ดิน คือ หัวใจของการปลูก พืช…!!!
เพราะดินไม่ใช่เพียงแค่วัตถุสำหรับให้รากพืชยึดเกาะเท่านั้น แต่ดินยังเปรียบเสมือน “โรงอาหาร” ของพืช ถ้าดินไม่มีธาตุอาหาร พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโต
ตรงกันข้าม ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร พืชก็ย่อมสมบูรณ์และให้ผลผลิตที่ดี
แต่คำถามก็คือ เกษตรกรรู้จักดินมากน้อยแค่ไหน…???
ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าดินใกล้ชิดกับเกษตรกรมากที่สุด แต่เกษตรกรกลับรู้จักน้อยที่สุด…!!!
การไม่รู้จักสิ่งใกล้ตัวนี่เองทำให้เกษตรกรปลูกพืชไม่ประสบความสำเร็จ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้น เพราะหมดไปกับการใส่ปุ๋ยเคมี เพราะคิดว่าคือธาตุอาหารหลักของพืช
แต่ยิ่งใส่ปุ๋ยเพิ่มผลผลิตกลับเท่าเดิม และลดลง เพิ่มทางเดียวคือต้นทุน
ปัญหาหนึ่งก็เพราะ เกษตรกรไม่รู้จักดิน…!!!
ทีมงานเมืองไม้ผล พูดคุยกับ ผช.ศ.ดร.เสาวนุช ถาวรพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน และหัวหน้าโครงการพัฒนาวิชาการดิน ปุ๋ย และสิ่งแวดล้อม ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับความสำคัญของดินกับพืช รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูดินเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน
ข้อมูลต่อไปนี้ จะทำให้เกษตรกรรู้จัก ดิน มากขึ้น
ดินโซนภาคกลางสมบูรณ์ที่สุด แต่เสี่ยงต่อการเสื่อมโทรม
ดร.เสาวนุช ให้ข้อมูลว่า ดินที่ใช้ทำการเกษตรในเมืองไทยอยู่ในสถานะค่อนข้างดี โดยเฉพาะเขตภาคกลางเนื่องจากดินในภูมิภาคเป็นดินลุ่มแม่น้ำ มีตะกอนจากแม่น้ำมาทับถม เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน และแม่น้ำเจ้าพระยา ตะกอนที่มากับน้ำอุดมไปด้วยแร่ธาตุ และเป็นแร่ธาตุใหม่ๆ ทำให้ดินมีการปรับตัวตามสภาวะธรรมชาติ
สังเกตได้จากปุ๋ยนาข้าวที่เกษตรกรภาคกลางใช้คือ 16-20-0 ตัวโพแทสเซียมไม่ต้องใส่เลย เพราะมีอยู่แล้วในตะกอนหินและดินที่มากับน้ำ
“แต่ความเชื่อนี้มันก็อาจจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากมีการทำคันกั้นน้ำ เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำไม่ได้ท่วมสม่ำเสมอเหมือนสมัยก่อน ตะกอนดินใหม่ๆ จึงไม่มีมาเพิ่ม เพราะฉะนั้นในอนาคตจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมเพิ่มมากขึ้น”
ทางแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ การฟื้นฟูดินให้มีธาตุอาหาร โดยสามารถทำได้ 2 แนวทางคือ การเพิ่มอินทรียวัตถุ และตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน
โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์หาอินทรียวัตถุในดิน
การปลูกพืช ดินและอินทรียวัตถุ คือ หัวใจ
ดร.เสาวนุช ให้ข้อมูลเรื่อง ดิน เพิ่มเติมว่า องค์ประกอบของดินตามธรรมชาติมี 4 ส่วน คือ
น้ำในดิน ทำหน้าที่ช่วยละลายธาตุอาหารพืชในดิน และจำเป็นสำหรับใช้ในการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารและสารประกอบต่างๆ ในต้นพืช
อากาศในดิน ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนแก่รากพืชและจุลินทรีย์ดินสำหรับใช้ในการหายใจ
แร่ธาตุในดิน เป็นส่วนที่ได้จากการผุพังทลายตัวของหินและเป็นแหล่งธาตุอาหารพืชที่สำคัญที่สุด
อินทรียวัตถุ เป็นส่วนที่ได้จากการเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวของเศษซากพืชและสัตว์ทับถมกันอยู่ในดิน อินทรียวัตถุมีปริมาณธาตุอาหารพืชอยู่น้อย แต่มีความสำคัญในการทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี ทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ในดิน
ทั้งนี้ ดินที่สมบูรณ์เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชจะมีน้ำกับอากาศจะอยู่ในช่องว่างของดินอัตราส่วน 50% แร่ธาตุ 45% (แร่ธาตุมี 3 ขนาด คือ ขนาดทราย ขนาดทรายแป้งและขนาดดินเหนียว) ที่เหลืออีก 5% คืออินทรียวัตถุ
ในจำนวนองค์ประกอบของดิน แม้อินทรียวัตถุจะมีสัดส่วนน้อยที่สุด แต่กลับมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชมากที่สุด
เพราะหน้าที่ของอินทรีวัตถุคือ สารเชื่อมอนุภาคดิน มีคุณสมบัติเป็นตัวเก็บกักธาตุอาหาร เพราะลำพังตัวแร่ธาตุไม่สามารถกักเก็บธาตุอาหารไว้ได้ อินทรียวัตถุจึงมีหน้าที่เหมือนตัวยึดจับธาตุอาหารให้อยู่ในดินนั่นเอง ซึ่งธาตุอาหารที่ว่านี้ หมายรวมไปถึงปุ๋ยที่เกษตรกรใส่ด้วย
แล้วถ้าดินไม่มีอินทรียวัตถุจะเป็นอย่างไร…???
“ถ้าไม่มีตัวอินทรียวัตถุดินก็จะแน่น ยิ่งประเทศเราอยู่ในเขตร้อน จุลินทรีย์ทำงานเร็วทำให้เศษใบไม้ใบหญ้าสลายตัวเร็ว อินทรียวัตถุก็จะหมดไปเร็ว อีกทั้งพฤติกรรมของเกษตรกรทำไร่ ทำนา มักจะทำลายอินทรียวัตถุโดยไม่รู้ตัว เช่น การเผาเศษซากในไร่นา หรือการปลูกพืชอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักฟื้นฟู ดินจะแน่นและธาตุอาหารน้อย”
อินทรียวัตถุ คือเครื่องดักจับปุ๋ยไว้ในดิน
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน ให้ข้อมูลสำคัญว่า ทั้งดิน และปุ๋ย (ธาตุอาหาร) เป็นเหมือนประจุไฟฟ้า คือ ดิน และอินทรียวัตถุมีค่าเป็นประจุลบ ส่วนปุ๋ยมีค่าเป็นประจุบวก
เมื่อดินและปุ๋ยมาเจอกันจึงดึงดูดกันเหมือนแม่เหล็ก เพียงแต่ดินมีอนุภาคของการดูดและจับธาตุอาหารต่ำกว่า อินทรียวัตถุ ดินที่มีอินทรียวัตถุมากจึงดูดปุ๋ยได้มากนั่นเอง
แต่ถ้ามีน้อยหรือไม่มีเลย ธาตุอาหารในดินก็จะต่ำ
มาถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพแล้วว่า เหตุใดเวลาใส่ปุ๋ยลงไปในดินแล้ว ไม่เกิดประสิทธิภาพ พืชไม่เจริญเติบโต ผลผลิตไม่เพิ่ม เพิ่มอย่างเดียวคือ ต้นทุน
นั่นก็เพราะ ในดินขาดแคลนอินทรียวัตถุ
แนวทางการฟื้นฟู อินทรียวัตถุในดิน
แนวทางหรือวิธีการสร้างอินทรียวัตถุให้ดิน ขั้นตอนสำคัญก็คือ หลังการเก็บเกี่ยวพืช
ปกติทำพืชไร่ และนาข้าว เช่น ข้าว อ้อย ข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรกรมักจะเผาทำลาย เศษซากพืช เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการพื้นที่ ซึ่งนั่นคือ “ขับไล่” อินทรียวัตถุออกไปจากดินอย่างไม่รู้ตัว
วิธีสร้างอินทรียวัตถุก็คือ หลังการเก็บเกี่ยวแทนที่จะเผาก็เปลี่ยนมาไถตอซัง และเศษพืช แล้วทิ้งไว้ให้เกิดการย่อยสลาย กลายเป็นกองทัพอินทรียวัตถุในดิน
“กรมพัฒนาที่ดิน จะมีสารจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายแบบเข้มข้น เอาไปแจกให้เกษตรกรเอาไว้ใช้ทำปุ๋ยเองได้ จุลินทรีย์จะไปช่วยให้ย่อยสลายเศษพืชได้เร็วขึ้น จากเดิมที่วางไว้เฉยๆ อย่างเศษกองใบไม้นี้กองไว้เฉยๆ สองเดือนกว่าแล้วยังเป็นกองอยู่เลย แต่ถ้าเกิดเรามีจุลินทรีย์มาราดใส่ไป สักสองอาทิตย์ก็จะยุบแล้ว”
อีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกพืชบำรุงดิน จำพวก พืชตระกูลถั่ว และปอเทือง เป็นต้น จะเป็นเครื่องสร้างไนโตรเจนในดิน และเศษซากยังกลายเป็นอินทรียวัตถุชั้นดีให้กับดิน
แต่ปัญหาก็คือ เกษตรกรมักกลัวเสียโอกาส หากต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชตระกูลถั่วโดยไม่เกิดรายได้ หรือ การไถกลบ เป็นการเสียเวลาปลูกพืชในรอบถัดไป
ดร.เสาวนุช แนะนำว่า เกษตรกรควรใช้วิธีแบ่งเป็นโซนปลูก เช่น แบ่งพื้นที่เป็น 3 แปลง แบ่งปลูกถั่วไว้ในช่วงหน้าแล้งเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุหนึ่งแปลง พออีกปีก็ขยับไปแปลงถัดไป ทำวนอย่างนี้ทั้งพื้นที่
จะเห็นได้เลยว่า นี่คือ การสร้างอินทรียวัตถุในดินที่มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่มีประสิทธิภาพสูง
แต่สำหรับเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่มีทุน อาจจะหาซื้อปุ๋ยคอก จำพวก ปุ๋ยขี้วัว ปุ๋ยขี้ไก่ มาเพิ่มได้อีกทาง
“ถ้ามีการเพิ่มอินทรียวัตถุอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ได้คือ ดินไม่เสื่อม ปุ๋ยก็ใส่น้อยลง เพราะดินเก็บปุ๋ยได้มาก มันคือความคุ้มค่า แต่บ้านเราชอบเห็นเงินทันใจไม่ค่อยคิดในระยะยาว บ้างว่าดินไม่ดีใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไป แล้วก็โทษว่าปุ๋ยเคมีไม่ดีใส่เข้าไปแล้วดินแน่น แต่ไม่ได้ดูว่าตัวเองจัดการอย่างไร
“บางคนใส่ปุ๋ยมากแล้วดินเค็ม แต่ไม่ได้ใส่อินทรียวัตถุเลย ทำเสร็จก็เผา พอเผาเสร็จธาตุจุลินทรีย์บางส่วนก็ตายไป กว่าจะฟื้นก็สองสามเดือน ก็เริ่มใส่ปุ๋ยใหม่ นี่คือต้นทุน ” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน ให้ข้อมูล
เมื่ออินทรีวัตถุทำให้ดินเก็บปุ๋ย และส่งให้พืชได้ดีขึ้น ได้มากขึ้น เกษตรกรจะสามารถลดต้นทุนปุ๋ยได้อย่างดี เพราะปุ๋ยมีต้นทุนถึง 30% ของต้นทุนทั้งหมด
แต่ถ้าเกษตรกรต้องการทราบว่าดินของตนเองมีธาตุอาหารมากหรือน้อยจะรู้ได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้โครงการพัฒนาวิชาการดิน ปุ๋ย และสิ่งแวดล้อม ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้คิดค้น ชุดตรวจสอบอินทรียวัตถุในดิน ขึ้นมา
“ถ้าเกิดเกษตรกรสามารถวิเคราะห์ตัวนี้ได้เอง ถ้าวิเคราะห์แล้วเห็นว่าอินทรียวัตถุอยู่ในระดับต่ำก็หาทางเพิ่ม แต่ถ้ามีสูงอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม เป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง แต่ว่าอินทรียวัตถุมันไม่ได้อยู่นาน มันก็จะหมดไปตามธรรมชาติ เกษตรกรจึงต้องสร้างอย่างสม่ำเสมอ”
ตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน และปุ๋ยสั่งตัด แนวทางลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ
นอกจากการสร้างกองทัพอินทรียวัตถุในดินแล้ว ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว เกษตรกรจำเป็นต้องตรวจวัดธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินด้วย
เพราะถ้าเกษตรกรสามารถรู้ว่าในดินที่ใช้ปลูกพืชมีธาตุอาหารอะไรบ้าง และเพียงพอต่อความต้องการของพืชหรือไม่
เมื่อเกษตรกรรู้ธาตุอาหารในดิน ก็จะล่วงรู้ว่าพืชขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง แล้วตัวไหนที่มีอยู่มากแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่ม
เมื่อได้ค่าวิเคราะห์ปุ๋ยมาแล้ว แนวทางต่อมาคือ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ หรือที่รียกว่า (ปุ๋ยสั่งตัด) วิธีการนี้จะช่วยให้การใส่ปุ๋ยเกิดประสิทธิภาพ และลดต้นทุนปุ๋ยได้อีกทาง
ดร.เสาวนุช ให้ข้อมูลว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่า การตรวจวิเคราะห์ ธาตุอาหารในดิน ( N-P-K)วิธีการขั้นตอนยุ่งยาก จึงไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าที่ควร ทำให้ไม่รู้จักดินในแปลงตนให้ตนเอง ทั้งๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้
ดังนั้นเกษตรกรควรเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์ดิน โดยเบื้องต้นต้องแบ่งพื้นที่ก่อน หากพื้นที่ใหญ่มากหรือดินไม่สม่ำเสมอ และดินมีลักษณะแตกต่างกัน ปลูกพืชต่างกัน ใช้ปุ๋ยต่างกัน และดินมีสีต่างกัน ต้องแบ่งพื้นที่ออกเป็นแปลงย่อย และแยกเก็บดิน 1 ตัวอย่าง ต่อ 1 แปลงย่อย
การตรวจวิเคราะห์ดิน มีอยู่ 2 แบบ คือ
1. ส่งตัวอย่างดินในพื้นที่ของตนไปวิเคราะห์ตามห้องแล็บหรือหน่วยงานราชการ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน อย่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ภาควิชาปฐพีวิทยา ก็มีการตรวจวิเคราะห์ให้กับเกษตรกร แต่ต้องมีค่าใช้จ่าย ตัวอย่างประมาณละ 600 บาท
2. ซื้อชุดตรวจดินหรือชุดตรวจสอบธาตุอาหารมาตรวจวิเคราะห์เอง ภาควิชาปฐพีวิทยามีชุดตรวจจำหน่ายชุดละ 750 บาท (ชุดตรวจดิน) ส่วนชุดตรวจวิเคราะห์ค่า N-P-K ปัจจุบันทางภาควิชาปฐพีวิทยาได้ขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทเอกชนให้ดำเนินการต่อ
ชุดตรวจดิน เป็นอีกแนวคิดหนึ่งของ ผช.ศ.ดร.เสาวนุช เพื่อให้เกษตรกรสามารถวิเคราะห์สภาพดินในพื้นที่ของตนเอง และตรงนี้เกษตรกรจะรู้ทันทีว่าควรเพิ่มหรือลดปริมาณในการใช้ปุ๋ยตัวไหนได้ตามสัดส่วนที่ดินและพืชต้องการ
เมื่อเกษตรกรได้ชุดตรวจดิน ควรอ่านคู่มือทำความเข้าใจให้ละเอียดทุกขั้นตอน แต่ขั้นตอนยุ่งยากที่สุดดูเหมือนจะเป็นขั้นตอนการเก็บตัวอย่างดินมาตรวจ เพราะเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมากควรเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่เดียวกันหลายๆ จุด แล้วนำดินแต่ละจุดมาผสมกันเพื่อทำการตรวจสอบดิน ถ้าทำการตรวจสอบดินทีละจุดจะทำให้เกิดการสิ้นเปลือง
การจัดการธาตุอาหารโดยใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อลดต้นทุนการผลิต
“ปุ๋ยสั่งตัด” คือ การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ เป็นการนำปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช ได้แก่ พันธุ์พืช แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ชุดดินปริมาณ N-P-K ในดินขณะนั้น มาพิจารณาร่วมกัน โดยใช้แบบจำลองการปลูกพืชและโปรแกรมสนับสนุนการตัดสินใจมาคำนวณโดยคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้การใช้ปุ๋ยเคมีความสอดคล้องกับความต้องการของพืชมากขึ้น
โดยโครงการวิจัยปุ๋ยสั่งตัดได้ทุนมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ปุ๋ยของเกษตรกรจากการใช้ตามคำแนะนำทั่วไป ที่ไม่จำเพาะเจาะจง ให้หันกลับมาใช้ตามชนิดของดินและพืช ตลอดจนความต้องการของธาตุอาหารของพืชตามสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองปุ๋ยและการเจริญเติบโตของพืชไม่ดีเท่าที่ควร
ส่วนใหญ่เกษตรกรมักถูกแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16 หรือสูตรที่ตัวท้าย เช่น 16-20-0 เป็นเพราะโพแทสเซียมจะมีอยู่ในดินตามธรรมชาติเยอะอยู่แล้ว
แต่เกษตรกรไม่ได้คำนึงถึงพื้นที่ลักษณะของดินว่ามีความแตกต่างกันออกไป การใส่ปุ๋ยจึงไม่ตรงตามความต้องการของพืช
ถ้าใส่ปุ๋ยมากเกินไปนอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้วยังทำให้โรคและแมลงระบาดมากขึ้น แต่การใช้ปุ๋ยน้อยเกินไปก็จะทำให้ธาตุอาหารในดินลดน้อยลงและพืชให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร
เกษตรกรจึงควรวิเคราะห์ดินก่อนการใส่ปุ๋ยเพื่อให้รู้ว่าธาตุอาหารเดิมในดินมีอยู่เท่าไร? ต้องใส่ปุ๋ยชนิดใด? ในปริมาณเท่าไร? ซึ่งพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารในปริมาณที่แตกต่างกัน ทั้งยังต้องใส่ปุ๋ยในบริเวณที่พืชดูดกินได้มากที่สุด
ดร.เสาวนุช กล่าวทิ้งท้ายว่า “จริงๆ แล้วเราเดินอยู่บนดินทุกวัน เราจะทำยังไงไม่ให้ดินของเราเสื่อมลงไป การทำการเกษตรให้ยั่งยืน คือ ขึ้นอยู่กับความพอใจของเกษตรกรเอง ถ้าเกษตรกรมีความพอใจกับผลผลิตที่ไม่ลดลงจากที่มันเป็นอยู่ เกษตรกรเองก็จะเกิดความยั่งยืน
“แต่ถ้าในความเป็นจริงเกษตรกรปลูกพืชไปเรื่อยๆ ผลผลิตเกิดลดลง แล้วยังไม่มีการเพิ่มสิ่งที่ควรจะเพิ่ม อย่างเช่น อินทรียวัตถุหรือปุ๋ย ผลผลิตก็จะลดลงและไม่มีคุณภาพ แต่กลับกันถ้าพืชที่เกษตรกรปลูกในดินที่มีธาตุอาหาร พืชก็จะสามารถดูดไปใช้และผลิตที่ออกมาจะเพิ่มขึ้น คุณภาพก็จะดีตามมาด้วย เมื่อเกษตรกรมีความใส่ใจในเรื่องของการปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ให้อยู่ในสภาวะที่สมบูรณ์ จะเป็นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ได้อย่างมั่นคง”
ขอขอบคุณ
ผช.ศ.ดร.เสาวนุช ถาวรพฤกษ์
หัวหน้าโครงการพัฒนาวิชาการดิน ปุ๋ย และสิ่งแวดล้อม ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน
tags: การปรับปรุงดิน ปรับปรุงคุณภาพดิน ปรับปรุงดิน สารปรับปรุงดิน การปรับปรุงดิน วิธีปรับปรุงดิน การปรับปรุงดิน การปรับปรุงคุณภาพดิน ปรับปรุงดิน สารปรับปรุงดิน
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]