ในอดีตคนไทยนิยมบริโภคกบที่หาได้ตามท้องนาเป็นอาหาร แต่ในสมัยปัจจุบัน สภาพแวดล้อม ปริมาณอาหาร คุณภาพ และธรรมชาติ ได้เปลี่ยนแปลงไป และลดน้อยลง ตรงข้ามกับความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น นิตยสารสัตว์น้ำ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับ คุณนุกุล ยอดบดี ซึ่งเป็นเจ้าของบ่อเลี้ยงกบรายใหญ่ของจังหวัดนครปฐม ที่ผันตัวจากการเป็นลูกจ้างมาเป็นเจ้าของ บ่อเลี้ยงกบ ที่พัฒนาศักยภาพการผลิต ด้วยเทคนิคการเลี้ยงต่างๆ และปรับปรุงบ่อให้มีมาตรฐานตามที่กรมประมงกำหนด อีกทั้งยังมีการขายลูกพันธุ์ที่ได้คุณภาพ จึงถือว่า บ่อเลี้ยงกบ แห่งนี้เป็นบ่อครบวงจรเรื่องกบจริงๆ
การเพาะเลี้ยงกบ
“บ่อเลี้ยงกบ” แห่งนี้ คือ ผลจากความพยายาม มุ่งมั่น และทุ่มเท ของคุณนุกุล ที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและทำธุรกิจของตนที่บ้านเกิด เดิมทีนั้นตนเป็นพนักงานมาก่อน แต่ด้วยความอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง จึงคิดว่ากลับมาทำที่บ้านดีกว่า และคิดว่าการเลี้ยงกบเป็นการสร้างรายได้ให้อีกทาง จึงได้ลองผิดลองถูกมาหลายวิธี กว่าจะถึงวันนี้ที่ประสบความสำเร็จ
โดยเริ่มจากการเลี้ยงกบเนื้อมาก่อน เพราะตอนนั้นรายได้ดี มีต้นทุนต่ำ เมื่อมีความชำนาญมากขึ้น ตนจึงเริ่มมาเพาะเลี้ยงลูกกบเอง และแบ่งขาย เนื่องจากตนเคยซื้อลูกกบจากฟาร์ม แต่พอกบมาถึงตนตายเยอะมาก ซึ่งทางฟาร์มที่ขายปัดความรับผิดชอบ ทั้งๆ ลูกกบที่ตายส่วนใหญ่เกิดจากการติดโรค และลูกกบที่ซื้อมาบางครั้งก็ไม่ครบบ้าง จึงหันมาเพาะเลี้ยงเองดีกว่า
การที่จะลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากขาดองค์ความรู้ประกอบในการทำนั้นอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้นองค์ความรู้ คือ ปัจจัยสำคัญประกอบในการลงมือทำสิ่งนั้นๆ ซึ่งก่อนที่คุณนุกุลจะหันมาเลี้ยงกบเป็นอาชีพหลัก ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน คือ ศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงด้วยตนเอง
“ศึกษาด้วยตัวเอง ดูการเจริญเติบโต พฤติกรรมของมัน ดูโรค เปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล โรคหนักๆ ก็มีตาขาว ขาแดง นอกนั้นเป็นแผล ท้องบวม กระแตเวียน” คุณนุกุล ยอดบดีกล่าว
การเพาะพันธุ์กบ
คุณนุกุลเลี้ยงกบได้ 4 รุ่น จึงเริ่มหันมาเพาะและอนุบาลเองโดยเริ่มทดลองจากแม่พันธุ์ 400-500 ตัวโดยใช้พ่อพันธุ์กบนา โดยจะผสมพันธุ์ทุกๆ 15 วัน “พ่อแม่พันธุ์ต้องสมบูรณ์ ถ้าไม่สมบูรณ์จะไม่กอดรัด ไม่ได้ไข่ สภาพอากาศสำคัญ ถ้าช่วงอากาศหน้าหนาว ที่ฟาร์มจะติดสปริงเกลอร์ และใส่ซาวด์เสียง ให้เหมือนกับหน้าฝน เพื่อกระตุ้นให้เค้าผสมพันธุ์กัน” คุณนุกุลกล่าว
สายพันธุ์กบ
อัตราการรอดของกบนั้น นอกจากขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของแต่ละสายพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่อีกด้วย หากสายพันธุ์ดี แต่การดูแลเอาใจใส่ไม่ดี อาจเสี่ยงต่ออัตราการรอดของกบ ซึ่งทางบ่อคุณนุกุลได้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยเหล่านี้ โดยมีการคัดเลือกสายพันธุ์ และมีการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี สายพันธุ์ที่ฟาร์มใช้ คือ แม่พันธุ์ใช้ “จานบูลฟร็อก” และพ่อพันธุ์ใช้ “บูลฟร็อกนา”
“จุดเด่นของแม่พันธุ์ คือ ตัวใหญ่ แต่ไม่ทนโรค แต่พ่อพันธุ์บูลฟร็อก ทนโรค ทนสภาพอากาศเมืองไทยได้ดี ถ้าผสมจานบูลฟร็อกกับจานบูลฟร็อก ลูกออกมาจะไม่แข็งแรง ไม่ทนต่อสภาพอากาศเมืองไทย ได้ขนาดตัว แต่ไม่ทน หากเกษตรกรซื้อกบมาอาจตายตอนแรก และจะหยุดตาย และจะตายอีกในช่วง 3 เดือน ตอนกบใหญ่ จึงไม่นิยมให้จานบูลฟร็อกล้วน ดังนั้นต้องผสมข้ามสายพันธุ์เพื่อความใหญ่ของตัว และความทนต่อสภาพอากาศ” คุณนุกุลกล่าว
เทคนิคการเพาะพันธุ์กบ
การเก็บแม่พันธุ์นั้น เริ่มจากคัดเลือกกบเนื้อตัวที่สวย เล็บสมบูรณ์ ขาสมบูรณ์ ในช่วงอายุ 7-8 เดือน น้ำหนักอยู่ที่ 0.8-1 กิโลกรัม จึงจะพร้อมไข่ ส่วนตัวผู้จะตัวเล็กกว่าตัวเมีย แต่ต้องกอดตัวเมียได้ แม่พันธุ์หนึ่งตัวจะไข่ 3,000-5,000 ฟอง ถ้าไข่ฟักเป็นตัวจะขึ้นอยู่กับการดูแล อัตราการฟักนั้น สำหรับไข่กบต้องใช้ออกซิเจนช่วยในบ่อ ถ้ากรณีที่ไข่หนาแน่นมาก รวมถึงขั้นตอนการล้างไข่ ตรงนี้สำคัญมาก ต้องใช้ประสบการณ์ และความเอาใจใส่
การที่กบจะพร้อมผสมพันธุ์ นอกจากความพร้อมและความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์แล้วนั้น สภาพแวดล้อมและธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการเพาะพันธุ์ ที่แม้จะอาศัยพันธุกรรมจากพ่อแม่พันธุ์เพื่อให้ได้ความแข็งแรง และทนโรค แต่ก็ต้องอาศัยสภาพแวดล้อม และการดูแลเอาใจใส่อีกเช่นกัน โดยทางคุณนุกุลได้เผยถึงเทคนิคการเลี้ยงและการเพาะพันธุ์ ให้มีอัตราการรอด และอัตราการฟักตัวสูง
การผสมพันธุ์กบของทางบ่อนั้นจะผสมตอนดึก ถ้าหากกบไม่กอดรัดจำเป็นต้องช่วยจับให้กบกอดรัดกันและมีเทคนิคง่ายๆ เป็นตัวช่วย โดยการติดสปริงเกลอร์ และมีซาวด์เสียงเพิ่มเข้าไป เพื่อเป็นการจำลองสถานการณ์ในฤดูฝน จำนวนในการใส่ลงบ่อนั้น ทางบ่อจะใส่แม่พันธุ์ 15 ตัว และพ่อพันธุ์ 18-20 ตัว ใส่ให้พ่อพันธุ์เกินจากแม่พันธุ์ 3-5 ตัว เพราะตามนิสัยของกบ ถ้าไม่ใช่คู่ของมันกบตัวเมียจะไม่ให้กอดรัด และในบ่อจะไม่กอดรัดกันทุกคู่ จึงจำเป็นต้องใส่เกินเข้าไว้
ทางบ่อจะเอาแม่พันธุ์ลงก่อน ดูความสมบูรณ์และพร้อมกอดรัด จากนั้นปล่อยน้ำท่วมครึ่งตัวกบ หาหญ้าขนมาวางไว้ในบ่อ เพื่อจำลองธรรมชาติ แล้วจึงคัดตัวผู้ 18-20 ตัว ลงในบ่อ เปิดสปริงเกลอร์ และซาวด์เสียง กบจะกอดรัดกันเอง
การบริหารจัดการ บ่อเลี้ยงกบ
สภาพอากาศมีผลต่อการผสมพันธุ์ ถ้าหากอากาศร้อนเกินไปกบจะไม่ผสมพันธุ์ เพราะน้ำในบ่อจะมีอุณหภูมิสูง จึง จำเป็นต้องผสมพันธุ์ตอนเย็น แม่พันธุ์จะใส่ลงบ่อเวลาประมาณ 16.00-17.00 น. เช้าวันถัดมาเริ่มสังเกตไข่ที่พื้น ต้องเก็บพ่อพันธุ์ออก และเอาแม่พันธุ์ไว้ที่บ่อเดิม
ถ้าไข่หนาแน่นต้องเอาถุงตาข่ายไปรอตรงทางน้ำออก แล้วจึงเติมน้ำในบ่อเข้าไปใหม่ เอาไข่ที่เอาออกมาทำการร่อนเพื่อมาล้างเมือกเอาความสกปรกออกไป เสร็จแล้วเติมน้ำเข้าไปในบ่ออีกครั้ง หรือถ้าหากมีบ่อเยอะสามารถเตรียมบ่อใหม่ได้เลย โดยใส่น้ำระดับ 5-7 ซม. เติมออกซิเจนเข้าไป เมื่อล้างไข่เสร็จแล้วนำเอาไปโรย
น้ำที่ใช้ล้างไข่ คือ น้ำเปล่าธรรมดา และต้องไม่มีคลอรีน หลังจากเติมน้ำเสร็จต้องค่อยๆ หว่านไข่ให้เสมอกัน น้ำห้ามสะเทือน เพราะไข่จะลอยชนกัน และจับกันเป็นก้อน จะทำให้ออกซิเจนไม่เพียงพอ และไข่จะไม่ฟักตัว อัตราการฟักตัวจากการล้างไข่ หากเทียบโดยคิดเป็น 100% จะมีอัตราการฟักตัวอยู่ที่ 95-98%
คุณภาพของน้ำ
คุณภาพของน้ำในบ่อที่ลงไข่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะอัตราการฟักตัวขึ้นอยู่กับออกซิเจนในน้ำด้วย คุณภาพน้ำสามารถสังเกตได้ ถ้าเห็นหน้าน้ำเป็นฝ้าแสดงว่าค่า pH สูง จะทำให้ลูกอ๊อดน็อค ทางบ่อจะใช้วิธีปล่อยน้ำเก่าออกและเติมน้ำใหม่เข้าไป เพื่อให้น้ำถ่ายเท หรือติดสปริงเกลอร์เพิ่มออกซิเจน หรือใช้ EM ผสมแกลบโรยในบ่อ และเปิดออกซิเจนช่วย
ให้ออกซิเจนช่วย 1-2 วันแรกของการฟักไข่ การฟักตัวออกจากไข่จะใช้เวลา 1 วัน เลี้ยงอยู่ในบ่อโดยไม่ต้องตักออก และวันที่ 2 จะเริ่มให้ลูกไรแดง ทางบ่อซื้อกิโลกรัมละ 40 บาท และไม่จำเป็นต้องให้เป็นไรสด ถ้าหากเป็นไรแช่แข็งต้องแช่น้ำก่อน หลังจากนั้นใช้ที่คนอาหารตักสาดให้ทั่ว แต่อย่าให้ในปริมาณมาก เพราะถ้าน้ำจะเสียส่งผลทำให้ลูกอ๊อดตาย ในช่วงวันที่ 3-4 ให้ไรแดงควบด้วยอาหารกบ เพื่อให้ลูกอ๊อดฝึกกินอาหารเม็ด
อาหารเม็ดจะผสมวิตามินอี 12 กับยาคูลท์ ทางบ่อจะไม่เน้นใช้ยา ถ้าหากใช้ยาในช่วงนี้จะทำให้ไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันลูกอ๊อด และจำเป็นต้องประเมินปริมาณลูกอ๊อดในบ่อก่อนให้อาหาร เพื่อไม่ให้เศษอาหารตกค้างที่ก้นบ่อ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำเสีย และเป็นพาหะนำโรค เพราะนิสัยของกบจะกินเฉพาะอาหารที่ลอยน้ำ จะไม่มุดไปกินอาหารที่ก้นบ่อ
การจำหน่ายลูกอ๊อด
ลูกอ๊อดที่ทางบ่อจำหน่าย อายุจะอยู่ที่ 8-10 วัน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ผ่านพ้นช่วงคว่ำตายแล้ว “ปกติลูกอ๊อดคว่ำตายตอนอายุได้ 7 วัน บางฟาร์มขายตอนอายุได้ 4-6 วัน เกษตรกรบางคนซื้อไปกลับไม่ได้ลูกกบเลย แต่ของทางบ่อเราจะขายตอนอายุที่ผ่านพ้นช่วงคว่ำแล้ว” คุณนุกุลกล่าว
ราคาขาย ทางบ่อจะขายเป็นตัว ราคาขายแล้วแต่ฤดู หากหน้าฝนขายตัวละ 7-8 สตางค์ หน้าหนาวขายตัวละ 10-12 สตางค์ หน้าร้อนขายตัวละ 7-10 สตางค์
การอนุบาลลูกกบ
เมื่อเลี้ยงครบ 15 วัน จะเริ่มออกขาหลังพัฒนาเข้าสู่ระยะลูกกบ ทางบ่อจะมีการกระตุ้นโดยการลดปริมาณน้ำในบ่อให้แห้งประมาณ 3-5 นาที เป็นการกระตุ้นให้ลูกกบหนีตาย กบจะเริ่มตะแคงข้างเพื่อให้ขาออกมา ควรยืนเฝ้าสังเกตการณ์ หลังจากนั้นใส่น้ำประมาณ 3 ซม. ทำแบบนี้เป็นระยะเวลา 3 วัน ลูกกบจะเริ่มออกขาหน้าและขาหลัง และต้องสังเกตด้วยว่ามีลูกอ๊อดดึงหางลูกกบไปกินหรือไม่
หากพบควรทำแพยางวางไว้ให้ลูกกบกระโดดขึ้น และต้องคอยช้อนลูกกบแยกออกจากบ่อลูกอ๊อด ใช้ระยะเวลาประมาณ 28 วัน จึงจะเป็นลูกกบที่สมบูรณ์ ก่อนจะนำส่งลูกค้า ทางบ่อต้องเอาไปพักในบ่อปูนประมาณ 10-15 วัน เพื่อให้อัตราการตายหยุดนิ่งเสียก่อน
อาหารที่ให้ลูกกบเป็นอาหารเบอร์ 1 และถ้าหากมีการเปลี่ยนเบอร์อาหาร จะผสมอาหารเบอร์ที่เปลี่ยนเข้าด้วยกันกับอาหารเดิม เพื่อให้กบได้ปรับสภาพในการกิน เพราะถ้าหากเปลี่ยนกะทันหันกบจะช็อคตาย
ราคาทางบ่อขายจะขายเป็นตัวเช่นกันกับลูกอ๊อด ราคาขายแล้วแต่ฤดู หากหน้าฝนขายตัวละ 70-80 สตางค์ หน้าหนาวขายตัวละ 1-1.20 บาท เพราะโตช้า แต่ก่อนขายทางบ่อจะเช็คขนาดก่อน
การบำรุงดูแลกบ
การเปิดเครือข่ายนั้น ถ้าหากผลผลิตไม่มีคุณภาพ และไม่ได้มาตรฐาน จะไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้เลย “ส่วนมากมากันเอง บอกกันปากต่อปาก ถ้าเลี้ยงเยอะผมแนะนำให้ได้ ยกตัวอย่าง ถ้าเลี้ยง 1 ตัน อย่างน้อยต้อง 800 กก. ขึ้นไป ประมาณ 4,000-4,500 ตัว เฉลี่ยได้ 4 ตัว/กก.” คุณนุกุลกล่าว
ถ้าหากเลี้ยงแล้วเกิดโรค ทางบ่อจะเข้าไปดูแลแนะนำวิธีการจัดการและยารักษาให้ ยังรับประกันอีกด้วยว่ารักษาหายภายใน 3 วัน “รับประกันหายภายใน 3 วัน ยากบไม่ใช่ถูกๆ ต้องใช้อันที่ดี และรักษาได้จริง” คุณนุกุลกล่าว
“ฝนตกต้องใส่น้ำ ถ้ากบกระโดดได้กบจะตาย ต้องเติมน้ำสูงกว่าขา ฝนหยุดตกต้องปล่อยน้ำ ถ้าไม่มีถ่ายน้ำต้องเติมน้ำในบ่อให้เยอะกว่าน้ำฝน ถ้าน้ำฝนเยอะกว่ากบจะคันตัว ฝนจะมาพร้อมโรค น้ำจึงต้องเยอะเพื่อให้น้ำเจือจางกรดในฝน ถ้าหน้าหนาวต้องใส่เกลือด่างทับทิมอาทิตย์ละครั้ง ส่วนมากหน้าหนาวแม่กบจะไม่เป็นไร ถ่ายน้ำทุกวัน กบจะเป็นแผลแค่นั้น และต้องดูแลความสะอาดในบ่อ” คุณนุกุลกล่าว
การให้อาหารกบ
คุณนุกุลได้เปิดเผยถึงกระบวนการการเลี้ยงกบเนื้อ โดยให้กบกินอาหารตามเบอร์ อาหารที่ใช้เลี้ยง คือ ถ้าเลี้ยงด้วยอาหารเบอร์ 1-2 จะใช้ปริมาณไม่เยอะ เพราะสายพันธุ์ที่นี่โตเร็ว
- กบเบอร์ 1-2 เลี้ยงด้วยอาหารกบ
- ส่วนเบอร์ 3 ใช้อาหารกบผสมอาหารปลาดุกในอัตราส่วน 1/3 กระสอบ เบอร์ 3 กบเริ่มสู้ จึงจะเลี้ยงด้วยการเสริมไข่ไก่ วิตามินบี 12 ปริมาณ 1 ช้อน และน้ำ แต่ถ้าให้ดีต้องผสมนมจืด 1 กล่อง
แต่ถ้าเป็นไวรัส หรือท้องอืด ต้องใช้ยาคูลท์ 1 ขวด ให้กินตั้งแต่ระยะลูกอ๊อด เพราะระยะนี้ชอบท้องอืด และให้ลูกอ๊อดกินอาหารโปรตีน 42% การเลี้ยงกบเนื้อในฤดูหนาวอย่าให้เหลือ นำไข่ไก่และวิตามินผสมน้ำและเขย่า ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ให้ซึมเข้ากัน แล้วจึงให้กบกิน เพื่อให้กบย่อยง่าย ไม่ท้องอืด
การให้อาหารกบ 1 มื้อ ต่อกบ 5,000 ตัว
เบอร์อาหาร | ปริมาณอาหาร/มื้อ |
1 | 5 กิโลกรัม/มื้อ เวลาเช้าและเย็น |
2 | 8-9 กิโลกรัม/มื้อ เพิ่มตามน้ำหนัก |
3 | ระยะนี้กบจะกินเยอะ และให้กินแค่หนึ่งเดือน |
กบ 1 ตัน จะให้กินอาหาร 2 กระสอบ กระสอบละ 20 กิโลกรัม โดยให้กินมื้อเช้าและมื้อเย็น และยังบอกเคล็ดลับว่าที่ต้องผสมอาหารนั้น เนื่องด้วยอาหารกบเบอร์ 3 เบอร์ใหญ่มีราคาสูง จึงต้องเอาอาหารปลาดุกผสม เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนในด้านอาหาร ส่วนโปรตีนจะเสริมด้วยไข่และนม การให้อาหารกบเบอร์ 3 นี้ จะให้แค่หนึ่งเดือน แต่ให้ปริมาณมาก
“ถ้าเลี้ยงจากลูกกบ ผ่านมา 2 เดือน อย่าให้อาหารเช้า-เย็น ให้กินวันละมื้อพอ เพราะยิ่งกินยิ่งตาย เนื่องจากท้องอืด พอได้อายุกบจะกินแค่พยุงตัว และจะไม่ค่อยกินแล้ว ก่อนจับจะเอากล้วยน้ำว้ามาปั่นให้กิน เพราะจะได้น้ำหนักเยอะ” คุณนุกุลกล่าว
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายกบ ทั้งในและต่างประเทศ
หากพูดถึงราคา ทางบ่อเคยขายราคาต่ำสุดอยู่ที่ 40 บาท เนื่องด้วยต้นทุนการจัดการในด้านต่างๆ สูง “ผมเคยเห็นขายต่ำกว่า 40 บาท กิโลละ 35 บาท ทุกปีที่สุพรรณ เพราะพื้นที่เขาเป็นพื้นที่ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว แล้วปล่อยน้ำให้ท่วม ปล่อยลูกอ๊อด ทำให้ต้นทุนน้อย เพราะเลี้ยงในนาข้าว เลี้ยงด้วยตัวไร และอาหารปลาดุก ไม่ต้องดูแลอะไรมาก แต่เกษตรกรที่เลี้ยงเป็นอาชีพที่อยู่พื้นที่สูง เลี้ยงได้ปีเดียว คือ หน้าฝน ลูกกบเลยแพงเพราะแบบนี้” คุณนุกุลกล่าว
หากเลี้ยงในบ่อดินไม่จำเป็นต้องกางแสลน เพราะกบไม่ค่อยไต่หรือปีนขึ้น ส่วนใหญ่ที่กางเพราะกันนกและงู ถ้าหากช่วงไหนฝนตกต้องคอยปล่อยน้ำทิ้ง เพราะถ้าระดับน้ำฝนมากกว่าน้ำในบ่อ กบจะคันตามตัว เนื่องจากฝนมีความเป็นกรด ถ้าดูแลในช่วงนี้ได้ดีโรคจะไม่มี
กบของบ่อส่วนใหญ่ไม่มีกบที่เป็นแผล แผลกบเกิดจากแบคทีเรียที่มาจากความสกปรก ถ้าหากมีจะเป็นแผลที่เกิดจากการกัดกัน การป้องกัน คือ ต้องคัดขนาด ซึ่งมีความจำเป็นมาก เพราะโดยนิสัยทั่วไปกบตัวใหญ่จะกัดตัวเล็ก ตัวที่โดนกัดจะไม่กินอาหาร และทำให้ไม่เจริญเติบโต
การแยกเพศ การแยกเพศจะแยกช่วงกบอายุประมาณ 3 เดือนครึ่ง โดยสังเกตจากต่อมข้างๆ ตัว
การปลดพ่อแม่พันธุ์ ทางบ่อใช้พ่อแม่พันธุ์ผสม 1 เดือน/ครั้ง เมื่อพ่อแม่พันธุ์อายุครบ 2 ปี จะมีการปลด โดยปกติพ่อและแม่กบจะอยู่ได้ถึง 4 ปี แต่เมื่อเข้าปีที่ 3-4 แม่กบจะเริ่มให้ไข่น้อย ทำให้ผลที่ได้รับไม่คุ้มค่า ส่วนมากฟาร์มกบจะมีการสลับตัวพ่อแม่พันธุ์ คือ ใช้พ่อตัวเดิม แต่เปลี่ยนแม่ หรือแม่ตัวเดิม แต่เปลี่ยนพ่อ จะสลับหมุนเวียนกันไป
ทางบ่อได้ส่งขายออกไปหลากหลายที่ ภายในประเทศจะส่งขายไปยังโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และต่างประเทศจะส่งขายไปที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และพม่า
ฝากถึงผู้ที่สนใจเลี้ยงกบ
คุณนุกุลได้ฝากถึงเกษตรกรผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงกบว่า อาชีพการเลี้ยงกบเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ต้นทุนในการเลี้ยงสูง ถ้าหากเกษตรกรท่านใดสนใจจะเลี้ยง ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีเสียก่อน และเลือกลูกพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพ เพราะบางฟาร์มเอาหางกบมาขาย ผลสุดท้ายตายหมด จะทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
สนใจเลี้ยงกบ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ คุณนุกุล ยอดบดี 248 หมู่ 16 ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140 โทร.062-123-5973