เป็นอีกครั้งที่ทีมงานนิตยสารไม้ดอกไม้ประดับได้มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ และมุ่งหน้าสู่ อ.สะเมิง ไปยังไร่กุหลาบ จีระ “โรส” เนิสเซอรี่ ของ คุณจีระ ดวงพัตรา นักเลี้ยงกุหลาบมากประสบการณ์
สวนแห่งนี้เก็บสะสมกุหลาบหลากหลายสายพันธุ์มากถึง 1,000 สายพันธุ์ โดยกุหลาบของเขามีชื่อพันธุ์ที่ถูกต้อง ติดอยู่ทุกต้น
จีระ บอกว่า สมาคมกุหลาบโลก แบ่งกุหลาบออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ
1.กลุ่มกุหลาบสมัยใหม่ (MODERN ROSE) เป็นกุหลาบดอกใหญ่ รูปทรงสวยสง่าและบานทน
2.กลุ่มกุหลาบสมัยเก่า (OLD GARDEN ROSE) เป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของแต่ละประเทศ เช่น กุหลาบของประเทศฝรั่งเศส: การิก้า, อังกฤษ: คายีน่า, ญี่ปุ่น: รูโกซ่า และไทย: กุหลาบมอญ เป็นต้น
3.กลุ่มกุหลาบอังกฤษ เป็นกุหลาบที่ผสมพันธุ์กันระหว่างกุหลาบสมัยเก่า (OLD GARDEN ROSE) และกุหลาบสมัยใหม่ (MODERN ROSE) เรียกว่า Modern Shrub Roses
![จีระ ดวงพัตรา นักเลี้ยงกุหลาบมากประสบการณ์](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2015/10/จีระ-ดวงพัตรา-นักเลี้ยงกุหลาบมากประสบการณ์-.jpg)
มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีความหอมแรงแบบกุหลาบสมัยเก่า พุ่มใหญ่ แข็งแรง เลี้ยงง่ายกว่ากุหลาบกลุ่ม MODERN ROSE ออกดอกตลอดปี มีสีสันให้เลือกมากมาย ลักษณะดอกส่วนมากจะเป็นทรงถ้วยหรือดอกบัว กลีบซ้อนหนา บางพันธุ์มีถึง 100 กลีบ ในดอกเดียว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของต่างประเทศ ปัจจุบันมีทั้งชนิดพุ่ม (Shrub) และชนิดเลื้อย (Climber)
จีระ เล่าขั้นตอนการผลิตกุหลาบว่า “การผลิตกุหลาบของเราจะผลิตตามมาตรฐานสากล คือ การขยายพันธุ์โดยการติดตาในแปลง เป็นระยะเวลา 18 เดือน เมื่อต้นเติบโตสมบูรณ์เต็มที่หรือหลังจากหมดฤดูฝนจะขุดขึ้นมาล้างราก”
![คราวปริ้นเซส มาร์กาเรต้า พุ่มกึ่งเลื้อย สูงประมาณ1.5-2เมตร ดอกกลม สีส้มสวย ออกดอกเป็นพวง](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2015/10/คราวปริ้นเซส-มาร์กาเรต้า-พุ่มกึ่งเลื้อย-สูงประมาณ1.5-2เมตร-ดอกกลม-สีส้มสวย-ออกดอกเป็นพวง.jpg)
กุหลาบล้างราก (BARE-ROOT ROSE) เป็นกุหลาบที่ขยายพันธุ์ตามมาตรฐานสากล ด้วยวิธี “ติดตาในไร่” (Field-grown budded plant) ที่มีอายุข้ามปี ทำให้มีระบบของรากเป็นกุหลาบป่าที่แข็งแรง วิธีนี้ทำให้กุหลาบเจริญงอกงามได้เต็มที่ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
“ข้อดีคือ สามารถส่งขายกุหลาบได้ทั่วโลก สะดวกสบายกว่าการปลูกแบบยกกระถาง และกุหลาบแบบล้างรากปลูกแล้วไม่มีตาย เพียง 60 วันหลังปลูก หากเอาใจใส่มีการดูแลรักษาที่ดี จะได้เห็นดอกที่งดงามแน่นอน” จีระการันตีด้วยประสบการณ์ 50 ปี
![กุหลาบล้างราก ที่ขยายพันธุ์ตามมาตรฐานสากล ด้วยวิธีการติดตาในแปลงที่มีอายุข้ามปี](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2015/10/กุหลาบล้างราก-ที่ขยายพันธุ์ตามมาตรฐานสากล-ด้วยวิธีการติดตาในแปลงที่มีอายุข้ามปี.jpg)
เคล็ด (ไม่) ลับ ปลูกกุหลาบให้สวยสไตล์ จีระโรส ฟาร์ม
ยกร่องให้สูงประมาณ 10-12 นิ้ว เพื่อช่วยการระบายน้ำและช่วยกักเก็บน้ำให้ซึมลงถึงรากง่ายขึ้น
ควบคุม pH ดิน ให้อยู่ระหว่าง 6.0-6.5
ถ้าดินเป็นกรดมากให้เติมธาตุปูน เช่น แคลเซียมคาร์บอเนท, แคลเซียมออกไซด์, แคลเซียมไฮดรอกไซด์ หรือโดโลไมท์ หรือใช้ปุ๋ยเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นด่าง เช่น แคลเซียมไนเตรท (15-0-0) เป็นต้น
ถ้าดินเป็นด่างใช้ซัลเฟอร์ หรือ Iron Sulfate หรือ Aluminum Sulfate อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือใช้ปุ๋ยเคมีที่อยู่ในรูปซัลเฟตอื่นๆ แทนก็ได้
เพิ่มปุ๋ยกระดูกป่น หรือซุปเปอร์ฟอสเฟต(0-20-0) รองก้นหลุม 1 ช้อนโต๊ะ/ต้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ต้นกุหลาบ
![Red Eden(เร็ด อีเดน)](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2015/10/Red-Edenเร็ด-อีเดน.jpg)
รดน้ำให้ชุ่ม เวลาที่ดีที่สุด คือ ช่วงเช้า ไม่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน
ใส่ปุ๋ยสูตรที่มี N-P-K ครบ เช่น 15-15-15 หรือ 12-12-27 สลับกับ 15-0-0 เดือนละ 1 ครั้ง สลับกันทุกๆ 15-20 วัน ต้นละประมาณ 10-15 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ)
ธาตุรอง ใส่แมกนีเซียมซัลเฟต (Mg) Epsom Salt ต้นละ 1 ช้อนโต๊ะ ทุกๆ 2-3 เดือน
ธาตุเสริม หรือจุลธาตุ (Trace Element) เช่น เฟอร์ติล่อน คอมบี, เมตาโรเสท หรือโซลูท อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้นละ 1 ช้อนชา ปีละ 2 ครั้ง (6 เดือนครั้ง)
![HERITAGE(เฮอริเทจ)](https://www.palangkaset.com/wp-content/uploads/2015/10/HERITAGEเฮอริเทจ.jpg)
ปุ๋ยชีวภาพ เช่น ปุ๋ยปลาหมัก, ปุ๋ยหอยเชอรี่หมักและปุ๋ยเลือดสัตว์ ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน (Humus Forming) ควรใส่ปีละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะหลังตัดแต่งกุหลาบควรใส่ 1 ครั้ง
ปุ๋ยอินทรีย์ ช่วยให้ดินร่วนซุย และการระบายน้ำดี ควรใส่อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในลักษณะเครื่องคลุมดิน (Mulching) หลังตัดแต่งครั้งหนึ่ง และก่อนเข้าฤดูฝนอีกครั้งหนึ่ง ใส่หนา 2-3 นิ้ว
กำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยไฟ กำจัดด้วยอิมิดาคลอพริด หรือโปรวาโด, ไรแดงกำจัดด้วย โอไมท์ หรือ ทอคออทูช ฉีดพ่นใต้ใบต่อเนื่อง 2 ครั้ง หลังจากฉีดน้ำใต้ใบทุกเช้า
ตัดแต่งกุหลาบเมื่อปลูกครบรอบ 1 ปีหลังหมดฤดูฝน หรือต้นฤดูหนาว ช่วยให้ต้นแตกกิ่งใหม่ที่สมบูรณ์ ดอกมีขนาดใหญ่
การตัดแต่งกุหลาบชนิดพุ่ม (Bush) นิยมตัดแต่ง แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
ตัดแต่งแบบเบา (Light Pruning) หมายถึง ตัดส่วนยอดหรือส่วนบนทิ้ง 1/3 หรือ 1/4 ของความสูงของต้น
ตัดแต่งแบบปานกลาง (Moderate Pruning) หมายถึง ตัดส่วนบนทิ้งประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของต้น หรือตัดทิ้งครึ่งต้น
ตัดแต่งแบบหนัก (Hard Pruning) หมายถึง ตัดส่วนบนทิ้งประมาณ 3/4 ของความสูง หรือตัดทิ้ง 3 ส่วน เหลืออยู่กับต้นเพียง 1 ส่วน การตัดแต่งแบบหนักไม่เหมาะกับประเทศเขตเมืองร้อน เพราะกุหลาบจะสูญเสียอาหารสะสมมาก จนทำให้กุหลาบตายได้
ทุกครั้งที่ทำการตัดแต่งจะต้องใช้เครื่องมือที่คมและสะอาด และหลังทำการตัดแต่งจะต้องฉีดพ่นยาป้องกันโรคพืช ภายใน 24 ชม. มิฉะนั้นอาจจะทำให้กุหลาบตายได้ และไม่จำเป็นจะต้องใช้ปูนทากิ่งที่ถูกตัดแต่อย่างใด
สอบถามเรื่องกุหลาบ : คุณจีระ ดวงพัตรา โทร.08-1883-6617, 08-1998-7230
ติดต่อสั่งซื้อ : คุณแก้ว โทร. 08-5448-8141
คุณเพชรโทร. 08-0121-8924
ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/JiraRose
E-mail : [email protected]
lineID : lookkaew_jirarose
คอลัมน์ : กุหลาบ
เรื่อง : นรากร ศรีพลาวัฒน์
tags: การปลูกกุหลาบ , การปลูกดอกกุหลาบ , วิธีปลูกกุหลาบ , วิธีปลูกดอกกุหลาบ , กุหลาบ , ดอกกุหลาบ
[wpdevart_like_box profile_id=”328462947197738″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”large” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]