มะเขือยาว จัดอยู่ในพืชตระกูลผักที่อุดมไปด้วยโปรตีนและมีแคลเซียมสูง รับประทานเป็นประจำก็จะช่วยรักษาหลอดเลือด ป้องกันเส้นเลือด และป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและจะเข้าไปเสริมในเรื่องของการทำงานของสมอง ความจำ ลดอาการบวม ขับปัสสาวะ เป็นต้น
ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่มีมาอย่างยาวนานที่จะนิยมรับประทานมะเขือยาว แบบชุบแป้งทอดหรือนำมะเขือไปเผาก่อนนำมาทำยำ มะเขือยาว โดยเมนูนี้มีชื่อว่า “ยำนารีร้องไห้” ซึ่งเป็นอาหารที่นิยมกันมากหรือการบริโภค มะเขือยาว ในรูปแบบอื่นๆ
สายพันธุ์มะเขือปุยฝ้าย
ปัจจุบัน “มะเขือยาว” มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ในหลายพื้นที่ แต่ละบริษัท ต่างพยายามพัฒนาลักษณะและรสชาติเพื่อตอบสนองต่อเกษตรกรและผู้บริโภค จากความหลายของพันธุ์มะเขือเป็นที่มาของ “มะเขือปุยฝ้าย” ภายใต้การวิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์จากฝีมือคนไทย ดร.มานิจ วิบูลย์พันธุ์ ผู้คร่ำหวอดในการพัฒนาคิดค้นสิ่งใหม่เพื่อความอยู่รอดและความปลอดภัยของมวลมนุษยชาติ เช่น ไก่ เป็ด และสุกรหลากหลายสายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุกรรมที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเมืองไทย รวมทั้งการพัฒนาสมุนไพรสำหรับวงการปศุสัตว์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการกินอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์
ต้นกำเนิดจากพันธุ์ มะเขือยาว ปุยฝ้าย
สำหรับ “มะเขือปุยฝ้าย” เป็นงานวิจัยพัฒนาอีกชิ้นที่จะสร้างผลประโยชน์กับวงการพืชผักด้วยแรงบันดาลใจที่ต้องการกินมะเขือที่มีรสชาติตามที่ตนต้องการ จึงเสาะแสวงหามะเขือพันธุ์ต่างๆ เท่าที่พอจะหาได้มาเป็นพันธุ์ตั้งต้นในการพัฒนาพันธุ์มะเขือ ใช้เวลาในการทำงานมากกว่า 4 ปี
โดยปุยฝ้ายเป็นบทสรุปของทางเลือกที่ดีที่สุด โดยมีต้นกำเนิดจากพันธุ์ “มะเขือมัน” จากจังหวัดยะลา ที่ผลมีสีเขียวยาวประมาณคืบกว่าๆ มีรสชาติเฝื่อนเล็กน้อย แต่ยังขาดความนุ่ม และขนาดผลที่เล็ก มาผสมกับ “มะเขือเดือยแพะ” จากจังหวัดพะเยา ลักษณะผลมีสีม่วงเข้ม ยาวประมาณ 3 นิ้ว ซึ่งเกษตรกรรวมกลุ่มผลิตเพื่อส่งออกประเทศญี่ปุ่น รสชาติค่อนข้างดี เปลือกหนาแข็ง ผลเล็ก สีไม่ชวนกิน หลังจากได้พันธุ์ผสมที่รสชาติค่อนข้างดีตามที่ตนต้องการ จึงได้พัฒนาต่อทั้งรสชาติ ลักษณะผล ความแข็งแรงของพันธุกรรม ปริมาณผลผลิต อายุการให้ผลผลิต
การเพาะเมล็ดมะเขือปุยฝ้าย
โดย “มะเขือปุยฝ้าย” จึงปลูกง่ายในทุกสภาพพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขังแต่อุ้มน้ำได้ดี มีความต้องการธาตุอาหารโดยเฉพาะไนโตรเจนและโพแตสเซียมค่อนข้างสูง หากให้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมจะให้ลักษณะผลยาวประมาณ 1 ฟุต อวบใหญ่ วัดรอบได้ประมาณ 10 นิ้ว ผลลักษณะตรงปลายผลจะใหญ่กว่าผลส่วนที่ติดกับขั้ว ผิวสีเขียวใบตอง ผลขนาดเก็บเกี่ยวใช้มือจับค่อนข้างนิ่ม ผิวเงาใส ข้างในผลพร้อมทานจะนิ่ม มองไม่เห็นเมล็ดอ่อน เนื้อนุ่ม หวานคล้ายปุยฝ้าย แต่หากผลโดนแดดจัดจะซีดเหลือง และหากผลแก่สีจะซีดลง ผิวรอบผลจะแตกลายงา และจะสุกเหลืองเมื่อแก่
เมื่อนำเมล็ดเพาะได้ 3-4 วัน จะออกใบเลี้ยงจำนวนสองใบ เรียวแหลมคล้ายใบเลี้ยงของต้นพริก เกษตรกรสามารถแยกไปชำในถาดหลุมเมื่อมีใบจริงออกเพิ่มมาอีก 2 ใบ และสามารถนำลงปลูกในแปลงได้เมื่อมีใบจริงจำนวน 5-6 ใบ โดยระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1-1.5 เมตร ระหว่างแถวประมาณ 2 เมตร เพื่อง่ายในการเก็บเกี่ยว และดูแลรดน้ำ พรวนดิน ปุ๋ยคอกที่มะเขือปุยฝ้ายชอบมากคือ น้ำจากฟาร์มหมู
เมื่อลำต้นสูงประมาณเข่าหรือออกดอกชุดแรกให้ตัดยอดและใบออกให้เหลือเพียง 2 ใบ หลังจากนั้นจะแตกยอดกิ่งก้านใหม่จำนวนมาก ให้ใช้ไม้ดามรอบลำต้นเพื่อป้องกันกิ่งหักฉีก ดอกมีสีม่วง ช่อละ 3-6 ดอก หาก 1 ช่อติดมากกว่า 1 ผล ให้ตัดออกเหลือเพียงผลเดียวที่ขั้วใหญ่ติดกับลำต้นมากที่สุด
ในลักษณะต้นที่สมบูรณ์ใน 1 ต้นจะให้ผลมากกว่า 40 ผล ให้เกษตรกรหมั่นตัดใบที่ใหญ่และผลที่ลักษณะไม่ดี คดงอ มีตำหนิออก เพื่อให้น้ำเลี้ยงไปเลี้ยงผลเหลืออยู่ได้อย่างเต็มที่ อายุตั้งแต่ออกดอกถึงเก็บขายช่วงที่เหมาะสมประมาณ 12-14 วัน หากไม่มีการเก็บเกี่ยวผลตามอายุ ดอกที่ออกใหม่จะร่วงถึงแม้จะผสมเกสรติดแล้วก็ตาม ความสูงของทรงพุ่มประมาณ 1 -1.20 เมตร กลีบเลี้ยงที่ติดกับผลจะมีหนามเล็กน้อย ใบมีละออกขนเมื่อสัมผัสผิวอาจจะระคายเคืองได้
การให้ปุ๋ยและน้ำมะเขือปุยฝ้าย
การให้ปุ๋ยและน้ำ มะเขือปุยฝ้าย ต้องการน้ำไม่มากแต่ขาดน้ำไม่ได้ ให้เกษตรกรสังเกตหากดินใต้โคนต้นปั้นเป็นก้อนยึดกันแน่นไม่แตกถือเป็นใช้ได้ หากให้น้ำมากรากจะเน่า การเก็บเกี่ยวให้ใช้มีดหรือกรรไกรตัดบริเวณขั้วให้ติดลำต้นมากที่สุด ระวังก้านขั้วอาจตำผิวของผลอื่น เนื่องจากปุยฝ้ายผิวค่อนข้างนิ่มและบาง เมื่อตัดแล้วให้แช่น้ำสัก 1 ชม. แล้ววางให้ผิวแห้งก่อนใส่ถุงส่งตลาดจะทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น
ด้วยผลที่มีรสชาติหวาน นุ่ม อร่อย จึงสามารถกินเป็นผักดิบเป็นเครื่องเคียงได้ทุกเมนู และสามารถปรุงอาหารได้ทุกเมนูที่มะเขือทั่วไปสามารถทำได้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องอุณหภูมิ หากนานหรือไฟแรงไปอาจจะทำให้เปื่อยเละไม่น่าทาน เมนูที่แสดงถึงความอร่อยมากที่สุด คือนำไปเผาหรือย่าง เอาเปลือกนอกออก และนำไปยำหรือกินกับน้ำพริก
นอกจากนี้ดร.มานิจยังได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกของชาวนาไทยในยุคนี้ โดยยึดตลาดและความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลักที่ต้องการรับประทานข้าวที่หอมและนิ่มอย่าง “ข้าวหอมละมุน” ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวนาปรังที่สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ภายใต้การพัฒนาสายพันธุ์มาอย่างยาวนาน การคัดสรรสายพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวลูกผสมอย่างพิถีพิถัน
จนกระทั่งได้ข้าวสายพันธุ์ดี มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตที่ดี สร้างรายได้ที่ดีให้กับชาวนา เป็นพันธุ์แท้ที่เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อขยายการเพาะปลูกในฤดูถัดไปได้โดยไม่กลายพันธุ์ ที่สำคัญข้าวหอมละมุนมีความโดดเด่นในเรื่องของกลิ่นและรสชาติที่หอม หุงขึ้นหม้อ ข้าวนุ่มและนิ่มตามธรรมชาติ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคนอกเหนือจากการบริโภคข้าวหอมปทุมและข้าวหอมมะลิ
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายมะเขือปุยฝ้าย
“แนวคิดแรกเกิดจากการที่เราอยากกินมะเขือที่นิ่ม นุ่ม หวาน อร่อยไม่เฝื่อน แต่มะเขือที่มีอยู่บางพันธุ์ไม่ตอบโจทย์เรา รสชาติยังมีติดเฝื่อนอยู่ เราจึงคิดค้น มะเขือยาว ขึ้นมาจากความอยากกินของเราเพื่อให้ได้ทั้งรสชาติที่หวาน นุ่ม และเนื้อเยอะ ไม่มีรสเฝื่อน ไม่กัดปาก กินได้ทั้งลูกหรือตั้งแต่ขั้วลงมาเลย ผู้บริโภคทุกเพศ ทุกวัย สามารถที่จะกินได้ ที่สำคัญตอบโจทย์ให้กับผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่ยอมรับประทานผักได้ดี เพราะมะเขือพันธุ์นี้ มะเขือปุยฝ้ายจะทานง่าย รสชาติดี อร่อย เนื้อนิ่ม เนื้อนุ่ม ไม่กัดปาก ทานได้ทั้งลูกแน่นอน” ดร.มานิจยืนยัน
เกษตรกรท่านใดสนใจต้องการพันธุ์มะเขือปุยฝ้ายไปปลูกเพื่อการค้าหรือปลูกไว้ทานในครัวเรือนหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกติดต่อที่สวนเกษตรสาระ 154 ม.8 ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ตอนนี้มีเมล็ดพันธุ์พร้อมที่จะนำไปปลูกแล้ว โทร.08-1195-3908
อ้างอิง : นิตยสารเมืองไม้ผล ฉบับที่ 179