แพะ กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในแวดวงปศุสัตว์ไทย และภาครัฐให้การส่งเสริมอาชีพ การเลี้ยงแพะ โดยการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ ตั้งแต่ปี 2552 จนปัจจุบัน (ปี 2563) มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงแพะจำนวน 501 กลุ่ม ชมรมแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด และเครือข่ายระดับเขต 9 เขต ซึ่งผลการสำรวจของทางกรมปศุสัตว์ถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดแพะเนื้อ พบว่า จำนวนแพะที่ใช้บริโภคในประเทศ ประมาณปีละ 377,000 ตัว มีการส่งออกแพะไปยังตลาดต่างประเทศ (มาเลเซีย ลาว และเวียดนาม) ประมาณ 140,000 ตัว/ปี สรุปภาพรวมได้ว่าการผลิตแพะในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
จุดเริ่มต้นของ การเลี้ยงแพะ
ทางกรมปศุสัตว์จึงมีโครงการส่งเสริม การเลี้ยงแพะ แกะ แก่เกษตรกรมากมาย อาทิ โครงการแพะ-แกะล้านนา สร้างรายได้ให้เกษตรกร โครงการแพะแปลงใหญ่ของจังหวัดสระบุรี และการจัดงานแพะแห่งชาติ ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 17-19 มกราคม ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (ไร่เขาบัวทอง) ด้วยสาเหตุเหล่านี้เองนิตยสารสัตว์บก จึงไม่พลาดที่จะอัพเดตและติดตามข่าวสารคนเลี้ยงแพะ เพื่อนำเสนอข้อมูลอันก่อประโยชน์ต่อสาธารณชน
กลับมาเยือนอีกครั้งกับ “สมานฟาร์ม” ครั้งนี้ทีมงานได้เข้ามาร่วมพูดคุยกับ คุณสาวิตรี (จิ๊บ) ดวงอานนท์ ทายาทรุ่นที่ 2 ลูกสาวคนสวยของ คุณสมาน ดวงอานนท์ ซึ่งไม่ทิ้งลายจากคุณพ่อสักนิด ถึงแม้จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาท่องเที่ยวและการโรงแรม แต่กลับหันหลังจากพนักงานโรงแรมสู่เส้นทางเกษตรกรตามรอยคุณพ่อ และต่อยอดธุรกิจการเลี้ยงโคนม และแพะเศรษฐกิจ
คุณสาวิตรีเล่าย้อนกลับไปว่า ตนเองเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว แต่ก่อนมีทั้งม้า วัว และควาย จึงตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานมาช่วยพ่อเลี้ยงโคนม และอยากที่จะทำธุรกิจของตัวเอง ช่วงนั้นกระแสข่าวแพะกำลังถูกดันขึ้นมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ด้วย คุณสาวิตรีจึงลองศึกษาและทดลองเลี้ยงด้วยตนเอง
“ตอนนั้นเริ่มเลี้ยงแพะนมก่อน แล้วจึงขยายมาแพะเนื้อ เพื่อเราจะได้มีรายได้ทั้ง 2 ทาง ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนที่เคยเลี้ยง และแพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินน้อย จัดอยู่ในสัตว์ 4 กระเพาะ เช่นเดียวกับวัว แต่เจริญเติบโตเร็วกว่า ที่จริงทำฟาร์มแพะมาเกือบ 5 ปีแล้ว แต่มีช่วงหนึ่งที่หยุดเลี้ยงไป 1 ปี แล้วกลับมาเลี้ยงใหม่ สาเหตุที่หยุดเลี้ยงเพราะมีปัญหาเรื่องแรงงาน สุดท้ายก็กลับมาเลี้ยงแพะต่อเช่นเดิม ครั้งแรกที่เลี้ยง ซื้อแพะพันธุ์บอร์ (ตั้งท้อง) จากชาวบ้านในพื้นที่มา 25 ตัว เรียนรู้พฤติกรรมของแพะ ลองผิดลองถูกไปเรื่อย จนตอนนี้ถือว่ามีความรู้ในการเลี้ยงมาระดับหนึ่งแล้ว” คุณสาวิตรีกล่าวถึงจุดเริ่มต้นใน การเลี้ยงแพะ
สภาพพื้นที่เลี้ยงแพะ
พื้นที่ใน การเลี้ยงแพะ เนื้อมีทั้งหมด 10 ไร่ แบ่งเป็นส่วนโรงเรือน 2 งาน ที่เหลือเป็นส่วนของแปลงหญ้าเนเปียร์ เนื่องด้วยแพะเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงมาก แต่ควรมีพื้นที่ให้แพะได้เดินเล่นและนอนอาบแดดบ้าง เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ชอบอากาศร้อนแห้ง ทำให้ช่วงฤดูร้อนแพะจะสุขภาพดีเป็นพิเศษ แต่หากเป็นช่วงฝนตกแพะจะป่วยได้ง่าย
“ตอนนี้มีแพะพันธุ์บอร์ 100 กว่าตัว ใช้วิธีการขยายพันธุ์โดยการผสมจริง (พ่อพันธุ์ผสมเอง) เนื่องจากยังไม่มีความชำนาญในการผสมเทียม และแพะก็ผสมติดได้ง่ายกว่าโคมาก และต้องยอมรับว่าแม่พันธุ์ในฟาร์มเป็นสายพันธุ์บอร์เลือดแค่ 70% ส่วนพ่อพันธุ์ที่มาผสมก็เป็นสายพันธุ์บอร์แท้เลือด 100% เพื่อดึงให้ลูกที่ออกมาเป็นสายพันธุ์บอร์เลือดสูง โดยต้องเป้าไว้ที่ 80-90% เนื่องจากยิ่งเลือดสูงเท่าไรผลผลิตที่ได้ออกมาย่อมมีคุณภาพ ลูกที่ได้เจริญเติบโตเร็ว มีน้ำหนักดี และทางฟาร์มก็มุ่งเน้นเรื่องการทำสายพันธุ์ร่วมด้วย
เราเคยทดลองเรื่องสายพันธุ์แล้ว คือ แพะสายพันธุ์เดียวกัน ต่างกันที่ระดับสายเลือด เลี้ยงเหมือนกัน กินอาหารเหมือนกัน ผลปรากฏว่าแพะที่สายเลือดสูงกว่า ได้น้ำหนักตัวที่ดีกว่า ทำให้ได้กำไรมากกว่า จุดนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่าสายพันธุ์แพะสำคัญเพียงใด” คุณจิ๊บกล่าวถึงสถานการณ์แม่พันธุ์บอร์ในฟาร์ม
การให้อาหารแพะ
แพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่นเดียวกับโค แต่มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นความต้องการด้านสารอาหารจึงไม่ต่างจากโค เพียงแต่กินในปริมาณที่น้อยกว่าเท่านั้น คุณสาวิตรียังเปิดเผยอีกว่าในฟาร์มไม่ใช้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงเป็นหลัก แต่จะเป็นสูตรอาหารที่ผสมขึ้นมาเอง ส่วนประกอบหลัก คือ ข้าวโพดหมัก มันเทศ กากถั่วเหลือง รำอ่อน และหญ้า
การให้อาหารจะแบ่งเป็น 2 เวลา เช้า-เย็น โดยให้เป็นลักษณะอาหารข้นผสมอาหารหยาบ แพะ 1 ตัว กินอาหารเพียงวันละ 2 ขีด เท่านั้น
“คนส่วนใหญ่ที่เลี้ยงแพะจะให้อาหารอยู่ 2 แบบ คือ
1.เลี้ยงด้วยอาหารข้น
2.เลี้ยงด้วยอาหารหยาบ
แต่ที่ฟาร์มเราจะใช้เป็นแบบผสมผสาน คือ ให้อาหารที่เราผสมเองเป็นหลัก มีการปล่อยแพะลงแปลงหญ้า และเสริมด้วยกระถิน หลังจากกลับขึ้นมาบนคอก ที่สำคัญ คือ แพะเป็นสัตว์กินง่าย สามารถกินใบไม้ ใบหญ้า ที่ไม่มีพิษได้เกือบทุกอย่าง ทำให้การเลือกวัตถุดิบในสูตรอาหารแพะไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด” คุณจิ๊บกล่าวถึงการให้อาหารแพะ และยังให้คำแนะนำเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงแพะว่า
“หากไม่มีแปลงหญ้าให้แพะลงมาเดินเล่นก็สามารถเลี้ยงแพะได้ แต่อาจต้องมีแรงงานในการตัดหญ้า หรือกระถิน มาให้แพะกินเป็นประจำ ส่วนอาหารที่ให้แพะนั้นอาจไม่ต้องเป็นอาหารสำเร็จรูปเสมอไป ถึงแม้จะกินเพียงหญ้าแพะก็โตได้ อาจมีการนำข้าวโพด หรือหญ้ามาหมัก เพื่อใช้เป็นอาหารสำรองให้แพะได้ แต่การทำเช่นนี้ก็จะทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงขึ้นนิดหน่อย หากเปลี่ยนเป็นกระถิน (เก็บตามข้างทาง/ตามไร่ต่างๆ) จะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่า
การบริหารจัดการแพะ
การจัดการแพะเนื้อไม่ยุ่งยาก ในทุกๆ วันเหมือนกัน คือ ไล่แพะเข้าแปลงหญ้า (ถ้ามี) ทำความสะอาดคอก ล้างอ่างอาหารและน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ให้อาหารและเสริมด้วยหญ้า หรือกระถินสด สังเกตความผิดปกติ และตรวจแพะทุกตัว หากในช่วงฤดูฝนจะไม่ปล่อยแพะลงมา เพราะแพะไม่ชอบพื้นที่เปียกแฉะ และเมื่อมีความชื้นในอากาศมาก แพะจะไม่สบายได้ง่าย เจ็บป่วยและตายได้ จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ วัคซีนป้องกันโรค ที่กรมปศุสัตว์แนะนำ ควรทำตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่จะเกิดในอนาคต”
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายแพะ
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ราคาแพะเนื้อรับซื้อเพียงแค่กิโลกรัมละ 35 บาท เท่านั้น ตอนนี้ราคารับซื้อขยับไปสูงกว่า 135 บาท/กิโลกรัม ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าตลาดแพะเนื้อมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความต้องการซื้อที่สูง แต่คนเลี้ยงน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
คุณสาวิตรียังกล่าวถึงแนวโน้มด้านการตลาดแพะในปัจจุบันว่า “ในส่วนของตลาดแม่พันธุ์ยิ่งราคาสูง โดยมีราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน ขึ้นกับสายพันธุ์ และความบริสุทธิ์ของเลือด และแม่พันธุ์บอร์ก็ได้รับความนิยมสูงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ทางสมานฟาร์มเองก็มีการจำหน่ายทั้งแพะขุน และแม่พันธุ์ และยอมรับว่าแพะในฟาร์มไม่เพียงพอต่อความต้องการซื้อ มีพ่อค้าคนกลางเข้ามาติดต่อขอซื้อจำนวนมาก ทั้งสั่งจองไว้ก่อนก็ยังมี ด้วยเหตุเพราะแพะของเราเป็นแพะสายพันธุ์บอร์เลือดสูง (80% อัพ) น้ำหนักดี โตไว ให้เนื้อเยอะ และการจัดการง่าย
และส่วนตัวแล้วคิดว่าถึงแม้จะมีผู้เลี้ยงแพะเพิ่มขึ้นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะประเทศไทยมีการบริโภคเนื้อแพะสูงขึ้น และยังมีการส่งออกแพะไปต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก บางครั้งนายทุนต่างชาติเข้ามาติดต่อขอซื้อเองด้วยซ้ำ ราคาขายก็สูงกว่าขายในประเทศมากถึงกิโลกรัมละ 200 บาท จุดนี้ทำให้เนื้อแพะไม่น่าจะมีเหตุการณ์เนื้อแพะล้นตลาดในอนาคตแน่นอน”
นอกจากนี้คุณสาวิตรียังเปิดเผยรายได้ใน การเลี้ยงแพะ ว่า “ปกติแม่แพะ 1 ตัว จะต้องท้องประมาณ 5 เดือน ออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ลูกที่ได้นำมาเลี้ยงขุน (ตัวผู้) และขายเป็นแม่พันธุ์ (ตัวเมีย) ระยะเวลาขุนขาย คือ ทุก 3 เดือน จะสามารถขายแพะขุนได้ ครั้งละ 50-60 ตัว ในราคาตัวละ 2,000 บาท (ขึ้นกับตลาดและการตกลงกัน) หากเป็นแม่พันธุ์ขายได้ราคาประมาณ 5,000-7,000 บาท/ตัว รายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท ก็ถือว่าพอจะประคับประคองไปได้ แต่คิดว่าอนาคตจะทำให้ การเลี้ยงแพะ มีประสิทธิภาพมากกว่านี้”
แนวโน้มตลาดแพะ
แนวโน้มตลาดแพะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งแพะเนื้อ และแพะนม หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าปัจจุบัน “ตลาดแพะขุน” จัดได้ว่ามีความต้องการสูงสุด รองมา คือ “ตลาดแม่พันธุ์” และในส่วนของ“ตลาดแพะนม” นั้น ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก ที่สำคัญ คือ การจัดการแพะนมนั้นมีความยุ่งยากมากกว่าแพะเนื้อ ทั้งรายละเอียดการดูแล และเรื่องอาหาร ซึ่งทุกอย่างจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำนมแพะที่ได้ออกมา
“อาจเป็นเพราะสัดส่วนการบริโภคของคนกินที่ยังจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่ม และคนส่วนใหญ่ยังไม่เปิดใจบริโภคน้ำนมแพะ ทำให้ตลาดนมนั้นไม่เติบโตเท่าตลาดเนื้อแพะ และเกษตรกรที่เลี้ยงก็เพียงแค่เลี้ยงแล้วส่งขายกับโรงงานผลิตน้ำนมแพะสเตอริไรส์ สำหรับขายตามร้าน Pet Shop เป็นต้น
ซึ่งแพะ 1 ตัว ก็ไม่ได้ให้ปริมาณน้ำนมต่อครั้งมากเท่าวัว ส่วนราคาน้ำนมดิบตอนนี้ 50 บาท/กิโลกรัม ราคาสูง แต่ปริมาณที่ได้ต่อวันน้อย หากอยากได้มากต้องเลี้ยงจำนวนมากขึ้น ลงทุนมากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น โอกาสขาดทุนก็ย่อมมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน” คุณสาวิตรีกล่าวเพิ่มเติมในส่วนตลาดน้ำนมแพะ
เป้าหมายของ การเลี้ยงแพะ
ท้ายที่สุดคุณสาวิตรียังวางเป้าหมายว่า อยากจะพัฒนาระบบ การเลี้ยงแพะ ภายในฟาร์ม และเพิ่มจำนวนแพะสายพันธุ์บอร์ให้มากขึ้นเป็น 300 แม่ และแพะนมอีก 100 ตัว เพื่อให้เกิดการหมดเวียนรายรับ รายจ่าย ภายในฟาร์ม และสามารถมีแพะขุนขายในทุกๆ เดือน ให้ธุรกิจนี้สามารถเลี้ยงตัวมันเองได้อย่างธุรกิจโคนมของคุณพ่อ
“หากสนใจอยากจะเลี้ยงแพะต้องศึกษาให้ดีก่อน ถ้าจะเลี้ยงแพะนม สิ่งแรกที่ความทำ คือ การหาตลาด ผลผลิตน้ำนมที่ได้ต้องส่งขายที่ใด แนวโน้มการตลาดเป็นอย่างไร หากเป็นแพะเนื้อตลาดนั้นมีเพียงพออยู่แล้ว แต่ควรเน้นเรื่องสายพันธุ์เข้าไปด้วย เพราะสายพันธุ์มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโต ทำให้ผลผลิตที่ได้ออกมาดี ลดปัญหาเรื่องโรคและสุขภาพของแพะในอนาคตด้วย และสามารถทำตลาดได้ทั้ง 2 ทาง คือ ขายทั้งแพะขุน และแม่พันธุ์” คุณสาวิตรีกล่าวทิ้งท้ายไว้
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
คุณสาวิตรี ดวงอานนท์ ที่อยู่ 143 ม.5 ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โทร.082-875-2463 (คุณจิ๊บ)