะขาดทุนไปตามๆ กัน ไม่เว้นแม้กระทั่งสวนส้มของคุณบุญส่งที่ต้องขาดทุนไปหลายสิบล้านบาทเลยทีเดียว
การแบ่งพื้นที่กว่า 60% ปลูกลำไยนอกฤดู
เมื่อการทำสวนส้มเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คุณบุญส่งจึงจำเป็นต้องโค่นต้นส้มทิ้งทั้งหมด เนื่องจากการที่ต้นส้มอายุมาก และต้นเป็นโรค ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่มีคุณภาพ อีกทั้งราคาผลผลิตยังตกต่ำ จึงไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน แต่พื้นที่ก็ยังคงอยู่ ทำให้คุณบุญส่งตัดสินใจหันมา “ปลูกลำไย” ทดแทน เน้นการปลูกไม้ผลแบบผสมผสานแทนการปลูกไม้ผลเชิงเดี่ยวโดยการแบ่งพื้นที่กว่า 60% ปลูกลำไยนอกฤดู ในส่วนที่เหลือจะเน้นปลูกไม้ผล ทั้งมะยงชิด, มะนาว, ส้ม, ทุเรียน, ลิ้นจี่ โดยไม้ผลทุกชนิดกำลังเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ภายใต้การดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี บางส่วนยังรอติดดอก ออกผล เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่บางส่วนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต และสร้างรายได้บ้างแล้ว นอกจากนี้ยังใช้พื้นที่ที่ดินเลวที่สุดมาปลูกไม้ยืนต้น อย่าง ต้นก้ามปู ยางนา มะฮอกกานี เพื่อสร้างสวนป่า ฟื้นฟูดิน และเป็นรายได้ระยะยาวได้เป็นอย่างดี
การใส่ปุ๋ยบำรุงดิน
ด้านการจัดการสวนลำไยของคุณบุญส่งให้สมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพนั้น จะเริ่มต้นด้วยการเตรียมดินให้ดี ด้วยการใส่ปุ๋ยบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์เต็มที่ ก่อนจะยกร่องปลูกลำไยอย่างเป็นระบบ “ผมค่อนข้างเน้นเรื่องของดิน ถ้าดินดี ดินสมบูรณ์ ผลผลิตก็จะดีตามไปด้วย เพราะพืชกินอาหารจากทางดินเป็นหลัก หลังจากนั้นจะมีการวางระบบน้ำด้วยตนเองโดยใช้ความรู้ด้านวิศว ประกอบกับองค์ความรู้ที่มี เพื่อเน้นการให้น้ำกับไม้ผลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งสวนได้รับน้ำเท่ากันทุกแปลง ทุกล็อต ทุกต้น ด้วยระบบสปริงเกลอร์คุณภาพเยี่ยมจากอิสราเอล ประกอบกับพื้นที่อยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำ จึงทำให้การทำสวนผลไม้แห่งนี้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปีโดยไม่ขาดแคลน” คุณบุญส่งยืนยันถึงการวางระบบน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพราะน้ำดีปลูกอะไรก็งาม ดังนั้นสวนลำไยแห่งนี้จะเน้นให้ปุ๋ยทั้งทางดินและให้ธาตุอาหารทางน้ำแบบผสมผสาน ในแบบฉบับของคุณบุญส่งที่มีระบบการจัดการเป็นของตนเอง ภายใต้คนงานประจำที่ต้องคอยดูแลเอาใจต้นไม้ผลเป็นอย่างดี ตั้งแต่การปลูก การบำรุงและรักษาใบอ่อน การทำใบให้สมบูรณ์ การให้น้ำที่ดูจากความชื้นในดินเป็นหลัก ระยะเวลาในการให้น้ำก็ต้องดูที่ความชื้นในแต่ละช่วงเป็นหลักโดยทางสวนจะมีเครื่องและอุปกรณ์ในการตรวจวัดความชื้นในดินที่จะทำให้การให้น้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น การตัดแต่งกิ่งให้ทุกต้นเสมอกันและเท่ากันตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มมาจนถึงทุกวันนี้โดยคุณบุญส่งจะมีวิธีการตัดแต่งกิ่งที่ไม่เหมือนกับสวนลำไยสวนอื่นๆ
การตัดแต่งกิ่งต้นลำไย
เมื่อต้นลำไยมีอายุครบ 3 ปีขึ้นไป ต้นลำไยจะสมบูรณ์เต็มที่ และพร้อมที่จะให้ผลผลิตได้ คุณบุญส่งจะเริ่มไว้ลูกเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละต้นโดยการสังเกตจากใบของลำไยเป็นหลัก หากใบมีลักษณะใบใหญ่ใบมันจนดำ แสดงว่าต้นลำไยสะสมอาหารไว้เต็มที่ พร้อมที่จะให้ผลผลิตได้แล้ว ก็จะเริ่ม “ตัดแต่งกิ่ง” ต้นลำไยให้แตกใบใหม่ ที่จะไม่เน้นตัดแต่งให้หมดทีเดียวทั้งต้น แต่จะค่อยๆ ตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งกระโดงออกไปก่อนโดยยังเหลือใบอีกจำนวนมาก เพื่อให้ต้นลำไยสามารถสังเคราะห์แสงได้ หลังจากนั้นจะทำการตัดแต่งกิ่งอีกรอบเพื่อให้พร้อมต่อการไว้ลูกโดยคุณบุญส่งจะทำการแต่งกิ่งอย่างนี้ทั้งหมด 3 รอบ ซึ่งแต่ละรอบจะห่างกันประมาณ 45 วัน เพื่อให้ได้ใบมากถึง 3 ชุด โดยมีระยะเวลาในการทำใบให้สมบูรณ์นานกว่า 4 เดือน ที่สำคัญก่อนที่จะราดสารต้องตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ทำต้นให้สะอาด ไม่ให้มีเพลี้ยหอย หรือเพลี้ยชนิดต่างๆ ที่ต้นลำไย ด้วยการฉีดพ่น “สารกำมะถันทอง” เพื่อล้างพิษและล้างสารตกค้างทั้งหมดที่ต้นลำไย โดยเฉพาะบริเวณโคนต้นจะต้องให้เตียน และกวาดใบออกจากโคนให้หมด ก่อนจะฉีดพ่นสารกำมะถันทองให้ได้ถึง 2 ครั้ง เพื่อมั่นใจว่าเพลี้ยตายทั้งหมด ฉะนั้นโคนต้นต้องสะอาด ห้ามมีใบไม้ ห้ามรกเด็ดขาด เพราะเกษตรกรบางคนจะนิยมนำใบไปกองสุมไว้ที่โคนต้นลำไยเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในดินให้ต้นลำไย แต่ถ้าหากสวนไหนที่มีแหล่งน้ำเพียงพอก็ควรจะหลีกเลี่ยงจะดีกว่า เพราะการสุมใบไม้ไว้ที่โคนต้น นั่นคือแหล่งสะสมของเชื้อโรค แมลง และเพลี้ยต่างๆ ที่มักจะอาศัยอยู่ตามโคนต้น เมื่อมีความชื้น สภาพอากาศที่เหมาะสม มันก็จะพัฒนาเป็นแมลงขึ้นมากัดกิน และทำลายทั้งใบอ่อน ช่อดอก และผลผลิตของลำไยให้เสียหายได้ นี่คือสิ่งที่ชาวสวนต้องระวังเป็นพิเศษ หลังจากนั้นจะเน้นการตัดหญ้า กำจัดวัชพืช และปั่นให้ละเอียด เพื่อให้กิ่งและใบที่ตัดแต่งออกมากลายเป็นปุ๋ยพืชสดให้กับต้นลำไยอีกครั้งหนึ่ง
การฉีดพ่นสารเคมี-ป้องกัน-กำจัดโรค
เมื่อสะสมอาหารเต็มที่ มีความสมบูรณ์และความพร้อมแล้ว คุณบุญส่งจะทำการราดสาร โพแทสเซียมคลอเรตเพื่อยับยั้งการแตกใบอ่อนในลำไย และบังคับให้แทงช่อดอกเพื่อ “ผลิตลำไยนอกฤดู” ด้วยการราดสารทางดิน 1 ครั้ง และฉีดพ่นทางใบอีก 2-3 รอบ เพื่อให้ต้นลำไยแทงช่อดอกได้ดี หลังจากนั้นจะฉีดพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดเชื้อราจำพวกคาร์เบนดาซิมและแมนเซฟแบบสลับเพื่อป้องกันโรคและแมลงดื้อยา“เชื้อรา และ หนอนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องป้องกันให้ได้ เพราะเกสรตัวผู้จะบานก่อนตัวเมียเกสรตัวเมียจะมีน้ำหวานเยอะ เชื้อราจะเข้าทำลายได้ง่ายที่สุด เราต้องฉีดพ่นสารเคมีป้องกันก่อนในช่วงนี้ เกษตรกรต้องหมั่นเข้าสวน ดูแลให้ได้ทุกแปลง เพราะการดูแลไม่ทันนั่นหมายถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น”
ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ในสวนทุเรียน
ส่วนการให้น้ำกับต้นทุเรียนในแต่ละช่วง คุณบุญส่งยืนยันว่าต้องหมั่นดูแลและสังเกตเรื่องน้ำ อย่าให้มากเกินไป เพราะจากช่อดอกจะกลายเป็นใบอ่อน อย่าให้น้อยเกินไป ดังนั้นต้องสังเกตที่ดินเป็นหลัก หากพื้นดินแห้งควรจะพรมน้ำให้ชุ่ม แต่ถ้าดินมีความชื้นอยู่แล้วก็ไม่ต้องให้น้ำ เมื่อดอกเริ่มบานจะต้องให้น้ำเพิ่มจากปกติที่เคยให้ แต่ก็ไม่ควรให้น้ำมากจนเกินไป “การให้น้ำไม่จำเป็นว่าต้องให้กี่ชั่วโมง เพราะแต่ละแปลง แต่ละสวน ปริมาณหัวสปริงเกลอร์ไม่เท่ากัน จะไปกำหนดเป็นชั่วโมงไม่ได้ ผมให้ความสำคัญเรื่องน้ำมากที่สุด ถ้าไม่มีระบบน้ำอย่าปลูกเลย ปลูกอะไรก็ไม่งาม ผมเน้นการทำระบบน้ำให้ดี วางระบบน้ำทั้งสวน ให้น้ำได้ทุกต้น และทุกแปลง ได้เท่ากันทั้งหมด ” คุณบุญส่งยืนยัน
การบำรุงรักษาดอก-ผลลำไยให้สมบูรณ์
เมื่อ “ดอกบาน” คุณบุญส่งจะเน้นบำรุงรักษาดอกลำไยให้สมบูรณ์ ด้วยการฉีดพ่น “สาหร่าย” เพื่อช่วยในการดึงช่อให้ยาวขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นลำไยด้วย หากต้นลำไยมีการสะสมอาหารเพียงพอแล้ว ก็จะได้ช่อดอกที่ค่อนข้างใหญ่ ยาว และสมบูรณ์ที่สุด หากมีดอกบานมากจนเกินก็จะทำการตัดแต่งดอกออกไปบ้างเพื่อได้ผลผลิตตามขนาดที่ต้องการมากขึ้น
ที่สำคัญเมื่อลำไยเริ่ม “ขึ้นลูก” จะทำการล้างสารโพแทสเซียมคลอเรตให้สารเจือจางให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้ระบบรากกลับคืนมา รากเดินดี และสามารถหาอาหารได้ดี ด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพซึ่งเป็นสูตรเฉพาะที่คุณบุญส่งได้ผลิตขึ้นใช้เอง และได้ผลดี เป็นที่พอใจอย่างยิ่ง ที่ยังคงใช้มาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงทุกวันนี้ด้วยการใช้น้ำหมักชีวภาพในอัตรา 10 ลิตรต่อน้ำครึ่งลิตร ราดรอบต้นลำไยให้ชุ่ม เพื่อล้างสารโพแทสเซียมคลอเรตประมาณ 2-3 ครั้ง จนกระทั่งเริ่มเห็นเม็ดขึ้นมาจากดิน หลังจากนั้นให้ราดน้ำหมักชีวภาพนี้ทุก 15 วัน อีกประมาณ 2-3 ครั้ง หรือจนกว่าจะไม่เห็นเม็ดสารโพแทสเซียมคลอเรต นอกจากน้ำหมักจะช่วยล้างสารโพแทสเซียมคลอเรตให้จางลงและหายไปแล้ว ยังช่วยบำรุงดิน ให้ดินมีความสมบูรณ์มากขึ้นอีกด้วย เพราะการราดสารจะช่วยควบคุมระบบราก รากจะนิ่ง มันจะหยุดการทำงานทุกอย่าง เหมือนต้นกำลังจะตาย เพราะเราบังคับให้มันออกช่อดอก ฉะนั้นเมื่อเราได้ลูกแล้ว เราก็ต้องล้างสารออกให้หมด หรือให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ระบบรากกลับมา เพื่อให้รากทำงานได้ เพื่อดูดซับอาหารไปเลี้ยงลูกและส่วนต่างๆ ของลำไยได้ดี เพื่อไห้ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์
การบำรุง “ผลลำไย” ให้มีการสร้างเนื้อที่ดีนั้น จะต้องเริ่มบำรุงตั้งแต่ช่วงที่ลูกยังเล็กๆ โดยจะเน้นการให้ปุ๋ยสูตรที่ตัวหน้าสูง จากนั้นเมื่อลูกมีขนาดเท่ามะเขือพวงจะเริ่มตัดแต่งลูกและทรงช่ออีกครั้ง หากลูกมีมากเกินไปก็จะเลือกตัดแต่งเฉพาะกิ่งที่เป็นกิ่งแขนงออกไปเท่านั้น เมื่อลูกมีขนาดโตขึ้นมาอีกหน่อยก็จะทำการตัดแต่งลูกอีกครั้ง เท่ากับว่าคุณบุญส่งจะทำการตัดแต่งลูกลำไยทั้งหมด 2 รอบ ก่อนจะสังเกตว่าผลลำไยที่เหลือนั้นต้นลำไยสามารถเลี้ยงลูกไหวหรือไม่ หากผลผลิตมากเกินก็ต้องแต่งออกอีกครั้งเพื่อให้ผลผลิตขนาดที่สมบูรณ์ ตรงตามที่ตลาดต้องการ ดีกว่าผลผลิตมากแต่ขนาดผลผลิตไม่ดี ราคาก็จะไม่ดีตามไปด้วย
การบำรุงในช่วงต่อมาคุณบุญส่งจะเน้นบำรุงรักษาตามอาการและความสมบูรณ์ของต้นเป็นหลักสำคัญ ขาดน้ำก็ให้น้ำ ไม่มีสูตรตายตัว เนื่องจากผลผลิตลำไยในแต่ละปี แต่ละสวนไม่เหมือนกัน แต่คุณบุญส่งจึงเลือกใช้วิธีการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตด้วยการนำกรรไกรไปผ่าดูผล ดูเปลือก เนื้อใน และเมล็ดของผลที่สมบูรณ์ในแต่ละช่อ แต่ละแปลงเพื่อนำมาซึ่งการคำนวณการใส่สูตรปุ๋ยให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละต้น แต่ละแปลง เช่น หากต้นไหนเปลือกบางเกินไปจะต้องเติมแคลเซียมโบรอน เพื่อให้เปลือกมีความแข็งแรง ผลผลิตไม่แตกง่าย รวมไปถึงการเช็คกรด-ด่างในดินด้วย เพื่อให้ปลดปล่อยธาตุอาหารไปเลี้ยงลำต้นได้ดีขึ้น เป็นต้น เนื่องจากการใส่ปุ๋ยลงไปแต่ละครั้งจะทำให้ กรด-ด่าง ในพื้นดินเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องตรวจเช็คค่า pH ดินอย่างสม่ำเสมอ ส่วนปริมาณการให้ปุ๋ยจะดูจากลักษณะของต้น ทรงพุ่ม ความสูง และอายุ โดยเน้นการให้ปุ๋ยแบบทยอยใส่ปุ๋ยทีละนิดให้กับต้นลำไย หรือประมาณครั้งละ 2-3 ขีด/ต้น แต่ให้บ่อยๆ ให้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งครบตามปริมาณที่กำหนดเอาไว้ เพราะถ้าหากใส่ปุ๋ยครั้งเดียว ต้นลำไยจะกินปุ๋ยไม่หมด บ้างก็ถูกน้ำพัดพาไปแบบเสียเปล่า นอกจากนี้ยังมีการละลายแม่ปุ๋ยให้ไปกับทางน้ำทุกครั้งตามความต้องการของลำไยในแต่ละช่วง เพื่อให้ต้นลำไยทุกต้นได้กินปุ๋ยเท่ากันทั้งหมด “การทำเกษตรที่ดีถ้าไม่มีเวลาอย่ามาทำ เพราะพืชเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้องตามให้ทันไม่งั้นก็ไม่ได้ผลผลิต ต้องคอยมาเช็คดูว่าตอนนี้ต้นลำไยต้องการอะไร เราก็เติมตรงนั้นให้เค้า ชาวสวนลำไยทุกคนเก่งอยู่แล้ว ทั้งสูตรปุ๋ย และวิธีการใส่ปุ๋ย เพียงแต่เรามาดูเทคนิคว่าจะทำอย่างไรให้ลูกทั้งสองรุ่นมีขนาดเท่ากันให้ได้” คุณบุญส่งกล่าว
คนงานเร่งมือคัดลำไย
เนื่องจากการจัดการสวนของคุณบุญส่งจะมีคนงานประจำทั้งหมด 25 คน ประกอบกับปัจจัยเสี่ยง และปัญหาที่สำคัญของชาวสวนในวันนี้ก็คือ สภาพอากาศ ที่ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ในปีที่ผ่านมาสวนลำไยของคุณบุญส่งสามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 150-180 ตัน/ปี ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นเบอร์ 1-3 เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภคทั้งในประเทศและการส่งออก ซึ่งคุณบุญส่งจะเน้นย้ำว่า ให้ทำผลผลิตให้ได้เบอร์ 4-5 ให้น้อยที่สุด ชาวสวนก็จะไม่ขาดทุนแล้ว เพราะการทำลำไยหรือบังคับลำไยให้ได้ผลผลิตขนาดใหญ่ที่สุดทั้งหมดไม่ได้หรอก เอาแค่ว่าทำให้ได้เบอร์ 4-5 น้อยมากที่สุดเท่านั้นก็พอ เพราะจะไปบังคับให้ลำไยทุกลูกเท่ากันนั้นยากกว่า
การสร้าง “โรงอบลำไย” ขึ้นมา เพื่อป้องกันปัญหาในการขนส่ง-การรอคิวอบลำไย
คุณบุญส่งยอมรับว่าการซื้อขายผลผลิตลำไยในวันนี้ยังสดใสและยังไปได้ดีภายใต้เครือข่ายที่มีมาอย่างยาวนาน แต่ทว่าผู้บริโภคปลายทางหรือตลาดส่วนใหญ่ คือ ประเทศจีน ที่มองว่าชาวสวนไม่มีความมั่นคงในอาชีพ หากชาวสวนไม่รู้เรื่องตลาดปลายทางเลย แม้วันนี้ตลาดปลายทางจะมีความต้องการสูง แต่ไม่ทราบตลาดในอนาคตว่าจะเป็นเช่นนั้น ชาวสวนจะลำบาก เพราะตลาดเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ คุณบุญส่งจึงได้ ตัดสินใจสร้าง “โรงอบลำไย” ขึ้นมา เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการขนส่งผลลำไยสด และการรอคิวอบลำไยที่นานเกินไป จนผลผลิตเสียหาย เพื่อรองรับผลผลิตที่สวนเอง และรองรับผลผลิตจากเกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตได้เป็นอย่างดี “แถวนี้สวนลำไยเยอะหลายแสนต้น ถ้าผลผลิตเราออกไปตรงกับเค้าแล้ว เราไม่มีโรงอบก็ต้องไปต่อคิว ผลผลิตเราก็จะไม่สด เราก็จะถูกแม่ค้ากดราคาลงอีก สู้เรามีโรงอบเป็นของเราเองเลยดีกว่า ง่าย สบาย ไม่ต้องเสียค่าขนส่งไกลด้วย แล้วที่สำคัญผมส่งออกเอง ทำล้งเอง เรื่องถูกกดราคาจึงไม่เกิดขึ้น เพราะผมเป็นผู้ผลิตที่ส่งตรงกับผู้บริโภคได้เลย” คุณบุญส่งกล่าวถึงวิธีการจัดการผลผลิตเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
การจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภค
นอกจากนี้คุณบุญส่งยังให้มุมมองว่า “กระแสลำไยตอนนี้กำลังดัง เกษตรกรปลูกใหม่กันเยอะ แต่เมื่อผลผลิตออกมาจะล้นตลาด เหมือนมะนาวที่มีแต่คนขายกิ่งพันธุ์ เพราะตลาดเค้าต้องการสินค้าคุณภาพ แน่นอนว่าเกษตรกรไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา ทุกวันนี้ประเทศไทยส่งลำไยไปจีนมากที่สุด ฉะนั้นผู้ที่กำหนดราคา คือ จีน ไม่ใช่เกษตรกร ฉะนั้นแล้วถ้าคุณยังทำลำไยคุณภาพไม่เป็น สักแต่ว่าทำแล้วรดน้ำให้มันออกผล ผลิต ออกมาแล้วก็ขายในราคาที่ต่ำ เกษตรกรก็ขาดทุนอีก ต้นทุนก็สูง อย่างตัวผมเองคิดแค่ลำไยอย่างเดียวผมยังขาดทุนเลย ไหนจะค่าไฟ ค่าแรงงาน ค่าน้ำมันที่ต้องวิ่งรถขึ้นลง จากกรุงเทพฯไปละหารทรายทุกอาทิตย์ ทุกเดือน ค่าใช้จ่ายผมตกประมาณ 3-4 แสน ค่าปุ๋ย-ยายังไม่ได้คิด ผมถึงบอกว่าถ้ายังไม่พร้อมอย่าเพิ่งปลูกลำไยตอนนี้ มันมีแต่คนที่อยากจะขายกิ่งพันธุ์ ตอนนี้ลำไยเยอะมาก ถ้าจะปลูกคุณต้องรู้จักกลไกของตลาดก่อน ถ้าคุณไม่รู้ แม่ค้าที่รับซื้อก็กดราคาคุณหมด ฉะนั้นปัจจุบันลำไยไม่ใช่โอกาสทอง หากเกษตรกรจะปลูกไม้ผลควรปลูกอะไรก็ได้ที่ตัวเองถนัด และทำได้ดี ปลูกไม้ผลหลายอย่างเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง อย่าปลูกพืชตามกระแสเด็ดขาด นี่คือข้อคิดเตือนสติจากผม จะทำอะไรคิดให้ดี อย่าเชื่อเขา อย่าหูเบา แล้วเกษตรกรจะประสบความสำเร็จ” นอกจากลำไยแล้ว วันนี้คุณบุญส่งยังมีผลผลิตของแก้วมังกร มะยงชิด มะนาว ที่สร้างรายได้ให้กับสวนไม้ผลแห่งนี้ ซึ่งผลผลิตที่กำลังจะตามมาในอีกไม่ช้าก็คือ ผลผลิตจากส้ม และทุเรียน โดยเฉพาะ “ส้ม” ที่เตรียมจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 80 ไร่ ที่ได้โค่นต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกไว้ทิ้งไปบางส่วนเพื่อปลูกส้มที่ได้ผลิตกิ่งพันธุ์เอาไว้เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันต้นส้มอายุเกือบ 2 ปี บางต้นยังเริ่มไว้ผลผลิตได้ เพื่อหัดให้ต้นส้มเตรียมออกผลผลิตได้อย่างเต็มที่ในปีต่อไป ซึ่งเป้าหมายของคุณบุญส่งในอนาคต เรื่องการจำหน่ายผลผลิตส้มและทุเรียนนั้นจะเน้นทำผลผลิตให้ดี มีคุณภาพ เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคในราคาที่ตกลงกันไว้เท่านั้น “ต่อไปอนาคตส้มจะกลับมา แต่ของผมจะเน้นผลผลิตแบบคุณภาพ จะขายตรงถึงผู้บริโภคเท่านั้น โดยราคาขายผลผลิตที่ออกจากสวนผมจะขายไม่ต่ำกว่า 80 บาท เราจะส่งตรงถึงผู้บริโภคเองเลยรวมทั้งผลผลิตของทุเรียนด้วยที่ปลูกไว้มีทั้งหมอนทองและก้านยาว” คุณบุญส่งยืนยัน
การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพของ “ภ.เกษตรภัณฑ์”
คุณบุญส่งยอมรับว่าการที่เป็นคนที่น้ำไม่เต็มแก้ว ทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ จากรอบตัวได้ดี เพื่อนำเทคนิคของแต่ละคนมาประยุกต์ใช้ในการทำสวนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการทำสวนลำไยจำเป็นต้องใช้ปุ๋ย-ยาเป็นจำนวนมาก คุณบุญส่งจึงได้รู้จักกับ คุณภินันท์ เจ้าของร้าน “ภ.เกษตรภัณฑ์” ร้านเคมีเกษตรชื่อดังที่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มาอย่างยาวนาน ภายใต้การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเกษตรซึ่งกันและกัน จนกระทั่งเป็นมิตรแท้ที่ดีต่อกันมานาน ที่สำคัญร้านเคมีเกษตรแห่งนี้เน้นขายปุ๋ย-ยาคุณภาพแก่เกษตรกร พร้อมทั้งแนะนำวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด “ ผมก็รู้จักกับคุณภินันท์มานาน เวลาที่ผมมีปัญหาเรื่องการใส่ปุ๋ยก็มาปรึกษาทางร้านตลอด อย่างที่บอกว่าผมจะเทน้ำในแก้วออกหมด แล้วก็รับน้ำใหม่จากคนอื่นๆ เพราะผมก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรมาก เมื่อรับความรู้มาแล้วก็มาปรับใช้กับสวนของเรา อันไหนที่ใช้ได้ ใช้ดี ก็บอกต่อ เพราะสูตรการทำสวนลำไยของผมมันไม่แน่นอนอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับสภาพของดินในแต่ละช่วง คือ การจัดการไม้ผลมันเยอะมาก เราต้องตามมันให้ทัน ยิ่งสภาพอากาศบ้านเราเป็นแบบนี้ด้วยนะ ต้องป้องกันเป็นอย่างดี ผมก็ได้ร้าน ภ.เกษตรภัณฑ์ นี่ล่ะ เป็นผู้ช่วย ดังนั้นการทำเกษตรอะไรสักอย่าง เกษตรกรต้องดูพื้นดินของตนเองก่อนว่าเหมาะกับพืชชนิดไหน ปลูกอะไรถึงจะได้ผลผลิตที่ดี และลงทุนน้อยที่สุด เศรษฐกิจแบบนี้ประหยัดอะไรได้ก็ควรประหยัด ที่สำคัญดูแหล่งน้ำด้วยว่าเพียงพอไหม ผมเองก็ไม่ใช่ชาวสวนที่เก่ง ผมเป็นวิศวกรยังมาทำเกษตรได้เลย เพียงแต่เราต้องสนใจ และใส่ใจ เกษตรกรต้องกล้าได้ กล้าเสีย การทำเกษตรกรรม คือ การเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ที่สำคัญอย่าเปลี่ยนพืชที่ปลูกบ่อยๆ เห็นเค้าปลูกดีก็ปลูกตาม แล้วเมื่อไรจะได้ดี ในเมื่อตามเค้าอย่างเดียว ให้เกษตรกรทำเท่าที่ทำได้ ทำเท่าที่กำลังทำไหว แล้วทำให้ดี ให้มีคุณภาพ คุณทำดี มีคุณภาพแค่ 50 ต้น ก็ได้เท่าคนอื่นที่ทำ 100 ต้น แล้ว” คุณบุญส่งกล่าวในตอนท้าย
สอบถามเพิ่มเติม
คุณบุญส่ง แซ่คู
ขอขอบคุณข้อมูล ร้าน ภ.เกษตรภัณฑ์ พนมสารคาม
ที่อยู่ 1699/35-39 หมู่ 1 ถนนฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม
ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 24120
โทร.038-551-064 หรือ 081-410-7241